ประวัติศาสตร์แกรนด์ดยุคนิโคลัส นักปราชญ์แห่งราชวงศ์โรมานอฟ ผู้รักในเสรีภาพ

แกรนด์ดยุคนิโคลัส นักปราชญ์แห่งราชวงศ์โรมานอฟ ผู้รักในเสรีภาพ

แกรนด์ดยุคนิโคลัส มิไคโลวิช (Grand Duke Nicholas Mikhailovich) เป็นเชื้อพระวงศ์ระดับสูงแห่งราชวงศ์โรมานอฟ พระองค์มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกับซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ดังนั้นเขาจึงเป็นอาคนหนึ่งของซาร์นิโคลัสที่ 2

นิโคลัสเป็นคนที่มีความรู้สูงหลายด้าน โดยเฉพาะด้านประวัติศาสตร์และปรัชญา ทำให้เขาได้รับการยกย่องให้เป็นมหาปราชญ๋ผู้รอบรู้ของราชวงศ์ แต่ทว่าเขากลับมีแนวคิดทางการเมืองที่แปลกแยกกับเชื้อพระวงศ์สำคัญคนอื่นๆ ทำให้สุดท้ายแล้ว สติปัญญาของเขาไม่ถูกใช้เพื่อประโยชน์ของรัสเซีย

บิมโบ (แกรนด์ดยุคนิโคลัส มิไคโลวิช)

วัยเยาว์

นิโคลัสเกิดในวันที่ 26 เมษายน ค.ศ.1859 เขาเป็นโอรสพระองค์แรกของแกรนด์ดยุคไมเคิล (มิคาอิล) นิโคแลวิช และเจ้าหญิง Cecilie แห่ง Baden ชื่อเล่นของนิโคลัสที่เรียกกันในราชวงศ์คือ บิมโบ (Bimbo) เพื่อให้แตกต่างกับ “นิกกี้” (ซาร์นิโคลัสที่ 2) และ “นิโคลาชา” (แกรนด์ดยุคนิโคลัส นิโคแลวิช)

ตั้งแต่นี้ผู้เขียนขอใช้ “บิมโบ” เพื่อแทนตัว แกรนด์ดยุคนิโคลัส มิไคโลวิช

ต่อมาบิมโบมีน้องชายอีกถึงห้าคน และน้องสาวอีกคนหนึ่ง (ไมเคิล จอร์จ อเล็กซานเดอร์ เซอร์เกย์ อเล็กเซย์ และอนาสตาเซีย ตามลำดับ) เมื่อบิมโบอายุได้เพียง 3 ขวบ แกรนด์ดยุคไมเคิล นิโคแลวิช บิดาของเขาก็ได้คำสั่งให้ไปทำหน้าที่เป็นผู้ว่าราชการเขตคอเคซัส บิมโบและครอบครัวจึงต้องติดตามบิดาไปด้วย ทั้งหมดได้พำนักอยู่ที่เมือง Tiflis เมืองหลวงของดินแดนคอเคซัส (ปัจจุบันคือเมืองหลวงของประเทศจอร์เจีย)

บิมโบในวัยเด็ก

บิมโบและน้องๆ ได้รับการเลี้ยงดูในแบบโรมานอฟ นั่นก็คือทุกคนจะได้รับการเลี้ยงดูอย่างเรียบง่ายมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทุกคนจะต้องนอนบนเตียงผ้าใบ อาบน้ำเย็นจัดในตอนเช้า และเข้าเรียนกับติวเตอร์ตามกำหนดเวลาอย่างเคร่งครัด

สำหรับเรื่องเรียนแล้ว บิมโบไม่เคยมีปัญหาเลย นอกจากบิมโบจะเก่งกาจอย่างมากในแทบทุกวิชาแล้ว ความสนใจของบิมโบยังกว้างมากๆ เขาสนใจในศิลปะ วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม พฤกษศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ทั่วไป โดยเฉพาะพฤกษศาสตร์ที่บิมโบสนใจมาก เขาเก็บผีเสื้อหายากไว้เป็นจำนวนมากและมอบให้กับวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ในเวลาต่อมา

