การศึกษาเรียนการเงิน (Finance) มาแล้วทำงานอะไรได้บ้าง? มาดู 9 อาชีพนี้!

เรียนการเงิน (Finance) มาแล้วทำงานอะไรได้บ้าง? มาดู 9 อาชีพนี้!

การเงิน (Finance) เป็นสายอาชีพที่เป็นที่นิยมอย่างมากทั้งในและต่างประเทศ มหาวิทยาลัยแทบจะทุกแห่งจะมีการเรียนการสอนภาควิชานี้ ส่วนหนึ่งเพราะความนิยมในหมู่ผู้เรียน และความจำเป็นของประเทศด้วยอีกส่วนหนึ่ง

อย่างไรก็ดี ผมเชื่อว่าหลายๆ คนคงยังไม่ทราบว่า จบการเงินมาแล้วจะไปทำงานอะไรได้บ้าง ในโพสนี้ผมจะแนะนำ 9 อาชีพที่น่าสนใจที่คนจบ Finance สามารถไปทำได้ครับ

สำหรับในโพสนี้ บางอาชีพที่ผมจะระบุต่อไปอาจจะยังไม่มีในประเทศไทย แต่ผมเชื่อว่าในอนาคตอย่างไรก็ต้องมีในที่สุด ผมเลยขออนุญาตใส่ไว้เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้สนใจครับ

1. Security Analyst

Security Analyst หรือนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ต่างๆ ที่มีการซื้อขายกัน เช่นหุ้น พันธบัตรเป็นต้น ถ้าเป็นนักวิเคราะห์หุ้นก็จะมีชื่อว่า Equity Research Analyst

หน้าที่: Security Analyst สามารถแบ่งได้อีกเป็นสองฝั่งได้แก่

ฝั่ง Sell-side หน้าที่คือวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ของหลักทรัพย์หรือสภาพตลาดให้กับลูกค้าที่จะลงทุนไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนทั่วไป หรือนักลงทุนสถาบันอย่างกองทุนต่างๆ หลังจากนั้นจะเขียนออกมาเป็นรายงานให้ลูกค้าอ่าน พร้อมกับคำแนะนำว่าจะซื้อ ถือ หรือขาย ในการวิเคราะห์หุ้น นักวิเคราะห์หุ้นจะต้องวิเคราะห์บัญชีเพื่อหามูลค่าเหมาะสม รวมไปถึงติดต่อกับบริษัทโดยตรง เพื่อนำข้อมูลมาประมวลหากำไรในอนาคตด้วย

ฝั่ง Buy-side Analyst หน้าที่คือวิเคราะห์หุ้นและหาหุ้นที่น่าสนใจมาให้ผู้จัดการกองทุนเพื่อนำไปลงทุนอีกทีหนึ่ง ในการวิเคราะห์อาจจะใช้รายงานของฝั่ง sell-side มาประกอบด้วย จะว่าไปฝั่งนี้ก็เป็นเหมือนมดงานให้กับผู้จัดการกองทุน แต่ส่วนมากแล้วจะได้ไต่เต้าเป็นผู้จัดการกองทุนต่อไปในภายภาคหน้า

รายได้: แล้วแต่สภาพงาน บริษัท และอายุงาน สำหรับในนิวยอร์ก รายได้เฉลี่ยของ security analyst อยู่ที่ 133,691-$196,285 ต่อปี (อ้างอิงจาก salary.com)

ส่วนในประเทศไทย แน่นอนว่ารายได้ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ไม่อาจเทียบได้กับที่อเมริกา แต่จากที่ผมทราบมา ถ้าคุณอยู่ในบริษัทต่างชาติและอายุงานหลายปี โอกาสได้เงินเดือนมากกว่า 100,000 บาทโดยที่อายุยังไม่ถึง 30 ปีก็เป็นไปได้

2. Mutual Fund Manager

Mutual Fund Manager คือ อาชีพ “ผู้จัดการกองทุน” อาชีพนี้เป็นอาชีพที่สำคัญมากในวงการตลาดทุน

