ประวัติศาสตร์รัสเซียครอบครัวซาร์ฤดูหนาวอันหนาวเหน็บในทาบอสค์และการปฏิวัติตุลาคม (10)

ฤดูหนาวอันหนาวเหน็บในทาบอสค์และการปฏิวัติตุลาคม (10)

ชีวิตที่ทาบอสค์ดำเนินไปอย่างจำเจสำหรับซาร์นิโคลัสที่ 2 และครอบครัว ความสุขของนิโคลัสอยู่ที่การสับฟืนอยู่ภายนอกบ้าน ภายใต้อากาศที่กำลังเย็นลงเมื่อฤดูหนาวใกล้เข้ามา

ถึงแม้จะมีหลายคนที่อยากจะช่วยนิโคลัส แต่เขาปฏิเสธไปเสียทั้งหมด เพราะว่าเขาไม่อยากให้ใครมาขัดขวางความสุขของเขานั่นเอง

อากาศช่วงเวลานั้นที่ทาบอสค์ดีมาก ทำให้สี่สาวมักจะออกมานั่งเล่นที่ระเบียงบ่อยครั้งเพื่อซึมซับอากาศในฤดูใบไม้ร่วง ทาเทียน่าเล่าในจดหมายที่เธอเขียนถึงเซเนีย อาสาวของเธอว่า เธอและพี่น้องมักจะนั่งเล่นและดูผู้คนผ่านไปมา นั่นเป็นความบันเทิงอย่างเดียวที่ทั้งสี่สาวหามาได้ในเวลานั้น

อย่างไรก็ตาม สี่สาวได้ใช้พื้นที่ว่างนอกบ้านเลี้ยงสัตว์ด้วย ทาเทียน่าเลี้ยงหมูไว้ทั้งหมดห้าตัว และไก่งวงอีกจำนวนหนึ่ง บางครั้งนิโคลัสและอเล็กเซย์จะออกมาให้อาหารพวกมัน สัตว์เหล่านี้ถูกเลี้ยงไว้เพื่อเป็นอาหารในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง

ผู้ที่เก็บตัวอยู่แต่ในบ้านเสียเป็นส่วนใหญ่คือ อเล็กซานดรา เธอปวดหลังเกินกว่าที่จะเดินเหินไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวกนั่นเอง

นิโคลัสและอเล็กเซย์ให้อาหารไก่งวงที่ทาบอสค์

อนาสตาเซียหุบปาก!

ถึงแม้จะอยู่ในที่คุมขัง นิโคลัสและอเล็กซานดรายังเห็นถึงความสำคัญของการเรียนหนังสือ สี่สาวโรมานอฟและอเล็กเซย์จึงยังต้องเข้ารับการศึกษากับติวเตอร์เช่นเดิม

ซิดนีย์ กิปส์ (Sydney Gibbes) ติวเตอร์ชาวอังกฤษเดินทางมาถึงทาบอสค์ก่อนที่ฤดูหนาวจะมาถึงเล็กน้อย เขาได้นำของขวัญมากมายมาจากแอนนา ไวรูโบวา หลังจากที่เขามาถึงแล้ว การเรียนการสอนก็เริ่มต้นขึ้นทันที

การเรียนการสอนประสบปัญหาไม่น้อย โดยเฉพาะมาเรีย อนาสตาเซีย และอเล็กเซย์ สาเหตุคือทั้งสามไม่ได้เรียนอย่างติดต่อกัน ทำให้ความรู้สะเปะสะปะมาก คนที่มีปัญหามากที่สุดคืออนาสตาเซีย เพราะเธอดื้อมาก และไม่ตั้งใจเรียนเลย

อนาสตาเซียที่ทาบอสค์

มีอยู่วันหนึ่ง กิปส์โมโหมากกับพฤติกรรมของอนาสตาเซีย เขาจึงตะโกนบอกอดีตแกรนด์ดัชเชสว่า

อนาสตาเซียหุบปาก!

