การศึกษาเรียนต่อป.ตรีที่ "อเมริกา" ทำอย่างไร? และ เคล็ดลับดีๆที่ควรรู้

เรียนต่อป.ตรีที่ “อเมริกา” ทำอย่างไร? และ เคล็ดลับดีๆที่ควรรู้

การเรียนต่อปริญญาตรี (Undergraduate degree) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีความซับซ้อน และมีหลายขั้นตอนมาก เรียกได้ว่าไม่ง่ายเลยสำหรับใครสักคนจากประเทศไทยที่จะได้รับการตอบรับเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่อเมริกาได้สำเร็จ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่าง Harvard, Stanford, MIT

สำหรับตัวผมเอง ผมขอเอ่ยปากว่าเป็นคนที่เรียนจบปริญญาตรีจากสหรัฐอเมริกา แต่ช่วงเวลานั้นผมบอกได้ว่าเป็นช่วงที่เครียดสุดๆ และเหนื่อยมากๆ พอผลออกมามันเหมือนกับยกภูเขาออกจากอกเลยทีเดียว

ดังนั้นในโพสนี้ ผมจึงอยากปรารถนาที่จะแชร์ประสบการณ์ของตัวผมเองที่เกี่ยวกับขั้นตอนการสมัคร และให้เคล็ดลับดีๆ ที่ควรทราบครับ คนที่ได้อ่านจะได้ไม่ต้องเหนื่อยและเครียดแบบผม

เรามาดูรายละเอียดและเคล็ดลับของแต่ละขั้นตอนเลยดีกว่า

1. ทำเกรดให้ดี

“เกรด” เป็นปัจจัยที่สำคัญมากในการพิจารณาผู้สมัครแต่ละคน สำหรับนักเรียนอเมริกัน นักเรียนไทยที่เรียนที่ไฮสคูลอเมริกัน และนักเรียนโรงเรียนนานาชาติ (international schools) ในประเทศไทย เกรดที่ใช้จะเป็นเกรดของชั้น 9th-12th grade

ส่วนนักเรียนที่จบจากโรงเรียนไทยอย่างเตรียมอุดม มหิดล และโรงเรียนอื่นๆ จะใช้เกรด ม.4-ม.6 เป็นหลัก

สำหรับคนที่เรียนโรงเรียนนานาชาติและไฮสคูลอเมริกัน คุณมีสิทธิ์เลือกคลาสที่คุณจะเรียนได้ ดังนั้นคุณควรจะเลือกตัวที่ยากที่สุด และทำเกรดให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ถ้าโรงเรียนคุณมีสอนระดับ AP คุณควรจะลงเรียนตัวเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด เพราะมันแสดงถึงความทะเยอทะยานและความเก่งของคุณเองถ้าคุณทำเกรดออกมาได้ดี

AP Exam By Jtk13 – Own work, CC BY-SA 4.0,

อย่างไรก็ดี คุณไม่ควรจะเลือกคลาสที่ยากเกินไป จนทำให้เกรดของคุณไม่ดี เช่นคุณลงคลาส AP Calculus BC ซึ่งจัดว่าเป็นตัวยาก แต่กลับได้ C ออกมา แบบนี้ผมบอกเลยว่าไม่คุ้ม

หรือพูดง่ายๆ

ได้ A ในคลาส AP Calculus AB ดูดีกว่าได้ C ใน AP Calculus BC

เกรดของคุณส่วนใหญ่ควรจะได้ A ทั้งหมด โดยเฉพาะถ้าคุณจะสมัครมหาวิทยาลัย Ivy League และมหาวิทยาลัยชั้นนำอื่นๆ อย่างไรก็ดีการได้ B หรือ B+ มา 2-3 ตัวไม่ได้ทำให้โลกของคุณพังทลายแต่อย่างใด

สำหรับนักเรียนที่จบจากโรงเรียนไทยที่เลือกวิชาไม่ได้ แน่นอนว่าคุณควรทำเกรดของคุณให้ใกล้ 4.00 มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะถ้าหวังมหาวิทยาลัยชั้นนำครับ