บิมโบและน้องๆ สนิทสนมกันมาก แต่การที่พวกเขาอาศัยอยู่ที่คอเคซัสเป็นเวลานานถึง 12 ปี ทำให้ความสนิทสนมกับครอบครัวส่วนอื่นน้อยไปบ้าง และส่งผลให้ความคิดความอ่านแตกต่างกันด้วยอย่างที่จะปรากฏต่อไป

หลังจากที่บิมโบเรียนกับติวเตอร์จนจบแล้ว บิมโบได้เข้ารับราชการในกองทัพตามธรรมเนียมของสมาชิกราชวงศ์โรมานอฟ และได้รับตำแหน่งเป็นผู้บังคับการกองทหารคอเคซัสในปี ค.ศ.1877 ต่อมาไม่นานรัสเซียทำสงครามกับอาณาจักรออตโตมันในปี ค.ศ.1877-1878 บิมโบในวัย 19 ปีก็ได้ออกไปสู้รบด้วย

สำหรับบิมโบแล้ว ประสบการณ์ในสมรภูมิเป็นสิ่งที่โหดร้ายมากสำหรับเขา ตั้งแต่นั้นมาบิมโบจึงเกลียดชังสงครามไปตลอดทั้งชีวิต และพยายามสนับสนุนทุกหนทางที่จะทำให้สงครามไม่เกิดขึ้นกับรัสเซียอีก

อกหักติดๆกัน

ในปี ค.ศ.1879 บิมโบได้มีโอกาสเดินทางไปยัง Baden รัฐเล็กๆ แห่งหนึ่งในเยอรมนี บ้านเกิดของมารดาของเขา บิมโบได้พบรักกับเจ้าหญิงวิกตอเรียแห่งบาเดน ผู้มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องของเขา บิมโบในอายุ 20 ปีตกหลุมรักเธอทันที และเหมือนว่าเจ้าหญิงก็ชอบพอบิมโบด้วยเช่นกัน

หลังจากนั้นทั้งสองเป็นคู่รักกัน และแสดงเจตจำนงว่าต้องการจะแต่งงาน แต่ผู้ใหญ่ไม่เห็นด้วยเพราะคริสตจักรรัสเซียนออโธดอกซ์ไม่อนุญาตให้ลูกพี่ลูกน้องแต่งงานกันเอง บิมโบจึงไปเรียนให้ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ทรงช่วยเหลือ โดยเขากลับทูลว่า ถ้าพระองค์ไม่อนุญาต บิมโบจะไม่ยอมแต่งงานอีก

แต่แล้วความพยายามของบิมโบก็ไม่สำเร็จอีก บิมโบจึงต้องเลิกราและตัดใจจากเจ้าหญิงวิกตอเรียไป เจ้าหญิงวิกตอเรียได้เป็นราชินีแห่งสวีเดนในเวลาต่อมา

ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 ได้ทรงแต่งตั้งให้แกรนด์ดยุคไมเคิล นิโคแลวิช เป็นประธานสภาแห่งอาณาจักรในปี ค.ศ.1882 บิมโบและน้องๆ จึงได้เดินทางกลับมายังเซนต์ปีเตอร์สเปิร์กอันเป็นเมืองหลวง

สำหรับบิมโบและน้องๆ แล้ว เซนต์ปีเตอร์สเปิร์กเป็นเมืองที่ใหม่สำหรับพวกเขา น้องๆ ของเขาบางคนยังไม่เคยเห็นเซนต์ปีเตอร์สเปิร์กเลย ในทางกลับกันพวกเขากลับเห็น Tiflis ในเขตคอเคซัส (จอร์เจียในปัจจุบัน) เป็นบ้านเสียมากกว่า

