จักรวรรดิรัสเซียเป็นจักรวรรดิที่มีความหลากหลายทางศาสนามาก ตั้งแต่ คริสต์ อิสลาม ยิว หรือแม้กระทั่งพุทธ แต่ศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดในรัสเซียจะเป็นศาสนาใดไปไม่ได้ นอกจากศาสนาคริสต์นิกายรัสเซียนออโธดอกซ์
หลังจากการปฏิรูปโดยซาร์ปีเตอร์มหาราช ศาสนจักรอยู่ในอำนาจของซาร์แห่งรัสเซียโดยสมบูรณ์ ซาร์แห่งรัสเซียทุกพระองค์ทำนุบำรุงศาสนจักรเป็นอย่างดี โดยเฉพาะซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 และซาร์นิโคลัสที่ 2 ซาร์สองพระองค์สุดท้าย นิโคลัสและอเล็กซานดราออกเงินส่วนตัวจำนวนมากในการสนับสนุนสถานที่ทางศาสนา
ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 รัสเซียมีโบสถ์ขนาดใหญ่ทั่วทั้งจักรวรรดิอย่างน้อย 54,000 หลัง โบสถ์ขนาดเล็กลงมาอย่างน้อย 20,000 หลัง และอารามสงฆ์อีก 1,025 แห่ง ทั้งหมดนี้คือโบสถ์ที่สังกัดศาสนจักรรัสเซียนออโธดอกซ์เท่านั้น ไม่นับโบสถ์ในศาสนาคริสต์นิกายอื่นๆ ที่มีอีกนับพันนับหมื่นแห่ง
หลังจากการปฏิวัติตุลาคม และสงครามกลางเมืองรัสเซีย โบสถ์เหล่านี้อยู่ในมือพวกบอลเชวิค หรือพวกโซเวียตในเวลาต่อมา พวกโซเวียตนั้นไม่นับถือศาสนาใดๆ และยังเห็นว่าศาสนาเป็นศัตรูของระบอบอีกด้วย
รัฐบาลบอลเชวิคหรือโซเวียตได้กวาดล้างศาสนาอย่างรุนแรงตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.1920 บาทหลวงจำนวนมากถูกสังหาร ทรัพย์สินและที่ดินของศาสนจักรถูกยึดเข้าเป็นของรัฐบาล โบสถ์ถูกปิดเป็นการถาวร
ท่านทราบหรือไม่ว่า พวกโซเวียตทำอะไรกับ “โบสถ์” ที่ยึดมาได้เหล่านี้ บางอย่างดูมีความคิดสร้างสรรค์อย่างไม่น่าเชื่อ
1. ทำลาย
รัฐบาลโซเวียตไม่ลังเลที่จะทำลายโบสถ์ทิ้ง แม้ว่ามันจะยิ่งใหญ่และสวยงามมากเพียงใดก็ตาม โดยเฉพาะถ้ามีเหตุที่จะต้องใช้ที่ดินในบริเวณดังกล่าว
อย่างในปี ค.ศ.1931 สตาลินมีคำสั่งให้ทำลายมหาวิหาร Cathedral of Christ the Savior (Храм Христа Спасителя) มหาวิหารของศาสนาคริสต์นิกายออโธดอกซ์ที่สูงที่สุดในโลก เพื่อนำพื้นที่ดังกล่าวมาสร้างวังหรือที่เรียกกันว่า Palace of the Soviets (Дворец Советов)
