ประวัติศาสตร์รัสเซียครอบครัวซาร์เมื่อซาร์นิโคลัสที่ 2 อยู่ภายใต้ความกดดันของพวกทหารที่ทาบอสค์ (11)

เมื่อซาร์นิโคลัสที่ 2 อยู่ภายใต้ความกดดันของพวกทหารที่ทาบอสค์ (11)

การปฏิวัติตุลาคมที่เกิดขึ้นทำให้คีเรนสกี้ต้องหลบหนีออกนอกประเทศ เขาไม่มีอำนาจใดหลงเหลืออยู่อีกแล้ว ดังนั้นคำสัญญาที่คีเรนสกี้เคยให้ไว้จึงกลายเป็นผุยผงไปในบัดดล

สำหรับนิโคลัสและครอบครัวแล้ว ชะตาชีวิตของพวกเขาเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ไปในพริบตา

หากแต่ว่าครอบครัวซาร์ยังไม่สัมผัสถึงความเปลี่ยนแปลงโดยตรงที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของพวกเขาที่ทาบอสค์เท่าใดนัก เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลชั่วคราวอย่าง โคบิลินสกี้ นิโคลสกี้ และ แพนคราตอฟก็ยังควบคุมและดูแลพวกเขาอยู่อย่างเช่นเดิม

นิโคลัสและสามสาวที่ทาบอสค์

ท่าทีต่อการปฏิวัติตุลาคม

ในวันที่ทราบข่าวว่าเกิดการปฏิวัติตุลาคม อเล็กซานดราบันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวไว้ในไดอารี่ของเธออย่างเรียบง่าย โดยไม่ได้แสดงความรู้สึกใดๆ แต่นิโคลัสกลับไม่ได้กล่าวถึงการปฏิวัติดังกล่าวไว้ในบันทึกของเขาช่วงนั้นเลยแม้แต่สักนิดเดียว จนอาจจะดูเหมือนว่าเขาไม่ให้ความสำคัญ

แต่จริงๆ แล้ว ความจริงคือตรงกันข้าม แพนคราตอฟเล่าว่า นิโคลัสเจ็บปวดมากกับการปฏิวัติที่เกิดขึ้น แต่นิโคลัสก็ยังเป็นนิโคลัสไม่เปลี่ยนแปลง เขาเก็บความเจ็บปวดดังกล่าวไว้ในใจโดยไม่แสดงออกมาให้ผู้อื่นเห็น แต่บางครั้ง เขาก็เผลอแสดงมันออกมา มีอยู่วันหนึ่ง นิโคลัสอ่านหนังสือพิมพ์รายงานเรื่องการปฏิวัติตุลาคม นิโคลัสกล่าวขึ้นว่า

ย่ำแย่และน่าอัปยศยิ่งกว่าช่วง Смутное время หรือ Time of Troubles เสียอีก

Time of Troubles เป็นช่วงกลียุคของประวัติศาสตร์รัสเซีย กล่าวคือมันเป็นช่วงที่มีการแย่งชิงราชสมบัติ และรัสเซียประสบการรุกรานจากโปแลนด์จนเกือบจะสิ้นชาติมาแล้ว

นอกจากนี้เขายังเจ็บปวดมากขึ้นไปอีกเมื่อได้ทราบว่า พวกบอลเชวิคปล้นสะดมพระราชวังฤดูหนาว และปล้นสะดมทรัพย์สินทั้งหมดในวัง

สำหรับนิโคลัสแล้ว ไม่แปลกอะไรที่เขาจะรู้สึกเจ็บปวด นิโคลัสยอมสละราชสมบัติโดยไม่ได้ต่อต้านมากนักเพื่อหวังว่ารัสเซียจะรอดพ้นจากความวุ่นวาย กลียุค และมีชัยในสงคราม แต่ทุกสิ่งที่นิโคลัสปรารถนาจะให้เกิดขึ้นสลายไปหมดสิ้นหลังเกิดการปฏิวัติตุลาคม นิโคลัสเริ่มรู้สึกเสียใจที่เขายอมสละราชสมบัติในวันนั้นมากขึ้นตามลำดับ

ความเบื่อหน่าย

เพื่อหันเหความสนใจจากฤดูหนาวที่หนาวเหน็บ และบรรยากาศที่เศร้าสร้อย โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นกับโอลกา สาวน้อยวัย 22 ปี ที่มีท่าทีว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า ครอบครัวโรมานอฟจึงจัดการแสดงละครอย่างง่ายๆ ขึ้นมา ทุกคนต่างตื่นเต้นมากที่จะได้ทำอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ บ้าง

นิโคลัสและอเล็กซานดราทำหน้าที่เขียนบทที่อ้างอิงมาจากนวนิยายเก่าแก่ของรัสเซีย ส่วนกิปส์และกิลเลียต สองติวเตอร์ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับ นิโคลัสเองก็ยังได้ร่วมแสดงกับลูกๆ ทั้งห้าด้วย ทำให้บรรยากาศแห่งความครึกครื้นกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

