ประวัติศาสตร์ยุทธการแห่งโมโลดี: ชัยชนะครั้งใหญ่ในวันที่เกือบล่มสลายของรัสเซีย

ยุทธการแห่งโมโลดี: ชัยชนะครั้งใหญ่ในวันที่เกือบล่มสลายของรัสเซีย

ยุทธการแห่งโมโลดี (Battle of Molodi, Молодинская битва) เป็นยุทธการในประวัติศาสตร์รัสเซียที่น้อยคนจะทราบ ทั้งๆที่มันสำคัญมาก ถ้ารัสเซียแพ้ในการรบครั้งนี้ แผ่นดินรัสเซียจะแตกแยกสาแหรกขาด และตกเป็นเมืองขึ้นเหมือนกับที่เคยเป็นเมืองขึ้นของมองโกลอีกครั้ง

เหตุการณ์เป็นอย่างไรกันแน่ เรามาดูกันเลยดีกว่า

ปูมหลัง

ซาร์อีวานที่ 4 (Ivan IV) หรือ อีวานผู้เลวร้าย (Ivan The Terrible) ได้สังหารผู้คนจำนวนมากด้วยกองทหารพิเศษหรือตำรวจลับที่เรียกว่า Oprichnina แม้แต่สังฆราชาฟิลิปแห่งมอสโกยังถูกสังหารด้วย ทำให้แผ่นดินรัสเซียอยู่ในกลียุคครั้งใหญ่

อีวานที่ 4 กับพวก Oprichnina

นอกจากนี้อีวานกำลังทำสงครามแย่งดินแดนลิโวเนีย (Livonia) กับอาณาจักรโปลิช-ลิทัวเนียอีกด้วย ทำให้กำลังทหารส่วนใหญ่ถูกส่งไปรักษาการณ์ที่สมรภูมิรบด้านดังกล่าว

เดฟเลตที่ 1 (Devlet I) ข่านชาวตาตาร์แห่งไครเมียจึงเห็นเป็นโอกาสนำกองทัพเข้ามาโจมตีรัสเซียจากตอนใต้ในปี ค.ศ.1571 กองทัพไครเมียได้ตีกองทัพของพวก Oprichnina ของอีวานที่เก่งแต่ฆ่าฟันเพื่อนร่วมชาติแตกยับเยิน นอกจากนี้ยังเผาเมืองมอสโกอีกต่างหาก อีวานจึงต้องหนีตายขึ้นเหนือไปอาศัยยังเมือง Novgorod และเรียกให้พวกชนชั้นสูงที่เคยถูกตนเองกวาดล้างอย่างหนักมาเป็นแม่ทัพต่อต้านกองทัพไครเมีย

ในปลายปีนั้น อีวานพยายามขอเจรจาสงบศึก แต่เดฟเลตปรารถนาจะได้ทั้งคาซาน (Kazan) และแอสตราข่าน (Astrakhan) ทำให้การเจรจาจบลงด้วยความล้มเหลว ทั้งสองฝ่ายจึงเตรียมการสู้รบกันอีกครั้งหนึ่ง

ในครั้งนี้ เดฟเลตหมายมั่นปั้นมือว่าจะผนวกดินแดนรัสเซียทั้งหมด และจับอีวานเพื่อนำไปโชว์ตัวในเมืองหลวงของเขาให้ได้ การเตรียมการของไครเมียดำเนินไปอย่างพร้อมที่สุด เดฟเลตได้รับกำลังสนับสนุนเป็นกำลังทหารและปืนใหญ่จากอาณาจักรออตโตมัน ทำให้ในครั้งนี้กองทัพไครเมียน่ากลัวกว่าเดิมหลายเท่า

ต้นปี ค.ศ.1572 กองทัพไครเมียมีสรรพกำลังทั้งหมดไม่น้อยกว่า 50,000 คน เดฟเลตสั่งให้กองทัพทั้งหมดรุกเข้าดินแดนรัสเซียทันที การรุกรานครั้งใหญ่เริ่มต้นแล้ว

อีวานหนีตาย

อีวานตระหนักว่ากองทัพไครเมียน่าจะกลับมารุกรานในไม่ช้า เขาได้เตรียมกองทัพไว้พร้อมแล้วเช่นเดียวกัน และให้กองทหารซ่อมแซมป้อมปราการต่างๆ และสร้างแนวป้องกันริมแม่น้ำ Oka นอกจากนี้ต้นไม้จำนวนมากถูกตัดออกเพื่อนำมาใช้เป็นสิ่งกีดขวางกองทหารม้าชาวตาตาร์แห่งไครเมีย