หน้าที่: เป็นผู้ดูแลกองทุนที่ลูกค้านำลงทุนมาฝากไว้เพื่อการลงทุน กองทุนในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นกองทุนหุ้น แต่อาจจะเป็นกองทุนพันธบัตรหรือสินทรัพย์อื่นๆ ก็ได้ สำหรับกองทุนที่เป็น Active fund ผู้จัดการกองทุนจะต้องเลือกสินทรัพย์ในการลงทุนด้วยตนเองด้วย

รายได้: รายได้ของผู้จัดการกองทุนทั้งในไทยและต่างประเทศยากที่จะระบุลงไปได้อย่างชัดเจนได้ ส่วนหนึ่งเพราะรายได้ของผู้จัดการกองทุนบางคน (โดยเฉพาะ Active fund) ขึ้นอยู่กับผลประกอบการของกองทุนในแต่ละปี ถ้ากองทุนได้ผลตอบแทนดี ผู้จัดการกองทุนก็จะได้เงินเดือนและค่าตอบแทนมากไปด้วย

อย่างไรก็ดี รายได้พื้นฐานของผู้จัดการกองทุนในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ $85,180-$104,270 ต่อปี (อ้างอิงจาก salary.com) โดยยังไม่รวมค่าตอบแทนอื่นๆ ที่ได้มาจากผลตอบแทนจาการลงทุนที่ทำได้ ซึ่งเงินส่วนหลังนี้จะเป็นรายรับส่วนใหญ่ของผู้จัดการกองทุน

ถึงกระนั้นบริษัททั้งหลายอาจจะมีรูปแบบการจ่ายเงินที่ต่างออกไปจากนี้ได้เช่นกัน บริษัทที่ใหญ่ย่อมจ่ายได้มากกว่าบริษัทที่เล็กกว่าเป็นปกติ

3. Hedge Fund Manager

Hedge Fund Manager หรือผู้จัดการกองทุนแบบเฮดจ์ฟันด์ ในปัจจุบันกองทุนประเภทนี้ยังไม่มีในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ แต่มีในทั่วไปในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ

หน้าที่: ผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์มีหน้าที่คือทำอย่างไรก็ได้ให้ผลกำไรแก่นักลงทุน กลยุทธ์ในการทำเงินของกองทุนแบบนี้เปิดกว้างมากกว่าผู้จัดการกองทุนทั่วไปมาก ดังนั้นในต่างประเทศ เราจะเห็นกลยุทธ์ของกองทุนลักษณะนี้มีมากมายหลายสิบแบบเลยทีเดียว

รายได้: ช่วงของรายได้ของผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์กว้างมาก เพราะส่วนมากผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ก็คือเจ้าของบริษัทด้วย ทำให้รายได้ของพวกเขาเท่ากับผลประกอบการของบริษัทหรือพูดง่ายๆ คือกองทุนของตัวเอง

ผู้จัดการกองทุนที่มีรายได้มหาศาลนับพันล้านเหรียญอย่างเช่น จอร์จ โซรอส (George Soros), เดวิด เทปเปอร์ (David Tepper) หรือ John Paulson ล้วนแต่เป็นผู้จัดการกองทุนแบบเฮดจ์ฟันด์ทั้งสิ้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์จะมีรายได้เท่านี้ทุกคน บางคนลงทุนได้ไม่ดีจนต้องนักลงทุนถอนกองทุนออกจนต้องปิดกิจการไปก็มี

4. Quantitative Analyst

Quantitative Analyst เป็นนักวิเคราะห์ที่ใช้วิธีแบบ quantitative (หรือเรียกสั้นๆ ว่า “Quant”)

หน้าที่: ใช้วิธีแบบ Quant ในการช่วยบริษัทต่างๆ วิเคราะห์เมื่อจะทำธุรกิจหรือลงทุน นักวิเคราะห์แบบนี้จะใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ รวมไปถึงวิชาคณิตศาสตร์และสถิติเพื่อคำนวณความเสี่ยง หาโอกาสหรือกลยุทธ์ที่เหมาะสมในการลงทุนด้วย

ในปัจจุบันอาชีพ quantitative analyst เป็นที่ต้องการตัวมากขึ้น เพราะเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นตลอดจนการตระหนักถึงความเสี่ยงของบริษัทการเงินต่างๆ หลังเกิดวิกฤตซับไพรม์ในปี ค.ศ.2008

