การศึกษารีวิว 10 แอพ/เว็บตรวจเช็คแกรมม่าอังกฤษฟรี + เสียเงิน | ใช้ตัวไหนดีที่สุด? (2024)

รีวิว 10 แอพ/เว็บตรวจเช็คแกรมม่าอังกฤษฟรี + เสียเงิน | ใช้ตัวไหนดีที่สุด? (2024)

แกรมม่า (Grammar) หรือไวยากรณ์ เป็นไม้เบื่อไม้เมาของหลายคนที่ต้องเขียนภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน

ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนนักศึกษาที่ต้องส่ง paper ให้กับอาจารย์ หรือ พนักงานบริษัททั่วไปที่ต้องติดต่อกับลูกค้าเป็นภาษาอังกฤษผ่านทางอีเมล์ เพราะต้องมาเสียเวลาตรวจเช็คความถูกต้องของแกรมม่าอันยุ่งยากและน่าปวดหัว และมักทำให้เราพะวงอยู่บ่อยๆ ด้วย

จริงอยู่ว่าแกรมม่าไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย แต่มันก็แสดงให้เห็นว่าทักษะภาษาอังกฤษของคุณอยู่ในระดับใด และส่งผลต่อคุณภาพงานเขียนของคุณอย่างมากด้วย ดังนั้นคุณควรจะใช้มันให้ถูกต้องมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้จะดีกว่า

เนื่องจากเทคโนโลยีทุกวันนี้ได้ก้าวหน้าไปมาก คุณสามารถใช้เครื่องมือเหล่านี้ในการตรวจเช็คแกรมม่าให้ถูกต้องได้ภายในเวลาไม่กี่วินาที เรามาดูดีกว่าครับมีเครื่องมือตัวไหนที่น่าใช้บ้าง

1. Grammarly

Grammarly เป็นเครื่องมือตรวจเช็คและแก้ไขแกรมม่ายอดฮิต หรืออาจจะเรียกว่าได้รับความนิยมมากที่สุดเลยก็ว่าได้ ผมใช้มันมาตั้งแต่ผมสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่อเมริกาแล้ว ทุกวันนี้ผมก็ยังใช้อยู่ครับ

วิธีการใช้ไม่ยากอะไรเลย คุณสามารถโหลดตัว extension มาใช้ใน browser ของคุณอย่างเช่น Google Chrome หรือ Safari เพียงเท่านี้ Grammarly จะเริ่มแก้ไขแกรมม่าของคุณเมื่อคุณเขียนอีเมล์หรือพิมพ์งานใน google doc แล้วครับ

อย่างเช่นตามรูปด้านล่าง นี่คือตัวอย่างอีเมล์ที่เขียนผิดแกรมม่าอย่างชัดเจน และต้องการการตรวจเช็คและแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะดูไม่เป็นมืออาชีพอย่างยิ่ง

ตรวจเช็คแกรมม่าโดย Grammarly
ตรวจเช็คแกรมม่าโดย Grammarly

แต่คุณจะสังเกตว่าถ้าคุณลง Grammarly Extension เส้นสีแดงจะขึ้นมาโดยอัตโนมัติ เพราะ Grammarly จะตรวจเช็คแกรมม่าของคุณแบบ real-time นั่นเอง และแจ้งให้คุณทราบว่าสิ่งที่คุณเขียนนั้นผิดแกรมม่าและต้องแก้ไข

ถ้าคุณนำเมาส์ไปแตะที่เส้นสีแดง Grammarly จะแจ้งว่าจากการตรวจเช็ค แกรมม่าหรือการสะกดคำที่คุณใช้มีปัญหา และถ้าคุณกดที่การแก้ไขที่แกรมม่าให้มา Grammarly ก็จะเปลี่ยนคำให้คุณในทันที โดยที่คุณไม่ต้องทำอะไรเพิ่มครับ

แก้ไขแกรมม่าโดยใช้ Grammarly
แก้ไขแกรมม่าโดยใช้ Grammarly

การแก้ไขจะเสร็จสิ้นแค่นี้ แต่สำหรับใครที่อยากรู้ว่าทำไมถึงผิด คุณสามารถกดหมายเลขทางด้านขวาได้ (ตัวเลขจะบอกว่าคุณผิดกี่จุด) หลังจากนั้นคำอธิบายจะขึ้นมาให้คุณอ่าน ตรงนี้มีส่วนสำคัญมากที่ช่วยให้ผมสร้างงานเขียนภาษาอังกฤษตลอดจนติดต่อสื่อสารด้วยอีเมล์อย่างมั่นใจครับ

ถ้าคุณอยากทราบว่าทำไมแกรมม่าตรงนี้ถึงผิด กดอ่านได้ทันที
ถ้าคุณอยากทราบว่าทำไมแกรมม่าตรงนี้ถึงผิด กดอ่านได้ทันที

นอกจากอีเมล์แล้ว Grammarly สามารถใช้ควบคู่กับ social network ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็น Twitter, Facebook, Medium, Linkedin และอื่นๆ อีกมากครับ หรือว่าจะตรวจเช็คบนเว็บไซต์ก็ทำได้เช่นกัน

เว็บเช็คแกรมม่าของ Grammarly
เว็บเช็คแกรมม่าของ Grammarly

ไม่เพียงเท่านั้น คุณยังสามารถใช้ Grammarly อย่างเช่น Microsoft Office ได้ด้วย เพียงแค่คุณดาวน์โหลด Grammarly for Microsoft Office หรือ Grammarly for Windows มาและลงโปรแกรมเรียบร้อย Grammarly จะตรวจเช็คว่างานของคุณผิดพลาดในเรื่องแกรมม่า การสะกดคำ และการใช้คำ ตรงไหนบ้าง และแนะนำให้คุณแก้ไขเช่นเดียวกับในแบบ Browser ครับ

นอกจากนี้ถ้าคุณกำลังเขียนๆ อยู่ มันสามารถแก้แกรมม่า และคำที่คุณสะกดผิดได้โดยอัตโนมัติอีกต่างหาก

ฟีเจอร์หลังนี้ผมชอบมากๆ เพราะมันสะดวก และไม่ต้องเสียเวลา copy+paste สิ่งที่ผมเขียนไปแปะในหน้าเว็บไซต์ เหมือนกับเครื่องมืออื่นๆ แต่ถ้าคุณอยากจะใช้นำงานไปให้ grammarly ตรวจสอบที่เว็บไซต์ คุณก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน

Grammarly ตรวจแกรมม่าฟรีจริงหรือ?

