ประวัติศาสตร์ศตวรรษแห่งความอัปยศ: 100 ปีแห่งความพ่ายแพ้ของประเทศจีน

ศตวรรษแห่งความอัปยศ: 100 ปีแห่งความพ่ายแพ้ของประเทศจีน

ศตวรรษแห่งความอัปยศ (Century of Humiliation) หรือไป่เนียนกว๋อฉื่อ (百年国耻) เป็นคำนามที่ชาวจีนชาตินิยมช่วงปี ค.ศ.1920-1930 ใช้บรรยายถึงเหตุการณ์ในหน้าประวัติศาสตร์จีนในช่วงหนึ่งร้อยปีก่อนหน้า กล่าวคือจีนในฐานะที่เป็นมหาอำนาจของโลกมาทุกยุคทุกสมัยกลับพ่ายแพ้ยับเยินในสงคราม ตกเป็นเบี้ยล่างการเมืองและการทูตแทบทุกครั้ง ต้องยินยอมในสนธิสัญญาที่เสียเปรียบทุกประตู รวมไปถึงตามหลังประเทศอื่นๆ ในแทบทุกด้านไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม การทหาร ฯลฯ

แม้ว่าคำนามนี้จะเกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วง ค.ศ.1920 แต่ความปราชัยและอ่อนแอของจีนยังดำเนินต่อไปอีกหลายทศวรรษ โดยมากแล้วนักประวัติศาสตร์มักจะใช้ปี ค.ศ.1949 ที่เหมาเจ๋อตงสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นจุดสิ้นสุดของศตวรรษแห่งความอัปยศ

ในโพสนี้เราจะไปดูกันโดยย่อครับว่าตลอดช่วงเวลาร้อยกว่าปีนั้น จีนต้องเผชิญกับความอัปยศอะไรบ้าง

การ์ตูนคลาสสิกจากศตวรรษที่ 19 เสียดสีว่ามหาอำนาจตะวันตกและญี่ปุ่นกำลังแบ่งพิซซ่า “จีน”

1. แพ้สงครามฝิ่น (Opium War) ทั้งสองครั้ง

หนึ่งในความปราชัยแรกๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของจีนก็คือ สงครามฝิ่นทั้งสองครั้ง (ค.ศ.1839-1842, 1856-1860) จีนได้พ่ายแพ้แก่อังกฤษและฝรั่งเศสแบบที่ไม่สามารถต่อกรได้เลย ทำให้จีนต้องยอมเซ็นสนธิสัญญานานกิงและเทียนสินอันอัปยศ เปิดเมืองท่าและยกผลประโยชน์มากมายให้กับชาติตะวันตก

อีกหนึ่งความอัปยศของจีนก็คือ กองทัพอังกฤษและฝรั่งเศสที่ชนะสงครามได้เข้ามาเผาพระราชวังหยวนหมิงหยวน (พระราชวังฤดูร้อนเก่า) ที่กรุงปักกิ่งจนวอดวาย

2. ยกแมนจูเรียนอกให้กับรัสเซีย

จักรวรรดิรัสเซียฉวยโอกาสที่จีนกำลังอ่อนแอจากการทำสงครามฝิ่นเข้ามาเสนอช่วยไกล่เกลี่ยทางการทูต และเป็นตัวกลางในการเจรจากับอังกฤษและฝรั่งเศส หลังจากนั้นก็ใช้วิธีการ Bluff อย่างมโหฬารว่า ถ้าจีนไม่ยอมยกดินแดนแมนจูเรียนอก (ปัจจุบันคือวลาดิวอสต็อก) ให้ รัสเซียจะประกาศสงครามกับจีน

ในเวลานั้นราชสำนักชิงกำลังเผชิญกับศัตรูรอบด้านไม่ว่าจะในประเทศ (กบฏไท่ผิง) หรือนอกประเทศ ประกอบกับดินแดนแมนจูเรียส่วนที่รัสเซียต้องการก็ร้างผู้คน ราชสำนักชิงจึงยินยอมมตัดดินแดนแมนจูเรียจำนวนมหาศาลตามคำขอของรัสเซีย

