ธุรกิจตลาดหุ้นInvestment Banking คืออะไร? มีบริษัทชั้นนำใดบ้างที่ทำธุรกิจนี้?

Investment Banking คืออะไร? มีบริษัทชั้นนำใดบ้างที่ทำธุรกิจนี้?

Investment Banking หรือ “วาณิชธนกิจ” เป็นหนึ่งในสายงานที่สำคัญที่สุดในโลกการเงิน (Finance) และอาชีพที่เกี่ยวข้องอย่าง “Investment Banker” ยังเป็นเด็กที่จบการศึกษาสาขาเศรษฐศาสตร์และการเงินในต่างประเทศถวิลหามากที่สุดอาชีพหนึ่งอีกด้วย

ในประเทศไทย สายงานดังกล่าวกลับไม่เป็นที่รู้จักสักเท่าใดนักในหมู่คนทั่วไป ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะประเทศไทยไม่ได้เป็นศูนย์กลางทางการเงินในเอเชียอย่างฮ่องกง และสิงคโปร์ ทำให้ผู้ที่ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับ Investment Banking ในประเทศไทยมีไม่มากเท่าไรนัก (แต่ก็มีอยู่ในธนาคารและสถาบันการเงินใหญ่ๆ อย่างเช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ ภัทร)

สำหรับโพสนี้ ผมจะอธิบายให้ทุกคนทราบว่า Investment Banking คืออะไร และมีสถาบันการเงินระดับโลกที่ไหนบ้างที่ทำธุรกิจดังกล่าวครับ

New York หนึ่งในเมืองสำคัญทางการเงินระดับโลก Image by Free-Photos from Pixabay

แนะนำ Investment Banking

Investment Banking เป็นสายงานที่เกี่ยวข้องกับ Corporate Finance เป็นหลัก หรือพูดง่ายๆ คือเกี่ยวข้องกับกระบวนทางการเงินของบริษัททั่วไป ไม่ว่าจะเป็น

  • การควบรวมหรือซื้อกิจการ (Mergers & Acquisitions, M&A)
  • ออกสินทรัพย์ใหม่ไม่ว่าจะเป็นหุ้น หุ้นกู้ หรือแม้กระทั่งสินทรัพย์ที่ซับซ้อนมากและเคยเกิดปัญหาอย่าง MBS (Mortgage-backed Securities)
  • เพิ่มทุน (Raise capital)
  • นำหุ้นเข้ามาขายในตลาดหลักทรัพย์ (IPO)
  • เพิ่มสภาพคล่องให้กับสินทรัพย์บางชนิด (market-making)
  • และอื่นๆ อีกมากมาย

เมื่อบริษัทต้องการจะทำสิ่งเหล่านี้ พวกเขาต้องติดต่อสถาบันการเงินหรือธนาคารใหญ่ๆ ที่เรียกว่า “Investment Bank” เพื่อขอคำปรึกษา และจัดการกระบวนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง หลังจากที่ตกลงกันเรื่องค่าใช้จ่ายได้แล้ว ธนาคารก็จะส่งผู้เชี่ยวชาญ (Investment Banker) มาให้คำปรึกษา และลงมือจัดการกระบวนการต่างๆ ที่ลูกค้าต้องการ

ขั้นตอนในการทำสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างการนำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ (IPO) อาจจะต้องใช้เวลาเป็นปีๆ เพราะผู้เชี่ยวชาญจะต้องประเมินบริษัทอย่างถี่ถ้วน ตั้งราคาขายที่เหมาะสม จัดการประเด็นทางกฎหมายต่างๆ จัด Road Show โปรโมตหุ้นแก่นักลงทุนสถาบัน ฯลฯ

กระบวนการเหล่านี้จะทำให้เหล่า Investment Banker เหนื่อยมาก พวกเขาต้องทำงานอาจจะมากถึง 18 ชั่วโมงต่อวันติดต่อกันเป็นเวลานานหลายเดือน แต่ก็แลกมาด้วยรายได้มหาศาลที่ลูกค้าจ่ายให้เป็นค่าดำเนินการ

หลายคนที่เรียนจบ Finance ปรารถนาจะเข้าทำงานเป็น Investment Banker เพราะนอกเหนือจากค่าตอบแทนแล้ว คุณจะได้รับการฝึกฝนทักษะสำคัญแทบทุกอย่างในวงการการเงิน (ไม่แพ้ Management Consulting) และคุณยังจะคุ้นเคยการทำงานหนัก ทำให้มีทักษะและสภาพจิตใจที่พร้อมกับการทำงานทุกอย่างในโลกการเงินไม่ว่าจะเป็น Private Equity, Hedge Fund, Mutual Fund ฯลฯ