2. ทำกิจกรรมต่างๆ

การทำกิจกรรมนอกห้องเรียน (extracurricular activities) เป็นปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการพิจารณาผู้สมัครแต่ละคน ดังนั้นคุณควรจะทำกิจกรรมเหล่านี้ไปด้วยเพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้กับโปรไฟล์ของคุณเอง

กิจกรรมเหล่านี้มีหลายรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น

  • กีฬาทุกรูปแบบ
  • กิจกรรมเพื่อสังคม (community service)
  • กิจกรรมที่แสดงความเป็นผู้นำ เช่น เป็นประธานชมรมเป็นต้น
  • กิจกรรมที่แสดงถึงความคิดริเริ่ม เช่น เปิดธุรกิจเล็กๆ ตามไอเดียของตัวเอง
  • การแข่งขันทางวิชาการ โดยเฉพาะโอลิมปิกวิชาการ (มหาวิทยาลัยที่อเมริกาอย่าง MIT ชอบเด็กโอลิมปิกมาก)
  • กิจกรรมอะไรก็ได้ที่คุณคิดว่า คณะกรรมการมหาวิทยาลัยจะรู้สึกสนใจ

หลายคนอาจจะสงสัยว่ากิจกรรมกับเกรด ปัจจัยไหนมีความสำคัญกว่ากัน ผมมองว่าสำคัญมากทั้งคู่ ดังนั้นคุณไม่ควรให้ความสำคัญกับอย่างใดอย่างหนึ่งจนทำให้อีกอย่างหนึ่งดูแย่ เช่น ซ้อมเตะบอลจนเกรดตกต่ำ หรือ อ่านหนังสืออย่างเดียวไม่ทำกิจกรรมเลย

สำหรับคนที่เล่นกีฬาไม่เก่ง และการเรียนก็ไม่ได้เก่งขนาดจะไปแข่งโอลิมปิกวิชาการได้ ผมแนะนำทำกิจกรรมเพื่อสังคมให้เยอะๆ และถ้ามีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมของโรงเรียนก็โปรดสมัครตำแหน่งสำคัญๆ อย่างเช่น ประธาน เลขาธิการ หรือ หัวหน้าฝ่ายการเงินอะไรก็ว่าไปครับ

นอกจากนี้ถ้ามีโอกาสร่วมกิจกรรมใหญ่ๆ ขององค์กรสำคัญๆ อย่าลืมหาโอกาสไปร่วมด้วยครับ

3. สรรหามหาวิทยาลัยที่เหมาะสม

ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีมหาวิทยาลัยจำนวนมหาศาล ดังนั้นคุณควรจะทำ research ว่ามหาวิทยาลัยไหนเหมาะที่สุดสำหรับคุณ

ปัจจัยหลักที่คุณควรจะพิจารณาทุกครั้ง เมื่อทำ college research คือ

  • อันดับมหาวิทยาลัยเป็นอย่างไร
  • คะแนนสอบ, ค่าเฉลี่ยเกรดของผู้ที่รับการตอบรับเข้าเรียน
  • มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ในเมืองหรือชนบท
  • รูปแบบการเรียนเป็นแบบใด? (เช่นเป็น Liberal arts หรือไม่)
  • สาขาที่คุณคิดจะ major ดีหรือไม่ดี
  • คอร์สเรียนที่คุณจะต้องเผชิญมีอะไรบ้าง
  • บรรยากาศและบริเวณโดยรอบมหาวิทยาลัยเป็นอย่างไร
  • ค่าเรียนต่อเทอมเท่าไร และมีทุนการศึกษาหรือไม่

นอกจากนี้หลายคนยังมีปัจจัยส่วนตัวอื่นๆ อีก อย่าลืมโน้ตเอาไว้และนำมาพิจารณาด้วยครับ