Amélie of Orléans

หลังจากกลับมาที่เซนต์ปีเตอร์สเปิร์กได้ไม่นาน บิมโบได้พบพานและตกหลุมรักเจ้าหญิง Amélle แห่ง Orleans และเหมือนว่าเจ้าหญิงก็ทรงมีใจให้เช่นกัน บิมโบเองก็หวังไว้มาก เพราะว่าเธอไม่ได้เกี่ยวข้องเป็นญาติทางสายเลือดกับเขาเลย ครั้งนี้เขาน่าจะได้แต่งงานกับเธอ

เรื่องกลับกลายเป็นว่า บิมโบผิดหวังซ้ำสอง เพราะเธอเป็นคาทอลิก บิดามารดาของเธอจึงไม่ปรารถนาที่จะให้เธอเปลี่ยนศาสนาเป็นรัสเซียนออโธดอกซ์ พวกเขาจึงปฏิเสธบิมโบไปเอง ภายหลังเจ้าหญิงที่บิมโบรักได้กลายเป็นราชินีแห่งโปรตุเกส

ความผิดหวังในความรักเพราะเหตุผลทางศาสนา ทำให้บิมโบตัดใจจากความรักทั้งสิ้นทั้งปวง บิมโบทุ่มเททั้งชีวิตที่เหลือกับการศึกษาแต่เพียงอย่างเดียว

การผิดหวังทางความรักจากเหตุผลทางศาสนาอาจส่งผลให้บิมโบใส่ใจศาสนาน้อยลง และทำให้ความคิดของเขาเป็นแบบ “ก้าวหน้า” มากยิ่งขึ้น นั่นยิ่งทำให้เขาแปลกแยกจากสมาชิกราชวงศ๋คนอื่นๆ อย่างชัดเจน

บิมโบผู้รักในความเท่าเทียม

หลังจากนั้นบิมโบก็หันหลังให้ความรักโดยสิ้นเชิง เขาต้องการจะศึกษาเล่าเรียนในระดับสูงขึ้นต่อไป ความปรารถนาของบิมโบจึงเบนไปที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย แต่กลับได้รับการปฏิเสธโดยบิดาของเขาเอง เพราะว่าสมาชิกราชวงศ์โรมานอฟต้องเป็นนายทหารเท่านั้น

ด้วยความอยากเรียน บิมโบจึงไปเข้าเรียนที่โรงเรียนนายทหาร แต่ด้วยความที่เขาไม่ชอบสงคราม ทำให้บิมโบรู้สึกเบื่อหน่ายมาก และคิดว่าชีวิตนายทหารไม่เหมาะกับเขา ทั้งๆที่เขาเรียนได้ดีระดับต้นๆ ของระดับชั้นก็ตาม

บิมโบ

หลังจากจบการศึกษา บิมโบได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการบริหารทรัพย์สินต่างๆ เช่นที่ดินของครอบครัว บิมโบเป็นผู้บริหารที่ดีสำหรับเหล่าลูกน้อง บิมโบไม่เคยถือตัวว่าตนเองเป็นเชื้อพระวงศ์ระดับสูง เขาเกลียดเรื่องชนชั้นสูงต่ำและปรารถนาที่จะให้ทุกคนเท่าเทียมกัน บิมโบเรียกเหล่าลูกน้องและทหารในกองพันของเขาว่า “เพื่อนของฉัน” และชอบหยอกล้อกับพวกเขาเป็นปกติ นอกจากนี้บิมโบชื่นชอบที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเหล่าปัญญาชนอย่างเท่าเทียม เหล่าลูกน้อง ทหาร ตลอดจนปัญญาชนจึงรักเขามาก

นอกจากนี้บิมโบดูแลลูกจ้างหลายพันคนเป็นอย่างดีโดยให้สวัสดิการมากมาย เขารับฟังปัญหาและความทุกข์ยากของชนชั้นล่างอย่างจริงจัง และไม่ชอบที่เห็นชนชั้นนำรีดเลือดกับปู การทำงานกับคนมากหน้าหลายตาทำให้บิมโบมีวิสัยทัศน์กว้างไกลกว่าเชื้อพระวงศ์โรมานอฟคนอื่นๆ บิมโบเห็นว่าด้านการเมืองเขาตระหนักว่ารัสเซียต้องมีการปฏิรูป ประชาชนควรจะได้มีสิทธิเสรีภาพและมีสิทธิในการร่วมปกครอง