ถัดไปเราไปดูกันว่ามีบริษัทชั้นนำใดบ้างในวงการ Investment Banking ครับ

บริษัทชั้นนำใน Investment Banking

บริษัทที่ประกอบธุรกิจ Investment Banking นั้นมีหลากหลายมาก ส่วนมากจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ นั่นคือ

  • Full-service: ประกอบธุรกิจทุกอย่างในสายงาน Investment Banking ส่วนมากจะเป็นธนาคารและสถาบันการเงินขนาดยักษ์
  • Boutique: ประกอบธุรกิจบางอย่างเท่านั้นในสายงาน Investment Banking เช่นอาจจะให้คำปรึกษาเรื่องการควบรวมกิจการอย่างเดียวเท่านั้นเป็นต้น โดยมากแล้วขนาดของบริษัทแบบนี้จะเล็กกว่าแบบ Full-service

ในบรรดา Full-service นั้นจะมีกลุ่มสถาบันการเงินที่มีชื่อเรียกว่า “Bulge Bracket” หรือ BB สถาบันเหล่านี้ถือว่ามีชื่อเสียงและเกียรติยศสูงสุดในเหล่า Investment Bank ทั้งปวง ส่วนหนึ่งเพราะว่าการเงินของโลกส่วนใหญ่เกี่ยวพันกับสถาบันการเงินของโลกเหล่านี้ทั้งสิ้น ในปัจจุบันกลุ่มดังกล่าวประกอบด้วย

  1. Bank of America Merrill Lynch (BAML): ในอดีตตำแหน่งนี้เคยเป็นของบริษัท Merrill Lynch แต่เมื่อเกิดวิกฤตซับไพรม์ทำให้ Bank of America เข้ามาซื้อ Merrill Lynch ตำแหน่งนี้จึงกลายเป็นของ BAML
  2. Barclays Capital: สถาบันการเงินของสหราชอาณาจักร
  3. Citigroup: ธนาคาร Citibank ที่คนไทยรู้จักกันดีเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันการเงินของประเทศสหรัฐอเมริกาอย่าง Citigroup ครับ
  4. Credit Suisse: สถาบันการเงินของประเทศสวิสเซอร์แลนด์
  5. Deutsche Bank: สถาบันการเงินของประเทศเยอรมนี
  6. Goldman Sachs: สถาบันการเงินของประเทศสหรัฐอเมริกา
  7. JP Morgan Chase: สถาบันการเงินของสหรัฐอเมริกาที่เกิดจากการรวมตัวของ JP Morgan และ Chase
  8. Morgan Stanley: สถาบันการเงินของประเทศสหรัฐอเมริกา
  9. UBS: สถาบันการเงินของประเทศสวิสเซอร์แลนด์

ธนาคารเหล่านี้เคยทรงอิทธิพลมากในโลกการเงิน โดยเฉพาะก่อนวิกฤตเศรษฐกิจในปี ค.ศ.2008 (ซึ่งธนาคารเหล่านี้ได้ช่วยกันสร้างขึ้นมาเอง) แต่ในปัจจุบันการควบคุมของรัฐบาลทั้งในอเมริกาและยุโรปได้ทำให้อิทธิพลของธนาคารเหล่านี้ลดลงไปไม่น้อยครับ

สำหรับประเทศไทยนั้น แม้ว่าจะมีน้อย แต่ก็มีหลายธนาคารที่ประกอบธุรกิจ Investment Banking เช่นกัน อาทิเช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB), ภัทร (Phatra) หรือ TISCO เป็นต้น การควบรวมกิจการที่ปรากฏในหน้าข่าวอยู่บ่อยๆ ก็เป็นผลงานของบริษัทเหล่านี้นั่นเองครับ

การรับ Investment Banker หน้าใหม่เป็นอย่างไร?

