โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเป็นโรงเรียนที่หลายคนใฝ่ฝัน แต่ผมเชื่อว่าน่าจะมีน้องๆ จำนวนมากยังไม่ทราบว่าชีวิตการเรียนในโรงเรียนแห่งนี้เป็นอย่างไร
ในฐานะอดีตนักเรียนคนหนึ่งที่จบการศึกษาไปเมื่อสิบกว่าปีก่อน ผมจึงอยากจะเล่าประสบการณ์ของผมเป็นตัวหนังสือให้ทุกคนได้อ่าน
ก่อนที่จะเล่าต่อไป ผมขออธิบายก่อนว่า โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเป็นโรงเรียนที่ใหญ่มาก ดังนั้นนักเรียนแต่ละคนจะมีประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะถ้าอยู่กันคนละสาย สายวิทย์ย่อมมีประสบการณ์ที่ต่างจากสายศิลป์เป็นปกติ
ไม่เพียงเท่านั้นสายวิทย์ที่ต่างห้องยังมีประสบการณ์ที่ต่างกันด้วย เพราะวิชาเลือกไม่เหมือนกัน ครูคนละคน เพราะฉะนั้นนักเรียนแต่ละคนมีโอกาสสูงมากที่จะเจออะไรที่ต่างกัน
นอกจากนี้ ผมยังต้องขอออกตัวว่า ผมไม่ใช่เด็กกิจกรรมเลยสักนิดเดียว แต่จะบอกว่าจะผมเป็นเด็กเรียนแบบเนิร์ดสุดๆ ก็ไม่ใช่อีกเหมือนกัน เอาเป็นว่าผมอยากเอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่ทั้งเรียนและกิจกรรม จะว่าเป็นเด็กจับฉ่ายไม่เอาทั้งเรียนและกิจกรรมก็ว่าได้ 55
สุดท้ายเรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นมากกว่า 10 ปีแล้ว ทำให้มีโอกาสที่การเรียนในโรงเรียนอาจจะไม่เหมือนสมัยนั้นอีกแล้ว เพราะฉะนั้นโปรดอ่านเรื่องนี้เพื่อความบันเทิง อย่าเอาจริงเอาจังอะไรกับมันมาก
เอาละเรามาเริ่มกันดีกว่า
แรกเริ่มเข้าสู่ห้องเรียน
หลังจากที่สอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมติดในสายวิทย์-คณิต ผมก็ได้เข้าเรียนในสายวิทย์-คณิต คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นสายที่เลือกไว้สมใจ (ปัจจุบันอาจจะไม่มีเลือกแบบนี้แล้ว)
ผมได้เรียนในห้อง 8XX (ขอเซ็นเซอร์เบอร์ จริงๆเป็นเลข 3 หลัก) หลังจากรายงานตัวและทำกิจกรรมเล็กๆ น้อยเสร็จ ผมก็รับตารางสอน และได้ทราบว่าแต่ละวันผมต้องเผชิญกับอะไรบ้าง
ตารางสอนของสายวิทย์ค่อนข้างเข้มข้น นั่นคือเรียนวันละ 8 คาบ ซึ่งจะกินเวลาตั้งแต่ 8.00-15.50 น. จริงๆ ก็ไม่ต่างกับโรงเรียนทั่วไปที่เรียนวันละ 8 ชั่วโมง
ตอนที่รับตารางสอน ผมจำได้ว่ารู้สึกเกร็งๆ ผมเกร็งเพราะรู้ว่าตัวเองไม่ใช่คนเก่งอะไร ตอน ม.2 ก็เพิ่งจะสอบได้ที่โหล่มา ทำให้ผมเกิดความรู้สึกว่า “จะเรียนรอดมั้ยวะ” เพราะโรงเรียนนี้มีชื่อเสียงในเรื่องเด็กนักเรียนที่เก่งเรียนแบบสุดๆ คนที่สอบติดมาได้นี่เป็นช้างเผือกของแต่ละโรงเรียนก็ว่าได้
ในใจก็เริ่มรู้สึกว่าไม่อยากจะเปิดเทอมเลย แต่อีกแง่ผมคิดว่าอะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด การได้ที่โหล่อีกสักทีอาจจะเกิดขึ้นได้