ส่วนวิธีที่ทำ research มีดังต่อไปนี้

  • ใช้เว็บไซต์ collegeboard หรือ USNews
  • ไปงาน College Fair
  • เปิดคู่มือรวมข้อมูลมหาวิทยาลัยระดับ ป. ตรี อาทิเช่น The Complete Book of Colleges ของ Princeton Review เป็นต้น

เมื่อทำ research เสร็จแล้ว คุณจะได้รายชื่อมหาวิทยาลัยมาจำนวนหนึ่งเพื่อใช้สมัคร มหาวิทยาลัยเหล่านี้ไม่ควรจะเป็นมหาวิทยาลัยระดับท็อปอย่าง Harvard, Princeton, MIT, Columbia, Stanford ทั้งหมด แต่คุณควรจัดกลุ่มมหาวิทยาลัยที่เลือกมาได้เป็น 3 ระดับ และผสมระดับทั้ง 3 เข้าอยู่ในรายชื่อมหาวิทยาลัยที่จะสมัครของคุณ

ระดับทั้ง 3 ได้แก่

  • ระดับ reach: มหาวิทยาลัยเหล่านี้เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ หรือเป็นมหาวิทยาลัยที่คุณอยากเข้ามากที่สุด เปอร์เซ็นต์การรับของมหาวิทยาลัยเหล่านี้จะต่ำ เพราะมีการแข่งขันสูง
  • ระดับ safety: มหาวิทยาลัยที่คุณมีโอกาสติดสูง เพราะรับง่าย
  • ระดับ match: อยู่ตรงกลางระหว่าง reach กับ safety ส่วนมากจะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นดีที่การแข่งขันต่ำกว่ามหาวิทยาลัยระดับ reach

สาเหตุที่คุณควรจะเลือกมหาวิทยาลัยแบบนี้ เพราะไม่มีอะไรรับประกันได้ว่า มหาวิทยาลัยระดับ reach จะตอบรับคุณเข้าเรียน ดังนั้นคุณต้องยื่นมหาวิทยาลัยระดับรองลงมาด้วยเพื่อที่จะเป็นการสร้างความมั่นใจว่าจะมีที่เรียนแน่นอน

อย่างไรก็ดี สำหรับบางคน (และตัวผมเองด้วย) ค่อนข้างพึงพอใจกับมหาวิทยาลัยระดับ safety บางแห่งมากอยู่แล้ว ทำให้ผมตัดสินใจไม่สมัครมหาวิทยาลัยระดับ match เลย และสมัครเฉพาะ safety และ reach เท่านั้น

ประเด็นที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ควรทราบคือ ไม่ใช่ว่าระดับมหาวิทยาลัยของทุกคนจะเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัย A อาจจะเป็น reach ของนาย ก แต่อาจจะเป็น safety ของนาย ข ก็ได้

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

สาเหตุคือ โปรไฟล์ เกรด และคะแนนสอบ SAT ของนาย ข อาจจะเหนือนาย ก มาก ทำให้วัดจากคุณสมบัติแล้ว มหาวิทยาลัย A น่าจะตอบรับนาย ข อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม คุณควรทราบไว้ด้วยว่า คุณอาจจะไม่ติดมหาวิทยาลัยที่คุณคิดว่าเป็น safety ได้เช่นกัน มันมีโอกาสจะเกิดขึ้นได้จริงๆ แม้ว่า profile ของคุณจะดีมากก็ตาม ผมเคยเห็นตัวอย่างนี้เกิดขึ้นแล้วจากเพื่อนผมบางคน

จำนวนมหาวิทยาลัยที่คนทั่วไปสมัครจะอยู่ที่ 8-12 ที่ แต่ถ้าคุณจะสมัครมากกว่านั้นก็ได้ครับ

4. เตรียมสอบ SAT, TOEFL

สำหรับนักเรียนไทยแล้ว การจะสมัครมหาวิทยาลัยที่อเมริกาในระดับปริญญาตรีมักจะต้องส่งคะแนนสอบ 2 อย่างได้แก่