3. สละอิทธิพลในเวียดนามและอินโดจีน

ในช่วงปี ค.ศ.1884-5 จีนได้ปะทะกับฝรั่งเศสที่กำลังขยายอำนาจเหนือเวียดนาม ซึ่งในเวลานั้นอยู่ในเขตอิทธิพลของจีน ในสงครามครั้งนี้ กองทัพบกจีนถือว่าต่อสู้กับฝรั่งเศสได้อย่างสูสี และผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ซึ่งถือว่าดีกว่าในสงครามก่อนหน้านี้ที่สู้ไม่ได้เลย แต่สุดท้ายรัฐบาลของซูสีไทเฮาก็ต้องยอมสงบศึกกับฝรั่งเศส เพราะรัสเซียและญี่ปุ่นขู่ว่าจะเข้าร่วมสงคราม

ท้ายที่สุดจีนจึงต้องยอมรับว่าเวียดนามเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส เท่ากับว่าจีนเสียอิทธิพลเหนืออินโดจีนไปทั้งหมด

4. พ่ายยับในสงครามจีน-ญี่ปุ่น ครั้งแรก

หนึ่งในเหตุการณ์ที่จีนเจ็บปวดที่สุดในช่วงนี้ก็คือความพ่ายแพ้ต่อญี่ปุ่น ประเทศแถบเอเชียด้วยกัน แต่ในเวลานั้นแข็งแกร่งเป็นมหาอำนาจจากการปฏิรูปประเทศแบบตะวันตก ทั้งนี้ตลอดหน้าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา จีนถือว่าตนเองเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งไม่มีผู้ใดเสมอในแถบนี้ ความปราชัยอย่างหมดรูปต่อญี่ปุ่นจึงเป็นเรื่องที่น่าอัปยศมากกว่าความพ่ายแพ้ต่อชาติตะวันตกมากมายนัก

ผลของสงครามได้ทำให้จีนต้องยินยอมให้เกาหลีเป็นรัฐในอิทธิพลของญี่ปุ่น (และตกเป็นส่วนหนึ่งของญี่ปุ่นในเวลาต่อมา) และลงนามในสนธิสัญญาชิโมโนเซกิที่มอบเกาะไต้หวันและส่วนหนึ่งของคาบสมุทรเหลียวตงให้กับญี่ปุ่น รวมไปถึงจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมหาศาล จีนได้กลายเป็นคนป่วยแห่งเอเชียอย่างสมบูรณ์

5. การรุกรานของพันธมิตรแปดชาติ

ในปี ค.ศ.1900 กองทัพพันธมิตรแปดชาติอันประกอบด้วย ญี่ปุ่น รัสเซีย อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ออสเตรีย-ฮังการี เยอรมนี และอิตาลีได้รุกรานตอนเหนือของจีน เพื่อมากวาดล้างพวกกบฏนักมวยที่เป็นปฏิปักษ์กับชาวต่างชาติ และปกป้องสิทธิประโยชน์ที่พวกตนได้รับจากรัฐบาลจีน

กองทัพพันธมิตรแปดชาติบุกเข้ามาถึงปักกิ่งและปล้นสะดมเมือง ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ เพราะสารานุกรมหย่งเล่อต้าเตี้ยน สารานุกรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและมีอยู่เพียงชุดเดียวเท่านั้นถูกทำลาย จนไม่เหลือตกทอดมาถึงปัจจุบันอีก

6. ข้อเสนอ 21 ประการของญี่ปุ่น

ในปี ค.ศ.1912 ราชวงศ์ชิงล่มสลายลงหลังจากเกิดการปฏิวัติซินไฮ่ ซึ่งเปลี่ยนประเทศเป็นสาธารณรัฐ แต่กลับไม่ได้ปกครองในระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด จีนกลับเข้าสู่ยุคขุนศึกที่กลุ่มขุนศึกทั้งหลายต่างมีอำนาจ และแย่งชิงความเป็นใหญ่กัน ทำให้ประเทศไม่มั่นคง

หนึ่งในขุนศึกที่มีอำนาจที่สุดในเวลานั้นคือ หยวนซื่อไข่ ผู้ที่ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐจีน (จากการต่อรองกับคณะปฏิวัติว่าจะช่วยล้มราชวงศ์ชิง) รัฐบาลญี่ปุ่นเห็นการเมืองจีนไม่มั่นคง และเห็นว่าหยวนซื่อไข่ไม่ใช่คนตรงอะไรนักจึงยื่นข้อเสนอ (หรือจริงๆ แล้วคือคำขาด) ทั้งหมด 21 ข้อให้รัฐบาลจีนพิจารณา

