ประวัติศาสตร์"อวดอุตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตน" อาบัติที่ต้องแล้วความเป็นพระจบทันที

“อวดอุตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตน” อาบัติที่ต้องแล้วความเป็นพระจบทันที

อาบัติปาราชิกเป็นอาบัติลำดับสูงสุดของพระภิกษุ ถ้าพระภิกษุไปละเมิดข้อใดข้อหนึ่ง ถือว่าขาดจากความเป็นพระทันที ทั้งนี้อาบัติปาราชิกมี 4 ข้อได้แก่ เสพเมถุนธรรม ลักขโมย ฆ่ามนุษย์ และอวดอุตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตน

สำหรับสามข้อแรก เราค่อนข้างจะคุ้นเคยกับมันดี เพราะมันคล้ายกับศีล 5 กับศีล 8 แต่ข้อสี่แล้วหลายท่านอาจจะสงสัยว่ามันคืออะไรกันแน่?

อธิบายแบบง่ายที่สุด อวดอุตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตน คือ การโอ้อวดว่าตนเองมีอิทธิฤทธิ์ มีอำนาจวิเศษ บรรลุมรรคผล เป็นพระอริยบุคคล ทั้งๆ ที่ตนเองไม่มี

พระพุทธเจ้า

เรามาดูดีกว่า ทำไมพระพุทธเจ้าถึงบัญญัติอาบัติข้อนี้

ที่มาของอาบัติข้อนี้

ระหว่างที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ในนครเวสาลี มีพระภิกษุกลุ่มหนึ่งจำพรรษาอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา สถานที่ที่พระภิกษุเหล่านี้อยู่เกิดปัญหาขาดแคลนอาหาร ทำให้ประชาชนต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างอดมื้อกินมื้อ อาหารที่ถวายให้พระจึงน้อยลงไปด้วย

พระภิกษุเหล่านี้จึงปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรดี จนกระทั่งมีพระภิกษุกลุ่มหนึ่งเสนอไอเดียว่า ให้พระภิกษุทั้งหมดต่างชื่นชมกันเองว่ารูปโน้นบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันบ้าง ได้อภิญญา 6 (มีฤทธิ์) บ้าง สำเร็จฌานระดับสูงบ้าง ถ้าผู้คนทั่วไปเลื่อมใสแล้ว พวกเขาจะนำอาหารจำนวนมากมาถวายแก่พระ

หลังจากนั้นพระภิกษุกลุ่มนี้จึงเริ่มการปฏิบัติตามแผน เมื่อพระรูปใดพบกับชาวบ้าน พระรูปนั้นจะบอกชาวบ้านว่าพระอีกรูปสำเร็จเป็นพระอรหันต์บ้าง พระโสดาบันบ้าง ได้ฌาน ได้ฤทธิ์บ้าง

ภายในเวลาไม่นาน พวกชาวบ้านต่างรู้สึกดีใจที่มีพระภิกษุที่สำเร็จโน่นนี่มากเช่นนี้ ด้วยความเลื่อมใส พวกเขาจึงยอมนำอาหารที่มีน้อยอยู่แล้วมาถวายพระภิกษุกลุ่มนี้ หลังจากนั้นพวกพระภิกษุที่อาศัยอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทาอยู่อย่างสุขสบาย และมีอาหารดีๆ ไว้ฉันแทบทุกมื้อ ในขณะที่ผู้คนภายนอกกำลังจะอดตาย

เรื่องเป็นเช่นนี้จนกระทั่งถึงวัดออกพรรษา ตามธรรมเนียมในสมัยนั้น เมื่อออกพรรษาแล้วเหล่าภิกษุที่อยู่ใกล้กับเมืองเวสาลีจะเดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า

ด้วยความที่เมืองเวสาลี และแคว้นวัชชีโดยทั่วไปขาดอาหาร ทำให้ภิกษุเกือบทั้งหมดมีเนื้อตัวผอมซูบซีด เพราะต้องรับความลำบากไปกับพวกชาวบ้านด้วย มีแต่พวกภิกษุที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทาเท่านั้นที่มีผิวพรรณเปล่งปลั่ง หน้าตาแจ่มใส

พระพุทธเจ้าเสด็จออกมาไต่ถามพระภิกษุทั้งหลายว่าเป็นอย่างไรบ้าง จนกระทั่งทอดพระเนตรเห็นพระภิกษุริมแม่น้ำวัคคุมุทา พระองค์จึงไต่ถามว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ร่างกายของพวกเธอยังพอ ทนได้หรือ ยังพอให้เป็นไปได้หรือ พวกเธอเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่วิวาทกัน อยู่จำพรรษาเป็นผาสุก และไม่ลำบากด้วยบิณฑบาตหรือ

จตุตถปาราชิกสิกขาบท เรื่องภิกษุพวกฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา

พระภิกษุกลุ่มนี้ตอบพระพุทธเจ้าว่า พวกตนทนกับความยากลำบากได้

พระพุทธเจ้าทรงทราบอยู่แล้วว่าจะต้องมีอะไรผิดปกติ พระองค์จึงตรัสถามต่อไปว่า พวกภิกษุริมแม่น้ำวัคคุมุทามีวิธีการอย่างไรที่ทำให้ร่างกายดูเปล่งปลั่งเช่นนี้ ทั้งๆ ที่แคว้นวัชชีกำลังขาดแคลนอาหาร

