ผมได้เกริ่นไปแล้วว่า หลอกว้านจงเป็นนักเขียนที่สุดยอดมาก เขานำเหตุการณ์หลายอย่างในประวัติศาสตร์จีนมาใส่ในนิยายของเขาบ้าง แต่งขึ้นมาเองบ้าง ทำให้วรรณกรรมของเขาอยู่ในระดับสี่สุดยอดของวรรณกรรมจีน
เรามาดูกันดีกว่าว่าเหตุการณ์ใดบ้างที่ไม่เคยเกิดในประวัติศาสตร์เลย
1. คำสาบานแห่งสวนท้อ
ในนิยายสามก๊กได้เล่าถึง การพบเจอของชายสามคนได้แก่ เล่าปี่ กวนอู และเตียวหุย ภายหลังทั้งสามได้สาบานเป็นพี่น้องกันที่สวนท้อ พวกเขาเปล่งวาจาว่า ถึงแม้จะไม่ได้เกิดวันเดียวกัน แต่จะขอตายวันเดียวกัน ทั้งสามตั้งเจตนารมณ์ว่าจะช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก และทำให้บ้านเมืองกลับมาสงบสุขให้จงได้
คำสาบานแห่งสวนท้อจึงเป็นการเปิดตัว ฮีโร่ฝ่ายดี (พระเอก) ของหลอกว้านจงที่สุดยอดมาก แต่จริงๆ แล้วมันไม่มีที่มาในประวัติศาสตร์
จดหมายเหตุหรือบันทึกสามก๊กของเฉินโซ่วไม่ปรากฏเหตุการณ์ดังกล่าวว่าเกิดขึ้นเลย เฉินโซ่วให้ข้อมูลแต่เพียงว่าความสัมพันธ์ของเล่าปี่ กวนอู และเตียวหุยใกล้ชิดกันมากราวกับพี่น้อง ถึงขนาดที่นอนร่วมเตียงกัน
หากแต่ว่าสำหรับเล่าปี่กับอีกสองคนแล้ว มีหลักฐานว่าเขาเป็นเหมือนกับเจ้านายของทั้งสองมากกว่า
จริงๆแล้วก็ไม่แปลกอะไร เพราะเล่าปี่ตกอับถึงขนาดต้องทิ้งลูกทิ้งเมีย และต้องหนีไปหนีมาหลบๆซ่อนๆ เขาย่อมใกล้ชิดกับผู้ติดตามอยู่แล้ว จะเจ้ายศเจ้าอย่างก็ใช่ที่
นักประวัติศาสตร์จีนในปัจจุบันเชื่อว่า เรื่องนี้น่าจะมีการแต่งขึ้นและแพร่กระจายขึ้นในยุคราชวงศ์ซ่งและราชวงศ์หยวน หลอกว้านจง ผู้เกิดในสมัยปลายราชวงศ์หยวนจึงนำเรื่องดังกล่าวมาใส่ไว้ในนิยายสามก๊กที่เขาแต่งขึ้น เพื่อแสดงความใกล้ชิดระหว่างตัวละครทั้งสามให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น
2. สามพี่น้องในศึกปราบตั๋งโต๊ะ
ในนิยายสามก๊ก เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย เข้าร่วมในพันธมิตร 18 หัวเมืองเพื่อต่อสู้กับตั๋งโต๊ะ ผู้ที่ถูกหัวเมืองทั้งหลายประณามว่าพยายามจะชิงราชสมบัติเช่นเดียวกับ อองมัง (หวางหมั่ง)
ทั้งสามได้พบเจอกองซุนจ้านและได้เข้าร่วมกองกำลังของเขาเพื่อเดินทางไปเข้าร่วมกับกองทัพพันธมิตรที่นำโดยอ้วนเสี้ยวและโจโฉ แต่ทว่าหลังจากที่เล่าปี่ กวนอู เตียวหุยมาถึงได้ไม่นาน กองทัพของซุนเกี๋ยนที่ไปเผชิญศึกกลับถูกตีแตกโดยฮัวหยง แม่ทัพฝ่ายตั๋งโต๊ะ