จริงครับ!

สำหรับเรื่องค่าใช้จ่าย ผมบอกเลยว่า ผมไม่เคยเสียเงินในการใช้ Grammarly เลย เพราะผมใช้แบบฟรีตลอด! แค่แบบฟรีก็รวมการแก้ไขแกรมม่าอย่างถูกต้องทั้งใน browser และในที่อื่นๆ อยู่ในตัวอยู่แล้วครับ

ถ้าคุณต้องการแค่ตรวจเช็คแกรมม่าอย่างเดียว ผมแนะนำให้คุณสมัครสมาชิกตามลิงค์นี้ และโหลดตัวซอฟต์แวร์มาใช้กับ Browser และ Microsoft Office ก็พอแล้วครับ ทั้งหมดนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ

การตรวจแกรมม่ากับ Grammarly
Grammarly website

ความดีงามของ grammarly อีกอย่างหนึ่งคือ มันสามารถช่วยคุณได้มากกว่าตรวจแกรมม่าทั่วไป และเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คุณ proofreading งานเขียนได้ด้วยตัวเองอีกด้วย

ยกตัวอย่างเช่น Grammarly สามารถวิเคราะห์สิ่งที่คุณเขียนลงไปด้วยว่ามีความสละสลวยทางภาษามากขนาดไหน คุณใช้คำศัพท์คำนี้ถูกต้องหรือไม่ ความสุภาพและความเป็นทางการเพียงพอรึเปล่า หรือแม้กระทั่งภาษายากเกินไปรึเปล่า แต่ฟีเจอร์เหล่านี้จะอยู่ในโปรแกรมแบบพรีเมียมเท่านั้นครับ

ถ้าถามผมว่า Grammarly ที่ให้ใช้ฟรีดีไหม ผมบอกได้เลยว่าดีมากๆ ครับ และเนื่องจากมันใช้ฟรี ผมแนะนำให้โหลดตัวฟรีนี่แหละมาใช้ คุณไม่จำเป็นต้องอัพเกรดเป็นแบบ premium เลยก็ได้ นอกจากคุณจะต้องการวิเคราะห์ระดับสูงจริงๆ ครับ

สำหรับนักเรียน นักศึกษา หรือบุคคลทั่วไปที่คิดจะพัฒนาทักษะการเขียนสำหรับการสอบ SAT, TOEFL และการสอบอื่นๆที่มีการเขียนภาษาอังกฤษ ผมแนะนำว่าคุณควรมี Grammarly ในคอมพิวเตอร์ของคุณเพื่อใช้ฝึกฝนการเขียนครับ

นอกจากนี้ถ้าเป็น paper ทั่วไปของนักเรียน นักศึกษา, รายงานทั่วไปในบริษัท หรือว่า Cover Letter ผมบอกได้เลยว่า Grammarly จัดการตรวจเช็คและแก้ไขแกรมม่าให้คุณได้อย่างสบายบรื๋อ

รีวิว Grammarly Premium

ดังนั้นถ้าคุณจำเป็นต้องเขียน paper ชิ้นสำคัญ วิทยานิพนธ์ หรือรายงานที่เป็นทางการแก่ลูกค้า ผมแนะนำให้คุณเสียเงินจ่ายค่าสมาชิกแบบ Premium (ต่ำสุดที่เดือนละ $11.66) เพราะงานของคุณจะได้การตรวจเช็คในระดับที่สูงกว่าแกรมม่ามากครับ คุณจะได้มั่นใจในงานเขียนของคุณเองด้วย

สรุปแล้วคุณจะได้จาก Grammarly Premium คือ การแก้ไขแกรมม่า (Grammar Checking) ในแบบฟรีและเพิ่มด้วยฟีเจอร์เหล่านี้

  • การแก้ภาษาให้มี Consistency ตลอดทั้งบทความ ไม่กระโดดไปมา
  • แก้ภาษาให้สละสลวย (Fluency) มากยิ่งขึ้น
  • ตัดทอนสิ่งที่คุณเขียนให้สั้นกระทัดรัด
  • ตรวจสอบว่าอ่านรู้เรื่องหรือไม่
  • เปลี่ยนคำศัพท์ที่คุณใช้เป็นคำใกล้เคียง (Synonym) เพื่อช่วยให้มีระดับมากขึ้น
  • เปลี่ยนรูปประโยคให้ไม่ซับซ้อน น่าอ่าน
  • ตรวจสอบ Plagiarism ได้ว่าเหมือนกับบทความอื่นมากเกินไปหรือไม่
  • ตรวจสอบระดับภาษา เช่นความเป็นทางการ ความสุภาพ อย่างเช่นถ้าคุณใช้ภาษา slang ในเอกสารทางการ มันคงจะดูไม่ดีเท่าไรนัก Grammarly ก็จะแก้เป็นภาษาที่เหมาะสมให้กับคุณครับ

ในปัจจุบันผมเองก็ใช้งานเจ้าตัวนี้อยู่ ผมจึงขอมารีวิวฟีเจอร์ของตัว Grammarly Premium ให้ชมกันสั้นๆ

ฟีเจอร์แรกที่น่าสนใจก็คือ Set Goals ตัวนี้คุณสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างอิสระว่าต้องการการตรวจสอบแกรมม่าที่เข้มงวดระดับไหน อย่างเช่น คุณสามารถเลือกได้ว่าผู้อ่านเป็นใคร? ต้องการความเป็นทางการเท่าไร รูปแบบงานเขียนเป็นแบบไหน และมี Tone อย่างไร