รายได้: ในประเทศสหรัฐอเมริกา รายได้ทั่วไปโดยไม่รวมโบนัสและอื่นๆอยู่ที่ $84,000-$174,000 ต่อปี (อ้างอิงจาก Glassdoor) สำหรับในประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลมากนัก แต่บริษัทอย่าง WorldQuant และภัทรน่าจะจ่ายในตัวเลขที่สูงอยุ่

5. Sales & Trading Analyst

Sales & Trading Analyst เป็นอาชีพที่สำคัญมากในตลาดทุน และแทบทุกธนาคารจะต้องมีอาชีพนี้ประจำการอยู่ด้วย

หน้าที่: อาชีพนี้มีหลากหลายหน้าที่ด้วยกันตั้งแต่เป็นสื่อสารกับลูกค้ารายใหญ่ให้ซื้อขายสินทรัพย์ (ฝั่ง Sales) หรือเป็นเทรดเดอร์ที่ซื้อขายสินทรัพย์โดยตรงให้กับลูกค้า (ฝั่ง Trading) หรือแม้กระทั่งนำเงินของธนาคารไปซื้อขายเพื่อทำให้เกิดกำไร (proprietary trading)

อาชีพที่ Nick Leeson ทำธนาคารเจ๊งก็คืออาชีพนี้นั่นเอง

รายได้: รายได้มีหลายส่วนด้วยกัน ในฝั่ง Sales รายรับแบบเงินเดือนจะใกล้เคียงกับเทียบกับอาชีพอื่นๆ แต่จะได้ส่วนแบ่งจากค่าคอมมิชชั่นจากลูกค้าด้วย ทำให้ค่าตอบแทนของฝั่ง Sales อาจจะมากหลายแสนดอลลาร์ต่อปีในสหรัฐอเมริกา

ส่วนฝั่ง Prop Trading เทรดเดอร์จะได้เงินเดือนใกล้เคียงกับฝั่ง Sales แต่ถ้าสามารถเทรดได้ดี เทรดเดอร์อาจจะได้โบนัสและค่าตอบแทนตามที่เทรดได้ แต่ข้อเสียสำคัญคือ ถ้าเทรดเดอร์ทำให้ธนาคารขาดทุนหนัก อาจจะโดนไล่ออกได้ง่ายๆ

ปัจจุบันอาชีพ Sales & Trading มีแนวโน้มไม่ค่อยดีเท่าไรนัก เพราะการใช้ Robot และ AI เข้ามาช่วยในการเทรดมากขึ้น ทำให้อาชีพนี้เริ่มกลายเป็นส่วนเกินทีละน้อย บริษัทใหญ่ๆ อย่าง Goldman Sachs เองก็ลดตำแหน่งงานลงทุกปีด้วย

6. Investment Banking Analyst

Investment Banking Analyst เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของฝั่งวาณิชธนกิจ (Investment Banking) พวกเขามีหน้าที่ต่างๆ กันที่ช่วยให้กระบวนการทางธุรกิจของลูกค้าดำเนินไปได้

หน้าที่: ให้คำปรึกษาลูกค้าในกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ เกี่ยวกับ Corporate Finance ไม่ว่าการเป็นการควบรวมกิจการ หรือ การนำบริษัทเข้าตลาดหุ้น แต่ละคนจะต้องวิเคราะห์บริษัทที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดถี่ถ้วนมากๆ เพื่อให้ลูกค้าเข้าใจว่าจะต้องใช้เงินเท่าไรถึงจะเหมาะสมในการควบรวมกิจการเป็นต้น นอกจากนี้ยังจะต้องวิจัยหาตัวเลือกทางเงินที่เหมาะสมให้กับลูกค้าด้วย

อาชีพนี้มีเวลาการทำงานในแต่ละวันที่ยาวนานมาก เพื่อนของผมคนหนึ่งเคยทำงานตั้งแต่เก้าโมงเช้าถึงตี 4 ของอีกวันหนึ่งติดต่อกันเป็นเวลานานถึง 1 เดือน ส่วนอีกคนหนึ่งก็ไม่ได้ปิดโน้ตบุ๊ตเลยเป็นเวลานานถึงสามเดือนด้วยกัน!

