ประวัติศาสตร์"ศาสนาพุทธ" นิกายเถรวาทลงหลักปักฐานในดินแดนไทยได้อย่างไร

“ศาสนาพุทธ” นิกายเถรวาทลงหลักปักฐานในดินแดนไทยได้อย่างไร

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่คนไทยนับถือเป็นลำดับที่ 1 ทุกท่านน่าจะเคยได้เรียนกันแล้วในวิชาพระพุทธศาสนาว่า ศาสนาพุทธเกิดขึ้นได้อย่างไรในอินเดีย

หากแต่ว่าศาสนาพุทธมาถึงดินแดนสุวรรณภูมิ อันเป็นที่ตั้งของประเทศไทยในปัจจุบันได้อย่างไรกันแน่?

เรามาดูกันครับ

ธรรมทูตของพระเจ้าอโศก?

ในช่วงปี 250 BC (ก่อนคริสตกาล 250 ปี) หลังจากที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงนับถือศาสนาพุทธแล้ว พระองค์โปรดให้ส่งสมณทูตหรือธรรมทูตไปเผยแผ่ศาสนาพุทธไปยังอาณาจักรอื่นๆ ใกล้เคียง ซึ่งก็รวมไปถึงทิศตะวันออกของอาณาจักรเมารยะ (Mauryan Empire) ของพระองค์ด้วยเช่นกัน

พระเจ้าอโศก By Photo Dharma CC BY 2.0,

ทิศตะวันออกที่ว่าก็คือ ดินแดนสุวรรณภูมิ หรือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน ผู้ที่พระเจ้าอโศกทรงส่งมาคือ พระภิกษุสองรูปได้แก่ พระโสณะ และ พระอุตตระ

ในช่วงเวลานั้น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปราศจากอาณาจักรที่สำคัญ มีแต่เพียงเมืองอิสระต่างๆ ในดินแดนพม่าที่เรียกว่า Pyu City-states เท่านั้น พระโสณะและพระอุตตระน่าจะเผยแผ่ศาสนาพุทธให้กับชาว Pyu เหล่านี้เอง

ไม่ปรากฏว่าพระภิกษุทั้งสองรูปประสบความสำเร็จมากเท่าใด เพราะแทบไม่มีหลักฐานใดๆ หลงเหลือไว้เลย เราไม่รู้อีกเช่นกันว่าท่านมาถึงดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันจริงๆ หรือไม่

การมาถึงของวัฒนธรรมอินเดีย

การเข้ามาถึงดินแดนสุวรรณภูมิของศาสนาพุทธไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน หรือเกิดขึ้นเพราะเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง แต่มันเป็นกระบวนการที่ใช้เวลานานหลายร้อยปี และศาสนาพุทธก็ไม่ได้เข้ามาแบบเดี่ยวๆ โดดๆ แต่มาพร้อมกับการเผยแพร่วัฒนธรรมอินเดียทั้งหมดทั้งมวลมายังดินแดนแถบนี้

ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 1-3 พ่อค้าชาวอินเดียได้ทำการค้าขายกับอาณาจักรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะนั้นหลักฐานจีนได้บันทึกว่าได้มีอาณาจักรเกิดขึ้นแล้วในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาณาจักรที่ว่าคือ อาณาจักรฟูนัน (Funan)

พ่อค้าชาวอินเดียได้นำความเชื่อทางศาสนาของพวกเขามาด้วย ไม่ว่าจะเป็นศาสนาฮินดูหรือศาสนาพุทธ การเผยแพร่วัฒนธรรมอินเดียเกิดขึ้นหลายร้อยปี จนกระทั่งวัฒนธรรมอินเดียวางหลักปักฐานอย่างมั่นคง นั่นก็รวมไปถึงศาสนาด้วย

กษัตริย์และชาวสุวรรณภูมิเริ่มเปลี่ยนมานับถือศาสนาแบบอินเดียอย่าง ศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ และนำการปกครองแบบเทวราชาตามแบบอินเดียมาใช้

สำหรับศาสนาพุทธแล้ว ในศตวรรษที่ 1-3 นี้ การแตกแยกทางศาสนาได้เกิดขึ้นไปแล้วในอินเดีย และได้แบ่งเป็นสองนิกายอย่างเป็นทางการ นั่นก็คือ ศาสนาพุทธนิกายเถรวาท และศาสนาพุทธนิกายมหายาน

ศาสนาพุทธนิกายเถรวาทหรือ ศาสนาพุทธแบบที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือกันในปัจจุบัน ส่วนแบบมหายานคือแบบที่เราเห็นในวัดจีนต่างๆ

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ศิลปะศรีวิชัย พบที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศาสนาพุทธนิกายมหายาน By Gunawan Kartapranata – Own work, CC BY-SA 3.0,

ทั้งสองนิกายต่างเผยแพร่เข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นเดียวกับศาสนาฮินดู แน่นอนว่านอกจากศาสนาพุทธทั้งสองนิกายจะต้องแข่งกับศาสนาฮินดูแล้ว ยังต้องแข่งกันเองด้วย

