ธุรกิจNick Leeson กับการทำลายธนาคารเก่าแก่ด้วยมือของเขาเอง

Nick Leeson กับการทำลายธนาคารเก่าแก่ด้วยมือของเขาเอง

Barings Bank เป็นธนาคารสัญชาติอังกฤษที่ก่อตั้งในปี ค.ศ.1762 ธนาคารแห่งนี้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาตั้งแต่สงครามการประกาศอิสรภาพอเมริกัน สงครามนโปเลียน สงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 แบร์ริงส์เป็นธนาคารชั้นนำของอังกฤษที่มีสาขาอยู่ทั่วโลก

Barings นั้นดำเนินกิจการมาอย่างปกติสุข จนกระทั่งในปี ค.ศ.1995 ที่แบร์ริงส์ล้มละลายกะทันหันเพราะน้ำมือของชายเพียงคนเดียวที่ไม่ได้ทำงานอยู่ที่สำนักงานใหญ่ด้วยซ้ำไป

ชายผู้นั้นมีนามว่า Nick Leeson

ลีย์สันเป็นชาวอังกฤษ เขาเข้าทำงานที่ Barings ในปี ค.ศ.1989 สามปีต่อมาเขาก็ถูกส่งไปที่สิงคโปร์เพื่อไปเป็น ผู้จัดการในแผนกการซื้อขายอนุพันธ์ ซึ่งเป็นแผนกใหม่ที่กำลังจะก่อตั้ง

อนุพันธ์ (Derivatives) เป็นหลักทรัพย์ทางการเงินที่มอบสัญญาการซื้อขายหลักทรัพย์ชนิดอื่นเช่น ทองคำหรือหุ้น ให้กับนักลงทุน เช่น ถ้านักลงทุน A ซื้ออนุพันธ์ 1 สัญญา เขามีสิทธิที่จะซื้อ หรือ ขาย หุ้นที่ราคาหนึ่งๆ เป็นต้น

สาเหตุที่ลีย์สันถูกส่งไปที่สิงคโปร์มาจากการที่ทางการอังกฤษปฏิเสธที่จะมอบใบอนุญาตซื้อขายหลักทรัพย์ให้กับเขา เพราะว่าเจ้าหน้าที่สามารถจับได้ว่าการขอใบอนุญาตของลีย์สันมีการทุจริตเกิดขึ้น ลีย์สันจึงไม่ใช่คนมือสะอาดมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แต่น่าแปลกที่ผู้บริหารให้เขาทำงานในตำแหน่งที่สุ่มเสี่ยงนี้ต่อไป

หน้าที่ของ Leeson ที่สิงคโปร์คือ การเก็งกำไรแบบ Arbitrage หรือ การเก็งกำไรจากหลักทรัพย์เดียวกันที่มีการซื้อขายในสองตลาด

ผมจะอธิบายง่ายๆ ดังต่อไปนี้

สมมติว่า หุ้น A นั้นมีการเทรด (ซื้อขาย) อยู่ในตลาดสิงคโปร์และตลาดโตเกียว

ตลาดสิงคโปร์นั้นมีผู้เสนอขายหุ้น A ที่ราคา 20 ดอลลาร์สิงคโปร์

ตลาดโตเกียวมีผู้เสนอซื้อหุ้น A ที่ราคา 20.15 ดอลลาร์สิงคโปร์ (จริงๆ การซื้อขายจะต้องเป็นเงินเยน แต่ผมขอเทียบเป็นดอลลาร์สิงคโปร์เลยเพื่อความง่ายต่อการเข้าใจ)

วิธีการทำกำไรของลีย์สันก็คือ เขาจะซื้อหุ้น A ที่ตลาดสิงคโปร์ที่ราคา 20 ดอลลาร์สิงคโปร์ และขายมันทันทีในตลาดโตเกียวที่ราคา 20.15 ดอลลาร์สิงคโปร์

เมื่อคิดรวมเบ็ดเสร็จแล้ว ลีย์สันจะได้กำไร 20.15-20 = 0.15 ดอลลาร์สิงคโปร์ โดยที่แทบจะไม่มีความเสี่ยงเลย

การซื้อขายแบบนี้เป็นที่รับทราบโดยผู้บริหารของแบร์ริงส์ที่ลอนดอน พวกเขาอนุญาตให้ลีย์สันทำการเก็งกำไรแบบดังกล่าวเท่านั้น ส่วนการเก็งกำไรแบบอื่นไม่อนุญาต

ภาพการซื้อขายในตลาดการเงิน Cr: Katrina Tuliao

หากแต่ว่าการซื้อขายแบบนี้ทำกำไรได้น้อย โบนัสของลีย์สันขึ้นอยู่กับกำไรที่เขาสามารถทำให้ธนาคารได้ ลีย์สันจึงต้องการหาวิธีใหม่เพื่อที่จะเพิ่มกำไรเพื่อที่ตัวเขาเองจะได้โบนัสมากๆ

