สำหรับท่านที่สนใจศาสนาพุทธในเชิงประวัติศาสตร์ หลายท่านอาจสงสัยว่าการที่ศาสนาพุทธแตกเป็นเถรวาท – มหายาน และนิกายย่อยอื่นๆนี้มีที่มาอย่างไร
คำตอบของคำถามนี้ค่อนข้างยากและซับซ้อน อนึ่งนักประวัติศาสตร์ศาสนายังไม่แน่ใจนักว่าเหตุการณ์ใดเป็นสิ่งที่ทำให้การแตกแยกนี้เกิดขึ้น ในหลักฐานต่างๆมีการบอกเล่าหลากหลายรูปแบบ แต่ส่วนมากแล้วหลักฐานทุกอย่างเหมือนจะชี้ไปยังการสังคายนาครั้งที่ 2
ถึงกระนั้นด้วยความที่เหตุการณ์นี้เก่ามาก และการจดบันทึกของชาวอินเดียก็ไม่ได้ละเอียดเท่ากับชาวตะวันตก ทำให้มีการเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นในสองรูปแบบที่ต่างกันสุดขั้ว
เรามาเริ่มต้นที่แบบแรกกันก่อน
กรณีภิกษุชาววัชชี
ช่วง 400-500 ปีก่อนคริสตกาล หรือหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ร้อยกว่าปี ที่เมืองเวสาลี แคว้นวัชชีได้เกิดปัญหาครั้งใหญ่ในหมู่ภิกษุสงฆ์
ภิกษุที่เมืองแห่งนี้ได้โต้เถียงกันในเรื่องของ วัตถุ 10 ประการ
วัตถุที่ว่าไม่ใช่สิ่งของ แต่เป็นระเบียบวินัยของพระภิกษุ วัตถุ 10 ประการประกอบด้วย
- พระสงฆ์สะสมเกลือเพื่อนำไปผสมอาหาร
- พระสงฆ์ฉันอาหารหลังเวลาเที่ยงเล็กน้อย
- พระสงฆ์ฉันอาหารไปรอบนึงแล้ว แต่เมื่อมีผู้นิมนต์ไปฉัน พระสงฆ์ฉันอาหารอีกครั้งที่บ้านของผู้นิมนต์ (ตามพระวินัยคือฉันได้รอบเดียว เมื่อลุกจากโต๊ะไปแล้วคือจบเลย)
- วัดใหญ่สามารถทำอุโบสถแยกกันได้
- พระสงฆ์มาทำสังฆกรรมไม่พร้อมกันได้ ใครมาก่อนสามารถทำก่อนได้
- ข้อปฏิบัติของครูอาจารย์ ถึงแม้จะผิดแต่ก็ทำตามได้
- พระสงฆ์สามารถฉันนมสดที่แปรรูปแล้ว แต่ยังไม่เป็นนมเปรี้ยวได้
- พระสงฆ์สามารถฉันเหล้าอ่อนๆ ได้
- พระสงฆ์สามารถใช้ผ้าที่ไม่มีชายผ้าได้
- พระสงฆ์สามารถรับเงินทองได้
ทั้งหมดนี้ในพระวินัยปิฎกถือว่าเป็นอาบัติอย่างกลาง สามารถแก้ได้ด้วยการปลงอาบัติ
อย่างไรก็ตามมีพระสงฆ์บางส่วนในแคว้นวัชชีที่เสนอให้เปลี่ยนแปลงกฎระเบียบเหล่านี้ได้ เพราะพระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ก่อนปรินิพพานว่าสิกขาบทเล็กๆน้อยๆสามารถแก้ไขได้ แต่พระสงฆ์บางกลุ่มไม่ยอมแก้ไขพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงให้ไว้มาแต่เดิม
ดังนั้นพระสงฆ์ทั้งสองฝ่ายจึงเถียงกันอย่างดุเดือด โดยเฉพาะวัตถุ 10 ประการข้อ 10 ที่ว่าด้วยการรับเงินทอง