  • SAT หรือ ACT
  • TOEFL หรือ IELTS

SAT และ ACT เป็นการสอบกลางที่แม้แต่นักเรียนอเมริกันเองก็ต้องสอบ ส่วน TOEFL หรือ IELTS เป็นการสอบวัดทักษะภาษาอังกฤษ

อย่างไรก็ดีในช่วงหลังมีมหาวิทยาลัยจำนวนมากขึ้นที่อนุญาตให้ผู้สมัครไม่จำเป็นต้องส่งคะแนนเหล่านี้ให้กับมหาวิทยาลัยก็ได้ ในส่วนนี้ผมมองว่าถ้าคุณทำคะแนนได้ดี คุณควรจะส่ง แต่ถ้าทำคะแนนได้แย่มาก คุณอาจจะพิจารณาไม่ส่ง เพราะเป็นการชี้จุดอ่อนของคุณให้คณะกรรมการเห็นเปล่าๆ

แล้วคะแนนระดับไหนเรียกว่าดี?

สำหรับคะแนน SAT/ACT คะแนนที่ดีสำหรับมหาวิทยาลัยอเมริกันระดับท็อปควรจะอยู่ในระดับต่อไปนี้ (มหาวิทยาลัยอื่นๆ จะต่ำลงมาตามลำดับ)

  • SAT Reading and Writing: มากกว่า 700 ขึ้นไป
  • SAT Math: มากกว่า 700 ขึ้นไป (สำหรับเด็กไทยอาจจะควรมากกว่า 750 ขึ้นไป)
  • SAT Subject Tests: มากกว่า 750 ขึ้นไป
  • ACT: มากกว่า 33 ขึ้นไป

อย่างไรก็ดี คะแนน SAT/ACT ที่ต่ำกว่านี้เล็กน้อยไม่ได้ตัดสิทธิ์คุณในการสมัครมหาวิทยาลัยดังๆ แต่อย่างใด เพราะฉะนั้นอย่ากังวลมากเกินไป ถ้าคุณได้คะแนน Reading and Writing 660 หรือ 680 คะแนน

ถ้าคุณสอบคะแนน SAT/ACT ไม่ดี โปรดหาคอร์สเรียน SAT ดีๆ แล้วสอบใหม่จนกว่าจะดี จนกระทั่งสอบไม่ได้แล้วนั่นแหละครับถึงจะเลิก

สำหรับคะแนน TOEFL หรือ IELTS แล้วนั้น มหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งจะตั้งข้อบังคับเอาไว้ว่าต้องการให้ผู้สมัครได้คะแนนอย่างน้อยเท่าไร ซึ่ง TOEFL จะอยู่ที่อย่างน้อย 100 คะแนน

ดังนั้นถ้าคุณได้คะแนน TOEFL ต่ำกว่า 100 คะแนน (โดยเฉพาะในกรณีที่น้อยกว่ามากๆ) คุณยังมีสิทธิ์ที่จะสมัครมหาวิทยาลัยดังกล่าวอยู่ แต่ต้องทำใจไว้เลยว่ามีโอกาสสูงมากที่คุณจะถูก reject

หลังจากที่คุณสอบเสร็จแล้ว คุณจะต้องส่งคะแนนทั้งหมดผ่านเว็บให้กับมหาวิทยาลัยด้วยนะครับ ไม่ว่าสอบเสร็จแล้วปล่อยเลยตามเลย คะแนนมันไปถึงมหาวิทยาลัยเองไม่ได้นะครับ

5. ขอ Recommendation

ในการสมัครมหาวิทยาลัยทุกแห่งในสหรัฐอเมริกา คุณต้องเตรียม Recommendation 2 ฉบับ วิธีการได้มาซึ่ง Recommendation นั้นไม่ยากเลย นั่นคือ