วันที่ 15 พฤษภาคม โรงเรียนเปิดการศึกษา ผมตื่นตั้งแต่เช้าเพื่อไปโรงเรียน วิธีการไปโรงเรียนของผมคือ ลงสถานีรถไฟฟ้าสยาม และเดินไปโรงเรียน ซึ่งระยะทางน่าจะประมาณเกือบ 1 กิโลเมตร
ระยะทางขนาดนี้ทำให้หลายคนเลือกที่จะนั่งรถ นั่งวิน แต่ผมเดิน เพราะเสียดายตัง 55
วันแรกก็ไม่มีอะไรมาก ผมโชคดีที่เพื่อนโรงเรียนเก่าได้อยู่ห้องเดียวกัน วันแรกผมก็นั่งข้างมันเนี่ยแหละ และเริ่มทำความรู้จักเพื่อนๆ คนอื่นๆไปเรื่อย คำถามวันแรกไม่มีอะไรมากกว่า “มาจากโรงเรียนอะไร”
เด็กจากบางโรงเรียนเหมือนจะเป็นกลุ่มมหาอำนาจในโรงเรียนอยู่แล้ว เพราะเด็กสอบติดเตรียมได้เยอะมาก ทำให้เค้ารู้จักกันอยู่แล้ว แถมบางคนเป็นเด็กเก่ง เคยเข้าค่าย แข่งโน่นแข่งนี่มาก่อน พวกเค้าก็เลยรู้จักกันอีก ส่วนผมนี่ไม่เคยเลย การทำความรู้จักเพื่อนจึงใช้เวลาพอสมควร
เอาละ เราจะพักเรื่องเพื่อนไว้ก่อน เรามาดูเรื่องเรียนกันดีกว่า
การเรียนในโรงเรียน
การเรียนในโรงเรียนในชั้น ม.4 ของที่นี่ไม่ต่างจากการเรียนในโรงเรียนทั่วไปเท่าไรนัก อาจารย์บรรยายหน้าชั้นเรียนไป ส่วนนักเรียนก็จดๆๆๆ ตามแบบไทยสไตล์ นักเรียนไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับครูผู้สอน ผมจดมั่งไม่จดมั่ง นั่งเหม่อก็มีบ่อย
ส่วนวิชาวิทย์อย่างฟิสิกส์ เคมี ชีวะ มีเข้า lab บ้าง แต่ไม่ได้บ่อยเท่าไรนัก ตอนนั้นผมได้เข้า lab จริงๆ เทอมละไม่กี่ครั้งเอง
หลายคนอาจจะถามว่า ครูโรงเรียนนี้สอนต่างจากโรงเรียนอื่นอย่างไร?
ผมบอกได้เลยว่า ไม่ต่าง นั่นคือมีทั้งครูที่สอนดี และสอนไม่ดี
สอนดีก็คือ มีทักษะในการสอนอย่างเต็มเปี่ยม ทั้งคาบไม่หลับเลย และเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ ผมเข้าใจเนื้อหาดีมาก
ส่วนสอนไม่ดีก็คือ สอนไม่รู้เรื่อง เรียนแล้วง่วง นักเรียนไม่เข้าใจที่ครูพูดเลยสักนิดเดียว หรือที่แย่ที่สุดคือสอนผิด!
เราไม่สามารถเลือกครูได้ ดังนั้นขึ้นอยู่กับดวงล้วนๆ ว่าจะได้ครูที่สอนดีหรือไม่ดี ตอนที่อยู่ห้อง 8XX ผมถือว่าดวงเฮงพอสมควร นั่นคือครูส่วนใหญ่สอนดี
อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะได้ครูจะสอนดี แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า คุณจะเข้าใจเนื้อหาได้ง่ายๆ เพราะกิจกรรมหลายอย่างของโรงเรียนกินเวลาเรียนไปหลายคาบ ทำให้ครูสอนไม่ทัน ครูเลยต้องเร่งสอนเนื้อหาในเวลาที่เหลือน้อย ทำให้บางเรื่องถูกพูดสรุปอย่างเร็ว เร็วเกินไปที่เด็กนักเรียนจะเข้าใจ
นักเรียนส่วนใหญ่ในโรงเรียนนี้ไม่ได้ฝากชีวิตการเรียนไว้ที่โรงเรียนแต่เพียงแห่งเดียวอยู่แล้ว เพราะแทบทุกคนเรียนกวดวิชา