ในขณะนั้นพระยสเถระได้เดินทางมายังเมืองเวสาลีพอดี พระยสเถระจึงเข้าไปห้ามปรามพวกพระสงฆ์แคว้นวัชชีที่สนับสนุนให้แก้พระวินัย แต่พระสงฆ์กลุ่มดังกล่าวไม่เชื่อฟัง
ในเวลาต่อมาภิกษุชาววัชชีได้นำถาดทองมาวางให้อุบาสกและอุบาสิกาถวายเงินทอง หลังจากนั้นพระภิกษุเหล่านั้นจึงนำเงินทองมาแบ่งกันและแบ่งให้พระยสเถระด้วย แต่พระยสเถระปฏิเสธและอธิบายว่า ตัวพระยสเถระขอไม่รับ เพราะการรับเงินทองผิดพระวินัย
พวกพระสงฆ์ฝ่ายวัชชีได้ฟังคำกล่าวของพระยสเถระก็โกรธ ทุกรูปจึงรวมตัวกันลงปฏิสาราณิยกรรมแก่พระยสเถระ ซึ่งแปลว่าให้พระยสเถระไปขอโทษอุบาสกและอุบาสิกา
พระยสเถระจึงไปอธิบายให้อุบาสกและอุบาสิกาเข้าใจ คฤหัสถ์เหล่านี้จึงสนับสนุนและเลื่อมใสในพระยสเถระอย่างมาก
พระสงฆ์ฝ่ายวัชชีจึงยิ่งโกรธไปกว่าเดิม ทุกรูปเดินทางไปล้อมกุฎิพระยสเถระและขู่ว่าจะทำอุกเขปนียกรรม หรือแปลว่าตัดหางปล่อยวัด เหล่าสงฆ์จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับพระยสเถระอีกต่อไป
พระยสเถระกลับเดินทางออกจากเมืองเวสาลีและเดินทางไปเมืองโกสัมพีทันที พระยสเถระได้แจ้งให้ภิกษุจากเมืองอื่นๆ เช่นเมืองปาวาและเมืองอวันตีทราบถึงพฤติการณ์ของพระภิกษุวัชชี
พระสงฆ์ทั้งหลายเห็นว่าควรจะมีการประชุมกันเพื่อตัดสินปัญหาเรื่องนี้ เหล่าพระภิกษุจึงนิมนต์พระอรหันต์หลายสิบรูป โดยเฉพาะพระเรวตเถระ ลูกศิษย์ของพระอานนท์ที่มีความแตกฉานทางพระวินัยมาร่วมด้วย
ช่วงเวลานั้นเองพระสงฆ์แคว้นวัชชีเห็นว่าพระสงฆ์กลุ่มพระยสเถระกำลังจะไปนิมนต์พระเรวตเถระ ภิกษุเหล่านี้จึงรีบไปนิมนต์พระเรวตเถระเสียก่อน ทุกรูปหมายใจว่าจะชักชวนพระเรวตเถระให้มาอยู่ฝ่ายตน
พระเรวตเถระปฏิเสธที่จะเป็นพวกของพระสงฆ์ฝ่ายวัชชี ภิกษุเหล่านี้จึงหนีไปเฝ้าพระเจ้ากาฬาโศก แห่งราชวงศ์สุสุนาคะ ผู้ปกครองแคว้นมคธให้ช่วยเหลือพวกตน พระเจ้ากาฬาโศกจึงช่วยเหลือพวกภิกษุจากแคว้นวัชชีตามสมควร
แต่ทว่าพระนันทาเถรี ภิกษุณีที่ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์เป็นญาติกับพระเจ้ากาฬาโศก นางจึงเตือนไม่ให้พระเจ้ากาฬาโศกหลงเชื่อพระภิกษุจากแคว้นวัชชีเหล่านี้
พระเจ้ากาฬาโศกจึงสั่งให้จัดประชุมใหญ่โดยให้พระสงฆ์ทั้งสองฝ่ายโต้เถียงกัน พระยสเถระได้เป็นผู้กล่าวแย้งไม่ให้มีการเปลี่ยนพระธรรมวินัย พระเจ้ากาฬาโศกได้ฟังก็เห็นด้วย หลังจากนั้นจึงหันมาสนับสนุนฝ่ายพระยสเถระ