พุทธมหายานรุ่งเรือง

ศาสนาพุทธที่รุ่งเรืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ศาสนาพุทธนิกายมหายาน เพราะได้ปรากฏหลักฐานว่า อาณาจักรสำคัญๆ ในช่วงศตวรรษที่ 5-9 ได้เป็นอาณาจักรพุทธมหายาน โดยเฉพาะ อาณาจักรศรีวิชัย (เรืองอำนาจในภาคใต้ของไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย)

นักประวัติศาสตร์ได้ค้นพบรูปปั้นและผลงานทางศิลปะมากมายของอาณาจักรนี้ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธ อาทิเช่น รูปปั้นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระโพธิสัตว์สำคัญในนิกายมหายาน เป็นต้น

นอกจากนี้ในศตวรรษที่ 9 โบราณสถานสำคัญทางพระพุทธศาสนาก็ได้ถูกสร้างขึ้นในดินแดนชวา โบราณสถานที่ว่าก็คือ บุโรพุทโธ (Borobudur) โบราณสถานนี้ก็เป็นศาสนสถานของนิกายมหายานเช่นเดียวกัน

บุโรพุทโธ By 22Kartika – Own work, CC BY-SA 3.0,

ส่วนอาณาจักรขอมที่เรืองอำนาจในดินแดนสุวรรณภูมิเป็นอาณาจักรฮินดู แต่กษัตริย์ขอมบางพระองค์ก็นับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน องค์ที่เป็นมหายานอย่างพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงให้การสนับสนุนศาสนาพุทธอย่างดี มีการสร้างวัดและสิ่งก่อสร้างทางศาสนาพุทธหลายแห่ง

ดังนั้นถ้าเราลองสังเกตดู เราจะพบว่าในช่วงนี้ศาสนาพุทธนิกายเถรวาทที่คนไทยนับถือกันในปัจจุบันยังไม่ได้เป็นที่นิยมสักเท่าใดเลย แล้วศาสนาพุทธนิกายนี้มายังดินแดนสุวรรณภูมิได้อย่างไร

นิกายเถรวาทรุ่งโรจน์

ศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเผยแพร่คนละทิศทางกับมหายาน นิกายเถรวาทเผยแพร่ไปทางตอนใต้ของอินเดีย หลังจากนั้นก็เผยแพร่ทางทะเลไปสู่ศรีลังกา

ถึงแม้จะปรากฏหลักฐานว่า มีชาวสุวรรณภูมิที่ยอมรับนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทบ้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 5 แล้ว แต่ความพยายามในการเผยแพร่ศาสนาพุทธนิกายนี้ในดินแดนสุวรรณภูมิมาจากศรีลังกาเป็นสำคัญ

ศาสนทูตของศรีลังกาได้เดินทางมายังดินแดนสุวรรณภูมิในช่วงเวลาที่อิทธิพลของนิกายมหายานเริ่มลดลง พวกเขาจึงประสบความสำเร็จอย่างมากในการเผยแพร่ศาสนาในอาณาจักรพุกามและอาณาจักรขอม

ในอาณาจักรพุกามช่วงศตวรรษที่ 11 พระเจ้าอนุรุทธมหาราชแห่งพม่าได้ทรงรับศาสนาพุทธนิกายเถรวาทจากศรีลังกาที่ชาวมอญนับถือกันมากเป็นศาสนาประจำอาณาจักร พระองค์ทรงสร้างเจดีย์และวัดจำนวนมากมายอย่างที่ปรากฏในเมืองพุกาม และได้สนับสนุนการเผยแผ่ศาสนาพุทธทั่วทั้งอาณาจักรของพระองค์ หลังจากนั้นมาดินแดนพม่าจึงเป็นดินแดนที่มีชาวพุทธเถรวาทอยู่เป็นจำนวนมากมาจนถึงทุกวันนี้

วัดมหาธาตุ ศิลปะสุโขทัย เป็นวัดพุทธเถรวาทที่สำคัญในดินแดนสุวรรณภูมิ By Hartmann Linge – Own work, CC BY-SA 3.0,

ส่วนในอาณาจักรขอม ศาสนาพุทธแบบเถรวาทจากศรีลังกาก็เริ่มมีผู้นับถือมากขึ้นเรื่อยๆ โดยครอบคลุมทุกชนชั้น ในช่วงศตวรรษที่ 13-14 อิทธิพลของศาสนาพุทธนิกายเถรวาทก็เหนือกว่านิกายมหายานและศาสนาฮินดู นานวันเข้าพลเมืองของอาณาจักรส่วนใหญ่ก็กลายเป็นชาวพุทธเถรวาท

สำหรับอาณาจักรสุโขทัย พ่อขุนรามคำแหงได้ทรงประกาศว่าศาสนาพุทธเถรวาทเป็นศาสนาประจำอาณาจักร หลังจากนั้นศาสนาพุทธเถรวาทก็รุ่งเรืองสืบต่อมาในดินแดนสุวรรณภูมิ และประเทศไทยตราบจนถึงทุกวันนี้

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!