เหตุการณ์โซเวียตบุกแมนจูเรีย (Soviet Invasion of Manchuria) เป็นการรบครั้งใหญ่ที่ไม่ถูกบันทึกไว้มากนัก ทั้งๆ ที่มันมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อหน้าประวัติศาสตร์โลก เพราะมันเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้ญี่ปุ่นยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งอาจจะมีผลมากกว่าการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ดินแดนญี่ปุ่นด้วยซ้ำไป
นอกจากนี้เหตุการณ์นี้ยังทำให้รัสเซียและญี่ปุ่นยังไม่ได้ทำสนธิสัญญาสันติภาพอย่างเป็นทางการมาจนถึงทุกวันนี้ด้วย
เรามาดูกันดีกว่าครับว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างไร
ปูมหลัง
ญี่ปุ่นได้แยกดินแดนแมนจูเรียออกจากสาธารณรัฐจีนในปี ค.ศ.1932 และสถาปนาผู่อี๋ จักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ชิง และหว่านหรง เป็นจักรพรรดิและจักรพรรดินีของรัฐใหม่ที่มีชื่อว่า “แมนจูกัว”
อย่างไรก็ตามรัฐนี้ไม่ได้ยอมรับจากนานาประเทศเท่าใดนัก เพราะการแยกดินแดนดังกล่าวไม่ได้รับการยินยอมจากจีน นอกจากนี้รัฐนี้ยังไม่ได้มีอิสระอย่างแท้จริงด้วย ญี่ปุ่นครอบงำแทบจะทุกสิ่งในรัฐดังกล่าว รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดตั้งกองทัพควานตุง (Kwantung Army) ขึ้นมาเพื่อรักษาการณ์ในดินแดนเหล่านี้ กองทัพควานตุงเติบใหญ่ขึ้นจนเป็นกองทัพที่ทรงเกียรติมากที่สุดในกองทัพญี่ปุ่น และในช่วงหนึ่งเคยมีกำลังทหารถึงเกือบ 2,000,000 คน
ในช่วงปี ค.ศ.1941 ภายในรัฐบาลญี่ปุ่นมีการถกกันอย่างเคร่งเครียดว่าจะเข้าโจมตีสหภาพโซเวียตดีหรือไม่ กองทัพควานตุงได้รับคำสั่งให้เตรียมพร้อมเพื่อบุกเข้าดินแดนโซเวียต ฝ่ายโซเวียตเองก็ทราบดีว่าญี่ปุ่นอาจจะรุกรานดินแดนทางตะวันออกไกลของตน กองทัพโซเวียตจึงได้รับคำสั่งให้ระวังไว้เช่นเดียวกัน
หากแต่ว่ารัฐบาลสหรัฐอเมริกากลับปิดกั้นการขนส่งน้ำมันให้กับญี่ปุ่น ทำให้ญี่ปุ่นขาดแคลนทรัพยากรน้ำมัน รัฐบาลญี่ปุ่นจึงตัดสินใจบุกลงใต้เพื่อแสวงหาทรัพยากรน้ำมันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทะเลจีนใต้ ซึ่งนั่นหมายถึงการทำสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา แทนที่จะเป็นสหภาพโซเวียต
เพื่อเป็นการระวังภัย รัฐบาลญี่ปุ่นและโซเวียตจึงทำสัญญาไม่รุกรานกันเป็นเวลาห้าปี โดยเริ่มขึ้นในวันที่ 13 เมษายน ค.ศ.1941 เท่ากับทั้งสองฝ่ายจะไม่รุกรานกันจนถึงปี ค.ศ.1946
หลังจากนั้นพรมแดนระหว่างโซเวียตและแมนจูกัวจึงปราศจากความขัดแย้ง สตาลินให้หลายกองพลจากไซบีเรียย้ายไปรับมือเยอรมนี ส่วนญี่ปุ่นยกทัพลงใต้เข้าชิงอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศส รวมไปถึงฟิลิปปินส์ของสหรัฐอเมริกา