การกวดวิชาเป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อชีวิตเด็กโรงเรียนนี้แต่ละคน และควรค่าแก่การกล่าวถึงเป็นอย่างยิ่ง
การเรียนกวดวิชา
ม.4 เทอม 1 เป็นช่วงที่ผมสัมผัสได้ว่า ผมตามหลังเพื่อนเรื่องการเรียนมากเพียงไร
อย่างแรกเลย ผมไม่รู้ว่าควรจะเรียนกวดวิชาอย่างไร เพื่อนหลายคนเรียนเนื้อหา ม.ปลายไปแล้วหลายปี เรียกได้ว่าถ้ามีสอบเทียบเหมือนสมัยก่อน มันคงติดมหาลัยได้ตั้งแต่ ม.4
แต่ผมนี่ยังไม่ได้เรียนเลยสักวิชาเดียว พอรู้จากเพื่อนว่าควรเรียนอะไรบ้างเลยเพิ่งจะมาลงเรียน ปรากฏว่าโรงเรียนกวดวิชาเต็มยาวไปหมดแล้ว บางที่เหลือที่นั่งสุดท้ายพอดี ผมแทบจะต้องกราบพนักงานหน้าเคาน์เตอร์เลยตอนที่ได้เรียน
ถ้าถามผมตอนนี้ว่ากวดวิชาจำเป็นสำหรับการเรียนที่โรงเรียนให้ได้ดีหรือไม่ ผมพูดได้เต็มปากเลยว่า สำหรับตัวผมแล้วมัน “จำเป็น”
สาเหตุคือ ผมเรียนบางวิชาที่โรงเรียนไม่เข้าใจจริงๆ หรือบางทีก็เหม่อบ้างไม่ตั้งใจเรียนบ้าง ทำให้ต้องไปแก้ตัวในการเรียนกวดวิชา ซึ่งก็ไม่ได้ยากลำบากอะไร เพราะโรงเรียนกวดวิชาก็อยู่ที่สยามนี่เอง หลังจากนั้นผมจึงเรียนกวดวิชาทุกปี ตั้งแต่ ม.4 ถึง ม.6 แต่พยายามรักษาสมดุลไม่ให้เรียนมากเกินไป
อีกสาเหตุหนึ่งคือ ข้อสอบที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาไม่ธรรมดา
การสอบในโรงเรียน
พอเรียนไปได้เดือนเศษ แต่ละวิชาจะเริ่มจัดสอบเก็บคะแนนครั้งแรกหรือที่เรียกกันว่า “For1”
เมื่อการสอบ For1 มาถึง นี่แหละเป็นครั้งแรกที่จะทดสอบว่านักเรียนเรียนเป็นอย่างไร ซึ่งทุกคนในห้องเหมือนจะเตรียมตัวมาดีเป็นพิเศษ ทำให้แทบไม่มีใครพลาดเลย แต่ถ้ามีคนพลาดมาคนนึงจะรู้สึกว่าตัวเองได้พลาดใหญ่โต
ในการประกาศผลสอบ For1 อาจารย์ใช้วิธีประกาศคะแนนด้วยการขานเลขที่ ดังนั้นถ้าเราได้ยินว่าเพื่อนส่วนใหญ่ได้ 10/10 กันหมด แล้วเราได้ 9/10 เราย่อมรู้สึกแย่
โดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่ชอบวิธีการประกาศแบบนี้เลย มันสร้างความกดดันให้นักเรียนทุกคนว่าอย่าพลาดมานะ ถ้าพลาดขึ้นมาเตรียมตัวอายได้เลย
แต่ For1 เป็นเหมือนน้ำจิ้ม ถ้าเทียบกับการสอบกลางภาค หรือที่เรียกกันว่า “Summative” เด็กเตรียมจะเรียกกันว่า “สอบซัม”
สำหรับสายวิทย์แล้ว วิชาที่ต้องสอบกลางภาคมีดังต่อไปนี้
- คณิตศาสตร์ (เลขง่าย)
- คณิตศาสตร์เสริม (เลขยาก)
- ฟิสิกส์
- เคมี
- ชีวะ
- อังกฤษหลัก
- อังกฤษเสริม
- อ่านนอกเวลาภาษาอังกฤษ
- สุขศึกษา
- วิทยาศาสตร์พื้นฐาน
- สังคม
- ภาษาไทย
- พระพุทธศาสนา
รวมแล้วๆ สอบ 3 วัน เช้าจรดเย็น แต่ไม่ใช่สอบติดต่อกันทุกวัน ส่วนมากจะเป็นสอบวันเว้นวันหรือสองวัน ทำให้เทศกาลสอบกินเวลาประมาณเกือบ 2 สัปดาห์ (ศุกร์สอบไม่ได้ เพราะนักเรียนชายส่วนใหญ่เรียนรักษาดินแดน)
