เซซาร์เรวิชอเล็กเซย์ หรือ อเล็กซีย์ นิคาลาเยวิช (Алексе́й Никола́евич) หนังสือเก่าๆ หน่อยจะเรียกเขาว่า อเล็กซิส) เขาเป็นโอรสคนเดียวของซาร์นิโคลัสที่ 2 และซาริซาอเล็กซานดรา อเล็กเซย์เป็นบุตรชายที่นิโคลัสและอเล็กซานดราปรารถนาที่จะได้มานานแสนนาน เพราะทั้งสองให้กำเนิดธิดามาถึง 4 พระองค์แล้วด้วยกัน
ด้วยความที่เขาเป็นฮีโมฟีเลีย ทำให้เขากลายเป็นศูนย์กลางของครอบครัว พี่สาวทั้งสี่ของเขา โอลกา ทาเทียน่า มาเรีย และ อนาสตาเซีย ต่างดูแลน้องชายคนนี้เป็นอย่างดี
ยิ่งกว่าไข่ในหิน
เมื่ออเล็กเซย์เกิดขึ้นมาในปี ค.ศ.1904 ทั้งนิโคลัสและอเล็กซานดราดีใจมาก แต่ในเวลาไม่นานความหดหู่ก็เข้าปกคลุมใจของทั้งสอง เพราะอเล็กเซย์มีอาการของโรคฮีโมฟีเลีย (Hemophilia) แบบ B โรคทางพันธุกรรมที่ไม่มีทางรักษาให้หายขาด บาดแผลและการกระแทกเพียงเล็กน้อยสามารถทำให้เขาจากไปได้ในบัดดล
ซาริซาอเล็กซานดราทรงโทษพระองค์เองอยู่หลายครั้งเมื่อพระนางรู้ว่าอเล็กเซย์ป่วยเป็นฮีโมฟีเลีย พระนางทรงรู้อยู่แล้วว่าพระนางทรงเป็นพาหะ แต่ก็หวังในพระทัยลึกๆว่าพระองค์จะแข็งแรง แต่สุดท้ายแล้วพระโอรสก็กลับประชวรเป็นฮีโมฟีเลียเสียจริงๆ
ด้วยความที่เป็นโอรสคนเดียวและยังเจ็บป่วยด้วยโรคเช่นนี้ อเล็กเซย์จึงเป็นศูนย์กลางของครอบครัว นิโคลัส อเล็กซานดรา และธิดาทั้งสี่ รวมไปถึงข้าราชบริพารทั้งหมดเริ่มที่จะดูแลเขายิ่งกว่าไข่ในหิน โครงการที่จะบูรณะพระราชวังฤดูหนาวถูกยกเลิก ครอบครัวซาร์ย้ายไปอยู่ที่พระราชวังอเล็กซานเดอร์เป็นการถาวร
อเล็กเซย์ถูกดูแลโดยพยาบาลตลอดเวลา และเมื่อเขาโตขึ้น นิโคลัสก็มอบหมายให้ทหารเรือสองคนที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีเป็นพี่เลี้ยงดูแลอเล็กเซย์
มงกุฎราชกุมารคนสุดท้ายของรัสเซียเป็นคนขี้เล่น และร่าเริง ตั้งแต่อายุสองสามขวบ อเล็กเซย์ชอบที่จะบุกเข้าไปห้องที่พี่สาวทั้งสี่กำลังเรียนหนังสืออยู่ จนพี่เลี้ยงต้องอุ้มเขาออกไป มิฉะนั้นพี่สาวของเขาก็จะไม่มีสมาธิเรียนหนังสือ
ต่อมาพอเขามีอายุประมาณสี่ห้าขวบ อเล็กเซย์ชื่นชอบที่จะวิ่งเล่นไปมาตามประสาเด็กชาย เขาชอบมุดโน่นมุดนี่ พฤติกรรมแบบเด็กๆ ของเขาสร้างความเกรงกลัวให้กับอเล็กซานดราและพี่เลี้ยงเป็นอย่างยิ่ง เพราะทุกคนเกรงว่าอเล็กเซย์จะไปกระแทกอะไรสักอย่างนั่นเอง
โดยทั่วไปแล้ว อเล็กเซย์เป็นคนสุภาพ เชื่อฟังผู้ใหญ่ และมีน้ำใจต่อทุกๆคน แต่บางวันอเล็กเซย์มีพฤติกรรมหยาบคายบ้างตามภาษาเด็กที่ถูกพ่อแม่ตามใจ ในวัยหกขวบ เขาเคย “แกล้ง” รัฐมนตรีต่างประเทศ อเล็กซานเดอร์ อิสวอลสกี้ (Alexander Izvolsky) ด้วยการพูดเสียงดังว่า
เมื่อรัชทายาทแห่งบัลลังก์รัสเซียเข้ามาในห้อง ทุกคนต้องยืนขึ้น!