ในบรรดาทั้งหมด 21 ข้อนี้ ข้อที่สำคัญที่สุดคือข้อ 5 นั่นคือจีนจะต้องยอมให้ญี่ปุ่นดูแลการคลัง กิจการภายใน (ตำรวจ) กิจการของรัฐ รวมไปถึงการออกนโยบายต่างๆ ซึ่งถ้าจีนยินยอมก็ถือว่าจีนเป็นรัฐในอารักขาของญี่ปุ่น เหมือนกับที่อินเดียเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษนั่นเอง

ข่าวข้อเสนอ 21 ประการของญี่ปุ่นนี้ถูกแพร่กระจายออกไปยังชาวจีนทั่วไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการประท้วงและต่อต้านอย่างรุนแรง ชาวจีนจึงตอบโต้ด้วยการแบนสินค้าญี่ปุ่น ขณะเดียวกันอังกฤษและอเมริกาจึงเข้ามาต่อรองจนทำให้ญี่ปุ่นยอมยกเลิกข้อ 5 ออกไปเสีย

7. ถูกญี่ปุ่นรุกรานในช่วงปี ค.ศ.1931-1945

แม้ว่าสงครามโลกครั้งที่สองในส่วนอื่นของโลกจะเริ่มต้นในปี ค.ศ.1939 แต่สำหรับจีนแล้วนั้น จีนต้องเผชิญกับการรุกรานของประเทศที่เล็กกว่าแต่เป็นมหาอำนาจอย่างญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี ค.ศ.1931 เลยทีเดียว

กล่าวคือในช่วงปี ค.ศ.1931 ญี่ปุ่นได้เข้ายึดครองดินแดนแมนจูเรียของจีน (เช่นเมืองเสิ่นหยาง, ฉางชุน และฮาร์บิน) และสถาปนาขึ้นเป็นประเทศนามว่า “แมนจูกัว” โดยประเทศใหม่นี้อยู่ในสถานะรัฐในอารักขา หรือพูดง่ายๆ ก็คือเป็นเมืองขึ้นของญี่ปุ่น แม้ว่าจะมีอดีตจักรพรรดิของจีนอย่างปูยีเป็นประมุขก็ตาม

ต่อมาในปี ค.ศ.1937 ญี่ปุ่นก็ได้เข้ารุกรานจีนอย่างเต็มสูบ โดยฝ่ายญี่ปุ่นคาดว่าจะพิชิตดินแดนจีนทั้งหมดได้ภายในสามเดือน แต่ปรากฏว่าครั้งนี้ผิดคาดเพราะจีนต่อสู้แข็งแกร่งอย่างไม่น่าเชื่อ แม้ว่าจะต้องย้ายเมืองหลวงหนีญี่ปุ่นหลายต่อหลายครั้งก็ตาม ทำให้สงครามดำเนินต่อไปนานถึงแปดปี จนกระทั่งญี่ปุ่นยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สองในปี ค.ศ.1945

การสิ้นสุดของศตวรรษแห่งความอัปยศ

บทบาทของจีนในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองทำให้จีนเป็นหนึ่งในผู้ชนะสงคราม และได้เข้าร่วมเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (Security Council) ทำให้เกียรติภูมิของประเทศฟื้นฟูกลับมาได้บ้าง

อย่างไรก็ดีเหตุการณ์ที่ยุติศตวรรษแห่งความอัปยศอย่างแท้จริงน่าจะเป็นชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วงสงครามกลางเมือง และนำไปสู่การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี ค.ศ.1949 เพราะหลังจากนั้นจีนก็ได้เปลี่ยนสถานะเป็นมหาอำนาจของโลกอย่างเต็มตัว เป็นประเทศที่ครอบครองหัวรบนิวเคลียร์ รวมไปถึงมีการพัฒนาประเทศไปเป็นประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

นอกจากนี้การเปิดประเทศของเติ้งเสี่ยวผิงยิ่งทำให้สถานะของจีนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ความภาคภูมิใจของชาวจีนจึงกลับมาอย่างสมบูรณ์

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!