มาเรียและอนาสตาเซีย เล่นละครที่ทาบอสค์

ในเวลาอื่นๆ นิโคลัสก็จะอ่านหนังสือ บางครั้งเขาอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับเดิมอยู่หลายรอบเพราะว่าไม่มีหนังสือพิมพ์ใหม่ๆ ส่งมาให้เขาเลย หลังจากช่วงการปฏิวัติที่ทาบอสค์แทบจะถูกตัดขาดจะโลกภายนอกโดยสมบูรณ์

เมื่อไม่มีอะไรจะอ่านแล้ว นิโคลัสก็จะนำไดอารี่ของตัวเองมาอ่าน เขาบอกว่ามันทำให้ตัวเองฆ่าเวลาได้ดี

สี่สาวและอเล็กซานดราก็จะเย็บปักถักร้อยเพื่อซ่อมแซมเสื้อผ้าที่พวกเธอนำมาด้วยจากพระราชวังอเล็กซานเดอร์ เสื้อผ้าเหล่านี้เริ่มจะมีรูและขาดแล้ว ส่วนอเล็กเซย์ก็จะเล่นเกมกับพวกข้าราชบริพารคนอื่นๆของเขา

ถ้าวันใดที่อากาศดี ครอบครัวโรมานอฟไม่เคยลังเลที่จะออกไปข้างนอก เพื่อตัดไม้และเล่นหิมะ สี่สาวสนุกที่จะลากอเล็กเซย์ น้องชายของเขาที่นั่งอยู่บนลากเลื่อนไปมาท่ามกลางกองหิมะนอกบ้าน

หากแต่ว่าเมื่อเข้าเดือนธันวาคม ความรู้สึกดังกล่าวก็กลายเป็นความเบื่อหน่ายอีกครั้งหนึ่ง แต่อีกไม่กี่เดือน ทุกคนก็จะโหยหาชีวิตลักษณะนี้เมื่อได้พบกับพวกบอลเชวิค

โอลกาลากอเล็กเซย์ไปมาที่ทาบอสค์

การแข็งข้อของพวกทหาร

การปฏิวัติตุลาคมได้ทำให้พวกทหารกองร้อยที่ 2 (กองร้อยที่เป็นมิตรกับครอบครัวโรมานอฟน้อยที่สุด) ยิ่งทวีความก้าวร้าวต่อนิโคลัสและครอบครัว พวกเขารวมตัวกันตั้งคณะกรรมการในกองร้อยขึ้นมา และพยายามฝ่าฝืนคำสั่งของโคบิลินสกี้อยู่บ่อยครั้ง

พวกทหารกองนี้ได้เริ่มสร้างปัญหาให้กับครอบครัวโรมานอฟตั้งแต่ตอนช่วงคริสตมาสแล้ว เมื่อครอบครัวโรมานอฟเดินทางไปโบสถ์ และมีบาทหลวงมาทำพิธีทางศาสนาให้กับครอบครัวโรมานอฟ บาทหลวงได้เอ่ยบทสวดมนต์บทหนึ่งที่เลิกใช้ไปแล้ว พวกเขารู้สึกโกรธเป็นอย่างยิ่ง

บทที่ว่าคือ บทที่สวดให้ครอบครัวซาร์มีความสุขและมีสุขภาพแข็งแรง บทนี้จะสวดโดยเอ่ยยศศักดิ์เดิมของครอบครัวซาร์ บทนี้นั้นถูกยกเลิกไปแล้วหลังจากการปฏิวัติกุมภาพันธ์

หลังจากนั้นพวกทหารจึงรวมตัวกันไปฟ้องแพนคราตอฟ หลังจากนั้นเขาจึงไม่ให้ครอบครัวโรมานอฟเดินทางไปโบสถ์อีก และจัดเวรตรวจสอบในบ้านตลอดเวลา

ไม่กี่วันต่อมา เรื่องก็เกิดขึ้น เมื่อนิโคลัสและครอบครัวโรมานอฟจัดงานเลี้ยงฉลองขึ้น นิโคลัสสวมใส่เสื้อผ้าแบบคอสแซกและเหน็บมีดแบบคอเคเซียนไว้ที่เอว มีดเล่มดังกล่าวทำให้พวกทหารตื่นตระหนก พวกเขาจึงเข้ามาริบมันไปจากนิโคลัส

ระหว่างที่เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นมานั้น โคบีลินสกี้ในฐานะผู้บังคับบัญชาไม่สามารถทำอะไรได้เลย แต่เริ่มรู้สึกท้อใจมากยิ่งขึ้น