ชีวิตที่อยู่ในกรอบของอเล็กเซย์
หลายปีต่อมาเมื่ออเล็กเซย์เติบโตขึ้น นิโคลัสและอเล็กซานดราได้สอนอเล็กเซย์ว่า เขาต้องระมัดระวังตัวเองให้จงดี และสั่งห้ามไม่ให้อเล็กเซย์ทำกิจกรรมกลางแจ้งจำนวนมาก การห้ามดังกล่าวทำให้อเล็กเซย์รู้สึกไม่พอใจเท่าไรนัก เพราะเขาไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงไม่ได้รับอนุญาตให้ทำกิจกรรมเหล่านั้นเหมือนกับเด็กคนอื่น
มีอยู่วันหนึ่ง อเล็กเซย์เดินเข้าไปตามประสาเด็กและถามอเล็กซานดรา แม่ของเขาว่า
อเล็กเซย์: แม่ ผมขอมีจักรยานสักคันไม่ได้เหรอครับ
ซารินาอเล็กซานดรา: อเล็กเซย์ ลูกก็รู้อยู่แล้วว่าไม่ได้
อเล็กเซย์: งั้นผมขอไปเล่นเทนนิสนะครับ
ซารินาอเล็กซานดรา: ลูกรัก ลูกก็รู้อยู่แล้วว่าเล่นไม่ได้
พอได้ฟังเช่นนั้น น้ำตาอันมากมายก็ไหลรินจากดวงตาทั้งสองข้างของเด็กชายผู้นี้ เขาพูดขึ้นว่า
ทำไมเด็กคนอื่นถึงทำได้หมดทุกอย่าง แต่ผมทำไม่ได้เลยสักอย่างเดียว?
การถูกบังคับไม่ให้ทำอะไรเลยเช่นนี้ทำให้อเล็กเซย์เกิดความรู้สึก “อยากลองดี” ขึ้นมา ความรู้สึกแบบนี้เกิดบ่อยครั้งในหมู่ผู้ป่วยฮีโมฟีเลีย สาเหตุทางจิตวิทยาก็คือ ผู้ป่วยต้องการแข็งข้อต่อการป้องกันที่มากเกินความพอดี พวกเขาอยากที่จะประกาศให้โลกรู้ว่าผู้ป่วยแข็งแกร่งพอ และที่สำคัญที่สุด ผู้ป่วยต้องการที่จะใช้ชีวิตเหมือนกับคนทั่วไปบ้าง
ในตอนที่เขาอายุได้ 7 ขวบ อเล็กเซย์ก็เริ่มลองดี เด็กอย่างเขานั้นไม่ทราบเลยว่า เขากำลังล้อเล่นกับความตาย เขาแอบขโมยจักรยานมาได้คันหนึ่งและขี่ไปยังจุดที่ซาร์นิโคลัสกำลังทรงตรวจแถวทหารองครักษ์อยู่
เมื่อนิโคลัสเห็นอเล็กเซย์ขี่จักรยานอยู่ก็ตกใจจนแทบสิ้นสติ นิโคลัสสั่งให้เหล่าทหารออกติดตามอเล็กเซย์ทันที จนสุดท้ายอเล็กเซย์ก็ถูกล้อมและจับตัวมาได้ในที่สุด
หลังจากนั้นไม่นาน ระหว่างที่พระราชวังมีงานเลี้ยงสำหรับเด็กและมีการฉายภาพยนตร์ อเล็กเซย์เป็นหัวโจกของพวกเด็กๆ ในการกระโดดไปมาระหว่างโต๊ะ พวกพี่เลี้ยงตกใจจนสิ้นสติที่เห็นเขาทำเช่นนั้น พวกเขาพยายามที่จะห้ามอเล็กเซย์ การห้ามของพี่เลี้ยงทำให้อเล็กเซย์โกรธมาก เขาพยายามจะผลักพี่เลี้ยงออกจากห้องไปให้หมด
การลองดีของอเล็กเซย์หนักข้อขึ้น นิโคลัสและอเล็กซานดราเองก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี ทั้งสองจึงพยายามหาของเล่นราคาแพงที่สุดมาให้อเล็กเซย์เล่น เพื่อที่อเล็กเซย์จะได้ไม่ไปอุตริเล่นสิ่งที่อันตรายข้างนอกวัง