นานวันเข้าไป บิมโบจึงยิ่งแปลกแยกจากเชื้อพระวงศ์คนอื่น บิมโบถือว่าตนเองมีแนวคิดทางการเมืองแบบ “เสรีนิยม” หรือ “สังคมนิยม” ด้วยซ้ำไป บิมโบจึงถูกค่อนแคะโดยทั่วไปเป็นว่าคนที่มีความคิดแปลกประหลาด

การที่มีแนวคิดเสรีนิยม ทำให้บิมโบไม่ลังเลที่จะแสดงความคิดเห็นของตนเองต่อหน้าแกรนด์ดยุคคนอื่นๆ ทำให้เหล่าแกรนด์ดยุคสูงอายุที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมไม่ชอบบิมโบเลย พวกเขามักจะนินทาบิมโบว่าเห็นแก่ตัวบ้าง พูดจารุนแรงบ้าง

หากแต่ว่าบางครั้ง บิมโบก็พูดจารุนแรงเกินไปจริงๆ ระหว่างที่บิมโบอยู่ที่ปารีส บิมโบได้แสดงความคิดเห็นต่อเยอรมนีในการลบอย่างรุนแรง ทำให้รัฐบาลเยอรมนีประท้วงมายังราชสำนักรัสเซีย ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 จึงลงโทษด้วยการให้บิมโบไปสงบสติอารมณ์ที่คอเคซัสเป็นเวลาหลายเดือน

คำแนะนำที่เหนือหัวไม่แยแส

นิโคลัสและอเล็กซานดรา

ด้วยความที่ถูกจัดว่าเป็นคนประหลาด ทำให้ความคิดเห็นของบิมโบไม่ได้รับการเชื่อถือสักเท่าใดนัก บิมโบเคยเน้นย้ำอย่างหนักแน่นว่าไม่ให้ซาร์นิโคลัสที่ 2 เสด็จไปงานเลี้ยงหลังจากที่เกิดเหตุการณ์เหยียบกันตายที่ทุ่ง Khodynka ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับพัน บิมโบกล่าวว่า

อย่าได้ให้พวกศัตรูของราชสำนักพูดได้ว่าซาร์ผู้เยาว์วัยทรงเต้นรำระหว่างที่พสกนิกรที่เสียชีวิตถูกขนย้ายไปยังที่ฝังศพ

Grand Duke Nicholas Mikhailovich, “Flight of the Romanovs”

เดิมทีซาร์นิโคลัสก็จะทรงปฏิบัติตาม แต่ซาร์นิโคลัสกลับเสด็จไปงานดังกล่าวเพื่อเชื่อถือในพวกแกรนด์ดยุคอายุมากหลายพระองค์อย่างแกรนด์ดยุคเซอร์เกย์ ผลที่ตามมาคือภาพลักษณ์ของซาร์นิโคลัสและเชื้อพระวงศ์เสียหายมากในหมู่ประชาชน

หลังจากนั้นบิมโบพยายามแนะนำให้ซาร์นิโคลัสปฏิรูปการเมืองอีกหลายครั้ง แต่เขากลับได้รับการปฏิเสธ นอกจากนี้การที่เขาแนะนำให้ซาร์นิโคลัสทรงปฏิรูปทำให้ซาริซาอเล็กซานดราเกลียดชังเขาอย่างมาก อเล็กซานดราถือว่าบิมโบเป็นศัตรูของพระนาง แรงกดดันของอเล็กซานดราทำให้บิมโบพูดความคิดเห็นของเขาน้อยลง แต่บิมโบก็ไม่เคยละทิ้งอุดมการณ์ทางการเมืองของเขาเอง