บรรยากาศในช่วงสอบนี่เป็นช่วงที่เรียกได้ว่าสุดยอดแห่งความตึง คือมันตึงเครียดไปหมดทุกอย่าง ทุกคนรู้สึกเครียดและกังวลอย่างเห็นได้ชัด ผมมองว่ามันเป็นผลสืบเนื่องมาจาก For1 ด้วยไม่มากก็น้อย ใครๆก็ไม่อยากให้คะแนนตัวเองเป็นหุบเหวเมื่ออาจารย์ขานคะแนน
วิชาที่ทุกคนกลัวกันเป็นพิเศษคือ คณิตศาสตร์เสริม ฟิสิกส์ เคมี และชีวะ ส่วนวิชาอื่นไม่ค่อยมีปัญหากันเท่าไร
ตอนแรกผมก็กลัวนะ แต่รู้สึกว่ากลัวไม่เท่าชาวบ้าน ที่ผมเป็นงั้น เพราะผมไม่เคยอยู่โรงเรียนรัฐบาลไง ผมอยู่โรงเรียนเอกชนมาตลอดชีวิตของผม ตอนนั้นเลยคิดว่าอ่านให้เต็มที่ก็น่าจะทำได้
พอเอาเข้าจริง เออ มันก็ยากจริงๆ อย่างที่เพื่อนเค้ากลัวกัน โจทย์เลขนี่หลายซับหลายซ้อนและต้องแสดงวิธีทำ บางข้อกว่าจะแก้ได้นี่ใช้เวลานานมาก แต่ผมชอบนะ ผมว่าข้อสอบออกมาได้ดี และผมคิดว่าตัวเองทำได้ในระดับหนึ่งด้วย
ส่วนฟิสิกส์ เคมี ชีวะ เป็นแสดงวิธีทำ เขียนตอบสั้นๆ และแบบช้อยผสมกัน สามวิชานี้มั่นใจน้อยกว่าเลข แต่คิดว่าไม่น่าจะแย่มาก ส่วนวิชาอย่างสังคม ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เป็นช้อยกับเขียนตอบ วิชาพวกนี้ผมมั่นใจมากกว่าเลข
สรุปแล้วออกมาเป็นไง?
ผลสอบ
ในช่วง summative ครูแต่ละคนจะใช้เวลาตรวจข้อสอบ 1-2 สัปดาห์ขึ้นไป ส่วนวิชาอย่างคณิตศาสตร์เสริมอาจจะใช้เวลาถึง 3 สัปดาห์ ช่วงนั้นเราก็เรียนรอกันไป และเริ่มทำงาน project ที่เรียกกันว่า “For2”
ผลออกมาคือ คณิตศาสตร์เสริม (เลขยาก) สังคม พระพุทธศาสนานี่ได้ตามเป้า แต่อย่างอื่นต่ำกว่าเป้าหมดเลย ทั้งๆที่คิดว่าทำได้พอสมควรเลยนะ อย่างภาษาไทยนี่เรียกได้ว่าตกใจเลย เพราะเพื่อนได้กันอย่างน้อย 26/30 ขึ้นไป ส่วนผมได้ 20/30 เช่นเดียวกับวิชาอย่างฟิสิกส์ เคมี ชีวะ
ผมไปเอาข้อสอบมาดู ผมก็ได้ทราบว่าทำไมผมถึงได้คะแนนแย่กว่าที่คิด
สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นคือ ตัวข้อสอบแบบเลือกตอบ (multiple choice) หรือที่เรียกกันว่าข้อสอบช้อยล้วนๆ
ช้อสอบของโรงเรียนนี้ถือว่ามีความพิสดาร เพราะชอบเล่นคำ เอาจุดยกเว้นมาออกข้อสอบบ้าง หรือพยายามทำให้ยากด้วยวิธีต่างๆ กัน
ยกตัวอย่างเช่นในวิชาเคมี ข้อสอบจะให้มา 4 ข้อความ และถามว่าข้อความต่อไปนี้ถูกกี่ข้อ สำหรับบางข้อจะผิดเพราะคำๆ เดียวเท่านั้น
สมัยนั้นผมก็ไม่คิดอะไรนะ แค่รู้สึกไม่ชอบข้อสอบประเภทนี้ แต่ปัจจุบันผมมองว่ามันไม่สร้างสรรค์ โดยเฉพาะหลังจากไปเรียนที่ต่างประเทศ และพบว่าข้อสอบลักษณะนี้ควรจะเป็นเขียนตอบแบบยาว ซึ่งจะยุติธรรมกับนักเรียนมากกว่า และวัดทักษะของนักเรียนได้ครบถ้วนมากกว่ามาก
แต่ผมเข้าใจว่า โรงเรียนมีนักเรียนมาก แต่กลับมีงบน้อย จะให้ทำอะไรเหมือนต่างประเทศย่อมเป็นไปไม่ได้