รายได้: รายได้ของอาชีพนี้จะเติบโตไปตามบริษัทอายุงาน และตำแหน่ง ทำให้ระบุยากว่าค่าตอบแทนจริงๆ แล้วได้กันเท่าไร แต่ที่แน่ๆ รายได้มีสองส่วนนั่นคือ เงินเดือนพื้นฐานและโบนัส และโบนัสจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามอายุงาน โดยทั่วไปแล้ว Investment banking analyst จบใหม่ในธนาคารขนาดใหญ่อย่าง Goldman Sachs จะได้ค่าตอบแทนทั้งหมดประมาณ $150,000

7. Management Consultant

Management Consultant หรืออาชีพที่ปรึกษาเป็นอาชีพในฝันของเด็กจบใหม่ส่วนใหญ่ภาค finance ทั้งในและต่างประเทศเลยก็ว่าได้ นอกจากนี้อาชีพนี้ยังสำคัญมากกับวงการธุรกิจอย่างยิ่งด้วย

หน้าที่: วิเคราะห์ข้อมูลและหากลยุทธ์เพื่อช่วยตรวจสอบและแก้ปัญหาภายในบริษัทให้กับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการเงินและการบริหารหรือด้านอื่นๆ นอกจากนี้ยังให้คำแนะนำเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานกับบริษัทที่ได้รับการว่าจ้างมาด้วย ดังนั้นบริษัทใหญ่ๆ มักจะติดต่อให้ consultant เข้ามาให้คำปรึกษาเสมอ

ในเรื่องเวลาในการทำงาน อาชีพนี้ถือว่าหนักหน่วงไม่แพ้ Investment Banking Analyst นั่นคือแต่ละสัปดาห์อาจจะต้องทำงานถึง 100 ชั่วโมงขึ้นไป

รายได้: รายได้ของอาชีพนี้ถือว่าสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในประเทศไทยเอง บริษัทเหล่านี้สามารถจ่ายให้เด็กจบใหม่ได้มากกว่า 100,000 บาทต่อเดือน เลยทีเดียว

8. Wealth Manager

Wealth Manager หรือ Wealth Management Analyst เป็นอาชีพที่มาแรงในระยะหลังๆ ทั้งในและต่างประเทศ ส่วนหนึ่งเพราะหลายธนาคารเริ่มเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจใหม่ ทำให้ธุรกิจ Wealth Management บูมขึ้นมาด้วย

หน้าที่: ดูแลความมั่งคั่งหรือทรัพย์สินส่วนตัวของลูกค้ารายใหญ่ ให้คำแนะนำในการลงทุนแก่ลูกค้าโดยพิจารณาจากความเหมาะสมรอบด้าน ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ตามคำสั่งของลูกค้า ตรวจสอบความเสี่ยงของการลงทุน และอาจจะต้องเตรียมเอกสารที่จำเป็นแก่ลูกค้าในเรื่องภาษีด้วย

แต่ที่สำคัญที่สุดแน่นอนคือ พัฒนาและดูแลความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทและลูกค้าเพื่อให้ลูกค้าวางใจ

รายได้: รายได้ของอาชีพนี้ไม่ได้แตกต่างจากอาชีพอื่นมากนัก นั่นคือแตกต่างกันออกไปตาม บริษัทและอายุงาน เมื่ออายุมากขึ้น เงินเดือนและโบนัสก็จะมากขึ้นตามลำดับ

9. Venture Capital Analyst

Venture Capital Analyst หรือ Venture Capital Associate เป็นอาชีพที่มีอยู่ทั่วไปในสาขาการเงินของต่างประเทศ ในประเทศไทยเองก็เริ่มมีการรับสมัครมากขึ้นตามลำดับ เพราะกระแสของบริษัทสตาร์ทอัพนั่นเอง

หน้าที่: วิเคราะห์บริษัทสตาร์ทอัพแต่ละแห่งว่าน่าลงทุนหรือไม่ ด้วยความที่ธุรกิจสตาร์ทอัพมีความเสี่ยงสูงมากกว่าการลงทุนในหลักทรัพย์ทั่วไปมาก อาชีพนี้จึงต้องวิเคราะห์ตลาด สถานการณ์ และโอกาสของสตาร์ทอัพที่จะเติบโต รวมไปถึงงบการเงินของสตาร์ทอัพด้วย หลังจากที่ตัดสินใจลงทุนแล้ว อาชีพนี้ยังต้องทำหน้าที่แนะนำและสนับสนุนสตาร์ทอัพต่อไปด้วย

