วันที่ 15 มีนาคม (ปฏิทินเก่า 2 มีนาคม) เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของประวัติศาสตร์รัสเซีย เพราะเป็นวันที่ซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงสละราชสมบัติอย่างเป็นทางการ เหตุการณ์ในช่วงเวลานั้นเป็นไปอย่างชุลมุน และส่งผลอย่างมากต่อหน้าประวัติศาสตร์โลก
ปูมหลัง
ในปี ค.ศ.1917 การประท้วงในวันสตรีสากลของแม่บ้านหลายหมื่นคนได้ลุกลามกลายเป็นการปฏิวัติกุมภาพันธ์ (February Revolution) ที่มีประชาชนหลายแสนคนเข้าร่วม กรุงเปโตรกราดกลายเป็นสมรภูมิย่อมๆ ของผู้ชุมนุมและเหล่าตำรวจปราบการจลาจล เมื่อเวลาผ่านไป รัฐบาลซาร์เริ่มไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ มวลชนเริ่มบุกเข้ายึดสถานที่ราชการสำคัญหลายแห่ง และจับเหล่าตำรวจไปสังหารคนแล้วคนเล่า
รัฐบาลซาร์พยายามจะสั่งให้กองกำลังทหารที่ประจำการอยู่ที่เปโตรกราดเข้าปราบปรามผู้ชุมนุม แต่คำสั่งดังกล่าวไม่เป็นผล เพราะทหารชั้นผู้น้อยไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง พวกเขาสังหารผู้บังคับบัญชาและเข้าร่วมการปฏิวัติ ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก
ณ เวลานั้น นิโคลัสทรงประทับอยู่ที่กองบัญชาการใหญ่ของกองทัพรัสเซีย (Stavka) ที่อยู่ใกล้กับแนวหน้า พระองค์จึงไม่อาจสั่งการใดๆ ได้ ส่วนซารินาอเล็กซานดรา พระมเหสีที่มีอิทธิพลทางการเมือง กำลังกลัดกลุ้มพระทัยกับการที่พระธิดาทั้ง 4 พระองค์ประชวรหนักด้วยโรคหัด ทำให้ไม่มีเวลาใส่พระทัยกับเรื่องอื่น
ทางเลือกหมดลง
ระหว่างที่สถานการณ์เลวร้ายลง มิคาอิล รอซิอันโก (Mikhail Rodzianko) ประธานสภาดูมาได้ทูลให้นิโคลัสทรงทราบว่าสถานการณ์ในกรุงเปโตรกราดกำลังย่ำแย่ และขอให้พระองค์ทรงแต่งตั้งผู้ที่ประชาชนให้ความนับถือจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยเร็ว รอซิอันโกเน้นย้ำว่าพระองค์ทรงรอช้าไม่ได้ แต่นิโคลัสทรงไม่ได้ตอบโทรเลขดังกล่าว
สามวันผ่านไป กรุงเปโตรกราดทั้งหมดอยู่ในมือของมวลชนโดยสมบูรณ์ ในวันที่ 13 มีนาคม นิโคลัสพยายามจะเดินทางกลับไปยังพระราชวังอเล็กซานเดอร์ที่อยู่ใกล้กับกรุงเปโตรกราด แต่ขบวนรถไฟของพระองค์กลับถูกหยุดที่เมือง Pskov โดยแม่ทัพ Ruzsky
รอซิอันโกแจ้งให้นิโคลัสทราบว่ามวลชนในเมืองหลวงต้องการให้พระองค์สละราชสมบัติ นอกจากนี้ Ruzsky และ Guchkov ที่รอซิอันโกส่งมาก็ต่างยืนยันให้พระองค์ทรงสละบัลลังก์ให้กับพระโอรสอเล็กเซย์
รอซิอันโกและพรรคพวกหวังว่าจะมวลชนจะสงสารยอมรับในพระโอรสองค์น้อยที่ประชวรเป็นโรคฮีโมฟีเลียและไม่มีพิษมีภัยได้ อเล็กเซย์จะปกครองรัสเซียในฐานะซาร์ภายใต้รัฐธรรมนูญและปิดกั้นไม่ให้พวกโซเวียตฉวยโอกาสสถาปนาสาธารณรัฐสังคมนิยม
สำหรับนิโคลัสแล้ว พระองค์ทรงตัดสินพระทัยไม่ได้ แต่เมื่อทรงตระหนักถึงสถานการณ์โดยรอบแล้ว พระองค์ทรงไม่มีทางเลือกอื่นอีก ครอบครัวของพระองค์อยู่ในมือพวกนักปฏิวัติ พระองค์ทรงปราศจากกำลังทหารที่จงรักภักดี เหล่าแม่ทัพแต่ละคนต่างทูลว่าถ้าพระองค์ทรงไม่ปฏิบัติตาม ทหารที่แนวหน้าอาจจะลุกฮือขึ้น ทำให้รัสเซียพ่ายแพ้ต่อเยอรมนีโดยสมบูรณ์
สละราชสมบัติ