วิหารถูกทำลายจนย่อยยับด้วยระเบิดไดนาไมต์ คนงานต้องใช้เวลาปีเศษๆ กว่าจะกวาดเศษซากของวิหารออกไปจากสถานที่ดังกล่าวได้จนหมด แต่สุดท้ายแล้ววังดังกล่าวก็ไม่ได้สร้าง เพราะรัฐบาลโซเวียตไม่มีเงินทุน และในปี ค.ศ.1941 ฮิตเลอร์ก็บุกสหภาพโซเวียตทำให้รัฐบาลต้องนำเงินทั้งหมดไปขับไล่กองทัพเยอรมัน การสร้างจึงล้มเลิกไปอย่างถาวร
(พื้นที่บริเวณดังกล่าวถูกเปลี่ยนเป็นสระว่ายน้ำชื่อ Moskva Pool ในช่วงปี ค.ศ.1958 มันถูกถมและสร้างเป็นมหาวิหารแบบเดิมในชื่อเดิม หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย)
ตลกร้ายอย่างหนึ่งคือ การบุกของนาซีเยอรมันช่วยมหาวิหารจำนวนมากในรัสเซียไม่ให้ถูกทำลาย เพราะว่าพวกโซเวียตจำต้องใช้วิหารเหล่านี้เพื่อใช้ประโยชน์อื่นๆ และไม่มีใครว่างที่จะมาทำลายมัน
การทำลายของพวกโซเวียตสร้างความเสียหายมากต่อศาสนจักรรัสเซียนออโธดอกซ์ ในปี ค.ศ.1987 ภายในรัสเซียเหลือโบสถ์เพียง 6,893 หลัง และอารามสงฆ์เพียง 15 แห่งเท่านั้น การสูญเสียเหล่านี้มหาศาลจนประเมินค่าไม่ได้
2.ใช้เป็นคุกและค่ายคนงาน
สถานที่ทางศาสนาในรัสเซียบางแห่งมีขนาดใหญ่มาก แถมบางแห่งยังมีกำแพงล้อมรอบอย่างแน่นหนา (ท่านที่เคยไป Sergiev Posad หรือ Zagovsk น่าจะพอทราบ) ดังนั้นรัฐบาลโซเวียตจึงเกิดไอเดียขึ้นมาว่า เราก็ใช้สถานที่นี้เป็นคุกเสียเลยจะได้ประหยัดเงินไม่ต้องสร้างใหม่
มหาวิหารที่มีชื่อเสียงมากที่สุดที่เคยใช้เป็นคุกคือ อาราม Solovetsky (Solovetsky Monastery, Солове́цкий монасты́рь) ที่ตั้งอยู่ที่เขต Arkhangelsk Oblast ดินแดนที่อยู่ตอนเหนือสุดของรัสเซีย อารามนี้เป็นคุกหรือค่ายคนงานแบบไม่ได้สมัครใจอยู่ถึง 13 ปี (ค.ศ.1926-1939) และมีผู้เคยถูกคุมขังที่นี่มากกว่า 200,000 คน
ภายหลังรัฐบาลโซเวียตพบว่าโครงสร้างคุกแบบที่อารามแห่งนี้เข้าท่ามากๆ ก็เลยใช้สถานที่แห่งนี้เป็นโมเดลในสร้างค่ายคนงาน (Gulag) ในที่อื่นๆ ของประเทศอีกด้วย
ปัจจุบันอาราม Solovetsky กลายเป็นมรดกโลกของประเทศรัสเซียไปแล้วเป็นที่เรียบร้อย และได้เปลี่ยนสภาพกลับเป็นสถานที่ทางศาสนาตามเดิม
3. ใช้เป็นโรงงาน
พวกโซเวียตเห็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจของอาคารอย่างโบสถ์ พวกเขาจึงพยายามดัดแปลงพวกมันให้เกิดประโยชน์
หนึ่งในวิธีของพวกโซเวียตคือ เปลี่ยนเป็นโรงงาน!