หลังจากนั้นแม่ทัพพันธมิตรหลายคนออกประมือกับฮัวหยงที่ด่านซื่อฉุ่ย แต่ไม่มีใครต้านทานเขาได้เลย จนสุดท้ายกวนอูจึงได้ขันอาสาออกไปสู้กับฮัวหยง และตัดหัวฮัวหยงมาได้สำเร็จในพริบตา
หลังจากนั้นทั้งสามก็ได้มีโอกาสปะทะกับลิโป้ ผู้ที่ได้ชื่อว่าเก่งกล้าที่สุดในยุคที่ด่านหู่เหลา ทั้งสามได้ “รุม” ลิโป้อย่างกล้าหาญ แต่ก็ไม่อาจเอาชนะลิโป้ได้ ระหว่างที่ปะทะกัน เตียวหุยยังได้ด่าลิโป้ว่า “ไอ้ลูกสามพ่อ” อีกด้วย
แต่ทั้งหมดที่เล่ามาข้างบน ไม่มีอะไรจริงเลยสักอย่างเดียว
อย่างแรก ด่านซื่อฉุ่ยกับด่านหู่เหลามันคือช่องเขาที่เดียวกัน ไม่ใช่คนละที่เหมือนกับในนิยาย
พงศาวดารและจดหมายเหตุในยุคนั้นไม่ได้กล่าวถึงการปะทะที่ด่านดังกล่าวเลยสักนิดเดียว จริงอยู่ว่ามีกองกำลังพันธมิตรยกมาปราบตั๋งโต๊ะจริงๆ แต่ทั้งสองฝ่ายไม่ได้สู้กันที่ด่านหู่เหลาเหมือนที่ในนิยายว่าไว้
ในบรรดากองทัพพันธมิตร มีแต่ซุนเกี๋ยน บิดาของซุนกวนเท่านั้นที่ได้ต่อสู้กับกองทัพฝ่ายตั๋งโต๊ะ แม่ทัพฝ่ายตั๋งโต๊ะคือลิโป้ ซึ่งซุนเกี๋ยนสามารถเอาชนะลิโป้ได้ทั้งสองครั้ง นอกจากนี้ในการต่อสู้ครั้งแรก ซุนเกี๋ยนต่างหากที่เป็นผู้สังหารฮัวหยง แม่ทัพที่อยู่ภายใต้การบัญชาของลิโป้
ที่พีคยิ่งกว่าคือ ในนิยายสามก๊ก เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย สังกัดกองกำลังของกองซุนจ้าน แต่พงศาวดารไม่ได้เขียนว่ากองซุนจ้านไปร่วมกองทัพพันธมิตร ดังนั้นไม่ต้องสงสัยว่าเรื่องที่ทั้งสามโชว์วีรกรรมเป็นเรื่องแต่ง 100%
แน่นอนว่าหลอกว้านจงต้องการให้พระเอกของเขามีซีนเยอะๆ หน่อย เขาเลยสร้างซีนขึ้นมาเอง และนำผลงานของซุนเกี๋ยนมาแปะใส่ให้กวนอู (ที่จริงๆแล้วไม่ได้ไปรบ) มิฉะนั้นจะดูว่าพวกพระเอกไม่ได้ทำอะไรเลยนั่นเอง
3. เตียวเสี้ยน
ในนิยายสามก๊กว่า อ้องอุ้นใช้นางเตียวเสี้ยนที่มีความงดงามมากเป็นเหยื่อล่อให้ลิโป้และตั๋งโต๊ะแตกคอกัน โดยเขายกนางให้ลิโป้ก่อน หลังจากนั้นจึงยกให้ตั๋งโต๊ะ ทำให้ทั้งสองขัดแย้งกัน ผลสุดท้ายคืออ้องอุ้นสามารถล่อตั๋งโต๊ะมาในวัง ให้ลิโป้สังหารเขาได้เป็นสำเร็จ
ในประวัติศาสตร์ ไม่ปรากฏว่านางเตียวเสี้ยนมีตัวตนอยู่จริง เรื่องมีอยู่ว่าลิโป้ได้แอบมีความสัมพันธ์ลับๆ กับนางกำนัลของตั๋งโต๊ะ เขาเกรงกลัวว่าตั๋งโต๊ะจะรู้ความจริงและตนเองจะถูกลงโทษ