  1. เลือกครูที่สอนคุณในวิชาที่คุณทำได้ดี สนิทสนมกับคุณ และคุณคิดว่าเขาน่าจะเขียน recommendation ดีๆ ให้กับคุณได้ วิชาที่คุณควรจะขอควรจะเป็นวิชาหลักอย่างเช่น English, Math หรืออะไรก็ได้ที่ตรงกับ major ที่คุณวางแผนจะเรียนในมหาวิทยาลัย
  2. บอกครูว่า คุณกำลังจะสมัครมหาวิทยาลัยในปีนี้ และคุณขอให้เขาเป็นผู้เขียน recommendation ให้
  3. ครูจะส่ง recommendation ไปให้ทางมหาวิทยาลัยเอง โดยที่คุณไม่ต้องทำอะไรต่อแล้ว และคุณจะไม่มีโอกาสเห็น recommendation ด้วย

โปรดระวัง! หลังจากที่คุณส่งใบสมัครไปแล้ว (ตามข้อ 6) คุณต้องตรวจสอบในระบบของมหาวิทยาลัยด้วยทุกครั้งว่าเอกสารจากครูของคุณมาถึงครบถ้วนแล้วหรือยัง

ครูบางคนอาจจะลืมส่งเอกสาร หรือมีความผิดพลาดระหว่างการส่ง ทำให้มหาวิทยาลัยยังไม่ได้รับ recommendation ของคุณ ผมเกือบจะไม่ติดมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเพราะสาเหตุนี้แล้ว เพราะฉะนั้นตรวจสอบให้ดีครับ

6. เขียน college essay และส่ง application ทั้งหมด

สำหรับการกรอกใบสมัครมหาวิทยาลัยอเมริกันหลายแห่งจะทำผ่านเว็บไซต์ common app ซึ่งจะทำให้คุณสมัครมหาวิทยาลัยหลายแห่งในได้คราวเดียว โดยไม่ต้องสร้าง account ที่หลายเว็บไซต์

หน้าสมัครมหาวิทยาลัยของ Common app By ShreyasMinocha – Own work, CC BY-SA 4.0,

อย่างไรก็ตามหลายมหาวิทยาลัยไม่ได้ใช้ common app ดังนั้นคุณต้องตรวจสอบให้ดีจากเว็บมหาวิทยาลัยว่าการสมัครทำอย่างไรครับ

ขั้นตอนแรกคือ คุณจะต้องกรอกประวัติของคุณลงไปตามจริง ซึ่งส่วนนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน

ส่วนที่ซับซ้อนคือ ขั้นตอนที่ 2 หรือสิ่งที่เรียกว่า college essay ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งในการคัดเลือกผู้สมัครเข้ามหาวิทยาลัย

ในขั้นตอนนี้คุณจะต้องเขียน essay ตามที่มหาวิทยาลัยจัดมาให้ บางมหาวิทยาลัยให้เขียนเยอะมาก ส่วนบางที่แทบจะไม่ให้เขียนอะไรเลย

เคล็ดลับในการเขียน essay มีดังต่อไปนี้

  • ถ้าเขียนได้แย่มาก ผมแนะนำให้ลงเรียนคอร์สเรียนเขียนภาษาอังกฤษออนไลน์ก่อน
  • เขียนตอบให้ตรงคำถาม
  • เน้นที่ตัวเรา เพราะคณะกรรมการต้องการรู้ความเป็นตัวเรา
  • ใช้คำที่สั้น ชัดเจน อ่านง่ายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
  • ไม่สั้นหรือยาวจนเกินไป เขียนให้อยู่ในกรอบที่โจทย์ให้มา
  • ศึกษาปรัชญาของมหาวิทยาลัยให้ดี และพยายามเขียนโดยอย่าให้ขัดกับปรัชญามหาวิทยาลัย
  • ตรวจสอบ grammar ด้วย Grammarly หรือ Hemingway editor ก่อนส่งด้วย

สำหรับคนที่ไม่ไหวจริงๆ คุณสามารถใช้บริการของสถาบันที่ปรึกษาได้ สถาบันเหล่านี้จะช่วยเหลือคุณในการสมัครทุกรูปแบบในการสมัครมหาวิทยาลัยที่อเมริกาเลยครับ แต่ข้อเสียก็คือราคาสูงถึงสูงมาก (250,000-1,000,000 บาท หรือมากกว่า)