ในปี ค.ศ.1943 สถานการณ์ของสงครามเริ่มพลิกกลับหลังจากชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของโซเวียตที่สตาลินกราด สตาลินได้เดินทางไปพบกับรูสเวลต์และเชอร์ชิลล์ ผู้นำฝ่ายพันธมิตรที่เตหะราน และยอมรับข้อเสนอว่า สหภาพโซเวียตจะเข้าสู่สงครามกับญี่ปุ่น แต่รัฐบาลโซเวียตจะประกาศสงครามกับญี่ปุ่นหลังจากเยอรมนีพ่ายแพ้เป็นเวลาสามเดือนเท่านั้น
อย่างไรก็ตามในการประชุมครั้งต่อมาที่ยัลตา (ในไครเมีย) สตาลินกลับต่อรองว่า
ฝ่ายพันธมิตรจะต้องให้โซเวียตช่วงชิงดินแดนบางส่วนในตะวันออกไกลจากญี่ปุ่นด้วย
รูสเวลต์ ประธานาธิบดีสหรัฐตกลงในข้อเสนอดังกล่าวของสตาลิน
นี่เป็นความฉลาดของสตาลิน เขาไม่เสี่ยงทำสงครามสองด้านเหมือนกับฮิตเลอร์ และยังสามารถช่วงชิงดินแดนที่ตนเองต้องการได้ด้วย
กลลวงของโซเวียต
เมื่อสงครามแปซิฟิกเริ่มเลวร้ายลงเรื่อยๆ รัฐบาลญี่ปุ่นเคยมีความคิดจะยุติสงครามตั้งแต่ในปี ค.ศ.1943 แล้ว แต่ทว่าญี่ปุ่นกลับไม่ได้ขอสงบศึกแต่อย่างใด ทั้งนี้นอกเหนือจากความดื้อด้านของพวกฝ่ายทหารแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งที่ญี่ปุ่นไม่ยอมสงบศึกกับฝ่ายพันธมิตรคือ การแสดงออกของฝ่ายโซเวียตเอง
สตาลินและโมโลตอฟได้ลวงฝ่ายญี่ปุ่นด้วยวิธีการต่างๆ นาๆ ทำให้ฝ่ายญี่ปุ่นคิดว่า สหภาพโซเวียตอาจจะเป็นตัวกลางในการสงบศึกระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นจะได้จบสงครามครั้งนี้ในข้อตกลงที่ดีกว่าการ “ยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข” อย่างที่ฝ่ายอเมริกาต้องการ
รัฐบาลญี่ปุ่นไม่รู้เลยว่า สตาลินปรารถนาจะได้ดินแดนบางส่วนที่ญี่ปุ่นเคยได้ไปจากสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นกลับคืน โซเวียตยอมเจรจากับญี่ปุ่นเพราะจะได้ทำให้ญี่ปุ่นฝันลมๆแล้งๆ และยืดเวลาของสงครามออกไป กองทัพโซเวียตจะได้เผด็จศึกฮิตเลอร์และเคลื่อนกองทัพยกมาบดขยี้ญี่ปุ่นให้ราบไปในคราวเดียว
ในช่วงต้นปี ค.ศ.1945 รัฐบาลโซเวียตแจ้งรัฐบาลญี่ปุ่นว่าไม่ปรารถนาจะต่อสนธิสัญญาไม่รุกรานกันที่จะหมดลงในเดือนเมษายน ค.ศ.1946 การปฏิเสธของโซเวียตที่จะต่อสนธิสัญญาดังกล่าวทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นรู้สึกกลัวและกังวล แต่รัฐบาลโซเวียตพยายามทุกวิธีทางไม่ให้รัฐบาลญี่ปุ่นสงสัย ซึ่งก็ทำได้สำเร็จ
เมื่อเยอรมนียอมจำนนในวันที่ 9 เมษายน ค.ศ.1945 ทำให้สตาลินมีเวลาสามเดือนในการเตรียมกำลังจัดการกับญี่ปุ่น สตาลินสั่งให้ทหารหลายแสนคนขึ้นรถไฟไปยังไซบีเรียเพื่อเตรียมการเข้าตีดินแดนแมนจูเรียซึ่งอยู่ในกำมือญี่ปุ่น