Grammarly Premium กับแการตรวจแกรมม่า
การ Set Goals ของ Grammarly Premium

โดยส่วนตัวแล้วผมชอบฟีเจอร์นี้นะครับ ผมมองว่ามันยืดหยุ่นดี และเหมาะกับการตรวจสอบความถูกต้องของงานเขียนภาษาอังกฤษหลายรูปแบบ อย่างเช่นระหว่างที่เขียนอยู่ Grammarly จะเสนอให้ผมแก้ Tone เพราะว่ามันดูรุนแรงเกินไป

ถัดมาก็คือในส่วนของคะแนนโดยรวมของงานเขียนภาษาอังกฤษ อย่างในภาพคืองานเขียนของผมเองครับ

รีวิว Performance Score ของ Grammarly Premium
Performance Score ของ Grammarly Premium

สิ่งที่ผมชอบในส่วนนี้ก็คือเรื่องของ Readability หรือว่าอ่านรู้เรื่องรึเปล่า เพราะว่าในการเขียนภาษาอังกฤษไม่ใช่ว่าแค่แกรมม่าถูกต้องแล้วจะกลายเป็นงานเขียนที่ดีได้ แต่ยังต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆ ด้วย ในส่วนนี้ Grammarly ก็นำเสนอออกมาได้ดีครับ

ถัดมาคือฟีเจอร์หลักๆ ในการแก้ไขภาษาอังกฤษ ซึ่งจะมีดังต่อไปนี้

ตัวแรกเลยคือ Clarity ซึ่งทาง Grammarly บอกว่าจะช่วยแก้ไขประโยคภาษาอังกฤษที่เราเขียนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งจากที่ผมได้ใช้มาหลายเดือน ผมมองว่ามันก็ช่วยได้ดีในระดับหนึ่ง และให้อธิบายที่ดีที่จะช่วยพัฒนาทักษะการเขียน

อย่างไรก็ดีการแก้ไขไม่ได้ถูกต้อง 100% แน่ๆ เพราะว่าบางทีตัดประโยคให้เราไปไม่ครบ ทำให้ขาดเป็นท่อนๆ หรือว่าเปลี่ยนความหมายประโยคภาษาอังกฤษไปเลย ทำให้เราต้องกลับมาตรวจแกรมม่าและโครงสร้างอื่นๆ อีกทีครับ

นอกจากนี้ AI ยังไม่โอเคกับ Passive Voice เลย เพราะสั่งให้แก้ตลอด แม้ว่าในจุดๆ นั้นจะต้องใช้งานโครงสร้างประโยคดังกล่าวก็ตาม

สรุปแล้วคือโดยรวมผมโอเคกับฟีเจอร์ Clarity แต่คิดว่ายังต้องพัฒนาตัว AI อีกมาก เพราะฉะนั้นเวลาใช้งานอย่าเชื่อตัวโปรแกรมทั้งหมดครับ

ถัดไปคือตัวที่ผมชอบนั่นก็คือ Conciseness ตัวนี้จะช่วยตัดคำที่ไม่จำเป็นออกไปจากงานเขียนภาษาอังกฤษของเรา เพื่อทำให้งานเขียนของเราอ่านง่ายขึ้น

Conciseness

จากที่ใช้มา ผมมองว่าฟีเจอร์นี้ก็ใช้ได้ดีในระดับหนึ่งเหมือนกัน แต่มันมีปัญหาในเรื่องการใช้งานในแง่ที่ว่า บางที (ไม่บ่อย) แก้แล้วจะเปลี่ยนความหมายประโยคไปเลย เพราะฉะนั้นคุณก็ต้องตรวจสอบความถูกต้องอีกเช่นเดิม

ต่อมาคือการแก้ไข Consistency ตลอดทั้งบทความไม่ให้กระโดดไปมา อย่างเช่นถ้าใช้ Finance โดย capitalize ตัวแรก Grammarly ก็จะเตือนคุณว่าคุณก็ควรทำแบบนี้ทั้งหมดในบทความ

การเช็คแกรมม่าในแอพ Grammarly

ส่วนใหญ่แล้วฟีเจอร์นี้ผมใช้ช่วยตรวจแล้วไม่มีปัญหา แต่บางทีมันดันแยกแยะไม่ค่อยได้ว่า ในจุดนี้มันต้องใช้ตัวเล็ก โดยที่ Capitalize ไม่ได้ เพราะจะทำให้ผิดแกรมม่า

ฟีเจอร์หลักตัวสุดท้ายก็คือ Word Choice นั่นก็คือ Grammarly จะช่วยเปลี่ยนคำศัพท์ที่ดูไม่เหมาะสมให้ดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น หรือว่าตรงความหมายมากขึ้น หรือว่าใช้ตัวที่หลากหลายเพิ่มขึ้นเสียหน่อย การใช้ภาษาในบทความของคุณจะได้หลากหลาย

Word Choice

อย่างไรก็ดีปัญหาเดิมๆ ก็จะเข้ามา นั่นคือถ้าเชื่อและเปลี่ยนตาม Grammarly ทั้งหมด ความหมายอาจจะเปลี่ยนได้ คุณต้องใช้วิจารณญาณประกอบการแก้ไขเช่นเดิม

Update 2024: ปัจจุบัน Grammarly ได้มีการนำ Chatbot เข้ามาใช้เป็นฟีเจอร์หลักด้วย และในปัจจุบันคุณสามารถใช้ให้ปรับปรุงประโยคให้สละสลวยได้ภายในเวลาเพียงเสี้ยววินาที ทุกวันนี้ผมใช้ทุกวัน และรู้สึกว่ามีประโยชน์มากเลยครับ แบบฟรีก็มีให้ใช้เช่นกัน แต่จะจำกัด 100 ครั้งต่อเดือนครับ

สรุป: Grammarly Premium ดีหรือไม่ดี?