อเล็กเซย์ชอบของเล่นเหล่านี้ไม่น้อย โดยเฉพาะพวกตุ๊กตาทหาร ตุ๊กตาพวกนี้เป็นสิ่งที่อเล็กเซย์ชื่นชอบมาก เพราะเขาหลงใหลในกองทัพเหมือนกับบิดาของเขา อเล็กเซย์ฝันว่าสักวันหนึ่ง เขาจะขี่ม้าสีขาวนำทหารออกรบเช่นเดียวกับซาร์ปีเตอร์มหาราช แต่เมื่อเขาต้องอยู่บนเตียงบ่อยครั้งขึ้นเพราะอาการเจ็บป่วยจากฮีโมฟีเลีย ความฝันดังกล่าวก็เริ่มจะหายไป
ชีวิตที่ไร้เพื่อน
เรื่องเศร้าที่สุดของอเล็กเซย์อย่างหนึ่งก็คือ เขาแทบจะไม่มีเพื่อนคนอื่นเลย สาเหตุหลักคือซารินาอเล็กซานดราไม่ให้เขาเล่นกับลูกของเชื้อพระวงศ์คนอื่น เพราะพระนางทรงคิดว่าพวกเด็กเหล่านั้นหยาบคาย และอาจจะทำร้ายอเล็กเซย์ก็เป็นได้
อเล็กซานดราจึงคัดเลือกทหารหนุ่มที่ได้รับการฝึกฝนวิธีจัดการกับผู้ป่วยฮีโมฟีเลียเป็นอย่างดีมาเป็นเพื่อนเล่นของอเล็กเซย์ แต่อเล็กเซย์ไม่พอใจเท่าใดนัก เพราะพวกทหารไม่ใช่รุ่นราวคราวเดียวกับเขานั่นเอง
อเล็กเซย์จึงมีแค่บุตรชายสองคนของกะลาสีเรือชื่อเดเรเวนโก (Derevenko) ไว้เป็นเพื่อนเล่นเท่านั้น นอกจากนี้เขาก็จะเล่นกับพี่สาวทั้งสี่ของเขาซึ่งพี่สาวของเขาก็ดูแลเขาเป็นอย่างดี อเล็กเซย์ชอบนอนมองท้องฟ้าเช่นเดียวกับโอลกา พี่สาวคนโตของเขาที่หลงใหลในธรรมชาติ โอลกามักจะถามอเล็กเซย์เสมอว่าเขาคิดอะไรอยู่ มีอยู่ครั้งหนึ่ง อเล็กเซย์ตอบว่า
หลายเรื่องมาก ผมต้องการจะมีความสุขกับแสงแดด และความสวยงามของฤดูร้อนให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ใครจะทราบว่าระหว่างวันเหล่านี้ ผมจะไม่ถูกห้ามให้ออกมาอีกกันเล่า?
ถึงแม้ว่าจะมีตำแหน่งสูงส่งถึงเซซาร์เรวิช แต่ชีวิตของอเล็กเซย์เหมือนกับว่าอยู่ในคุก เขาไม่เคยได้ออกไปนอกหมู่บ้านซาร์ (Tsarskoe Selo) เลย เพราะนิโคลัสและอเล็กซานดราเกรงว่าเขาจะประสบกับอันตรายถึงชีวิต สภาพจิตใจของอเล็กเซย์จึงไม่ค่อยดีเท่าไรนัก
เรื่องที่เขาป่วยเป็นฮีโมฟีเลียถูกเก็บเป็นความลับระดับสุดยอด ไม่มีผู้ใดทราบนอกจากข้าราชบริพารที่ใกล้ชิดมากกับครอบครัวเท่านั้น แม้กระทั่งพระอาจารย์ชาวสวิสก็ยังไม่ทราบ ส่วนหนึ่งนิโคลัสไม่ต้องการจะสร้างแรงกระเพื่อมในแผ่นดินรัสเซียว่า มงกุฎราชกุมาร (เซซาร์เรวิช) จะมีอายุสั้น อเล็กเซย์จึงเป็นเด็กชายที่เหงาที่สุดในโลกคนหนึ่ง ถึงแม้จะเกิดมาสูงส่งที่สุดในแผ่นดิน
สิ่งที่ปลอบประโลมจิตใจและเป็นเพื่อนสนิทกับอเล็กเซย์กลับไม่ใช่มนุษย์ แต่เป็นสุนัขที่ชื่อว่า จอย นั่นเอง
รัสปูตินกับปาฏิหาริย์ที่สปาลา
อาการป่วยของอเล็กเซย์เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้รัสปูตินเข้ามามีอิทธิพลและบทบาทในวังหลวง
สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะ รัสปูตินเป็นคนเดียวที่สามารถหยุดเลือดที่ไหลไม่หยุดของอเล็กเซย์ได้ โดยเฉพาะเหตุการณ์ในปี ค.ศ.1912 ที่เรียกกันว่า ปาฏิหาริย์ที่สปาลา (Miracle at Spala)
เรื่องมีอยู่ว่า อเล็กเซย์และครอบครัวได้ไปพักผ่อนที่หมู่บ้านสปาลาในดินแดนโปแลนด์ของรัสเซีย เขาได้เล่นกับเดเรเวนโก พี่เลี้ยงของเขา แต่การเล่นดังกล่าวเลยเถิดไปหน่อย เพราะอเล็กเซย์ต้องการจะเลียนแบบพวกกะลาสีเรือที่กระโดดลงมาจากเรือเพื่อลงไปว่ายน้ำ อเล็กเซย์จึงกระโดดลงอ่างอาบน้ำด้วยวิธีการคล้ายๆ กันนั้น
อเล็กเซย์กระแทกเข้ากับขอบอ่างอาบน้ำ เขารู้สึกเจ็บแต่ก็เจ็บไม่มากนัก อเล็กเซย์มีสีหน้าปกติ แต่ในอีกไม่กี่นาทีต่อมา เขาก็สลบไปทันที เดเรเวนโกตกใจแทบสิ้นสติ เขารีบนำอเล็กเซย์ไปยังเตียงนอน และแจ้งนิโคลัสกับอเล็กซานดราทันที
เมื่อแพทย์มาตรวจและทำการรักษา ปรากฏว่าอเล็กเซย์อาการดีขึ้น และเริ่มวิ่งเล่นได้เหมือนเดิม แต่อเล็กเซย์กลับไปชนอะไรสักอย่างระหว่างที่อยู่ในรถม้า อาการของอเล็กเซย์แย่ลงทันที หน้าขาของเขาบวมเป่ง อเล็กเซย์เจ็บปวดมาก เขาร้องครางไปทั่ววังที่เขาอาศัยอยู่
นิโคลัสเรียกแพทย์ชั้นเยี่ยมมาจากเซนต์ปีเตอร์สเปิร์ก แต่เมื่อแพทย์มาถึง อเล็กเซย์มีอาการแย่มากแล้ว ไข้ของเขาขึ้นสูงถึง 39 องศา และไม่มีทีท่าว่าจะลดลง คณะแพทย์ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี วิทยาการทางการแพทย์สมัยนั้นก็ยังไม่เจริญพอ แพทย์เองก็ไม่กล้าผ่าตัดให้กับอเล็กเซย์ เพราะกลัวว่าเขาจะตายระหว่างการผ่าตัด
แพทย์ได้บอกกับนิโคลัสและอเล็กซานดราว่าสถานการณ์ของอเล็กเซย์แย่มาก และอาจจะเรียกได้ว่าหมดหวังแล้ว พวกเขาบอกว่ามีแต่ปาฏิหาริย์เท่านั้นที่จะช่วยอเล็กเซย์ได้ ปาฏิหาริย์ที่ว่าคือ อาการบวมของอเล็กเซย์หายไปเอง แต่โอกาสเกิดขึ้นมีเพียง 1 ใน 100 เท่านั้น
ตัวอเล็กเซย์เองก็พร้อมแล้วที่จะตาย แต่เด็กชายคนนี้กลับกล้าหาญอย่างไม่น่าเชื่อ เขาบอกอเล็กซานดรา แม่ของเขาว่า
มามา อย่าลืมวางอนุสรณ์บนหลุมศพของผม ตอนที่ผมจากไปแล้วด้วยนะครับ
แต่จู่ๆ ปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้น เมื่อรัสปูตินได้ส่งโทรเลขเข้ามา โทรเลขของรัสปูตินมีว่า
อาการป่วยไม่มีอันตราย อย่าให้แพทย์ทำให้เขา (อเล็กเซย์) เหนื่อย
ต่อมาไม่นาน เขาก็ส่งโทรเลขมาว่า เขาได้สวดมนต์ให้อเล็กเซย์ต่อพระเจ้า และพระเจ้าได้ทราบแล้ว
เพียงไม่กี่วัน อาการของอเล็กเซย์ดีขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ ความเจ็บปวดของเขาหายไปอย่างปลิดทิ้ง อเล็กเซย์หายเป็นปกติในเวลาไม่นาน