สายลับญี่ปุ่นที่อยู่ในไซบีเรียแจ้งรัฐบาลกลางทราบว่า โซเวียตกำลังสะสมกำลังทหารมากมายที่ชายแดนที่ติดต่อกับแมนจูเรีย แต่ไม่น่าพร้อมที่จะเข้าตีจนกว่าจะถึงปลายปี เพราะทรัพยากรและยุทธปัจจัยไม่เพียงพอ
หารู้ไม่ รัฐบาลโซเวียตได้เตรียมกองกำลังไว้แล้วถึง 90 กองพล ในเรื่องยุทธปัจจัยและทรัพยากร รัฐบาลโซเวียตได้ขอให้รัฐบาลอังกฤษและอเมริกาสนับสนุน ทำให้โซเวียตพร้อมที่จะเข้าตีตั้งแต่เดือนสิงหาคม
สงครามโซเวียต-ญี่ปุ่น
ห้าทุ่มของวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ.1945 รัฐบาลโซเวียตฉีกสัญญาไม่รุกรานกัน และประกาศสงครามกับญี่ปุ่น
สงครามครั้งนี้เหมือนกับสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นในปี ค.ศ.1904 แต่ต่างออกไปตรงที่โซเวียตเป็นฝ่าย “surprise” ฝ่ายญี่ปุ่น และเข้าโจมตีทุกด้านโดยที่ญี่ปุ่นไม่ได้ตั้งตัว
จอมพลอเล็กซานเดอร์ วาซิเลฟสกี้ ได้รับมอบหมายจากสตาลินให้เป็นแม่ทัพใหญ่และผู้บังคับบัญชาสูงสุด วาซิเลฟสกี้เป็นจอมพลที่มีประสบการณ์โชกโชนในการรบกับกองทัพเยอรมัน ดังนั้นในครั้งนี้ เขาแยกกองทัพโซเวียตที่มีอยู่ประมาณ 1,600,000 คนออกเป็นสามแนวรบ
- แนวรบทรานส์ไบคาล บุกจากมองโกเลียใน และพุ่งตรงไปยังฉางชุน เมืองหลวงของแมนจูกัว
- แนวรบตะวันออกไกลที่ 1 บุกจากวลาดิวอสต็อก และเข้าตีฉางชุนโดยตรง
- แนวรบตะวันออกไกลที่ 2 บุกจากภาคเหนือของแมนจูเรีย โดยเข้าตีชิชิฮาร์ และฮาร์บิน
นอกจากทั้งสามกองจะบุกแมนจูเรียจากทั้งสามด้านแล้ว วาซิเลฟสกี้ยังปรารถนาจะล้อมกองทัพควานตุงของญี่ปุ่นไปในคราวเดียวและบดขยี้ให้แหลกยับเยิน
การโจมตีของโซเวียตทำให้ญี่ปุ่นไม่ตั้งตัว โดยเฉพาะการโจมตีจากมองโกเลียในซึ่งเป็นทะเลทราย แนวรบทรานส์ไบคาลจึงแทบไม่ประสบกับการต่อต้านเลย และช่วงชิงที่มั่นสำคัญของญี่ปุ่นได้อย่างรวดเร็ว
กองทัพควานตุงในเวลานั้นอ่อนแอลงมาก เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นนำทหารที่ดีที่สุดไปรบในสมรภูมิในจีนและแปซิฟิก และถูกสังหารไปเกือบหมดแล้ว ในสงครามครั้งนี้ญี่ปุ่นจึงแทบไม่สามารถต้านทานได้เลย แม้จะพยายามสกัดกองทัพโซเวียตอย่างเต็มที่ได้ที่มู่ตันเฉียงอยู่ 3-4 วันก็ตาม
กองทัพโซเวียตของวาซิเยฟสกี้บุกแมนจูเรียรวดเร็วราวกับมีดที่ผ่าไม้ไผ่จากสามด้าน กองทัพควานตุงที่เคยได้ชื่อว่าแข็งแกร่งของญี่ปุ่นถูกทำลายย่อยยับ ทหารญี่ปุ่นมากมายทิ้งอาวุธยอมจำนน
กองกำลังโซเวียตเข้าถึงเมืองหลวงของแมนจูกัวอย่างฉางชุนได้ภายในเวลาสิบวันเท่านั้น แนวป้องกันของญี่ปุ่นบางแนวแตกกระเจิงในการเข้าตีเพียงครั้งเดียว