เด็กแสบอย่างอนาสตาเซียมีหรือจะยอมแพ้ วันต่อมาเมื่อเธอสั่งการบ้าน เธอเขียนชื่อของเธอว่า

เอ.โรมานอฟนา (หุบปาก!)

ในฐานะผู้ควบคุมดูแลครอบครัวโรมานอฟ แพนคราตอฟรู้สึกว่าครอบครัวโรมานอฟ โดยเฉพาะสี่สาวนั้นช่างไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับไซบีเรีย พวกเธอตื่นเต้นทุกครั้งที่เห็นผู้คนแถบนั้นใส่ “เสื้อกันหนาวสีขาวหรือสีเทาที่ทำมาจากเฟอร์ (Fur)”

จริงๆแล้ว เสื้อแบบนี้ทำมาจากกวางเรนเดียร์ และเป็นเสื้อที่ชาวพื้นเมืองแถวนั้นใส่กันเพื่อป้องกันความหนาวนั่นเอง

นานวันเข้าแพนคราตอฟรู้สึกว่าพวกเธอช่างไร้เดียงสาเสียจริง พวกเธอไม่เคยเห็น ไม่รู้จัก หลายสิ่งหลายอย่างที่คนทั่วไปรู้ ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่แปลกอะไร เพราะว่าทั้งสี่แทบจะไม่ได้ไปไหนเลย นอกจากอยู่ในวังเท่านั้น

ขอออกไปเดินข้างนอก?

เราปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าชีวิตที่ทาบอสค์ให้ความสุขแก่ครอบครัวโรมานอฟไม่มากก็น้อย มาเรียเคยพูดขึ้นว่า เธอยินดีที่จะอยู่ที่ทาบอสค์ไปตลอดชีวิต ถ้าพวกผู้คุมอนุญาตให้เธอออกไปเดินข้างนอกได้สักหน่อย

นิโคลัสและลูกๆ ทั้งห้าที่ทาบอสค์

นิโคลัสเองก็ต้องการออกไปเดินเล่นข้างนอกเช่นเดียวกัน เขาขอแพนคราตอฟออกไปข้างนอกหลายต่อหลายครั้ง แต่ทุกครั้งนิโคลัสจะได้รับการปฏิเสธเสมอ นิโคลัสเคยกล่าวกับแพนคราตอฟว่า

ทำไมคุณไม่ให้พวกเราเดินเล่นในเมืองล่ะ ไม่ใช่ว่าคุณกลัวว่าฉันจะวิ่งหนีไปหรอกนะ ฉันไม่มีทางทิ้งครอบครัวของฉัน

นิโคลัสถามด้วยความไม่รู้ จริงๆ แล้วแพนคราตอฟมีเหตุผลที่ดีพอเลยทีเดียวที่ไม่ให้นิโคลัสออกไปข้างนอก แต่เขาตอบแค่เพียงว่า

ฉันไม่กังวลเลยในประเด็นนั้น (ว่านิโคลัสจะหนีไป) นิโคลัส อเล็กซานดรอวิช แต่ถ้าพูดโดยทั่วไปแล้ว ความพยายามที่จะหลบหนีจะทำให้ทุกสิ่งแย่ลงต่อคุณและครอบครัว

แพนคราตอฟไม่เคยบอกสาเหตุที่แท้จริงให้แก่นิโคลัส สาเหตุที่แท้จริงคือ สภาโซเวียตที่เมือง Tomsk เมืองใหญ่ที่อยู่ไม่ไกลของทาบอสค์นักกำลังเรียกร้องให้จับนิโคลัสและครอบครัวเข้าคุก ผู้ที่สนับสนุนสภาโซเวียตที่อยู่ในทาบอสค์เองก็ยังมีอยู่ ดังนั้นถ้านิโคลัสและครอบครัวออกไปเดินเล่น มันอาจจะเป็นอันตรายต่อตัวนิโคลัสเอง