หลังจากนั้นพระภิกษุฝ่ายไม่ให้เปลี่ยนพระธรรมวินัยจึงจัดการสังคายนาครั้งที่ 2 ที่เมืองเวสาลี โดยมีพระอรหันต์เข้าร่วมถึง 700 รูป เหล่าสงฆ์ได้ตัดสินว่าภิกษุฝ่ายวัชชีละเมิดพระธรรมวินัย และให้คงพระวินัยไว้เช่นเดิม
อย่างไรก็ตามความขัดแย้งได้บานปลายไปแล้วเป็นที่เรียบร้อย
เหล่าพระสงฆ์วัชชีเดินทางไปเมืองปาฏลีบุตรซึ่งเป็นเมืองใหญ่และรวบรวมภิกษุได้มากถึงหนึ่งหมื่นรูป และจัดทำสังคายนาแข่งกับฝ่ายพระยสเถระ
การทำสังคายนาแข่งกัน และไม่ยอมรับการทำสังคายนาของอีกฝ่ายหนึ่ง ทำให้ศาสนาพุทธแตกออกเป็นสองฝ่ายอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
จากนี้พระสงฆ์ฝ่ายวัชชีเดิมและผู้สนับสนุนจะเรียกตนเองว่าฝ่าย “มหาสังฆิกะ” แปลว่า กลุ่มสงฆ์ใหญ่ กลุ่มมหาสังฆิกะนี้เป็นต้นกำเนิดของพุทธศาสนานิกายมหายาน
อย่างไรก็ตามบันทึกเก่าแก่บางฉบับกลับเสนอในรูปแบบที่ตรงกันข้าม โดยกล่าวว่าพวกมหาสังฆิกะต่างหากที่เป็นพวกที่พยายามรักษาธรรมดั้งเดิมของพระพุทธเจ้าไว้ พวกเขาพยายามสกัดภิกษุอายุมากอย่างพระยสเถระที่ต้องการปรับพระวินัยให้เข้มงวดยิ่งขึ้นจนเกินความพอดี ภิกษุอายุมากเหล่านั้นจึงแยกออกไปตั้งนิกายใหม่ ชื่อว่านิกายสถวีระ
ในกรณีนี้เราก็ไม่ทราบเช่นเดียวกันว่าเคสไหนเกิดขึ้นจริง แต่ภายในศาสนาพุทธในอินเดียได้เกิดนิกายใหญ่ๆ ขึ้นมาแล้ว 2 นิกาย
กรณีพระมหาเทวะ
นอกจากเรื่องพระภิกษุแคว้นวัชชีแล้ว ยังมีเรื่องเล่าอีกเรื่องหนึ่งด้วยที่อธิบายว่าการแตกแยกนิกายเกิดขึ้นอย่างไร
บันทึกของนิกายภทธรรมติจักรศาสตร์ว่าไว้ว่า การแตกแยกในการสังคายนาครั้งที่ 2 นี้เกิดจากภิกษุชื่อว่า พระมหาเทวะเป็นสำคัญ
พระมหาเทวะผู้นี้ทำอนันตริยกรรมถึง 3 จาก 5 อย่างได้แก่
- ปิตุฆาต
- มาตุฆาต
- อรหันตฆาต
และทำมาตั้งแต่เยาว์วัยด้วย
หลังจากก่อเหตุเหล่านี้ พระมหาเทวะตัดสินใจบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ตัวพระมหาเทวะเป็นคนฉลาดมาก หลังจากศึกษาธรรมะได้ไม่นาน พระมหาเทวะก็มีความรู้ในพระธรรมแตกฉาน และมีความสามารถในการเทศน์ด้วย ทำให้มีลูกศิษย์จำนวนมาก
การทำอนันตริยกรรมทำให้พระมหาเทวะไม่สามารถบรรลุธรรมใดๆได้ แต่ด้วยความที่หวังจะได้เงินมากๆ มาบำเรอความสุขตนเอง พระมหาเทวะจึงบอกลูกศิษย์ว่า ตนเองได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว
ดังนั้นในทางทฤษฎีพระมหาเทวะจึงอวดอุตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตน และขาดจากความเป็นพระไปแล้ว!