ผมมองว่า Grammarly Premium ยังคงเป็นตัวเลือกที่มีคุณภาพสำหรับการตรวจสอบแกรมม่า รวมไปถึงส่วนอื่นๆ ของภาษา ผมมองว่ามันใช้งานได้ดีในระดับ 80%-90% การแก้ไขส่วนใหญ่จะเชื่อถือได้ครับ

ถึงกระนั้นเวลาจะแก้ต้องใช้วิจารณญาณของคุณประกอบด้วย โดยเฉพาะถ้าใช้งานส่วนอื่นๆ ที่ไม่ใช่การตรวจแกรมม่า โปรดอย่ากดคลิกแก้ตามคำแนะนำอย่างเดียว ในส่วนนี้สำคัญมากเพราะว่าความหมายจะเปลี่ยน และทำให้บทความของคุณด้อยคุณภาพลงได้

2. Trinka

Trinka เป็นเว็บไซต์สำหรับการตรวจแกรมม่าและงานเขียนภาษาอังกฤษระดับสูงที่ใช้ได้ฟรี ตัวโปรแกรมจะต่างกับตัวอื่นตรงที่ถูกสร้างมาเพื่อตรวจสอบงานเขียนที่เป็นทางการและเชิงวิชาการเท่านั้น ทำให้เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากๆ สำหรับนักศึกษา อาจารย์ หรือว่าผู้ใดก็ตามที่ต้องการตรวจสอบงานเขียนอย่างวิทยานิพนธ์ หรือว่าโครงงานระดับสูงเป็นต้น

ฟีเจอร์หลักของ Trinka นั้นเหมือนกับ Grammarly Premium อยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขภาษาให้ชัดเจน การแก้ไข Word Choice การแก้ไขความซ้ำซ้อน ฯลฯ

จากด้านล่างผมได้ลองใส่งานเขียนของตัวเองลงไป โดยใช้ Trinka แก้ให้

เว็บตรวจแกรมม่าวิชาการ - Trinka
Trinka

ในส่วนนี้ผมมองว่าตรวจสอบและแก้ได้ดีไม่แพ้ Grammarly Premium เลยครับ ถ้าเปรียบเทียบกันในส่วนที่ให้แก้งานสไตล์ “Formal” นะครับ อย่างไรก็ดีเรื่องแก้ไขแล้วความหมายเปลี่ยนก็ยังมีให้เห็นเหมือนกัน นอกจากนี้ตัว Suggestions ทั้งหลายไม่ได้ถูกจัดเป็นหมวดหมู่ ทำให้คุณงงได้ว่ากำลังแก้อะไรอยู่ ในส่วนนี้ผมจึงมองว่า Grammarly Premium ทำได้ดีกว่าชัดเจน

อย่างไรก็ดีจุดที่ Trinka เหนือกว่าก็คือเครื่องมือตรวจสอบงานเขียนเชิงวิชาการ อย่างเช่น Journal Scope Match, Ethical Compliance ฯลฯ ในส่วนนี้จะมีประโยชน์มากๆ ต่อการเขียนวิทยานิพนธ์ และงานเขียนในระดับปริญญาโท-เอก อื่นๆ

ขั้นตอนการเช็๕แกรมม่าโดยใช้ Trinka
Trinka

โดยสรุปแล้วผมมองว่า Trinka เป็นตัวเลือกที่ยอดเยี่ยมในฐานะเครื่องมือตรวจงานเขียนภาษาอังกฤษเชิงวิชาการแบบเจาะลึก แต่ถ้าการใช้งานทั่วไปแล้ว Grammarly หรือ Grammarly Premium เป็นทางออกที่ดีกว่าครับ เพราะมีการใช้งานที่ยืดหยุ่นหลากหลายกว่านั่นเอง

Trinka ให้คุณตรวจแกรมม่าของงานเขียนภาษาอังกฤษต่างๆ ได้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายครับ แต่คุณจะใช้ตรวจได้แค่ 10,000 คำต่อเดือนเท่านั้นครับ

สำหรับใครที่สนใจจะสมัครพรีเมียมเพื่อตรวจได้ไม่จำกัด ราคาจะเริ่มต้นที่ $6.67 หรือประมาณ 200 บาทต่อเดือนเท่านั้นเอง นอกจากนี้ถ้าคุณใช้โค้ด ‘PUNADC21’ คุณจะได้ส่วนลดไปอีก 20% ทำให้ราคาเหลือแค่ $5.3 หรือประมาณ 160 บาทต่อเดือน ซึ่งคุ้มค่าอย่างมากเลยครับ

3. Sapling

Sapling เป็นโปรแกรมตรวจแกรมม่าที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้เหล่าพนักงาน Customer Service ตอบสนองลูกค้าเป็นภาษาอังกฤษได้อย่างมืออาชีพ ไม่ว่าจะผ่านทางอีเมล์หรือว่า Live Chat ฟีเจอร์หลายๆ อย่างของ Sapling จึงมีลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกับโปรแกรมตรวจแกรมม่าทั่วไปอย่างเช่น Grammarly ครับ

ทั้งนี้ผู้สร้างอ้างว่า AI ของพวกเขาสามารถตรวจหาข้อผิดพลาดได้ดีกว่า Grammarly อย่างชัดเจน (Sapling บอกว่ามากถึง 60%)

จากที่ผมได้ทดสอบมาแล้ว ผมพบว่าไม่ใช่เรื่องโม้แต่อย่างใด เพราะ Sapling ตรวจแกรมม่าได้แม่นยำกว่า Grammarly จริงๆ (หาสิ่งที่ผิดได้มากกว่า) แม้ว่าผมจะใช้ Grammarly Premium แล้วก็ตาม โดยเฉพาะถ้าคุณลงลึกไปถึงการตรวจงานเขียนภาษาอังกฤษที่ต้องการความเนี๊ยบระดับสูงครับ