อาคารเหล่านี้ถูกส่งมอบให้กับรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อใช้เป็นโรงงานผลิตสิ่งต่างๆ ตั้งแต่สิ่งทอไปจนถึงอาหาร อย่างเช่น โบสถ์เซนต์ปีเตอร์แอนด์พอลแห่ง Suzdal ถูกใช้เป็นโรงงานผลิตขนมปัง
แต่ที่น่าสนใจที่สุดคือ มหาวิหารที่เมือง Sarov (Sarov Monastery) เพราะในช่วงสงคราม มันถูกใช้เป็นโรงงานผลิตจรวด Katyusha เพื่อนำไปยิงพวกเยอรมัน
4. ที่เก็บของหรือที่เก็บศพ
มหาวิหารหลายแห่งมีขนาดใหญ่และแข็งแรง เพราะว่ามันถูกสร้างอย่างดี มันจึงกลายเป็นที่เก็บของที่เพอร์เฟ็กต์สำหรับรัฐบาลโซเวียตที่ขัดสนเงินทองอย่างมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
เมื่อเมืองเลนินกราดถูกกองทัพเยอรมันล้อม รัฐบาลโซเวียตสั่งให้นำเสบียงกรังที่เหลืออยู่ในเมืองไปเก็บไว้ในมหาวิหารเซนต์ไอแซค (St.Issac Cathedral) รวมไปถึงของมีค่าอื่นๆ ด้วย
ส่วนโบสถ์หยดเลือดหรือ Church of the Savior on Spilled Blood (Церковь Спаса на Крови) ถูกใช้เป็นที่โยนศพ เพราะว่าศพที่อยู่ในเมืองที่ตายด้วยความหิวโหยมากเกินกว่าที่จะฝังได้ รัฐบาลโซเวียตจึงใช้บริเวณดังกล่าวเป็นที่ฝังศพชั่วคราวไปพลางก่อน หลังสงครามมันถูกใช้เป็นที่เก็บของสำหรับจัดแสดงของคณะโอเปร่าที่อยู่ในบริเวณนั้น
5. ร้านขายของ
สถานที่หลายแห่งแน่นอนว่ามีทำเลที่ดีเยี่ยม รัฐบาลโซเวียตจึงต้องการใช้ประโยชน์จากตรงนี้ด้วย
โบสถ์แห่งหนึ่งในมอสโกชื่อ Church of the Nativity in Cherkizovo เป็นโบสถ์เก่าแก่ที่มีอายุย้อนไปได้ถึงศตวรรษที่ 16 แต่ในปี ค.ศ.1940 รัฐบาลโซเวียตก็มีคำสั่งให้ปิดโบสถ์ และแปลงสภาพมันเป็นที่เก็บของ ต่อมาอดีตโบสถ์แห่งนี้ก็กลายเป็นร้านขายเฟอร์นิเจอร์ ให้กับชาวบ้านชาวช่องในละแวกแถวนั้นอยู่หลายสิบปี
หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย โบสถ์แห่งนี้จึงกลับเป็นโบสถ์อีกครั้งหนึ่ง และได้รับการบูรณะให้สมบูรณ์ขึ้น
6. ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์
ไม่ใช่ว่าพวกโซเวียตจะรังเกียจสิ่งของหรืออาคารเก่าๆ เหล่านี้ไปเสียทั้งหมด สตาลินรู้ดีว่าสิ่งของใดมีค่า และคู่ควรแก่การเก็บรักษา เขาสั่งให้เปลี่ยนโบสถ์สำคัญๆ หลายแห่งในประเทศเป็นพิพิธภัณฑ์ บางแห่งเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะ บางแห่งเป็นพิพิธภัณฑ์ศาสนาเพื่อให้ชาวโซเวียตได้ศึกษา
ตัวสตาลินได้ปฏิเสธที่คำขอที่ให้ทำลายสถานที่ศาสนาเหล่านี้หลายครั้งตลอดชีวิตของเขา ในทางกลับกันสตาลินและผู้นำโซเวียตในยุคต่อๆ มากลับมอบงบให้ไปบำรุงรักษาเสียด้วยซ้ำไป
หนึ่งในสถานที่ทางศาสนาที่พวกโซเวียตได้รักษาไว้เป็นอย่างดีคือ มหาวิหารเซนต์เบซิล (St. Basil’s Cathedral , собо́р Васи́лия Блаже́нного) หนึ่งในมหาวิหารเก่าแก่ที่มีความเป็นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 มันได้ถูกสร้างโดยอีวานผู้เลวร้าย (Ivan the Terrible) พวกโซเวียตได้เปลี่ยนมหาวิหารแห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม
บทส่งท้าย
พวกโซเวียตได้ใช้ประโยชน์จากสถานที่ทางศาสนาในรูปแบบที่ต่างๆ กัน ด้วยความที่สถานที่พวกนี้มีประโยชน์บางประการ ทำให้พวกโซเวียตเลือกที่จะไม่ทำลายมัน โบสถ์และมหาวิหารเหล่านี้จึงเหลือรอดมาถึงทุกวันนี้ได้
การส่งมอบสถานที่เหล่านี้คืนให้กับศาสนจักรเริ่มต้นตั้งแต่หลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย แต่สถานที่เหล่านี้บางแห่งเสียหายมากจนไม่เหลือเค้าความเป็นโบสถ์ รัฐบาลรัสเซียจึงต้องบูรณะและซ่อมแซมมาจนถึงทุกวันนี้
Source: Russia Beyond