วิธีการของเขาก็คือ เขาจะเก็งกำไรในตลาดฟิวเจอร์ (Futures) ซึ่งเป็นอนุพันธ์แบบหนึ่ง โดยไม่มีการป้องกันความเสี่ยง ลีย์สันหมายใจว่าเขาจะแอบใช้เงินบริษัทซื้อฟิวเจอร์แล้วถือมันไว้เป็นเวลายาวนานเพื่อทำกำไรจากทิศทางของตลาด ถ้าเขาคาดการณ์ถูกต้อง เขาจะทำกำไรให้ธนาคารอย่างมหาศาล เช่นเดียวกับโบนัสของเขาที่จะได้รับ

บรรดาผู้บริหารของแบร์ริงส์ไม่ได้อนุญาตให้เขาทำเช่นนั้นแต่เพื่อเงินแล้ว Leeson ทำได้ทุกอย่าง เขาไม่ได้ใส่ใจถึงความเสี่ยงใดๆที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวธนาคารเลย

ในช่วงแรก ลีย์สันทำกำไรจากการเก็งกำไรจากตลาดฟิวเจอร์ได้มากถึงประมาณ 10 ล้านปอนด์ให้กับธนาคาร กำไรของลีย์สันนับเป็น 10% ของกำไรทั้งหมดของแบร์ริงส์ในปีนั้น ผู้บริหารจึงตบรางวัลให้ลีย์สัน เขาได้รับโบนัสถึง 130,000 ปอนด์ หรือมากกว่าสองเท่าของค่าตอบแทน 50,000 ปอนด์ต่อปีที่เขารับอยู่ในขณะนั้น

แต่ทว่าผลงานการซื้อขายฟิวเจอร์ของลีย์สันเริ่มย่ำแย่ลงอย่างรวดเร็ว เขาเริ่มที่จะขาดทุนจากการซื้อขายฟิวเจอร์ดังกล่าว

ลีย์สันจึงเกรงว่าผู้บริหารที่ลอนดอนจะทราบเรื่องการขาดทุนนี้ เขาจึงนำตัวเลขการขาดทุนไปซ่อนไว้ในบัญชีลับหมายเลข 88888 ซึ่งเป็นบัญชีที่เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งของเขาได้แอบซ่อนความผิดพลาดจากการซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้าเอาไว้

หลายท่านอาจจะไม่เข้าใจ ผมขออธิบายง่ายๆคือ มันเหมือนกับว่าเรานำหุ้นตัวที่เราขาดทุน (ตัวแดง) ไปใส่ไว้ในอีกพอร์ตหนึ่ง พอร์ตหลักของเราก็จะเหลือแต่ตัวที่เราได้กำไร (ตัวเขียว) เท่านั้น

หรือถ้าจะอธิบายอีกแบบหนึ่ง มันเหมือนกับว่าเดือนนี้เราขาดทุนจากการขายสินค้า เราก็ลบตัวเลขบัญชีที่ขาดทุนทิ้งไปจากบัญชี ในหน้ากระดาษจะได้เหลือแต่เดือนที่กำไร

แต่สิ่งที่มันร้ายแรงยิ่งกว่าคือ ผลขาดทุนของการซื้อขายฟิวเจอร์สามารถมากกว่าเงินที่เราลงทุนไปได้หลายเท่า เพราะในกรณีของลีย์สันไม่มีการป้องกันความเสี่ยงใดๆ เลย

ดังนั้นเมื่อลีย์สันนำผลขาดทุนไปแอบซ่อนไว้ในบัญชีลับแล้ว บัญชีการซื้อขายของ Leeson ก็สะอาดเอี่ยมอ่อง ลีย์สันก็จะได้รับโบนัสจำนวนมากอย่างเปรมปรีดิ์ เพราะผู้บริหารเองก็ไม่ทราบว่ามีบัญชีลับ 88888 นี้อยู่

ในเวลาต่อมา ผู้บริหารแบร์ริงส์ยังมอบตำแหน่ง หัวหน้าผู้ดูแลการซื้อขาย (Chief Trader) และ หัวหน้าผู้ตรวจสอบความถูกต้องของการซื้อขายหลักทรัพย์ (Head of Settlement Operations) ให้กับลีย์สันทั้งหมด

ตำแหน่งทั้งสองนี้ไม่ควรจะให้คนๆเดียวมารับตำแหน่ง เพราะตำแหน่งหลังเหมือนกับเป็นผู้ตรวจสอบตำแหน่งแรก แต่ผู้บริหารแบร์ริงส์ประมาท ลีย์สันจึงได้รับตำแหน่งทั้งสอง และสามารถปิดบังการขาดทุนของเขาได้ง่ายยิ่งขึ้น เพราะว่าตัวเขาเองเป็นทั้งผู้ลงมือและผู้ตรวจสอบ

หลังจากนั้นลีย์สันเริ่มที่จะแอบเปลี่ยนการทำงานของบัญชีลับ 88888 เพื่อที่จะไม่ให้ออฟฟิศหลักที่ลอนดอนตรวจสอบสถานะได้อีกด้วย รวมไปถึงยังเปลี่ยนข้อมูลการซื้อขายของเขาในระบบคอมพิวเตอร์ของธนาคาร