แต่ด้วยความที่เทศน์เก่ง ทำให้ไม่มีใครสงสัยเรื่องอาบัติปาราชิกข้อนี้เลย พระมหาเทวะจึงยิ่งมีลูกศิษย์มากขึ้นตามลำดับ
จนกระทั่งวันหนึ่ง พระมหาเทวะฝันเปียกจนน้ำอสุจิเปี้อนสบง พระลูกศิษย์คนหนึ่งจึงถามว่า
พระอาจารย์เป็นพระอรหันต์แล้ว ทำไมถึงยังฝันจนน้ำอสุจิเคลื่อนได้
พระมหาเทวะตอบลูกศิษย์ว่าพระอรหันต์สามารถถูกมารยั่วยวนในฝันจนฝันเปียกได้ (ผิดพระธรรมคำสอน)
แน่นอนว่าพระมหาเทวะก็ตอบมั่วๆไปเช่นนั้นเอง และการอธิบายของเขาบิดเบือนคำสอนของพระพุทธเจ้า
หลังจากนั้นเหตุการณ์คล้ายๆกันก็เกิดขึ้นอีก
พระมหาเทวะมักบอกว่าลูกศิษย์ของตนสำเร็จได้มรรคผลชั้นโน้นชั้นนี้แล้ว แต่ลูกศิษย์รู้สึกว่าตนเองยังไม่บรรลุอะไรเลย จึงถามพระมหาเทวะด้วยความสงสัย
พระมหาเทวะตอบว่าบางครั้งพระอรหันต์ยังความไม่รู้บางสิ่งได้ (ผิดพระธรรมคำสอน)
พวกลูกศิษย์จึงถามต่อไปว่าถ้าพวกตนบรรลุธรรมแล้วทำไมถึงยังสงสัยในธรรมอยู่
พระมหาเทวะตอบว่าบางครั้งพระอรหันต์ยังสงสัยในบางสิ่งได้ (ผิดพระธรรมคำสอน)
ลูกศิษย์ต่อไปอีก พวกเขาถามว่า
พระอรหันต์มีญาณหยั่งรู้ด้วยตัวเองมิใช่หรือ แล้วทำไมพวกเราต้องให้พระอาจารย์บอกว่าบรรลุแล้ว
พระมหาเทวะตอบไปว่า การเป็นพระอรหันต์ต้องอาศัยผู้อื่นพยากรณ์ให้เท่านั้น ซึ่งก็ผิดพระธรรมคำสอนอีก
เมื่อถูกซักไซ้มากๆ เข้า พระมหาเทวะกลัวจะถูกเปิดโปงว่าบิดเบือนคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พระมหาเทวะจึงรุ่มร้อนอยู่ตลอดเวลาจนนอนไม่หลับ ในคืนหนึ่งพระมหาเทวะพูดขึ้นว่า
อโห ทกฺขํ อโห ทกฺขํ
หรือแปลว่า “ทุกข์หนอๆ” หรือทุกข์โว้ยๆ ก็ได้
ลูกศิษย์ของพระมหาเทวะจึงถามต่อไปว่า พระอาจารย์เป็นพระอรหันต์แล้วทำไมถึงกลุ้มใจ
พระมหาเทวะจึงกล่าวว่า ผู้จะบรรลุธรรมได้ต้องอุทานว่าทุกข์หนอๆ ซึ่งก็ผิดพระธรรมวินัยอย่างชัดเจนที่สุด
นานวันเข้าแนวคิดเหล่านี้ก็แพร่ไปในหมู่ลูกศิษย์ของพระมหาเทวะที่มีจำนวนมาก บรรดาภิกษุที่ประพฤติดีจึงรวมตัวกันจัดสังคายนาเพื่อประณามพระมหาเทวะ
แต่พระมหาเทวะมีพรรคพวกมากกว่า พระมหาเทวะจึงจัดสังคายนาเช่นกัน การสังคายนานี้แยกพระพุทธศาสนาออกเป็นสองนิกายอย่างเป็นทางการ โดยกลุ่มพระมหาเทวะมีชื่อเรียกว่ามหาสังฆิกะ