สำหรับอเล็กซานดราแล้ว นี่เป็นปาฏิหาริย์ รัสปูตินคือนักบุญในสายตาของเธอ หลังจากนั้นเธอศรัทธารัสปูตินอย่างที่อเล็กซานเดอร์ สปิริโดวิช (Alexander Spiridovitch) ผู้บังคับบัญชาตำรวจลับที่ดูแลนิโคลัสกล่าวว่า
ไม่มีพลังอันใดในโลกนี้ที่จะพราก สตาเยส (รัสปูติน) จากไมตรีของครอบครัวซาร์ไปได้
สงครามโลกครั้งที่ 1 และการปฏิวัติรัสเซีย
ในสงครามโลกครั้งที่ 1 อเล็กเซย์ติดตามนิโคลัสไปยังกองบัญชาการใหญ่ เพื่อให้กำลังใจเหล่าทหาร อเล็กเซย์รักทหารและกองทัพรัสเซียมาก ระหว่างที่อยู่ในกองทัพ เด็กชายวัย 12 ขวบเลือกที่จะกินขนมปังแบบเดียวกับที่พวกทหารกิน และปฏิเสธที่จะรับอาหารดีๆ แบบที่กินอยู่ในวัง เขากล่าวว่า
นี่ไม่ใช่สิ่งที่พวกทหารกิน
ในช่วงการปฏิวัติกุมภาพันธ์ อเล็กเซย์ล้มป่วยด้วยโรคหัด เช่นเดียวกับพี่สาวทั้งสี่คน ทำให้อเล็กซานดราต้องใช้เวลาเกือบทั้งหมดไปกับการดูแลเขาและพวกเธอ ทำให้ไม่ได้สนใจพวกม็อบที่กลายเป็นการปฏิวัติมากนัก
ขณะเดียวกันเหล่าผู้นำในสภาดูมากำลังเสนอทางออกให้นิโคลัส พวกเขาทูลว่าอยากจะรักษาราชวงศ์ไว้ โดยขอให้นิโคลัสสละราชสมบัติให้กับอเล็กเซย์ โอรสน้อยของพระองค์ที่มีภาพลักษณ์ดีในหมู่ประชาชนและทหาร ประชาชนน่าจะยอมรับได้ ราชวงศ์จะได้คงอยู่ต่อไป
นิโคลัสยอมทำตาม แต่ในอีกไม่กี่ชั่วโมง เขาก็เปลี่ยนใจ เพราะนิโคลัสได้ถามแพทย์ชื่อเฟโอโดรอฟ ว่าอเล็กเซย์มีโอกาสมีหายจากโรคหรือไม่ แพทย์ตอบว่าไม่มีโอกาสที่อเล็กเซย์จะหายได้
ดังนั้นนิโคลัสตัดสินใจสละราชสมบัติในนามของอเล็กเซย์ไปด้วย นิโคลัสทำเช่นนั้นเพราะรู้ดีว่า ถ้าอเล็กเซย์เป็นซาร์แล้ว นิโคลัสน่าจะต้องออกนอกประเทศ นั่นจะทำให้เขาไม่มีโอกาสได้อยู่กับอเล็กเซย์อีก ด้วยความเป็นพ่อแล้ว เขาไม่อาจจะทนกับสถานการณ์เช่นนั้นได้จริงๆ
นิโคลัสกล่าวว่า
ก่อนหน้านี้ฉันตัดสินใจสละราชสมบัติในนามของอเล็กเซย์ แต่ฉันขอเปลี่ยนเป็นในนามของไมเคิล น้องชายของฉัน ฉันหวังว่า ท่านสุภาพบุรุษ ท่านจะเข้าใจความรู้สึกของพ่อคนหนึ่ง
หลังจากนั้นนิโคลัสก็เดินทางมากลับมายังพระราชวังอเล็กซานเดอร์เพื่อพบหน้าครอบครัวอีกครั้งหนึ่ง ในเวลานั้นอเล็กเซย์และพี่สาวก็มีอาการดีขึ้นแล้ว แต่ทุกคนอยู่ในสถานะใหม่ที่ไม่เคยได้รับมาก่อน นั่นก็คือสถานะนักโทษนั่นเอง
อเล็กเซย์จะมีชีวิตอยู่อย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้ ติดตามได้ใน วันสุดท้ายของราชวงศ์โรมานอฟ
หนังสืออ้างอิง ที่นี่