ผลที่ตามมาคือ ลีย์สันสามารถรายงานต่อลอนดอนว่า เขาทำไรมหาศาลทั้งๆ ที่จริงๆแล้วเขาขาดทุนเละเทะ ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1994 ลีย์สันทำให้ธนาคารสูญเสียเงินไปถึง 200 ล้านปอนด์ แต่เขากลับรายงานต่อผู้บริหารที่อังกฤษว่า เขาทำกำไรได้ 102 ล้านปอนด์

ผลขาดทุนที่ลีย์สันซุกอยู่ในบัญชีลับ 88888 มากยิ่งขึ้นทุกที ทำให้เขาต้องแอบไปนำเงินของธนาคารที่เก็บไว้เพื่อให้ลูกค้าลงทุนเพิ่มเติม (Margin) หรือเงินที่บริษัทลูกฝากไว้ มาใช้ในการซื้อขายของเขา

ลีย์สันรู้ว่าผลขาดทุนที่เขาซุกอยู่มากขึ้นเรื่อยๆ เขาไม่น่าจะปกปิดมันได้อีกนานนัก เขาจีงต้องวัดดวงครั้งใหญ่ว่า ดัชนีนิคเคอิของญี่ปุ่นจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เมืองโกเบ เขาจึงใช้เงินของธนาคารซื้อฟิวเจอร์ของดัชนีนิคเคอิไว้จำนวนมาก เพื่อที่จะทำกำไรกลับคืนมาบ้าง

ปรากฎว่าดัชนีนิคเคอิกลับไม่ฟื้นตัวตามที่ลีย์สันคาดไว้ ทำให้เขาขาดทุนมหาศาล ลีย์สันรู้ตัวว่าเขาไม่มีทางจะปกปิดได้อีกแล้ว เพราะผลขาดทุนในบัญชี 88888 มากกว่า 2 เท่าของส่วนทุนที่ธนาคารแบร์ริงส์มีอยู่

นั่นหมายความว่า ลีย์สันก่อหนี้มหาศาลให้กับธนาคาร ในจำนวนที่ธนาคารไม่สามารถจ่ายได้!!

ลีย์สันรีบหนีไปมาเลเซีย ก่อนที่เขาจะหนีไป เขาได้ทิ้งจดหมายสารภาพให้กับปีเตอร์ แบร์ริง CEO ของธนาคารฉบับหนึ่ง โดยมีเนื้อความเพียงว่า

“ผมขอโทษ”

ไม่กี่วันหลังจากลีย์สันหนีไป ผู้ตรวจสอบบัญชีพบว่าเขาได้แอบซุกซ่อนผลขาดทุนฟิวเจอร์ไว้มากถึง 827 ล้านปอนด์ หรือมากกว่า 2 เท่าของส่วนทุนที่ธนาคารมีอยู่ (350 ล้านปอนด์) ทำให้ Barings จะต้องล้มละลายอย่างแน่นอน เพราะไม่สามารถหาเงินมาจ่ายผลขาดทุนจำนวนนี้ได้

ผู้บริหารและลูกจ้างทุกคนของแบร์ริงส์ถึงกับตกตะลึง รัฐบาลอังกฤษพยายามจะเข้าช่วยเหลือแต่ก็ไม่สำเร็จ ธนาคารแบร์ริงส์จึงจำต้องประกาศล้มละลายในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ 1995 เป็นอันจบประวัติศาสตร์ของแบร์ริงส์ที่มีมามากกว่า 230 ปี พนักงานของบริษัทหลายพันคนต้องตกงานอย่างไม่ทันตั้งตัว!

ความพังพินาศของแบร์ริงส์จะโทษลีย์สันเพียงคนเดียวคงไม่ได้ ผู้บริหารแบร์ริงส์เองก็มีส่วนที่ดำเนินธุรกิจโดยประมาท และปราศจากความรู้ในตลาดอนุพันธ์ ซึ่งเป็นแผนกที่เริ่มก่อตั้งใหม่ การล้มละลายของแบร์ริงส์เป็นบทเตือนใจให้ธนาคารชั้นนำได้เป็นอย่างดี

ลีย์สันหนีไปยังมาเลเซีย ไทย และ เยอรมนี สุดท้ายเขาโดนทางการเยอรมนีจับได้ เขาถูกส่งตัวกลับมารับโทษที่สิงคโปร์ เขาถูกตัดสินให้จำคุก 6 ปีครึ่ง แต่เขาติดคุกจริงเพียง 4 ปีเศษเท่านั้น เพราะว่าเขาเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ แพทย์วินิจฉัยว่าเขาจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน เขาจึงได้รับการปล่อยตัวออกมา

หากแต่ว่า แพทย์กลับวินิจฉัยผิด! Leeson หายขาดจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ และได้เขียนหนังสือเรื่อง Rogue Trader เล่ามหากาพย์ของเขาเองในการ “ทำลาย” ธนาคารใหญ่ของโลกธนาคารหนึ่งให้หายไปจากโลก ปัจจุบันเขาเป็นนักเขียนและนักพูดที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่ง

ท่านใดอยากดูใบหน้าของเขาว่าเป็นอย่างไร และตอนนี้เขาทำอะไรอยู่ ไปดูได้ที่นี่

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!