เหล่าแม่ทัพนายกองขอให้อีวานเป็นจอมทัพในการต่อสู้ครั้งใหญ่ครั้งนี้ แต่อีวานปฏิเสธเพราะความหวาดกลัว และหนีกลับไปยังเมือง Novgorod เช่นเดิม

เป็นเรื่องน่าแปลกยิ่งที่ ผู้ที่สั่งฆ่าผู้อื่นได้อย่างมากมายอย่างอีวานกลับขี้ขลาดได้ถึงเพียงนี้ เมื่ออีวานไปถึงเมือง เขาได้ร่างพินัยกรรมเสร็จสิ้นเรียบร้อย เพราะอีวานรู้ดีว่า ถ้ากองทัพรัสเซียพ่ายแพ้ ตัวเขาน่าจะจบสิ้นลงด้วย

ในขณะที่ซาร์แห่งรัสเซียกำลังหลบหนีอย่างหัวซุกหัวซุน เหล่าเจ้าชาย (คเนียส) กำลังเตรียมการรบอย่างเต็มที่ กองทัพรัสเซียสามารถตีสกัดกองทัพไครเมียได้สำเร็จใกล้กับมอสโก ทำให้กำลังใจฝ่ายรัสเซียดีขึ้นเล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม กองทัพขนาดมหึมาของชาวตาตาร์แห่งไครเมียยังคงมุ่งหน้าขึ้นเหนือมายังไม่หยุด และเข้าใกล้มอสโกอันเป็นเมืองหลวงมากขึ้นตามลำดับ

กองทัพตาตาร์แห่งไครเมียเข้าใกล้มอสโก

ปาฏิหาริย์?

ในวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ.1572 กองทัพของข่านเดฟเลตทำลายกองทัพหน้าของฝ่ายรัสเซียแตกยับ และมุ่งตรงมายังมอสโก กองทัพรัสเซียจึงรีบเข้ามาสกัดทันทีที่หมู่บ้านชื่อโมโลดี ซึ่งห่างจากมอสโกประมาณ 60 กิโลเมตร

การที่กองทัพรัสเซียเข้ามาใกล้บีบให้ดิเวย์ เมียซ่า แม่ทัพใหญ่ฝ่ายไครเมียต้องตัดสินใจว่า เขาจะทำอย่างไรระหว่าง

  1. ไม่ต้องสนใจกองทัพรัสเซีย เข้าตีมอสโกโดยตรง
  2. ตีกองทัพรัสเซียให้แตกยับไปก่อน แล้วค่อยเข้าตีมอสโก

ดิเวย์ เมียซ่าตัดสินใจเลือกหนทางที่สอง นั่นคือเข้าตีกองทัพรัสเซียให้แตกไปก่อน ในการปะทะกันครั้งแรก พลแม่นปืนสามพันคนฝ่ายรัสเซียถูกกองทหารม้าไครเมียตีแตกยับเยิน ทำให้สถานการณ์ฝ่ายรัสเซียเลวร้ายลงทันที

แต่แล้วเรื่องปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้น เพราะดิเวย์ เมียซ่ากลับถูกกองทัพรัสเซียจับตัวได้โดยบังเอิญ เพราะเขาตกจากหลังม้า ทำให้ทหารรัสเซียกลุ้มรุมจับตัวเขาได้

ในตอนแรก ทหารรัสเซียไม่รู้ว่าเขาจับตัวแม่ทัพใหญ่ฝ่ายไครเมีย จนกระทั่งเจ้าชายแห่งไครเมียคนหนึ่งในกองทัพรัสเซียบอกว่า หนึ่งในเชลยศึกที่ฝ่ายรัสเซียจับกุมมาได้คือดิเวย์ เมียซ่า

ด้วยเหตุนี้ดิเวย์ เมียซ่าจึงถูกจับกุมมาหาเจ้าชายมิคาอิล วาราตินสกี้ แม่ทัพใหญ่ฝ่ายรัสเซีย และถูกรีดความลับออกมาจนหมด ทำให้ฝ่ายรัสเซียทราบว่ากองทัพไครเมียกำลังจะโจมตีครั้งใหญ่ในไม่ช้า

หลังจากนั้นทั้งสองฝ่ายปะทะกันประปรายตลอดเกือบสัปดาห์ วาราตินสกี้ได้เตรียมปืนใหญ่และเสริมความแข็งแกร่งของฐานที่มั่นและสิ่งกีดขวางให้พร้อม อุปกรณ์อย่าง Gulyay-gorod ซึ่งเป็นกำแพงเคลื่อนที่ได้ถูกนำมาประจำการเพื่อเตรียมรับมือกับกองทัพม้าที่เกรียงไกรของไครเมียด้วย