รายได้: รายได้ของอาชีพนี้ประกอบด้วย 3 ส่วน นั่นคือเงินเดือนฐาน โบนัสปลายปี และแครี่ (Carry) เงินส่วนที่สามนี้คือส่วนแบ่งจากกำไรที่ได้รับจากการลงทุน ซึ่งแปรผันไปตามผลประกอบการในแต่ละปี ด้วยเหตุนี้รายได้ของอาชีพนี้จึงไม่แน่นอนเช่นเดียวกัน

อาชีพอื่นๆ

นอกเหนือจากอาชีพเหล่านี้แล้ว อาชีพที่สาย Finance สามารถทำได้ยังมีมากมายอาทิเช่น

  • Business/Corporate Banker
  • Risk Management Analyst
  • นักลงทุนหรือเทรดเดอร์ส่วนบุคคล
  • อาจารย์มหาวิทยาลัย
  • ฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ในแต่ละบริษัท
  • นักวิจัยในหน่วยงานราชการหรือสถาบันต่างๆ

หลักสูตรออนไลน์ที่น่าสนใจสำหรับการสมัครงานในสายการเงิน

ปัญหาสำคัญยิ่งของการทำงานในสายการเงินในช่วงต้นคือ นักศึกษาที่จบใหม่แทบทุกคนจะมี Skill Gap หรือพูดง่ายๆ คือยังขาดทักษะการปฏฺิบัติในสายงานที่จำเป็น

ยกตัวอย่างเช่นนักศึกษาอาจจะยังทำ Financial Modeling ไม่เป็นเป็นต้น หรือแม้กระทั่งไม่คล่องในส่วนของคอนเซปต์ต่างๆที่เรียนมา ทำให้เมื่อสัมภาษณ์งานแล้วจะถูกผู้สัมภาษณ์ไล่ต้อนจนจนมุม หรือแม้กระทั่งไปทำงานจริงแล้วก็ยังทำโน่นทำนี่ไม่ได้ ทำให้ถูกมองว่าไม่เก่ง เรียนรู้ช้า ฯลฯ

CFI (Corporate Finance Institute)

ผมมองว่าการเรียนหลักสูตรออนไลน์ของ CFI (Corporate Finance Institute) ก่อนการสัมภาษณ์งาน หรือเริ่มทำงานจึงเป็นทางเลือกที่ดีมาก เพราะ CFI เป็นสถาบันออนไลน์ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อจัดการกับ Skill Gap เหล่านี้ และสอนทักษะที่ Financial Analyst แต่ละคนจะได้ใช้งานจริงในอาชีพสายการเงินทั้งหลาย ซึ่งจะช่วยคุณอย่างมากในขั้นตอนการสัมภาษณ์ครับ

นอกจากนี้เมื่อเรียนจบ คุณยังจะได้ certificate จากทางสถาบันอีกด้วย (ถ้าคุณผ่านการประเมินผล) ปัจจุบันมีนักเรียนที่ผ่านคอร์สของ CFI ไปแล้วถึง 700,000 คน ในปัจจุบันพวกเขาเหล่านี้ได้เข้าทำงานในสถาบันระดับโลกมากมายไม่ว่าจะเป็น Citigroup, Blackrock หรือ PIMCO ครับ

อย่างด้านล่างจะเป็น Intro ของคอร์สครับ

ปัจจุบัน CFI มีหลักสูตรทั้งหมด 3 หลักสูตรได้แก่

1. FMVA (Financial Modeling & Valuation Analyst) Certification

FMVA จะเจาะลึกการทำ Financial Modeling และ Valuation อย่างละเอียด โดยจะปูพื้นฐานให้คุณตั้งแต่การบัญชีเบื้องต้น การอ่านงบการเงิน การใช้ Excel เนื้อหา Corporate Finance ไปจนถึงการสร้าง Financial Model ของอุตสาหกรรมต่างๆ หรือว่าการทำ M&A หรือ Leverage Buyout ฯลฯ รวมไปถึงทักษะปลีกย่อยอย่างเช่นการสร้าง Presentations โดยใช้ PowerPoint ให้ดูเป็นมืออาชีพและสวยงาม