พระภิกษุกลุ่มดังกล่าวจึงทูลให้พระองค์ทราบจนหมด พระพุทธเจ้าจึงถามว่าพวกพระภิกษุมีฤทธิ์อย่างที่ได้โอ้อวดจริงหรือไม่ พระภิกษุกลุ่มเดิมบอกพระพุทธเจ้าว่าพวกตนไม่มีฤทธิ์อย่างที่แอบอ้าง

เมื่อได้ทราบคำตอบแล้ว พระพุทธเจ้าทรงติเตียนอย่างรุนแรงว่า การกระทำเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควร ไม่เหมาะสมกับนักบวช หลังจากนั้นพระพุทธเจ้าตรัสเรื่องมหาโจร 5 จำพวก ซึ่งการกระทำประเภท “อวดอุตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตน” ของภิกษุกลุ่มริมแม่น้ำวัคคุมุทาก็อยู่หนึ่งในห้า และเป็นจำพวกที่เลวร้ายที่สุดด้วย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้กล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรม อันไม่มีอยู่ อันไม่เป็นจริงนี้จัดเป็นยอดมหาโจรในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะ พราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้นฉันก้อนข้าวของชาวแว่นแคว้น ด้วยอาการแห่งคนขโมย.

จตุตถปาราชิกสิกขาบท เรื่องภิกษุพวกฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา

ถ้าจะกล่างง่ายๆ พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบผู้ที่อวดอุตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตนเพื่อให้ได้ลาภยศว่าไม่ต่างอะไรกับการลักขโมย

หลังจากนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติสิกขาบทเพื่อไม่ให้พระภิกษุใดๆ ทำอีกต่อไป ทั้งนี้บัญญัติของพระองค์มีความว่า ภิกษุใดที่อวดอุตริมนุสสธรรมว่าตนเองมีพลังพิเศษโน่นนี่ใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าผู้อื่นจะเชื่อหรือไม่เชื่อ แต่ฟังแล้วเข้าใจว่าพระภิกษุผู้นั้นมีฤทธิ์ ภิกษุผู้นั้นจะต้องอาบัติปาราชิก หรือขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที

ข้อยกเว้นที่น่าสนใจ

จุดสำคัญในสิกขาบทนี้มีอยู่อย่างหนึ่งคือ ถ้าโอ้อวดอุตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตนแล้ว ผู้ฟังไม่เข้าใจว่าภิกษุมีพลังพิเศษ ภิกษุผู้โอ้อวดจะไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่จะต้องอาบัติถุลลัจจัยเท่านั้น ซึ่งเป็นอาบัติเบาที่สามารถแก้ได้โดยการปลงอาบัติ และยังคงสถานะภิกษุอยู่ได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าพระภิกษุอวดอุตริมนุสสธรรมที่มีในตน หรือ ภิกษุมีพลังพิเศษหรือได้บรรลุจริงๆ แต่พูดโอ้อวดออกมาแล้วผู้ฟังเข้าใจ ในกรณีนี้จะต้องอาบัติที่เบากว่าอย่างปาจิตตีย์เท่านั้น สามารถแก้ไขด้วยการปลงอาบัติ และไม่ได้มีโทษหนักถึงขนาดที่จะต้องขาดจากความเป็นพระ

โอ้อวดอะไรบ้างถึงจะอวดอุตริ?

ด้วยความที่ “พลังพิเศษ” มีหลายแบบ ดังนั้นพระไตรปิฏกจึงอธิบายไว้อย่างชัดเจนว่าอวดอะไรบ้างที่จะต้องอาบัติข้อนี้ ได้แก่

  • ฌาน 4 (ปฐมฌาน, ทุติยฌาน, ตติยฌาน, จตุตภฌาน)
  • สุทธิกะวิโมกข์
  • สุทธิกะสมาธิ
  • สุทธิกะสมาบัติ
  • ญาณทัสสนะ (วิชชา 3)
  • สติปัฏฐาน
  • สัมมัปปธาน 4
  • อิทธิบาท 4
  • อินทรีย์ 5
  • พละ 5
  • โพชฌงค์ 7
  • อริยมรรคมีองค์ 8
  • อริยผล (โสดาบัน, สกทาคามี, อนาคามี, อรหันต์)
  • ละกิเลส (ราคะ, โลภะ,โทสะ, โมหะ)
  • เปิดจิต

สามารถอ่านเพิ่มเติมอย่างละเอียดได้ที่นี่

บทส่งท้าย

ในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน มีพระหลายรูปมักอธิบายให้สาวกทราบว่าตนเองมีฤทธิ์โน่นนี่ ถ้าพระเหล่านั้นพูดไม่จริงเท่ากับว่าพวกเขาขาดจากความเป็นพระแล้วทั้งหมด

พระที่เป็นพระแท้ พระบริสุทธิ์ที่ตั้งอยู่ในศีล 227 ข้อที่พระพุทธเจ้าบัญญัติ พวกท่านจะทราบถึงเรื่องนี้เป็นอย่างดี และจะไม่พูดหรือพยายามแสดงออกว่าท่านมีฤทธิ์ มีพลังพิเศษโน่นนี่เลย ชาวพุทธทั่วไปจึงควรจะไตร่ตรองเรื่องนี้ให้ดีก่อนที่จะศรัทธาในพระรูปใดรูปหนึ่งมากเกินไป

Sources:

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!