หลังจากผลการสอบกลางภาคออกมา หัวหน้าห้องตัวดีของห้องผมกลับเอาคะแนนสอบกลางภาคมารวมกัน เพื่อจัดลำดับจากที่ 1 ใน 44 ทั้งๆ ที่ไม่มีห้องไหนเค้าทำกัน เราทำกันอยู่ห้องเดียวนี่แหละ
สาเหตุที่ทำผมจำไม่ได้แล้วว่าทำไปเพื่ออะไร แต่ที่แน่ๆ ไม่มีใครอยากให้ทำเช่นนั้นเลยสักคนเดียว โดยเฉพาะคนที่ได้คะแนนไม่ดีเท่าไรอย่างผมเป็นต้น
หลังจากที่ทำออกมาปุ๊ป คนที่ได้คะแนนลำดับต้นๆ จะได้รับการยกย่องในห้องว่าเป็นคนเก่ง และเป็น stereotype ติดตัวคนนั้นไปตลอด เช่นเดียวกับคนที่คะแนนลำดับล่างๆ เช่นกันที่มักจะถูกมองว่าเรียนไม่เก่ง
แม้ว่าจริงๆ แล้ว มันจะเป็นการสอบแค่ครั้งเดียวเท่านั้นเอง แถมยังเป็นสอบกลางภาคด้วย
สำหรับผมแล้ว ผมได้ที่ 27 จาก 44 คน ซึ่งก็ถือว่าอยู่กลางๆ ค่อนไปทางท้าย ซึ่งถือว่าไม่ดีแต่ก็ไม่ได้แย่เกินไปจนน่าเกลียด
อย่างไรก็ตาม ผมก็ต้องขอบคุณหัวหน้าห้องที่จัดเรียงลำดับที่แบบนี้ขึ้นมา เพราะมันทำให้สถานการณ์การเรียนของผมชัดเจนขึ้นมากเลยทีเดียว มันส่งผลอย่างยิ่งยวดต่อสิ่งที่ผมกำลังจะทำต่อไป
ไฟนอลและการจัดห้องใหม่
การสอบไฟนอลมาถึงในช่วงเดือนกันยายน และเป็นการสอบที่จะลิขิตชะตาว่าแต่ละคนจะได้เกรดเท่าไรในเทอมแรก
อย่างไรก็ดี แต้มต่อของนักเรียนแต่ละคนไม่เท่ากัน เพราะการสอบซัมได้ลิขิตชะตาไปแล้วส่วนหนึ่ง เช่นผมสอบได้เลขยาก 33/40 คะแนน For1, For2, จิตพิสัยเต็ม ถ้าผิดไฟนอลน้อยกว่า 13 คะแนน ผมก็ยังได้เกรด 4 อยู่ดี
แต่ขณะที่เพื่อนผมได้ 26/40 นั่นเท่ากับว่า เขาสามารถผิดได้แค่ 6 คะแนนเท่านั้น ถ้าผิดมากกว่านี้เท่ากับว่าเกมโอเวอร์ ไม่ได้เกรด 4 อาจจะหล่นไปเป็น 3.5,3,2.5 หรืออะไรล่างลงไป
สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญของผมคือ ข้อสอบไฟนอลเป็นข้อสอบแบบช้อย ซึ่งเป็นแบบที่ผมไม่ชอบทั้งหมดทุกวิชา โดยเฉลี่ยแล้วข้อสอบไฟนอลจะยากกว่าข้อสอบซัมเสียอีก!
อย่างไรก็ดี ผมผ่านวิชาทั้งหมดได้อย่างสบายมือ ยกเว้นสองวิชาที่เมื่อผมออกจากห้องสอบแล้วหน้าเหลือแค่ 2 นิ้ว
นั่นคือ เคมีและชีววิทยา
เพราะผมรู้ว่าไม่รอดแน่ๆ ไม่ได้เกรด 4 อย่างแน่นอน คะแนนที่ไม่ค่อยดีตอนซัม ทำให้ผมผิดได้น้อยเกินไป แล้วข้อสอบยากมาก ที่อ่านมาแทบจะไม่ตรงเลยก็ว่าได้ แถมเจอข้อสอบแบบ multiple choice เข้าไปอีก
กลายเป็นโดนสามเด้ง!
แต่ผมก็หวังลึกๆ ว่าทั้งสองวิชานี้ ผมจะเข้าป้ายที่ 80/100 ซึ่งจะทำให้ผมได้เกรด 4 แบบพอดีเป๊ะ
สำหรับการสอบไฟนอล โรงเรียนจะประกาศผลเร็วมาก ไม่เกินสิบวัน ผลสอบทั้งหมดก็ออกมาแล้ว และประมวลเป็นเกรดเสร็จสรรพ
ผลที่ออกมาคือ ผมได้เกรด 3.91! โดยได้ 4 รวดทุกวิชา 2 วิชาที่ไม่ได้เกรด 4 คือ เคมีและชีวะ เพราะได้คะแนน 79/100 หรือพูดง่ายๆ ขาดไป 1 คะแนนทั้ง 2 วิชา!