ทั้งนี้ช่วงเวลาในการสมัครจะมีอยู่ 2 ช่วงได้แก่รอบ Early และ Regular

รอบ Early จะมี deadline อยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน แม้ว่าคุณจะต้องเตรียมตัวเร็วมาก แต่คุณจะมีโอกาสติดมากกว่ารอบ Regular มาก เพราะฉะนั้นคุณควรจะสมัครรอบ Early อย่างแน่นอนครับ สำหรับมหาวิทยาลัยที่เป็น reach และเป็นมหาวิทยาลัยในฝันที่คุณอยากเข้าจริงๆ ผมแนะนำให้สมัครช่วงนี้ไปเลยครับ

รอบ Regular จะมี deadline อยู่ที่ปลายเดือนธันวาคม หรือ 1 มกราคมของปีใหม่ รอบนี้จะเป็นรอบหลัก และรอบสุดท้าย

หลังจากส่งใบสมัครไปแล้ว คุณควรตรวจสอบเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยอยู่เป็นระยะๆ ว่าได้รับเอกสารทั้งหมดแล้วหรือยัง ถ้าได้ครบทั้งหมดแล้วก็ถือว่าทุกอย่างเสร็จสิ้นแล้วครับ

ยกเว้นแต่ว่าคุณจะได้รับการขอสัมภาษณ์

7. สัมภาษณ์

การสัมภาษณ์ (Interview) จะเป็นการที่มหาวิทยาลัยที่คุณสมัครให้ศิษย์เก่าไปสัมภาษณ์ผู้สมัครแต่ละคน ตัวผมเคยเป็นทั้งผู้สัมภาษณ์และผู้เคยถูกสัมภาษณ์มาแล้วจึงขอเล่าประสบการณ์ดังนี้

ผู้สมัครแต่ละคนจะมีโอกาสได้รับการขอสัมภาษณ์จากศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยที่สมัคร ซึ่งศิษย์เก่าสามารถเลือกได้ว่าจะสัมภาษณ์ใครจากประวัติของผู้สมัครที่ปรากฏอยู่ในเว็บ

ถ้าคุณถูกเลือก อีเมล์จากมหาวิทยาลัยจะถูกส่งตรงไปหาคุณ คุณควรจะตอบรับการสัมภาษณ์ทุกครั้งถ้าไม่มีสาเหตุที่สำคัญจริงๆ การปฏิเสธการสัมภาษณ์อาจทำให้ดูเหมือนว่าคุณไม่สนใจมหาวิทยาลัยนั้นแล้วก็เป็นได้

ก่อนที่คุณจะไปสัมภาษณ์ คุณควรจะใช้เวลาประมาณ 2-3 วันในการซ้อม พยายามซ้อมกับผู้อื่นหรือกับกระจกก็ได้ คุณจะได้เห็นว่าตัวเองพูดเป็นอย่างไร นอกจากนี้โปรดอย่าพยายามท่อง เพราะผู้สัมภาษณ์จะดูออกในบัดดล

ระหว่างการสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ คุณควรปฏิบัติตามนี้

  • พูดช้าๆ ชัดๆ ไม่ต้องเร็ว ใช้ความสุภาพมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
  • คิดก่อนพูดให้ดี พยายามหลีกเลี่ยงประเด็นที่ไม่ควรกล่าวถึง
  • พูดให้ตัวเองดูดี แต่อย่าอวยตัวเองมากเกินไปจนทำให้ผู้สัมภาษณ์รู้สึกรำคาญ (ผมเคยไปสัมภาษณ์แล้ว รำคาญผู้สมัครบางคนจริงๆ)
  • ตอบคำถามด้วยความสัตย์จริง แต่ถ้ามันจะทำให้คุณดูแย่ คุณควรพูดให้ตัวเองดูแย่น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
  • ไม่ควรอวดรู้ เพราะผู้สัมภาษณ์อาจจะรู้มากกว่าคุณ และทำให้คุณหน้าแตกได้ และเขาจะทราบว่าคุณรู้ไม่จริงด้วย