ยุทธการแห่งโมโลดี

เดฟเลตรู้สึกกังวลที่ดิเวย์ เมียซ่าถูกจับเป็นเชลย เขาจึงสั่งให้กองทัพทั้งหมดเข้าโจมตีที่มั่นของรัสเซียในวันที่ 2 สิงหาคม

ทั้งนี้กองทัพไครเมียมีประมาณ 50,000 คน ส่วนกองทัพรัสเซียมีประมาณ 24,000 คน ซึ่งมีจำนวนเป็นครึ่งหนึ่งของกองทัพไครเมียเท่านั้น ฝ่ายไครเมียจึงได้เปรียบอย่างมาก

Gulyay-gorod กุญแจสำคัญที่ทำให้กองทัพรัสเซียมีชัย

อย่างไรก็ตามกองทัพไครเมียไม่สามารถใช้ม้าเป็นประโยชน์ได้ เพราะพวกรัสเซียหลบอยู่หลังสิ่งกีดขวาง และกำแพงเคลื่อนที่อย่าง Gulyay-Gorod เมื่อพวกไครเมียพยายามปีนป่ายขึ้นมา ทหารรัสเซียต่างใช้ดาบฟาดฟันทหารไครเมียให้ตกลงไป นอกจากนี้ Gulyay-Gorod ยังมีช่องให้ใช้ปืนยิงใส่ได้อีกด้วย

วาราตินสกี้ แม่ทัพใหญ่ฝ่ายรัสเซียเห็นว่ากองทัพหน้าสามารถตั้งยันทหารไครเมียเอาไว้ได้ เขาจึงสั่งให้ทหารส่วนใหญ่ยกอ้อมไปยังด้านหลังของกองทัพไครเมีย การเคลื่อนที่ดังกล่าวประสบความสำเร็จได้เพราะกองทัพรัสเซียได้เคลื่อนไปโดยมี Gulyay-Gorod คอยคุ้มกันไปด้วย ทำให้กองทหารม้าไครเมียไม่สามารถเข้าชาร์จได้

เมื่อมาถึงด้านหลังของกองทัพศัตรูแล้ว วาราตินสกี้จึงสั่งให้ทหารใช้ปืนใหญ่และปืนยาวระดมยิงทั้งจากในค่ายใหญ่ และจากกองทัพที่อยู่ด้านหลัง การยิงกระหน่ำของฝ่ายรัสเซียทำให้พวกตาตาร์ที่อยู่เป็นกลุ่มก้อนถูกยิงสังหารล้มตายมากมาย ทหารตาตาร์ที่เหลืออยู่ต่างแตกตื่นและชุลมุนเปิดโอกาสให้กองทัพรัสเซียที่เข้าโจมตีจากด้านหลังไล่สังหารได้เป็นจำนวนมาก

กองทัพไครเมียไม่สามารถต้านทานได้อีกต่อไป พวกเขาจึงแตกหนีไปคนละทิศละทาง เช่นเดียวกับเดฟเลตที่ 1 ที่หนีเอาตัวรอดไปได้อย่างหวุดหวิด แต่บุตรชายหลายคนและหลานชายของเขาคนหนึ่งพลีชีพลงกลางสมรภูมิพร้อมกับทหารตาตาร์แห่งไครเมียอีกเกือบสามหมื่นนาย

ฝ่ายรัสเซียจึงได้รับชัยชนะครั้งใหญ่ที่ยิ่งกว่าชัยชนะครั้งใดๆ นับตั้งแต่ยุทธการแห่งคูลิโคโวเลยทีเดียว

ผลที่ตามมา

ชัยชนะครั้งใหญ่ที่โมโลดีทำให้ฝ่ายไครเมียสูญเสียเป็นจำนวนมาก เดฟเลตต้องถอยทัพกลับไปทำให้การรุกรานรัสเซียของเขาสิ้นสุดลง ฝ่ายรัสเซียจึงได้หายใจหายคอขึ้นมาบ้าง

อย่างไรก็ตามชัยชนะครั้งนี้ไม่ได้หยุดการรุกรานรัสเซียของชาวตาตาร์แต่อย่างใด นับตั้งแต่บัดนั้นรัสเซียจึงมุ่งมั่นอย่างยิ่งในการทำลายรัฐข่านแห่งไครเมียให้ราบคาบ แต่กว่าจะประสบความสำเร็จก็เป็นในรัชกาลของซาริซาแคทเทอรีนมหาราช เจ้าชาย Potemkin ชู้รักของแคทเทอรีนได้ผนวกไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียได้ในปี ค.ศ.1783 การรุกรานรัสเซียของไครเมียจึงจบสิ้นไปตลอดกาล

Sources:

Payne and Romanoff, Ivan The Terrible

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!