อยากจะจอดตรงเป๊ะที่ป้าย แต่กลับจอดก่อนหน้าป้ายซะงั้นทั้งสองวิชา!
เกรด 3.91 ในเทอมแรกทำให้ผมอยู่ในลำดับที่กลางๆ ของห้อง เพราะในห้องมีคนได้เกรด 4.00 มากถึง 16 คนจากทั้งหมด 44 คน ผมจึงเห็นศักยภาพของเพื่อนในห้องเป็นอย่างดีว่าพวกเขาเก่งกาจเพียงใด หลังจากนั้นผมก็ตั้งมั่นว่าเทอม 2 จะต้องได้ 4.00 ให้ได้
ในเทอม 2 สิ่งที่สำคัญและควรค่าต่อการพูดถึงคือ เรื่องกีฬาสี และเรื่องการจัดห้องใหม่ เรื่องกีฬาสีผมขอไม่กล่าวถึงเพราะไม่ใช่เรื่องเรียน
การจัดห้องใหม่นี้ไม่ได้ทำขึ้นในเทอม 2 แต่จะทำขึ้นในชั้น ม.5 ซึ่งเป็นระบบของโรงเรียนอยู่แล้วที่จะมีการคละนักเรียนในชั้นทุกปี แต่จะไม่ได้คละกันแบบสุ่ม การคละจะอิงเกรด หรือพูดง่ายๆ คือมีห้องคิงกับห้องบ๊วยนั่นแหละ
เกรดที่ใช้ก็จะเป็นเกรด ม.4 ทั้งเทอม 1 และเทอม 2 มาหาค่าเฉลี่ย ตามสถิติแล้ว คนที่ได้อยู่ห้องคิงจะได้เกรด 3.95 ขึ้นไป
ดังนั้นคนที่ได้เกรดเฉลี่ยเทอม 1 ไม่ดี (3.90 ลงไป) จึงหมดสิทธิ์อย่างสมบูรณ์ที่จะเข้าสู่ห้องคิง แต่สำหรับผมแล้วนั้น ในทางทฤษฎียังมีโอกาสอยู่ มันจะเกิดขึ้นได้กรณีเดียวคือ ผมได้ 4.00
ตอนนั้นผมก็อยากเข้าอยู่นะห้องคิง ผมเลยพยายามเต็มที่กว่าเดิม
ในเทอมนี้ จากที่คุยๆ กัน เพื่อนทุกคนในห้องมีผลการเรียนที่ต่ำลงกว่าเทอมแรกพอสมควร สาเหตุสำคัญน่าจะเป็นเพราะเหน็ดเหนื่อยจากงานกีฬาสี ส่วนบางคนหมดกำลังใจไปแล้วที่จะเอาห้องคิงเลยผ่อนคันเร่งลง สำหรับผมคงระดับเดิมไว้ได้ คะแนนของผมจึงดูดีขึ้นมานิดหน่อย
แต่ที่ต่างจากเทอมแรกคือ ผมไม่พลาดสองวิชานั้นอีก ผมเข้าป้ายอย่างเฉียดฉิวที่ 81 กับ 80 ทำให้ผมได้ 4.00 และได้อยู่ห้องคิงสมใจปรารถนา
อย่างไรก็ดี ช่วงนี้เป็นช่วงที่ผมตระหนักเรื่องสาขาที่จะเรียนต่อในอนาคตอย่างยิ่งยวด คะแนนที่ดูอ่อนเปลี้ยในวิชาสายวิทย์อย่างเคมีและชีววิทยาเป็นสิ่งจุดประกายให้ผมตัดสินใจครั้งสำคัญ
ทัศนคติเรื่องอาชีพ
สำหรับเรื่องอาชีพของนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมสายวิทย์ ส่วนใหญ่จะพุ่งเป้าไปที่อาชีพแพทย์ หรือ “หมอ” โดยเฉพาะในห้องคิงวิทย์คอมที่อาจเรียกได้ว่า 99% ต้องการเป็นหมอ
บางคนอยากจะเป็นหมอจริงๆ เพราะว่าเป็นอาชีพที่มั่นคงมาก มีฐานะทางสังคม และคนทั่วไปเชื่อว่ามีค่าตอบแทน “สูง” (ในฐานะที่พ่อของผมเป็นหมอ ผมทราบดีว่าค่าตอบแทนไม่ได้สูงขนาดนั้น)
ส่วนอีกจำนวนมากอยากเป็น “หมอ” เพราะว่ากระแสสังคมในโรงเรียนและเพื่อนพาไป