บิมโบจึงหันไปใส่ใจกับการทำงานวิจัยของเขาเองในด้านประวัติศาสตร์ เขาลาออกจากกองทัพอย่างถาวรและไปทำงานดังกล่าวอย่างจริงจัง บิมโบได้ทำการเรียบเรียงประวัติศาสตร์รัสเซียให้เป็นระบบ ด้วยความที่เขาเป็นเชื้อพระวงศ์ เขาจึงได้รับอนุญาตให้เข้าถึงเอกสารลับในอดีตได้ เขาได้ตีพิมพ์งานเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์รัสเซียถึง 15 ฉบับ แต่ละฉบับล้วนแต่ได้รับการยกย่องอย่างสูงทั่วทั้งยุโรป แม้แต่นักประวัติศาสตร์โซเวียตเองยังยกย่องในผลงานของเขาในเวลาต่อมา

นอกเหนือจากนั้น บิมโบหันไปใช้เวลากับการท่องเที่ยวไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรป บิมโบมักจะเสียเงินไปกับการพนันไม่น้อยเมื่อเวลาที่เขาเข้าบ่อน แต่ด้วยความที่เป็นนักบริหารที่เก่งคนหนึ่ง บิมโบจึงไม่ประสบกับปัญหาด้านการเงินเลย

สงครามและการปฏิวัติ

ด้วยความที่ศึกษาประวัติศาสตร์มาอย่างดี ทำให้บิมโบรู้ความเป็นไปและ “ความเหมือน” หลายๆ อย่างของรัสเซียกับฝรั่งเศสในยุคก่อนการปฏิวัติ บิมโบรู้สึกเป็นกังวล เขารู้ดีว่ารัสเซียจะหลบหลีกชะตากรรมได้ ต้องมีการปฏิรปเท่านั้น เขาพยายามจะทูลให้ซาร์นิโคลัสทรงทราบแต่ก็ไม่เป็นผล

บิมโบ

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 กระแสคลั่งชาติและสนับสนุนสงครามปะทุขึ้น จริงอยู่ว่าบิมโบไม่ชอบเยอรมนีมาเป็นเวลานานแล้ว แต่เขาไม่เห็นด้วยกับการทำสงครามเลย ความคิดเห็นของเขาถูกกลบไปโดยกระแสชาตินิยมในเวลานั้น

เมื่อฝ่ายรัสเซียสูญเสียจำนวนมาก เขาวิพากษ์วิจารณ์สมาชิกในราชวงศ์โรมานอฟด้วยกันถึงการทำสงครามแบบทุ่มกำลังคนเข้าไป ทำให้ทหารรัสเซียบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากโดยเปล่าประโยชน์ บิมโบวิเคราะห์ว่ารัสเซียจะเอาชนะสงครามไม่ได้ถ้าเหลือแต่พวกทหารเกณฑ์ ซึ่งการวิเคราะห์ของเขาก็เป็นจริงอีก

ช่วงปี ค.ศ.1916 บิมโบร่างจดหมายเตือนไปยังซาร์นิโคลัสหลายครั้งถึงเรื่องที่ซารินาอเล็กซานดราและรัสปูตินกำลังครอบงำรัสเซีย ซาร์นิโคลัสทรงหมดความอดทนจึงส่งบิมโบไปอยู่บ้านพักตากอากาศในที่ห่างไกลเพื่อที่จะได้ไม่ต้องยุ่งกับการเมืองต่อไป

ถึงกระนั้นบิมโบก็ได้ร่วมวางแผนกับแกรนด์ดยุคหลายคนอย่างลับๆ เพื่อที่ยึดอำนาจ กำจัดซาริซาอเล็กซานดราและฟื้นคืนเสถียรภาพให้กับประเทศ แต่แผนการดังกล่าวไม่เกิดขึ้นเพราะการปฏิวัติกุมภาพันธ์เกิดขึ้นเสียก่อน

ก่อนหน้าที่จะเกิดการปฏิวัติเล็กน้อย บิมโบเคยเขียนไว้ว่าความพ่ายแพ้ยับเยินของกองทัพรัสเซียจะทำให้กระแสสังคมนิยมพุ่งขึ้นมาในประเทศ บิมโบเคยเขียนไว้ในไดอารี่ของเขาว่า