การเข้าทำงานในบริษัทเหล่านี้มีการแข่งขันสูงมาก โดยเฉพาะในต่างประเทศ อย่างเช่นตอนที่ผมสมัครช่วงที่เรียนอยู่ที่อเมริกานั้น ผมจำได้ว่าตำแหน่งงาน Investment Banking ของ Goldman Sachs มีผู้สมัครหลายพันคนหรืออาจจะเป็นหมื่นคนจากทั่วโลก แต่สุดท้ายแล้วผู้ที่ได้รับการตอบรับเข้าทำงานมีเพียง 0.8% เท่านั้นเองครับ

การคัดเลือกบุคลากรเข้าทำงานนั้นผมบอกเลยว่ายากมาก คุณจะต้องผ่านขั้นตอนต่อไปนี้อย่างคร่าวๆ

  1. ส่ง Resume, Cover Letter ถ้า Resume คุณน่าสนใจ คุณจะได้รับการติดต่อให้เข้ารับการสัมภาษณ์ (บางบริษัทจะทดสอบทักษะทางด้าน IQ และการคำนวณทางออนไลน์ด้วย) ผู้สมัครร้อยละ 95-96 จะไม่ผ่านรอบนี้
  2. First Round Interview: สัมภาษณ์รอบแรกกับ HR หรือ Investment Banker ระดับ Analyst ส่วนมากจะถามประวัติส่วนตัว และกิจกรรมที่ได้ทำมาคร่าวๆ
  3. Second Round Interview: สัมภาษณ์กับคนในทีม Investment Banking หลายคน รอบนี้จะทดสอบความรู้ทางด้าน Finance เสียเป็นส่วนใหญ่
  4. Final Round Interview: สัมภาษณ์กับผู้บริหารระดับสูง (Managing Director) ผู้สัมภาษณ์ถามได้ทุกอย่างในจักรวาล บางคำถามก็เป็นเรื่องความรู้ บางคำถามจะเป็นแบบเชิงทัศนคติมากกว่า

ทั้งหมดนี้ผมเขียนจากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยสัมภาษณ์งานกับธนาคาร Bulge Bracket ที่สหรัฐอเมริกา (ซึ่งผมไม่ได้งาน เพราะตกรอบสุดท้ายไป 2 ครั้ง และรอบอื่นๆ อีกหลายครั้ง 555) อย่างไรก็ดีแต่ละธนาคารจะมีรูปแบบการสัมภาษณ์ที่ต่างกันออกไป บางแห่งอาจจะไม่มี Second Round Interview ด้วยซ้ำไปครับ

หลังจากสัมภาษณ์เสร็จ ถ้าคุณผ่าน ธนาคารจะติดต่อคุณมาอย่างรวดเร็ว (ส่วนมากจะไม่เกิน 24 ชั่วโมง) แต่ถ้าเงียบนานกว่า 1 สัปดาห์ ขอให้ทำใจไว้เลยว่า โอกาสที่คุณจะได้งาน Investment Banking แทบจะเป็น 0 แล้วครับ ขอให้หาบริษัทต่อไปได้เลย

ทั้งนี้คอร์สที่น่าสนใจสำหรับการเตรียมตัวสัมภาษณ์และการทำงานในสายงาน Investment Banking คือคอร์ส FMVA (Financial Modeling & Valuation Analyst) ของ CFI (Corporate Finance Institute) ครับ สถาบันแห่งนี้ได้สอนนักเรียนมาแล้วมากกว่า 400,000 คน และส่งนักเรียนเข้าสถาบันการเงินระดับ Bulge Bracket ไปแล้วเป็นจำนวนมาก

CFI

คอร์สนี้จะเรียนทางออนไลน์ทั้งหมด และเน้นการพัฒนาทักษะทุกด้านสำหรับการทำงานใน Investment Banking ตั้งแต่ทักษะเบี้องต้นไปจนถึงทักษะระดับสูง เพื่อเตรียมพร้อมนักศึกษาจบใหม่ให้พร้อมกับการทำงานอันเข้มข้น

นอกจากนี้ยังมีการช่วยเหลือในขั้นตอนการสมัครงาน อย่างเช่นการเขียน Resume และการเตรียมตัวสัมภาษณ์จากทีมงานและครูผู้สอนด้วยครับ

เมื่อคุณเรียนจบและสอบผ่านโดยได้คะแนนมากกว่า 80% คุณจะได้รับวุฒิบัตรจากทางสถาบันซึ่งสามารถนำไปใส่ใน Resume ของคุณได้ ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายนั้นเริ่มต้นที่ $497 (หรือประมาณ 15,000 บาท) ต่อคอร์ส

ตัวคอร์สจะเป็นแบบเรียนแบบบุฟเฟต์ตลอด 1 ปี นั่นหมายความว่าคุณสามารถเรียนและทบทวนเนื้อหาได้ทุกเมื่อครับ เนื้อหาที่เรียนได้จะครอบคลุมทั้งองคาพยพของการเงิน ไม่ว่าจะเป็น Investment Banking, ตลาดการเงิน, Credit Analysis หรือ Business Analysis ครับ

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!