ด้วยเหตุนี้ทั้งครอบครัวจึงต้องอยู่ภายในบริเวณบ้าน และอยู่กับอะไรที่จำเจต่อไป

เมื่อฤดูหนาวมาถึง

ภายในเดือนตุลาคม ฤดูหนาวอันรุนแรงของไซบีเรียก็มาถึงทาบอสค์ ฤดูหนาวแห่งปี ค.ศ.1917 เป็นครั้งแรกที่ครอบครัวของนิโคลัสได้อยู่กันอย่างพร้อมหน้าในดินแดนไซบีเรีย แต่มันจะเป็นฤดูหนาวสุดท้ายในชีวิตของทุกคนด้วย โอลกาเล่าว่าอากาศในเวลานั้นหนาวมากจนเธอแทบจะเป็นน้ำแข็งอยู่แล้ว

ถึงแม้อากาศจะหนาวสักเพียงใด ครอบครัวโรมานอฟก็ยังยืนกรานที่จะออกไปทำกิจกรรมในสวน เพราะว่าเป็นความสุขของพวกเขา สี่สาวได้ช่วยเหลือนิโคลัสในการกวาดหิมะที่ปกคลุมรอบบ้านๆ ให้เป็นระเบียบ และขนไม้ที่ตัดแล้วไปเก็บ

การตัดไม้ในฤดูหนาวยังคงเป็นความสุขของนิโคลัส

แพนคราตอฟรู้สึกตกตะลึงไม่น้อยที่พวกครอบครัวโรมานอฟสามารถหาความสุขได้จากการทำงานเยี่ยงแรงงานเช่นนี้ เพราะว่าทุกคนเคยเป็นเจ้ามาก่อน มีอยู่วันหนึ่งแพนคราตอฟถามมาเรียว่า ทำไมเธอถึงมาทำงานแบบนี้ และไม่ให้คนอื่นทำให้ เขาไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าเธอจะต้องการทำงานแบบนี้

มาเรียกล่าวสั้นๆแค่ว่า เธอต้องการทำเพราะว่ามันเป็นความสุขของเธอ

เมื่ออากาศแย่ลงจากพายุหิมะ และท้องฟ้าเริ่มมืดสนิทตลอดทั้งวัน ครอบครัวโรมานอฟไม่สามารถออกไปข้างนอกได้ ทุกคนจะเริ่มรู้สึกหดหู่และวังเวง

สำหรับนิโคลัสแล้ว เขามีความเซ็งอยู่อีกอย่างหนึ่ง นั่นคือเขาไม่รู้เหตุการณ์จากโลกภายนอกเลย ถึงแม้แพนคราตอฟจะสัญญาว่าจะส่งหนังสือพิมพ์ต่างประเทศมาให้เขาบ่อยๆ แต่เอาเข้าจริงหนังสือพิมพ์ก็มาบ้างไม่มาบ้าง ทำให้นิโคลัสว้าวุ่นใจมาก

เขาไม่รู้เลยว่ากำลังมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เปโตรกราด ที่จะส่งผลถึงชีวิตของเขาและครอบครัวด้วย

เหตุการณ์ที่ว่าคือ การปฏิวัติตุลาคม

การปฏิวัติตุลาคม

การปฏิวัติตุลาคมเป็นการทำรัฐประหารของพวกบอลเชวิคที่นำโดยวลาดิเมียร์ เลนิน และ ลีออน (เลฟ) ทรอตสกี้

เลนิน

เราปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุสำคัญที่เลนินได้รับชัยชนะมาจากตัวคีเรนสกี้เอง

คีเรนสกี้เป็นคนที่มีความทะเยอทะยาน บ้างว่าเขาปรารถนาที่จะเป็นถึง “นโปเลียน” แห่งรัสเซีย ทั้งๆที่ในเวลานั้นรัฐบาลของเขาสะบักสะบอม เพราะเพิ่งเอาตัวรอดจากความพยายามลุกฮือของพวกบอลเชวิคมาได้อย่างหวุดหวิด