บทความนี้ถูกเช็คโดย Grammarly รอบนึงแล้วว่าไม่มีอะไรผิด แต่ Sapling ก็ยังเจออีกพอสมควรทีเดียว ซึ่งผมได้ตรวจสอบดูแล้วพบว่าผิดแกรมม่าจริงๆ

อย่างไรก็ดีข้อเสียของ Sapling คือตรวจได้เฉพาะแกรมม่า ถ้าให้แก้งานเขียนภาษาอังกฤษระดับสูงกว่านั้นจะไม่สามารถทำได้ นอกจากนี้ยังไม่มีคำอธิบายใดๆ เหมือนกับเว็บเช็คแกรมม่าอื่นๆ ด้วยว่าทำไมถึงต้องแก้ไข นอกจากนี้ยังตรวจได้ช้ากว่าเครื่องมือทั่วไปอีกต่างหาก แถมแก้แล้วความหมายเปลี่ยนก็มีบ้างเล็กน้อย

ถึงกระนั้นผมก็ไม่ปฏิเสธเลยว่าผมเองก็ใช้ Sapling อยู่ เพราะโปรแกรมตัวนี้หาจุดที่ผิดแกรมม่าได้ดีกว่าตัวอื่นอย่างชัดเจนครับ โดยเฉพาะจุดที่ผิดแล้วน่าอายทั้งหลาย ผมจึงใช้ควบคู่ไปกับ Grammarly Premium นั่นเอง

ฟีเจอร์อื่นๆ จะเป็นการช่วยเรื่องการเขียนของเหล่าพนักงาน Customer Service เสียมากกว่า อย่างเช่น Autocomplete เป็นต้น ซึ่งผู้ใช้งานโปรแกรมตรวจแกรมม่าอย่างนักเรียน นักศึกษา หรือพนักงานออฟฟิศส่วนใหญ่ไม่น่าจะได้ใช้ครับ ดังนั้นผมมองว่าใช้แบบฟรีก็เพียงพอแล้ว

Sapling ให้คุณใช้งานได้ฟรี และลองการใช้งานแบบพรีเมียมได้เป็นเวลา 30 วันครับ

4. ProWritingAid

ProWritingAid เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจมากในฐานะเครื่องมือตรวจเช็คแกรมม่าชั้นยอด โดย ProWritingAid มีฟีเจอร์ที่จะช่วยคุณตรวจแกรมม่า, แก้การสะกดคำ รวมไปถึงช่วยศักยภาพงานเขียนของคุณในด้านอื่นด้วย อาทิเช่นเปลี่ยนคำศัพท์เป็นคำที่ดีกว่าตรงประเด็นมากกว่าเป็นต้น และช่วยคุณหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่อง Plagiarism (งานเขียนของคุณไปซ้ำซ้อนกับของคนอื่น)

ส่วนในเรื่องการใช้งาน คุณสามารถใช้ ProWritingAid ตรวจแกรมม่าและงานเขียนอื่นๆ ของคุณได้จากหน้า Web Browser, Google Doc, Microsoft Office ฯลฯ แถมการแก้ไขยังจะเป็นแบบ real-time เหมือน Grammarly โดยการใช้ Extension ครับ การใช้งานจะมีทั้งแบบฟรีและแบบพรีเมียม

เรามาดูกันครับศักยภาพของ ProWritingAid แบบใช้ฟรีเป็นอย่างไร จะตรวจแกรมม่าได้ดีหรือไม่

อย่างด้านล่างคืองานเขียนจำลองของผมใน Google Doc จะเห็นว่าผมเขียนว่า “I realizes” ซึ่งผิด grammar อย่างชัดเจน พบว่า ProWritingAid จะขึ้นเตือนมาทันทีเพราะว่าตัวโปรแกรมตรวจเช็คแกรมม่าแบบ real-time และเมื่อคุณกดที่คำว่า realizes ตัวโปรแกรมจะฟ้องว่าในส่วนนี้มันผิด และจะบอกคำอธิบายมาเสร็จสรรพว่าทำไมถึงผิด

แก้แกรมม่าโดยใช้ ProWritingAid
ตรวจแกรมม่าภาษาอังกฤษโดยใช้ ProWritingAid

สำหรับคำอธิบายนี่ผมต้องยอมรับว่าดีกว่า Grammarly เสียอีก เพราะไม่ต้องไปกดหน้าแยกขึ้นมา เพราะ ProWritingAid จะแสดงให้คุณเห็นอย่างชัดเจนตรงนั้นเลยว่าทำไมถึงผิดหลักแกรมม่า และถ้าคุณกดคำแนะนำลงไป คำที่ผิดจะถูกเปลี่ยนเป็นคำที่ถูกโดยอัตโนมัติ

ถัดไปคือการตรวจสอบ Word Choice หรือว่าการใช้คำศัพท์ อย่างในรูปคุณจะเห็นว่า ProWritingAid จะเตือนผมโดยใช้เส้นสีเหลืองเพื่อแจ้งว่า ในส่วนนี้ต้องการการแก้ไข เพราะคำว่า “new” เป็น adjective ที่ไม่ strong สำหรับการเขียน Essay ลักษณะนี้

เช็ค Word Choice

ProWritingAid จะให้คำที่คุณน่าจะเปลี่ยนมาเลย แต่ในส่วนนี้จะต้องดูให้ดีเหมือนกัน เพราะอย่างคำว่าบางคำอาจจะทำให้ความหมายเปลี่ยนไปเลยครับ

ถัดไปคือฟีเจอร์ช่วยแก้เรื่อง readability หรือทำให้งานเขียนอ่านรู้เรื่องได้ดีขึ้น ในส่วนนี้ผมมองว่า ProWritingAid ทำได้ดีเช่นกัน อย่างด้านล่าง ProWritingAid เสนอให้ผมเปลี่ยน “has an effect on” เป็น “influences” ซึ่งถือว่าเป็นการแก้ที่ใช้ได้ครับ