อย่างไรก็ตามนักประวัติศาสตร์ศาสนามองว่าเรื่องพระมหาเทวะเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมา พระมหาเทวะไม่น่ามีตัวตนอยู่จริง การสังคายนาครั้งที่ 2 น่าจะเกิดขึ้นเพราะเรื่องของพระภิกษุจากแคว้นวัชชีมากกว่า
หลังจากนั้น
การสังคายนาครั้งที่ 2 ได้ทำให้ศาสนาพุทธเริ่มแบ่งเป็นนิกาย แต่แนวคิดมหายานยังไม่ได้เกิดขึ้น ณ เวลานั้น
หลังจากนั้นการสังคายนาครั้งที่ 2 ประมาณ 100-200 ปี แนวคิดแบบ “มหายาน” เริ่มเกิดขึ้นในหมู่ภิกษุแห่งนิกายมหาสังฆิกะ แนวคิดดังกล่าวให้ความสำคัญกับการนับถือพระโพธิสัตว์ และยกสถานะของพระพุทธเจ้าองค์อื่นโดยเฉพาะองค์ที่ยังไม่ตรัสรู้ให้เทียบเท่าหรือยิ่งใหญ่กว่าพระสมณโคดมด้วยซ้ำไป
แน่นอนว่าพระพุทธเจ้าองค์อื่นๆ เหล่านี้ไม่ปรากฏในพระไตรปิฎกฉบับดั้งเดิม และน่าจะมาจากการแต่งใหม่โดยพระนักวิชาการฝั่งมหายานเอง
เราปฏิเสธไม่ได้ว่าแนวคิดมหายานนี้เป็นที่นิยม อนึ่งเพราะเข้าถึงง่ายกว่า การนับถือพระโพธิสัตว์และพระพุทธเจ้าอื่นๆ อย่างพระอมิตาภพุทธเจ้าทำให้ศาสนิกไม่ต้องใส่ใจกับการเข้าใจธรรมะอันซับซ้อนของศาสนาพุทธอีกต่อไป เพราะเพียงแค่นับถือพระโพธิสัตว์และพระพุทธเจ้าอย่างจริงแท้ก็เพียงพอต่อการบรรลุธรรมแล้ว
นักวิชาการบางท่านเสนอว่าการแข็งขันระหว่างศาสนาพุทธกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดูแรงขึ้นในยุคนั้น ทำให้ศาสนาพุทธต้องปรับตัวเพื่อ “แข่ง” กับศาสนาฮินดู นิกายมหายานจึงถือกำเนิดขึ้นมา หรือบ้างก็ว่าแนวคิดมหายานเกิดจากการสร้างของคฤหัสถ์ไม่ใช่พระสงฆ์ อย่างไรก็ตามเรายังไม่มีข้อสรุปในประเด็นดังกล่าว
นิกายมหายานเผยแพร่ไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับนิกายเถรวาท คือเผยแพร่ไปยังเอเชียกลาง และขึ้นไปทางจีน เกาหลี และญี่ปุ่น (บางส่วนเผยแพร่ทางตะวันออกเข้ามาในดินแดนสุวรรณภูมิด้วย) ต่างกับนิกายเถรวาทที่ลงใต้ไปยังศรีลังกา และเข้ามาในดินแดนสุวรรณภูมิในภายหลัง
Sources:
- พระมหาดาวสยาม วชิรปัญโญ, หนังสือประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอินเดีย
- Drewes, Early Indian Mahayana Buddhism I: Recent Scholarship
- Skilton, A Concise History of Buddhism