ความพ่ายแพ้อย่างรวดเร็วของกองทัพที่เคยได้ชื่อว่าดีที่สุด ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นตกตะลึงและตื่นตระหนกยิ่งไปกว่าการโดนทิ้งด้วยระเบิดปรมาณูเสียอีก เหล่านายทหารเองต่างมีท่าทีที่อ่อนลง อนึ่งเพราะพวกเขาทุกคนกลัวคอมมิวนิสต์ว่าจะแทรกซึมเข้ามาในญี่ปุ่น
กลางเดือนสิงหาคม กองทัพโซเวียตรุกเข้ามาถึงแม่น้ำยาลูปากทางเข้าสู่ดินแดนเกาหลี นอกจากนี้ยังขึ้นบกที่ทางใต้ของดินแดนซัคคาลินและหมู่เกาะคูริลด้วย ดังนั้นภายในไม่ถึงสองสัปดาห์ โซเวียตแทบจะยึดแมนจูเรียไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ
รัฐบาลโซเวียตเตรียมการการยกพลขึ้นบกที่ฮอกไกโดไว้แล้ว ถ้าญี่ปุ่นยังคงดึงดัน กองทัพมหาศาลของโซเวียตจะยกพลขึ้นบกที่ญี่ปุ่น แล้วญี่ปุ่นจะได้ทราบดีว่าความโหดร้ายของกองทัพโซเวียตมีมากเพียงใด อย่างในดินแดนแมนจูเรียนั้น กองทัพโซเวียตได้ก่ออาชญากรรมสงครามมากมายกับชาวญี่ปุ่น
นักประวัติศาสตร์หลายคน รวมไปถึงนักประวัติศาสตร์ชาวญี่ปุ่นเองต่างยอมรับว่า ชัยชนะอันเด็ดขาดและรวดเร็วของโซเวียตเป็นปัจจัยสำคัญอันดับหนึ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข นายทหารและรัฐมนตรีญี่ปุ่นหลายคนล้วนแต่กลัวคอมมิวนิสต์และความโหดร้ายของกองทัพโซเวียตที่จะมาถึงแผ่นดินแม่ นอกจากนี้พวกเขารู้ดีว่าญี่ปุ่นไม่มีกำลังพอจะต้านทานการขึ้นบกของโซเวียต เพราะทรัพยากรทั้งหมดถูกใช้ไปกับการป้องกันกองทัพสหรัฐแล้ว
ในวันที่ 2 กันยายน ค.ศ.1945 ญี่ปุ่นลงนามในสนธิสัญญายอมแพ้ต่อสหรัฐอเมริกาอย่างไม่มีเงื่อนไข ทำให้สงครามโลกครั้งที่สองจบลงอย่างเป็นทางการ หากแต่ว่าสถานะสงครามระหว่างโซเวียตและญี่ปุ่นยังดำเนินไปจนถึง ค.ศ.1956 (แม้ว่าจะไม่มีการรบกัน) ที่ทั้งสองฝ่ายมีข้อตกลงร่วมยุติสงครามในที่สุด
แม้จะมีข้อตกลงร่วมระหว่างกัน แต่เพราะกรณีหมู่เกาะคูริล ทั้งสองฝ่ายจึงยังไม่ได้ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพอย่างเป็นทางการมาจนถึงทุกวันนี้
ผลที่ตามมา
หลังสงครามยุติลง รัฐบาลโซเวียตได้ส่งมอบดินแดนแมนจูเรียให้กับพรรคคอมมิวนิสต์จีนของเหมาเจ๋อตง สิ่งนี้ได้เปลี่ยนชะตาของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ก่อนหน้านี้ต้องระหกระเหินและถูกตามล่าโดยพรรคก๊กมินตั๋ง
แมนจูเรียกลายเป็นที่มั่นและฐานกำลังสำคัญของฝ่ายคอมมิวนิสต์ เหมาเจ๋อตงได้สะสมกำลังที่นี่และสามารถเอาชนะเจียงไคเช็คในสงครามกลางเมืองได้ในที่สุด
นอกจากนี้โซเวียตรัสเซียยังได้ล้างอายให้กับจักรวรรดิรัสเซียที่เคยพ่ายแพ้ต่อญี่ปุ่นได้โดยสมบูรณ์ และชิงดินแดนที่เคยสูญเสียไปอย่างซัคคาลินตอนใต้กลับคืนมาได้ด้วย
Sources:
Toland, The Rising Sun: The Decline and Fall of the Japanese Empire