ProWritingAid Readability Check

นอกจากนี้การตรวจเช็คแกรมม่าและแก้ไขบนเว็บไซต์ก็สามารถทำได้เช่นกัน และจะสมบูรณ์กว่าด้วย เพราะว่ามีครบถ้วนไม่ว่าจะเป็นตรวจเช็ค Grammar, Thesaurus สำหรับเปลี่ยนคำให้หลากหลาย, ตรวจเช็คคำหรือรูปประโยคที่ใช้บ่อย ฯลฯ

ในหน้าเว็บ ฟีเจอร์ทุกอย่างจะมีให้ใช้หมด พร้อมกับมี report ให้อย่างละเอียดด้วย อย่างไรก็ดีแบบฟรีจะจำกัดการตรวจแกรมม่าได้แค่ 500 คำเท่านั้น และ User Interface จะงงๆ หน่อยๆ พอเข้ามาถึงจะรู้สึกว่าเยอะไปหมด

การเช็คแกรมม่าบนเว็บไซต์สามารถทำได้เช่นกัน

ดังนั้นในการตรวจแกรมม่าแบบเว็บ ผมจึงมองว่า Grammarly แบบฟรีดีกว่าตรงที่ไม่จำกัดจำนวนคำ เพราะ ProWritingAid ปล่อยฟีเจอร์สูงๆ มา ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ไม่น่าจะได้ใช้ เพราะไม่ได้เขียนงานเขียนในระดับ research paper นั่นเองครับ

ถ้าเทียบแบบตัวตรวจแกรมม่าใน browser เฉพาะในส่วนของฟีเจอร์ ผมให้ ProWritingAid ชนะ Grammarly แต่สิ่งที่ผมพบคือ หลังจากที่ลง extension ใน Chrome ไปแล้ว ปรากฏว่า ProWritingAid ทำให้ browser ผมค้างไปแล้ว 3-4 รอบ ระหว่างที่เขียนบทความนี้นี่แหละครับ

ในส่วนนี้ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าเป็นเพราะอะไร ดังนั้นแม้ว่าจะชอบมากกว่าก็ต้องกลับไปซบอก Grammarly ตามเดิม

อย่างไรก็ดีใครที่ไม่เจอปัญหาการค้างแบบผม แล้วอยากได้การแก้ไขระดับสูงแบบไม่จำกัด ProWritingAid มี 3 แพลนให้คุณสมัครครับ นั่นคือ

  • Monthly ($20 หรือ ประมาณ 600 บาทต่อเดือน)
  • Yearly ($79 ต่อปีหรือเฉลี่ยแล้ว $6.58 หรือประมาณ 200 บาทต่อเดือน)
  • Lifetime ($399 หรือ 11,970 บาทใช้งานตลอดชีพ)

ถ้าเทียบกับ Grammarly แล้ว แพลนพรีเมียมของ ProWritingAid ถูกกว่าอย่างชัดเจน เพราะมีโปรแบบ Lifetime ขณะที่ฟีเจอร์ใกล้เคียงกันมาก ทำให้เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจอีกตัวหนึ่งครับ

5. Linguix

Linguix เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจในฐานะเว็บเช็คแกรมม่า ซึ่งการใช้งาน Linguix นั้นทำได้ทุกรูปแบบไม่ต่างอะไรกับ Grammarly และตัวอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Browser, MS Office ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีแอพตรวจแกรมม่าให้ใช้งานสำหรับ iOS และ Android ด้วยครับ ทำให้โดยรวมแล้วถือว่าสมบูรณ์ตัวหนึ่งเลยทีเดียว

สำหรับฟีเจอร์หลักในการแก้แกรมม่าจะไม่ค่อยต่างกับ Grammarly เท่าไร นั่นก็คือแก้แบบ real-time กับนำไปแก้บนเว็บ Linguix ซึ่งโดยรวมกันแล้วคล้ายกันมากอยู่ ในส่วนของ User Interface ผมว่าสวยงามดี และไม่รู้สึกอึดอัดเทอะทะเวลาใช้งาน

อย่างด้านล่างจะเป็นการแก้ไขบทความภาษาอังกฤษของผมบนเว็บไซต์ของ Linguix

การตรวจสอบแกรมม่าบนเว็บของ Linguix

ในส้วนของคุณภาพการตรวจ ผมว่าไม่ต่างกับ Grammarly เท่าไร ซึ่งแปลว่าจะตรวจไม่ละเอียดเท่ากับ Sapling อย่างไรก็ดีสิ่งหนึ่งที่ผมว่าแปลกๆ ก็คือ AI ของ Linguix มักจะตรวจสอบไม่ได้ว่าคำบางคำเป็นชื่อเฉพาะ ทำให้ผมต้อง Add to Dictionary ด้วยตัวเองอยู่บ่อยๆ

อย่างไรก็ดีในการตรวจไวยากรณ์หรือว่า Punctuation, Style, Word Choice, Spelling ผมมองว่าทำได้ดีไม่ต่างกับ Grammarly Premium เลยครับ และสามารถปรับตามรูปแบบภาษาที่เขียนได้เหมือนกันด้วย

แต่ทว่าฟีเจอร์หนึ่งที่น่าสนใจมากก็คือ Content Templates ครับ กล่าวคือถ้าคุณต้องการจะเขียนภาษาอังกฤษอย่างไรสักอย่างหนึ่ง แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดี Linguix สามารถช่วยคุณได้ เพราะมีแบบฟอร์มต่างๆ นับร้อยแบบเตรียมไว้คุณอยู่แล้ว อย่างถ้าเป็นอีเมล์ จะมีสถานการณ์ให้เลือกอย่างขอบคุณ ขอโทษ ฯลฯ ทุกอย่างเรียกได้ว่ามีพร้อมเลยครับ