ช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน ค.ศ.1917 (ระหว่างที่ครอบครัวซาร์อยู่ที่ทาบอสค์) นายพลคอร์นีลอฟ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพรัสเซียที่แต่งตั้งโดยคีเรนสกี้วางแผนลับๆ ว่าจะนำกำลังทหารทั้งหมดบุกเข้าเปโตรกราด เพื่อจุดประสงค์บางอย่าง

บ้างว่าเพื่อทำรัฐประหารรัฐบาลชั่วคราวและตั้งรัฐบาลทหารขึ้นมาแทนที่ โดยมีคอร์นีลอฟเป็นผู้นำสูงสุด ส่วนคีเรนสกี้ก็ให้อยู่ในคณะรัฐมนตรีเช่นเดิม แต่ที่แน่ๆ คือ กวาดล้างพวกบอลเชวิคให้สิ้นซาก

บ้างก็ว่าเป็นคำสั่งลับจากคีเรนสกี้ให้เข้ามากวาดล้างบอลเชวิค

แต่ด้วยสาเหตุที่ไม่แน่ชัด ภายหลังคีเรนสกี้ไม่ยอมให้คอร์นีลอฟเข้ามาในเปโตรกราด เขาพยายามขัดขวางการเข้ายึดอำนาจของคอร์นีลอฟ โดยขอให้พวกบอลเชวิคช่วย และติดอาวุธให้กับพวกบอลเชวิคด้วย!

ไม่แน่ชัดเหมือนกันว่าทำไมคีเรนสกี้ถึงทำเช่นนั้น มีผู้วิเคราะห์ว่าคีเรนสกี้เป็นพวกฝ่ายซ้ายมาทั้งชีวิต เขากลัวว่าคอร์นีลอฟเข้ามาและเปลี่ยนการปกครองเป็นรัฐบาลทหารขวาจัด เขาเลยคิดว่าพวกบอลเชวิคที่เป็นซ้ายจัดจึงยังคบได้มากกว่าคอร์นีลอฟ

ปรากฏว่าคอร์นีลอฟยึดอำนาจไม่สำเร็จ ภัยของคีเรนสกี้จึงสิ้นไป คีเรนสกี้จึงสั่งให้พวกบอลเชวิคคืนอาวุธที่เขามอบให้กลับคืนมาด้วย

แต่พวกบอลเชวิคมีหรือจะคืน หมูเข้าปากหมาแล้วนี่นา จะคืนทำไม??

หลังจากนั้นไม่นาน เลนินก็สั่งให้พวกบอลเชวิคที่มีอาวุธครบมือเข้ายึดอำนาจรัฐบาลของคีเรนสกี้ในช่วงปลายเดือนตุลาคม คีเรนสกี้พยายามสั่งให้พวกทหารเข้าป้องกัน แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะพวกทหารไม่มีใครฟังคำสั่งของเขาอีกต่อไปแล้ว เลนินเข้ายึดอำนาจได้สำเร็จ คีเรนสกี้ต้องหนีออกจากเปโตรกราดไป

รัฐบาลชั่วคราวของคีเรนสกี้จึงพังทลาย พวกบอลเชวิคได้จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวของตนเองขึ้นมาปกครองประเทศไปพลางก่อน

การพังพินาศของรัฐบาลชั่วคราว ทำให้ชะตากรรมของครอบครัวซาร์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โอกาสที่จะใช้ชีวิตอยู่อย่างมีความสุขนั้นไม่มีอยู่อีกแล้ว

อ่านตั้งแต่ตอนแรกและติดตามตอนต่อไปได้ที่ วันสุดท้ายของราชวงศ์โรมานอฟ หรือติดตามตอนที่ 11 ได้ที่นี่

หนังสืออ้างอิงอยู่ที่นี่

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!