ประวัติศาสตร์5 ผู้นำของโลกที่จากไปเพราะโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)

5 ผู้นำของโลกที่จากไปเพราะโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เป็นโรคที่น่ากลัวและคร่าชีวิตมนุษย์ไปจำนวนมากในแต่ละปี อาการของโรคมีหลายอย่างด้วยกัน สามารถอ่านได้จากโพสนี้

โรคนี้ไม่เลือกชนชั้น มันสามารถเกิดได้กับทุกคน แม้กระทั่งกับผู้นำประเทศก็ตาม เรามาดูกันดีกว่าที่ผู้นำโลกคนใดบ้างที่จากไปเพราะโรคนี้

โจเซฟ สตาลิน

สตาลินเป็นผู้นำของสหภาพโซเวียต และเป็นหนึ่งในผู้นำที่โหดที่สุดในประวัติศาสตร์โลก เขามีส่วนสำคัญกับการตายของชาวโซเวียตอย่างน้อย 20 ล้านคน

สตาลิน

ตัวเขาอยู่อย่างปลอดภัยมาหลายสิบปี ไม่มีใครเอาชีวิตของเขาไปได้ จนกระทั่งสุดท้ายโรคหลอดเลือดสมองเป็นผู้นำไป

เริ่มมีอาการป่วยตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงแล้ว เขาป่วยเป็นโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองตั้งแต่ปี ค.ศ.1945 สตาลินเคยมีอาการหัวใจวายอย่างรุนแรงครั้งหนึ่ง แต่แพทย์โซเวียตช่วยชีวิตเขาไว้ได้

ในปี ค.ศ.1953 สตาลินมีอาการของโรคหลอดเลือดสมองอย่างรุนแรงที่บ้านพักของเขาระหว่างที่เขาพักผ่อนอยู่ตามลำพัง ทำให้ไม่มีใครทราบถึงอาการของสตาลิน เมื่อสตาลินถูกพบ เขาไม่สามารถพูดอะไรได้อีกแล้ว สี่วันต่อมาสตาลินก็เสียชีวิต เขาอายุได้ 74 ปี

อย่างไรก็ตามมีบางทฤษฎีว่าสตาลินถูกวางยาพิษ แต่ไม่มีหลักฐานใดๆที่แสดงให้เห็นว่าเป็นเช่นนั้น

วินสตัน เชอร์ชิลล์

วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill) เป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษในช่วงที่อังกฤษตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ความเป็นผู้นำของเขามีส่วนสำคัญยิ่งที่ทำให้อังกฤษรอดจากพวกนาซีมาได้

เชอร์ชิลล์

ในทศวรรษ 50-60 (1950s-60s) เชอร์ชิลล์มีอาการของโรคหลอดเลือดสมองถึง 10 ครั้ง แต่โชคเป็นของเชอร์ชิลล์ที่มันไม่ได้ทำให้เขาเป็นอัมพาตหรือเสียชีวิต เขายังสามารถดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษได้ในช่วงปี ค.ศ.1951-1955

แต่ทว่าในปี ค.ศ.1964 โรคหลอดเลือดสมองได้ย้อนกลับมาหาเชอร์ชิลล์เป็นครั้งที่ 11 ในครั้งนี้มันรุนแรงกว่าที่เชอร์ชิลล์เคยเป็นมาทุกครั้ง ร่างกายของเชอร์ชิลล์วัย 91 ปีไม่อาจต้านทานได้อีกต่อไป เชอร์ชิลล์จึงเสียชีวิตลงในที่สุดด้วยโรคหลอดเลือดสมอง

จาวาฮารัล เนห์รู

จาวาฮารัล เนห์รู (Jawaharlal Nehru) เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย เขามีบทบาทสำคัญยิ่งในการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษร่วมกับมหาตมะ คานธี เนห์รูปกครองอินเดียอยู่ถึงเกือบ 17 ปี และสร้างอินเดียให้เป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีประชากรมากที่สุดในโลกที่ดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้

เนห์รู

เนห์รูเคยถูกลอบสังหารสี่ครั้ง แต่ต่างจากคานธีที่เสียชีวิตจากการลอบสังหาร เนห์รูเอาชีวิตรอดมาได้ แม้ว่าเขาจะสั่งให้การรักษาความปลอดภัยไม่ต้องเข้มงวดมากนักก็ตาม

ในปี ค.ศ.1964 ระหว่างที่เนห์รูพักผ่อนอยู่ที่แคชเมียร์ ดินแดนที่อยู่ในกรณีพิพาทระหว่างอินเดียและปากีสถาน เนห์รูบ่นว่าปวดหลัง เขาจึงเรียกแพทย์มาพบ

แทบจะทันทีที่แพทย์มาถึง เนห์รูล้มลงและไม่ได้สติในบัดดล เขาไม่ฟื้นคืนสติเลยหลังจากนั้น รวมแล้วเขามีอายุได้ 74 ปี และเสียชีวิตในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

โรคที่ทำให้เนห์รูสิ้นชีวิตคือ โรคหลอดเลือดสมองแบบรุนแรง เพราะเขาเคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองมาแล้วครั้งหนึ่งหกเดือนก่อนที่เขาจะเสียชีวิต

ริชาร์ด นิกสัน

ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) เป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 37 และเป็นหนึ่งในประธานาธิบดีที่ฉาวที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์

นิกสัน

ความฉาวของนิกสันมาจากกรณีวอเตอร์เกต ทำให้นิกสันเกือบจะโดนถอดถอนออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี แต่เขาชิงลาออกเสียก่อนเพราะรู้ว่าเขาจะถูกถอดถอนอย่างแน่นอน

ในปี ค.ศ.1994 ด้วยวัย 81 ปี นิกสันมีอาการของโรคหลอดเลือดสมองอย่างรุนแรงระหว่างที่กำลังจะกินข้าว แพทย์พบว่าลิ่มเลือดจากหัวใจได้พุ่งขึ้นไปอุดตันที่สมองของนิกสัน เขาถูกนำส่งโรงพยาบาลทันที

นิกสันยังรู้สึกตัวได้ดีอยู่ แต่ไม่สามารถพูดหรือขยับร่างกายข้างขวาได้ ภายในเวลาไม่นานอาการของเขาก็ย่ำแย่ลง นิกสันไม่รู้สึกตัวอีกเลย เขาเสียชีวิตลงด้วยวัย 81 ปีจากโรคหลอดเลือดสมอง

ถนอม กิตติขจร

ถนอมเป็นผู้ที่คนไทยรู้จักกันดี เขาเป็นหนึ่งในจอมเผด็จการที่อยู่ในอำนาจนานที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ถนอมสั่งให้ปราบปรามเหล่านักศึกษาและผู้ชุมนุมอย่างรุนแรงในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

ถนอม กิตติขจร

เมื่อหมดอำนาจ ถนอมได้เดินทางออกนอกประเทศไป แต่เดินทางกลับมาอีกครั้งหนึ่งในคราบสามเณรในปี พ.ศ.2519 และเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดการสังหารหมู่ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519

หลังจากสองเหตุการณ์ดังกล่าว ถนอมไม่มีบทบาททางการเมืองอีกเลย เขาใช้ชีวิตอยู่อย่างเงียบๆ แต่ก็พยายามฟื้นฟูชื่อเสียงของตนเอง ความพยายามของเขาไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก

ถนอมมีอายุยืนยาวถึง 92 ปี เขาเสียชีวิตลงจากโรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจที่โรงพยาบาลกรุงเทพ

Sources:

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!