ความพ่ายแพ้ย่อยยับทางการทหารของรัสเซียเหล่านี้จะนำมาซึ่งการลุกฮือที่ยิ่งใหญ่ที่จะทำให้ระบบกษัตริย์หลายแห่งสิ้นสุดลง และนำมาซึ่งชัยชนะของระบอบสังคมนิยมในหลายประเทศ

สิ่งที่เขาพยากรณ์ไว้เป็นจริงอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อรัสเซียเกิดการปฏิวัติสองครั้งในปี ค.ศ.1917 ราชวงศ์โรมานอฟสิ้นสุดลงในการปฏิวัติกุมภาพันธ์ ส่วนการปฏิวัติตุลาคมทำให้รัสเซียเปลี่ยนการปกครองเป็นแบบคอมมิวนิสต์

สิ้นชีวิต

หลังจากการปฏิวัติกุมภาพันธ์ บิมโบเป็นแกรนด์ดยุคคนเดียวที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ได้สนใจมากนักกับการล่มสลายของราชวงศ์โรมานอฟ เขาปรารถนาจะลงสมัครเป็นหนึ่งในสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ บิมโบเคยเขียนจดหมายให้เพื่อนของเขาที่ปารีสว่า ถ้าการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้ว เขาอาจจะโหวตเปลี่ยนรัสเซียให้เป็นสาธารณรัฐ เพราะแกรนด์ดยุคที่มีสิทธิในราชบัลลังก์ล้วนแต่เป็น “พวกโง่เง่า”

วังของบิมโบที่จอร์เจีย ปัจจุบันเป็นที่พำนักฤดูร้อนของประธานาธิบดีแห่งจอร์เจีย

ต่อมาไม่นาน พวกบอลเชวิคมีอำนาจหลังจากการปฏิวัติตุลาคม บิมโบกลับถูกจับร่วมกับแกรนด์ดยุคคนอื่น ก่อนหน้านี้บิมโบปฏิเสธที่จะลี้ภัยออกจากรัสเซีย เพราะเขาคาดว่าพวกบอลเชวิคจะอยู่ในอำนาจได้ไม่นาน การคาดการณ์ของบิมโบน่าจะผิดครั้งแรกในชีวิต และมันทำให้เขาต้องจบชีวิตลงด้วย

อย่างไรก็ตามด้วยความที่มีผู้คนจำนวนมากยังรักบิมโบ พวกเขาจึงขอให้แม็กซิม กอร์กี้ นักเขียนชื่อดังติดต่อกับเลนินให้ปล่อยบิมโบออกมา กอร์กี้อ้างว่าบิมโบเป็นนักประวัติศาสตร์ที่มีผลงานดีๆ มาก เลนินกลับตอบกลับมาว่า

การปฏิวัติไม่ต้องการนักประวัติศาสตร์

ถึงกระนั้นกอร์กี้ต่อรองอยู่หลายครั้งจนสุดท้ายเลนินก็อนุญาต แต่ช้าไปเสียแล้ว ระหว่างที่กอร์กี้เดินทางมายังกรุงเปโตรกราด บิมโบถูกสังหารไปแล้วที่ป้อมปีเตอร์แอนด์พอลพร้อมกับแกรนด์ดยุคอีก 3 คน ในวันที่ 28 มกราคม ค.ศ.1919

คำพูดสุดท้ายของบิมโบคือ เขาขอให้ทหารคนหนึ่งดูแลแมวของเขาให้ดี เขายอมรับความตายด้วยความกล้าหาญโดยไม่ได้ร้องขอชีวิตใดๆ บิมโบมีอายุได้ 59 ปีเศษ ปัจจุบันร่างของบิมโบน่าจะยังคงหลับใหลอยู่ในที่ฝังศพนิรนามใกล้กับป้อมปราการปีเตอร์แอนด์พอล

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!