นอกจากนี้ลิโป้ยังได้โกรธเคืองตั๋งโต๊ะจากเรื่องอื่นอยู่แล้ว ตั๋งโต๊ะเคยปาขวานยาวเข้าใส่ลิโป้ แต่ลิโป้หลบได้ทัน เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ลิโป้โกรธตั๋งโต๊ะมาก
ด้วยเหตุนี้ลิโป้จึงไปร่วมมือกับอ้องอุ้นในการจัดการตั๋งโต๊ะ ทำให้ตั๋งโต๊ะถูกสังหารในที่สุด
4. วาระสุดท้ายของลิโป้
ในนิยายสามก๊กว่า ลิโป้ถูกทรยศโดยเฮาเสง ซงเหียน และงุยซก พวกเขากลุ้มรุมจับตัวลิโป้ไว้ และเปิดประตูให้กองทัพของโจโฉเข้าเมืองแห้ฝือได้ ลิโป้จึงถูกจับกุมไว้สำเร็จ และถูกประหารชีวิตในเวลาต่อมา
ในประวัติศาสตร์ ลิโป้ใจเด็ดกว่านั้น เมื่อเขาเห็นว่าเมืองแห้ฝือถูกล้อมแน่นหนาและตัวเขาพ่ายแพ้แน่นอนแล้ว ลิโป้ขอให้ลูกน้องของเขาตัดศีรษะเขาเสียและไปยอมจำนนต่อโจโฉ แต่เหล่าลูกน้องปฏิเสธที่จะทำตาม ลิโป้และลูกน้องจึงยอมจำนนต่อโจโฉพร้อมกันทั้งหมด ต่อมาโจโฉกลับมีคำสั่งให้ประหารชีวิตลิโป้เสีย
สิ่งเดียวที่นิยายตรงกับประวัติศาสตร์คือ คำพูดที่ลิโป้พูดกับโจโฉก่อนประหารชีวิต ลิโป้ได้ขอให้โจโฉไว้ชีวิตตนแล้วตนเองจะช่วยโจโฉครองแผ่นดินนี้ โจโฉเองก็เริ่มหวั่นไหวกับคำพูดของลิโป้ แต่ตัดสินใจให้ประหารหลังจากเล่าปี่เตือนให้โจโฉคิดถึง “พ่อบุญธรรม” ทั้งสองคนของลิโป้
5. ข้อเรียกร้องของกวนอู
ในนิยายสามก๊กเล่าว่า หลังจากปราบลิโป้ได้ไม่นาน โจโฉและเล่าปี่ก็เป็นศัตรูกัน กวนอูได้รับมอบหมายให้รักษาเมืองแห้ฝือ แต่กลับทำพลาด กวนอูถูกหลอกออกมานอกเมือง และถูกล้อมอย่างแน่นหนาบนภูเขาแห่งหนึ่ง ต่อมาโจโฉได้ส่งเตียวเลี้ยวมาเกลี้ยกล่อมให้กวนอูยอมจำนน
กวนอูยินยอมจะยอมจำนน โดยมีข้อแม้ 3 ข้อได้แก่
- ภรรยาของเล่าปี่จะได้รับการดูแลอย่างดี
- กวนอูยอมจำนนต่อฮ่องเต้ มิใช่ต่อโจโฉ
- กวนอูจะได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทันที เมื่อได้ข่าวของเล่าปี่
โจโฉอนุญาตตามคำข้อเรียกร้อง กวนอูจึงยอมจำนนต่อโจโฉ
ในประวัติศาสตร์ ไม่มีเรื่องข้อเรียกร้องแบบในนิยายเลย กวนอูถูกจับได้ระหว่างที่โจโฉตีกองทัพของเล่าปี่แตก กวนอูจึงยอมจำนนต่อโจโฉ และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพ โดยโจโฉได้ดูแลกวนอูอย่างดีระหว่างที่เขาอยู่ที่เมืองหลวง
เรื่องทั้งหมดจึงถูกแต่งขึ้นโดยหลอกว้านจง เพื่อเชิดชูกวนอูเท่านั้น