จำนวนของกลุ่มหลังนี้ ผมบอกได้เลยว่ามีไม่น้อย หลายคนมีความสามารถโดดเด่นหลายอย่างเช่น “คอมพิวเตอร์” และไม่ชอบชีววิทยาเลยสักนิดเดียว แต่กลับถูกกระแสสังคมพาไป ทำให้ไม่ได้เลือกอาชีพที่ได้ใช้พรสวรรค์ของตัวเอง
จะว่าไปก็น่าเสียดายอยู่ไม่น้อย
สำหรับตัวผมเอง ผมตัดอาชีพหมอตั้งแต่แรก เพราะไม่ชอบอยู่แล้ว เมื่อมาเรียนเคมีและชีววิทยาก็ยิ่งสัมผัสได้ว่าไม่ชอบวิชาทางนี้เลย ผมไม่อยากเรียนอะไรที่ฝืนตัวเอง เพราะฉะนั้นหมอจึงไม่ใช่หนึ่งในตัวเลือกของผม
ตัวเลือกที่ผมสนใจคือ นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และการเงิน (อยู่ในพาณิชยศาสตร์และการบัญชี) ซึ่งทั้งสามคณะนี้ไม่ใช้คะแนนฟิสิกส์ เคมี ชีวะเลย ผมจึงเริ่มตั้งข้อสงสัยกับตัวเองว่า แล้วเราจะเรียนวิทย์อยู่ทำไม
นอกจากนี้ทุนที่ผมใฝ่ฝันว่าจะได้เพื่อไปเรียนต่อต่างประเทศก็มีการสอบที่ไม่ใช้วิชาพวกนี้ด้วย มันก็ยิ่งทำให้ผมคิดได้ว่า ผมจะเรียนวิชาพวกนี้ต่อไปเพื่ออะไร เหนื่อยเปล่าๆ สิ้นเปลืองเวลาไปเพิ่มพูนความรู้วิชาอื่นๆ
ช่วงที่ผมตระหนักสิ่งเหล่านี้อยู่ในช่วงปิดเทอมขึ้น ม.5 หลังจากนั้นไม่นานผมก็ได้ทราบว่า โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเปิดให้นักเรียนย้ายแผนการเรียนในชั้น ม.6 จากวิทย์ไปศิลป์คำนวณได้
นโยบายนี้ถือว่าเป็นประโยชน์มากสำหรับผม ตั้งแต่บัดนั้นผมจึงตั้งมั่นว่าจะย้ายสายตอน ม.6 แม้ว่าการย้ายสายจะทำให้เส้นทางของผมออกห่างจากเพื่อนร่วมห้องก็ตาม
ห้องคิงและการย้ายสาย
ชีวิตของห้องคิง ม.5 ไม่ต่างอะไรกับตอน ม.4 มากนัก เรียนทุกอย่างแทบจะเรียกได้ว่าเป็นแบบเดิม แต่ข้อสอบยากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะวิชาอย่างเคมี และเลขยาก ซึ่งมีคนตกมากมายมหาศาล ผมจำได้ว่าคนตกในแต่ละวิชาน่าจะมากกว่า 500 คน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของนักเรียนทั้งระดับ ทำให้ต้องใช้โรงอาหารใหญ่ในการสอบซ่อม
ในเรื่องเรียนตอน ม.5 นี้ ผมพูดตรงๆ ว่าผมไม่ใส่ใจฟิสิกส์ เคมี และชีวะอีกแล้ว เพราะผมกำลังจะทิ้งมันเพื่อจบปี ทำให้ผมเรียนสามวิชานี้แบบเล่นๆ ขำๆ และทุ่มแรงทั้งหมดกับเลข ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย สังคม
อย่างไรก็ดีในการสอบกลางภาค ผมก็ยังรักษามาตรฐานของผมเอาไว้ได้ระดับหนึ่ง นั่นคือฟิสิกส์และชีวะได้ประมาณ 80% ส่วนเคมีที่โหดๆ ผมกลับไม่ตก แต่คาบเส้น ผมจำได้ว่าได้คะแนน 11/20 ส่วนอีกสี่วิชาที่ทุ่มได้คะแนนเกือบเต็มทั้งหมด
ตอนอยู่ห้องคิงนี้ ผมต้องยอมรับว่าไม่ชอบพฤติกรรมของเพื่อนบางคนอย่างหนึ่ง ผมขอตั้งชื่อว่า “พฤติกรรมถ่อมตัวแบบเฟคๆ”