Linguix Content Templates

หลังจากนั้นคุณก็แค่เลือก template ที่ต้องการ ปรับแก้ตามที่เหมาะสม แล้วก็ Copy+Paste แล้วส่งไป ทำให้คุณประหยัดเวลาอย่างมากเลยครับ ผมมองว่าฟีเจอร์นี้น่าสนใจดี โดยเฉพาะถ้าภาษาอังกฤษของคุณไม่แข็งแรงเท่าไรนัก และอยากจะได้เครื่องทุ่นแรงครับ

6. Hemingway Editor

Hemingway Editor หรือเรียกสั้นๆ ว่า Hemingway เป็นอีกเครื่องมือที่ให้บริการตรวจเช็คความถูกต้องของแกรมม่าและภาษา

การใช้งาน Hemingway Editor ค่อนข้างเรียบง่าย เพียงแค่คุณ copy+paste บทความของคุณลงไปในเว็บไซต์ ภายในไม่ถึงนาที คุณจะพบว่าแกรมม่าในบทความของคุณถูกตรวจเช็คเรียบร้อยแล้วดังรูปด้านล่าง

การตรวจแกรมม่าของ Hemingway Editor
Hemingway Editor

สีต่างๆ ที่ถูกไฮไลท์จะเป็นคำแนะนำของตัวเครื่องมือว่าคุณควรจะแก้บทความของคุณอย่างไร ในส่วนนี้ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นแกรมม่า เท่านั้น Hemingway จะแนะนำวิธีเพิ่มความสละสลวย และความง่ายในการอ่านก็ได้

เวลาจะแก้ไข ให้คุณนำเมาส์ไปที่บริเวณที่ถูกไฮไลท์ คำแนะนำจะขึ้นมาให้คุณนำไปเปลี่ยนแปลงงานเขียนของคุณ

แม้ว่าคุณจะสามารถใช้งาน Hemingway บนเว็บไซต์ได้อย่างง่ายๆ และฟรี (โดยการ Copy-Paste งานเขียนของคุณลงไป) แต่คุณไม่สามารถใช้มันบน Microsoft Word และ Browser ได้ถ้าคุณไม่จ่ายเงินซื้อ desktop app ในราคา $19.99

นอกจากนี้ตัวเว็บไซต์ของ Hemingway ยังไม่เซฟงานของคุณที่กำลังแก้อยู่ด้วย ถ้าคุณเผลอปิดไป คุณต้องเริ่มต้นแก้ใหม่ตั้งแต่แรก

ดังนั้นสำหรับผมแล้ว Grammarly เป็นตัวเลือกที่ดีกว่า Hemingway มาก แต่ Hemingway อาจจะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ไม่อยากลง Extension ใน browser เช่นเดียวกัน

7. Ginger

ถ้าพูดถึงคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อกับ Grammarly ในวงการตรวจเช็คแกรมม่าแล้ว ผมมองว่า Ginger อาจจะคือหนึ่งในนั้น

ความสามารถของ Ginger ที่เหมือนกับ Grammarly มีดังต่อไปนี้

  • ตรวจเช็คและแก้ไขแกรมม่าแบบ Real-time และนำเสนอวิธีการแก้ไขเชิงภาษาได้ทุกรูปแบบ
  • ใช้ใน Browser และ app ใน desktop อย่างเช่น Microsoft Office ได้
  • แก้ไขสิ่งที่ผิดแบบอัตโนมัติได้
  • มีเวอร์ชันแบบเว็บไซต์ให้ใช้
  • ใช้ฟรี
Ginger

อย่างไรก็ดี Ginger มีฟีเจอร์อื่นที่ต่างไปจาก Grammarly นั่นคือ

  • แปลสิ่งที่คุณเขียนเป็นภาษาได้มากถึง 40 ภาษา
  • ค้นหา Synonyms ได้ ทำให้งานเขียนของคุณแพรวพราวไปด้วยคำศัพท์
  • เก็บสิ่งที่คุณเคยเขียนผิดพลาดมาเป็นแบบฝึกหัดในเว็บเพื่อพัฒนาทักษะการเขียนของคุณ
  • สามารถให้ตัวเครื่องมืออ่านสิ่งที่คุณเขียนได้ด้วยสำเนียงของเจ้าของภาษา (ดีมากสำหรับการเตรียมตัวสำหรับการพรีเซนต์งานต่างๆ)

คำแนะนำ

ฟีเจอร์ที่เพิ่มเข้ามาทำให้ Ginger ดูเหมือนเป็น app เรียนภาษามากกว่า Grammarly ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ อย่างไรก็ดีถ้าพูดถึงคุณภาพในการแก้ไขแล้ว ผมมองว่าการแก้ไขของ Grammarly ดีกว่าการแก้ไขของ Ginger เพราะมีคำอธิบาย ในขณะที่ Ginger ไม่มี

เหนือสิ่งอื่นใด ความน่ารำคาญที่สุดของ Ginger คือ ถ้าคุณใช้โปรแกรมตรวจเช็คแกรมม่าอยู่ (โดยเฉพาะแบบฟรี) มันจะมีโฆษณาแบบ pop-up ขึ้นมาครับ ซึ่งผมมองว่า offensive กับผู้ใช้มาก ดังนั้นสำหรับผมแล้ว ผมชอบ Grammarly มากกว่ามากเลยครับ

8. LanguageTool

LanguageTool เป็นอีกเครื่องมือตรวจสอบแกรมม่าที่มาแรง LanguageTool สามารถใช้กับ Browser อย่างเช่น Google Chrome และสามารถแก้ไขแกรมม่า และปัญหาในการเขียนภาษาอังกฤษอื่นๆได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่แพ้กัน แถมยังสามารถแก้ได้แบบทันทีเช่นเดียวกับ Grammarly ด้วย

ตัวอย่างการแก้ไขของ LanguageTool ใน WordPress

จุดเด่นสำคัญของเครื่องมือตัวนี้คือ มันสามารถแก้ไข grammar และรูปแบบภาษาในภาษาอื่นได้มากถึง 20 ภาษา อาทิเช่นภาษาสเปน ภาษาฝรั่งเศส หรือแม้กระทั่งภาษารัสเซียและภาษาจีน