แต่เรื่องเหล่านี้ยังไม่มีเรื่องไหนรุนแรงเท่ากับเรื่อง อินทรธนู

คณะกรรมการของพวกทหารกองร้อยที่ 2 ได้จัดให้มีการโหวตว่าพวกนายทหารควรจะสวมใส่อินทรธนู (epaulets) หรือไม่ ซึ่งเสียงส่วนใหญ่โหวตว่าไม่ควรให้พวกนายทหารใส่อีกต่อไป

“นายทหาร” ที่ว่ารวมถึง นิโคลัสที่มียศเป็นพันเอกด้วย

นิโคลัสปฏิเสธที่จะทำตาม เขาสวมใส่อินทรธนูนี้มาตลอดทั้งชีวิต ตั้งแต่ได้รับการแต่งตั้งเป็นพันเอกโดยซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 บิดาของเขา ความตึงเครียดเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ

โคบีลินสกี้พยายามเข้าไกล่เกลี่ยแต่ก็ไม่เป็นผล พวกทหารไม่เกรงโคบิลินสกี้เลยแม้แต่น้อย พวกเขาผลักโคบิลินสกี้ออกไปและขู่จะใช้กำลัง ทาทิชเชฟและโดลโกรูคอฟเห็นท่าไม่ดี พวกเขาจึงขอให้นิโคลัสยอมถอดอินทรธนูออก

ในตอนแรกดูเหมือนว่านิโคลัสจะปฏิเสธ แต่สุดท้ายท่าทีของเขาก็อ่อนลง นิโคลัสยินยอมถอดอินทรธนูออกตามที่พวกทหารขอ

อย่างไรก็ตาม นิโคลัสก็ยัง “แอบ” สวมใส่อินทรธนูดังกล่าวอยู่ดี แต่เขาแอบมันไม่ให้พวกทหารเห็น เขาจะใส่มันเฉพาะเวลาที่อยู่ในบ้าน และเมื่อเวลาจะออกไปทำกิจกรรมข้างนอก เขาจะสวมใส่เสื้อคลุมตัวใหญ่ทับเอาไว้ ทำให้พวกทหารไม่เห็นว่าเขาสวมใส่อินทรธนูอยู่เช่นเดิม

เหตุการณ์ครั้งนี้กลับส่งผลกระทบต่อจิตใจของชายคนหนึ่งอย่างมาก ชายผู้นั้นไม่ใช่นิโคลัส แต่เป็นโคบีลินสกี้เอง โคบีสินสกี้รู้สึกว่าเขาไม่สามารถควบคุมทหารพวกนี้ได้อีกต่อไปแล้ว เขาไม่อาจทนสภาพเช่นนั้นต่อไปได้อีก เขาจึงขอเข้าพบนิโคลัส โคบีสินสกี้พูดขึ้นว่า

โคบีลินสกี้

ฉันไม่มีประโยชน์ใดๆ ต่อคุณอีกต่อไปแล้ว ดังนั้นฉันอยากจะลาออก ….. ฉันรู้สึกเจ็บปวดและเหนื่อยมาก

นิโคลัสวางแขนที่ไหล่ของโคบีลินสกี้ ดวงตาของเขามีน้ำตาเอ่อนอง เขาพูดขึ้นว่า

ฉันขอร้องให้คุณอยู่ที่นี่ต่อไป เยฟเกนี สเตฟานโนวิช (ชื่อของโคบีลินสกี้) เพื่อฉัน เพื่อภรรยา และเพื่อลูกๆ ของฉัน โปรดอยู่เคียงข้างเรา

โคบีลินสกี้จึงเปลี่ยนใจ และตัดสินใจอยู่ต่อไป

วันปีใหม่ของครอบครัวโรมานอฟผ่านไปอย่างเรียบง่าย โดยไม่มีเหตุการณ์อะไร จนกระทั่งในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ผลกระทบแรกของการปฏิวัติตุลาคมก็มาเยี่ยมเยือนครอบครัวโรมานอฟ

รัฐบาลบอลเชวิคได้สั่งให้ทหารส่วนใหญ่ที่เคยอยู่ที่ทาบอสค์กลับไปทั้งหมด และส่งทหารใหม่มาแทน ทหารที่กลับไปส่วนมากเป็นทหารที่เป็นมิตรกับครอบครัวโรมานอฟเสียด้วย

ในทางกลับกัน ทหารที่มาใหม่เป็นทหารที่เพิ่งจะประสบพบพานกับการปฏิวัติมาหมาดๆ แน่นอนว่า พวกเขาย่อมก้าวร้าวและมีพฤติกรรมหยาบคายกว่าทหารที่จากไปอย่างแน่นอน

อ่านตั้งแต่ตอนแรกและติดตามตอนต่อไปได้ใน วันสุดท้ายของครอบครัวโรมานอฟ หรือติดตามตอนที่ 12 ได้ที่นี่

หนังสืออ้างอิงอยู่ที่นี่

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!