เมื่อเด็กโรงเรียนนี้ออกจากห้อง เรามักจะมานั่งคุยกันว่าข้อสอบเป็นอย่างไร ทำกันได้หรือไม่ อย่างเช่นวิชาเคมี ผมทำไม่ได้จริงๆ ผมจะบอกเพื่อนประมาณว่า
ทำไม่ได้ว่ะ ยากฉิ_หาย
หมายเหตุ: ตอนที่พูดจริงๆจะหยาบกว่านี้
เพื่อนบางคนที่คุยกันก็จะบอกเออออกับผมไป และสำทับด้วยว่ายากจริงๆ ข้อนี้ทำไงวะ แย่แล้ว อะไรประมาณนี้
แต่ตอนประกาศผลสอบ ผมได้ 11/20 ส่วนมันได้ 19/20
ทำไม่ด้ายยย ไม่ได้จริงๆ 5555
อย่างไรก็ตามในช่วง ม.5 แม้ผมจะเรียนๆ เล่นๆ ผมสามารถต้านทานข้อสอบอันโหดร้ายของเคมีและชีววิทยาไว้ได้อย่างไม่น่าเชื่อ ผมได้ 4 ทุกวิชา เสียแค่เคมีที่ได้ 3.5 กับ 3 ในเทอม 1 และ 2 และชีววิทยาในเทอม 2 ที่ได้ 3.5 เท่านั้น โดยรวมแล้ว เกรดเฉลี่ย 4 เทอม น่าจะอยู่ประมาณ 3.93 ซึ่งก็ยังถือว่าดีมากในโรงเรียน
ครูที่ดูแลเรื่องการย้ายสายรู้สึกตกใจไม่น้อยที่ผมขอย้ายสาย เพราะเกรดผมดีมาก และห้องย้ายสายเป็นห้องที่โรงเรียนตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยคนที่เรียนสายวิทย์ไม่ไหว
ผมจึงต้องแจ้งเจตนารมณ์ของผมให้ครูทราบและเข้าใจ ผมเลยได้ย้ายสายสมใจเมื่อจบ ม.5
ชีวิต ม.6 ในเตรียมอุดม
ต่างจากคนอื่น ชีวิต ม.6 ของผมเป็นชีวิตที่สนุก เพราะเป็นชีวิตที่สบาย แต่ตื่นเต้น ได้ลุ้นอยู่ตลอดเวลา
ในช่วงนั้นมีการจัดสอบเข้ามหาวิทยาลัย (เรียกว่า Smart I) แล้วนำคะแนนไปยื่นตั้งแต่เดือนมิถุนายน ตัวเลือกอันดับ 1 ของผมคือ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คะแนน Smart I ของผมออกมาดีมาก มันดีมากกว่าค่าเฉลี่ยคนที่ติดตามสถิติเก่าๆนับสิบคะแนน ดังนั้นถ้าผมยื่นและไม่โดนตีตกในรอบสัมภาษณ์ ผมจะได้ผ่านเข้าเรียน 100%
ช่วงนั้นผมจึงเบาใจไปเปลาะหนึ่ง ตอนนั้นอยู่ใน ม.6 เทอม 1 เท่านั้นเอง เท่ากับว่าผมเรียนที่โรงเรียนสบายๆ ก็พอแล้ว รอเวลาไปเข้ามหาวิทยาลัยอย่างเดียวพอ
ห้องย้ายสายเองก็เป็นห้องที่สบายมาก เพื่อนแต่ละคนไม่ค่อยซีเรียสเรื่องเรียนเท่าไร 55 การเรียนเลยไม่เครียดต่างกับตอนอยู่ห้องคิงลิบลับ แถมยังไม่มีฟิสิกส์ เคมี ชีวะด้วย ทำให้มีแต่เนื้อหาเบาๆ ภายในห้องก็มีแต่ความขำขัน เกรดเฉลี่ยจึงไหลลงมาสงบนิ่งที่ 3.90
อย่างไรก็ตาม ผมยังต้องอ่านหนังสืออยู่เพื่อทำความฝันของตัวเอง นั่นคือสอบชิงทุนไปเรียนต่างประเทศ ผมทำความฝันนั้นเป็นจริงได้สำเร็จในช่วง ม.6 เทอม 2 เมื่อได้ทุนแล้ว ผมจึงสละสิทธิ์คณะบัญชีไป
ชีวิตการเรียนในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาของผมจบลงอย่างสมบูรณ์แต่เพียงเท่านี้