ในวันที่ 15 มีนาคม นิโคลัสตัดสินพระทัยได้ว่าพระองค์จะสละราชสมบัติให้กับพระโอรสอเล็กเซย์ แต่พระองค์ทรงตระหนักว่าพระโอรสประชวรเป็นโรคฮีโมฟีเลียชนิด B ทำให้ชีวิตของพระโอรสอยู่ได้ไม่นาน ถ้าอเล็กเซย์ขึ้นเป็นซาร์ นิโคลัสน่าจะต้องเสด็จไปประทับที่ต่างประเทศ และอยู่ห่างไกลจากพระโอรส นั่นเป็นสิ่งที่พระองค์ไม่ปรารถนาเป็นอย่างยิ่ง
ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงตัดสินพระทัยสละราชสมบัติให้กับ แกรนด์ดยุคมิคาอิล (หรือไมเคิล) พระอนุชาแทน ในวันที่ 15 มีนาคม การสละราชสมบัติถูกประกาศอย่างเป็นทางการต่อประชาชนและกองทัพทั่วทั้งอาณาจักร
การที่นิโคลัสสละราชสมบัติให้กับมิคาอิลทำให้แผนการของรอซิอันโกที่จะปลอบประโลมประชาชนโดยการใช้อเล็กเซย์ล้มเหลว การพูดคุยกับมิคาอิลเริ่มต้นทันที แต่ประชาชนดูเหมือนว่าจะชิงชังราชวงศ์โรมานอฟมากเกินกว่าจะยอมรับมิคาอิลได้ มิคาอิลเองก็ทราบในเรื่องนี้ดี เขาจึงทำการประกาศว่า เขาขอให้ประชาชนรัสเซียเป็นผู้เลือกว่าจะปกครองประเทศรูปแบบใด หลังจากที่ได้สภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
หากแต่ว่า ณ เวลาดังกล่าว รัสเซียกำลังอยู่ในสภาวะสงคราม การเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญจึงเกิดขึ้นไม่ได้ รัฐบาลชั่วคราวที่สถาปนาขึ้นหลังการปฏิวัติจึงคุมอำนาจในประเทศไปพลางก่อน จนกระทั่งเลนินและพวกบอลเชวิคยึดอำนาจในเดือนตุลาคม ค.ศ.1917
ความรู้สึกของซาร์นิโคลัส
นิโคลัสทรงเขียนในบันทึกของพระองค์ ในวันที่สละราชสมบัติว่า
มีนาคม 15, วันพฤหัส – ในตอนเช้า รุสกี้มาถึงและอ่านโทรเลขที่ยาวมากที่ได้พูดคุยกับรอซิอันโก สถานการณ์ในเปโตรกราดในตอนนี้ทำให้รัฐมนตรีแห่งสภาดูมาไม่อาจจะทำอันใดได้ เพราะต้องต่อสู้กับพวกสภาแรงงานที่ทำหน้าที่แทนพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย การสละราชสมบัติของฉันเป็นข้อบังคับ รุสกี้ได้ประกาศเรื่องนี้ที่กองบัญชาการใหญ่ และ อเล็กเซียฟส่งมันไปให้กับแม่ทัพใหญ่ทุกนาย ในเวลาสองนาฬิกา พวกเขาล้วนแต่ตอบกลับมา ประเด็นสำคัญคือเพื่อรักษารัสเซียและทำให้กองทัพที่อยู่แนวหน้าสงบลง ต้องมีการกระทำการใดสักอย่างหนึ่ง ฉันเห็นด้วย จากกองบัญชาการใหญ่ได้มีการส่งคำประกาศ ในตอนเย็น Guchkov กับ Shulgin เดินทางมาจากเปโตรกราด ฉันได้ปรึกษาเรื่องดังกล่าว และได้ยื่นคำประกาศที่มีลายเซ็นของฉัน ในเวลา 1 นาฬิกาตอนเช้า (ตี 1 ของวันที่ 16) ฉันเดินทางออกจาก Pskov ด้วยหัวใจที่หนักอึ้ง เนื่องจากสิ่งที่ผ่านมา รอบตัวของฉันมีแต่การทรยศ ความขี้ขลาด และความหลอกลวง
บันทึกของซาร์นิโคลัส
ความสำคัญ
การสละราชสมบัติของนิโคลัสทำให้ราชวงศ์โรมานอฟจบลงอย่างเป็นทางการ รัสเซียเปลี่ยนรูปแบบการปกครองเป็นแบบสาธารณรัฐ (ซึ่งอาจจะเป็นชั่วคราว ถ้ามีสภาร่างรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น) แต่เหนือสิ่งอื่นใด มันทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองในรัสเซีย รัฐบาลชั่วคราวไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ เปิดโอกาสให้เลนินและพวกบอลเชวิคยึดอำนาจ และเปลี่ยนประเทศเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมในที่สุด
เรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของ วันสุดท้ายของราชวงศ์โรมานอฟ
หนังสืออ้างอิง อยู่ที่นี่