เนื้อหาที่คุณได้เรียนจะมากถึง 25 คอร์ส และมีความยาวทั้งหมดนับร้อยชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีการประเมินผลในคอร์สด้วย ทำให้คุณพร้อมทุกประการสำหรับการสมัครงานและทำงานในสายการเงิน โดยคอร์สนี้จะเหมาะสำหรับใครที่อยากทำงานการเงินในส่วนของ Investment Banking, Equity Research, Corporate Development และ FP&A ครับ

2. CBCA (Certified Banking & Credit Analyst) Certification

CBCA จะเจาะลึกในส่วนของ Credit Analysis อย่างละเอียด ตั้งแต่พื้นฐานของ Credit และ Banking และไต่ระดับขึ้นไปถึงการวิเคราะห์พื้นฐานของบริษัทที่จะปล่อยสินเชื่อ การบริหารสินเชื่อ การธนาคาร ฯลฯ

เนื้อหาของ CBCA มีทั้งหมด 23 คอร์ส โดยมีความยาวทั้งหมดหลายสิบชั่วโมงและคาบเกี่ยวกับคอร์ส FMVA เล็กน้อย แต่ส่วนมากจะเป็นเนื้อหาที่ต่างกันออกไปทั้งหมดครับ

คอร์สนี้เหมาะสำหรับ Banking Analyst ที่อยากวิเคราะห์อุตสาหกรรมธนาคาร, Financial Analyst ทั่วไป รวมไปถึงใครที่อยากทำงานในอุตสาหกรรมประกัน หรือ Rating agencies ครับ

3. CMSA (All Capital Markets & Securities Analyst) Certification

CMSA เป็นหลักสูตรที่เจาะลึกในส่วนของตลาดการเงินโดยเฉพาะ คุณจะได้เรียนรู้พื้นฐานของตลาดการเงินต่างๆ อาทิเช่น ตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร ตลาดค่าเงิน ฯลฯ ไปจนถึงคอร์สระดับสูงขึ้นที่จะอธิบายเกี่ยวกับกลยุทธ์ในการเทรด และสินทรัพย์ที่ซับซ้อนอย่างเช่น Convertible Bonds, Swaps, Options รวมไปถึงคอนเซปต์ของ Behavioral Finance ครับ

ด้วยเนื้อหากว่า 50 ชั่วโมง ใน 18 คอร์ส ตัวคอร์สนี้เหมาะกับการพัฒนาทักษะของใครก็ตามที่สนใจจะทำงานในสายการเงินอย่าง Sales & Trading, Asset Management, Wealth Management รวมไปถึง Risk Management ด้วยครับ

ค่าเรียนหลักสูตรของ CFI

สำหรับค่าเรียนของหลักสูตรต่างๆ จะมีสองราคานั่นคือแบบ Self Study ในราคา $497 (14,910 บาท) และแบบ Full Immersion ในราคา $847 หรือ 25,410 บาท ซึ่งแบบหลังเหนือกว่าตรงที่คุณจะได้รับ feedback โดยผู้เชี่ยวชาญในส่วนของการสร้างโมเดลด้วยว่าคุณสร้างผิดถูกแค่ไหนบ้าง ได้ Case Studies เพิ่มเติม นอกจากนี้ยังจะช่วยเหลือในการเขียน Resume และ Cover Letter ด้วยครับ

หลังจากที่คุณจ่ายค่าเรียนไปแล้ว (ไม่ว่าจะ Self Study หรือ Full Immersion ก็ตาม) คุณสามารถเรียนได้ทั้ง 3 หลักสูตร FMVA, CMSA และ CBCA เป็นเวลา 1 ปีโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม นอกจากนี้คุณยังเรียนหลักสูตรอสังหาริมทรัพย์และ Business intelligence (BIDA) ได้อีกด้วย รวมแล้วมีคอร์สเรียนทั้งหมดกว่า 100 คอร์สด้วยกันครับ ซึ่งคุ้มค่าอย่างมากเลยทีเดียว

ผมมองว่าการเรียนทั่วไปแค่แบบ Self Study ก็เพียงพอแล้วครับ แต่ถ้าคุณอยากจะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจริงๆ แบบ Full Immersion ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจครับ

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!