หลังจากการสัมภาษณ์ คุณควรส่งอีเมล์ไปขอบคุณผู้สัมภาษณ์ทันทีตามธรรมเนียม

สำหรับผู้สัมภาษณ์แล้ว เขาจะต้องเขียนรีวิวตัวคุณให้คณะกรรมการได้อ่าน นอกจากนี้ภายในรีวิวจะมีถามว่า คุณเหมาะสมหรือไม่กับมหาวิทยาลัยแห่งนั้น แน่นอนว่าถ้าเขาแนะนำว่าคุณเหมาะสม คุณยิ่งมีโอกาสที่จะติดมหาวิทยาลัยดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ด้วยความที่มีศิษย์เก่าน้อยกว่าจำนวนผู้สมัครทำให้ผู้สมัครส่วนใหญ่จะไม่ถูกเรียกไปสัมภาษณ์ ถ้าคุณถูกเรียกไปสัมภาษณ์ นั่นอาจจะเพราะคุณมีอะไรบางอย่างที่ดึงดูดผู้สัมภาษณ์ให้เลือกคุณก็ได้ครับ (ผมเคยเลือกผู้สมัครคนหนึ่ง เพราะเขาเขียนว่าสนใจจะเรียนสาขาประวัติศาสตร์)

แต่ถ้าคุณไม่ถูกเรียกไปสัมภาษณ์ หรือ สัมภาษณ์ได้แย่ นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่มีทางติดมหาวิทยาลัยดังกล่าว สมัยตอนที่ผมเป็นผู้สมัคร ผมเคยสัมภาษณ์กับมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งได้แย่มาก แต่สุดท้ายก็ติดมหาวิทยาลัยนั้นอยู่ดี

8. ประกาศผล

การประกาศผลรอบ Early จะประกาศในช่วงเดือนธันวาคม ส่วนรอบ Regular จะประกาศในช่วงปลายเดือนมีนาคม และไม่เกินวันที่ 1 เมษายน

การประกาศส่วนมากจะเป็นแบบออนไลน์ คุณสามารถเข้าไปดูผลในเว็บของมหาวิทยาลัยได้ หรือไม่ก็ดูในอีเใ

ประกาศผลจะมีสามแบบได้แก่

  • Accepted (คุณติด)
  • Wait-listed (คุณเป็นตัวสำรอง)
  • Rejected (คุณไม่ติด)

ถ้า Accepted ส่วนใหญ่แล้วคำแรกในจดหมายจะเป็นคำว่า “Congratulations!” แต่ถ้าเป็นคำอื่น นั่นแปลว่าคุณโดน rejected หรือไม่ก็ wait-listed

สำหรับ Rejected นั่นไม่มีปัญหาอะไร ปัญหาอยู่ที่ Wait-listed

ถ้าคุณได้ Wait-listed ขึ้นมาจริงๆ คุณต้องแจ้งเจตจำนงกับมหาวิทยาลัยไปว่าคุณต้องการจะอยู่ในรายชื่อตัวสำรองต่อไป แต่ผมขอแนะนำเลยว่า โอกาสถูกเรียกจาก wait-listed มีน้อยมาก บางมหาวิทยาลัยไม่เรียกเลยสักคนเดียว

ดังนั้นถ้าได้ wait-listed ผมขอให้คุณมองว่ามันเหมือนกับโดน rejected ไปแล้ว และสนใจกับมหาวิทยาลัยที่ตอบรับคุณเข้าเรียนดีกว่า

หลังจากขั้นตอนประกาศผลเสร็จสิ้นไปแล้ว คุณก็ต้องเลือกมหาวิทยาลัยที่คุณติดมา 1 ที่ และตอบรับการเข้าเรียน เพียงเท่านี้คุณก็จะได้เรียนปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยที่อเมริกาสมใจแล้วครับ

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!