ถ้าคุณเขียนบทความภาษาเหล่านี้ Languagetool จะเป็นตัวช่วยที่สำคัญของคุณเลยทีเดียว ถ้าคุณไม่ใช้ ประโยชน์ของ LanguageTool ก็จะลดลงไป

อย่างไรก็ดีปัญหาสำคัญของ LanguageTool คือ การแก้แต่ละครั้งจะจำกัดตัวอักษรอยู่ที่ครั้งละ 20,000 ตัวอักษรในแบบฟรี และ 40,000 ตัวอักษรในแบบพรีเมียม นอกจากนี้แบบฟรียังไม่สามารถใช้ได้กับ Microsoft Office ได้อีกด้วย ทำให้ศักยภาพของมันตกลงไปเยอะเลยครับ

คำแนะนำ

เนื่องจากการใช้งานแบบฟรีของ LanguageTool ค่อนข้างจำกัด ผมจึงแนะนำว่าใช้เฉพาะในกรณีที่คุณต้องการตรวจเช็คแกรมม่าในภาษาอื่นเท่านั้น เพราะสำหรับภาษาอังกฤษแล้ว Grammarly แบบฟรียังเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าครับ

9. GradeProof

GradeProof เป็นเครื่องมือที่น่าสนใจมากๆ สำหรับการตรวจเช็ค grammar คุณสามารถใช้ GradeProof ได้กับ browser ต่างๆ รวมไปถึง Microsoft Word และเช็คบนเว็บไซต์ด้วย

นอกจากนี้เครื่องมือของ GradeProof ยังสามารถแก้ไขความผิดพลาดทางภาษาอังกฤษแบบ real-time เช่นเดียวกับ Grammarly และยังอธิบายได้อย่างชัดเจนในระดับหนึ่ง

GradeProof

อย่างไรก็ดีสำหรับเครื่องมือที่ให้ใช้ฟรี ของ GradeProof ค่อนข้างจำกัด นั่นคือการตรวจเช็ค grammar ของ GradeProof จะไม่ครอบคลุมแกรมม่าระดับสูงขึ้นอย่างเช่น การใช้คำซ้ำซ้อน หรือการใช้คำที่ไม่เหมาะสม ทำให้เทียบกันแล้ว ผมมองว่า Grammarly ดีกว่ามาก เพราะไม่มีข้อจำกัดตรงนี้เลย

10. Gramara

Gramara เป็นโปรแกรมตรวจแกรมม่าที่ใช้งาน machine learning ที่ทำให้การตรวจสอบแม่นยำมากขึ้น ทำให้เป็นหนึ่งเครื่องมือที่อาจจะเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกของคุณ

จากที่ผมได้ทดลองคร่าวๆ พบว่าการตรวจแกรมม่าของ Gramara ทำได้ดีมาก และสามารถหาจุดผิดพลาดที่ตัวอื่นๆ หาไม่เจอได้มากมาย (เช่นเดียวกับ Sapling) ทำให้ผมประทับใจในตัวเครื่องมือไม่น้อย

Gramara
Gramara

อย่างไรก็ดี User Interface ของ Gramara ค่อนข้างแย่ เพราะมีค้าง โดยเฉพาะเมื่อคุณ Paste บทความที่มีความยาวมากกว่า 1,000 คำขึ้นไป นอกจากนี้ยังไม่สามารถให้คำแนะนำใดๆ อื่นๆ นอกจากแกรมม่าได้เลยครับ แถมการแก้ไขยังต้องแก้บนเว็บของ Gramara เท่านั้น

Gramara ให้ทุกคนใช้ตรวจแกรมม่าได้ฟรี แต่จะจำกัดที่ 1,000 คำต่อวัน ถ้าคุณต้องการนำข้อจำกัดตรงนี้ออกไป คุณจะต้องสมัครสมาชิกในราคาเริ่มต้นที่ $8 หรือประมาณ 240 บาทต่อเดือนครับ

โปรแกรมเช็คแกรมม่าอื่นๆ

นอกจากเว็บไซต์ด้านบนแล้วยังมีโปรแกรมอื่นๆ ที่ช่วยตรวจแกรมม่าได้อีกหลายตัว อย่างไรก็ดีผมพบว่าเครื่องมือเหล่านี้มีปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งทำให้คุณภาพไม่อาจเทียบได้กับตัวที่แนะนำไปแล้วครับ

Slick Write – อีกโปรแกรมตรวจแกรมม่าที่มีการเริ่มต้นใช้งานที่สะดวกสบาย และสามารถวิเคราะห์โครงสร้างของงานเขียนของคุณได้ อย่างไรก็ดีผมพบว่าการแก้ไขมีความผิดพลาดอยู่บ่อยครั้ง ผมจึงไม่แนะนำครับ

Reverso – อีกเครื่องมือตรวจแกรมม่าที่ใข้งานเบื้องต้นได้ฟรี แต่ถ้าเทียบเรื่องคุณภาพแล้วยังห่างไกลกับเครื่องมือระดับเรือธงของบริษัทเดียวกันอย่าง Ginger ครับ

สรุป: ใช้เว็บไซต์ไหนตรวจเช็คแกรมม่าดี?

จากเครื่องมือทั้งหมด 10 ตัวที่ใช้ตรวจเช็คแกรมม่าแบบอัตโนมัติ ผมมองว่า Grammarly ยังเป็นอันดับ 1 อย่างเป็นเอกฉันท์ ทั้งเรื่องประสิทธิภาพ ความสะดวกสบายในการใช้งาน โดยเฉพาะถ้าคุณใช้แบบฟรีครับ

แต่ถ้าคุณคิดจะเสียเงินซื้อแบบพรีเมียม ผมแนะนำว่าให้ลองเปรียบเทียบ Grammarly กับ Linguix, ProWritingAid, GradeProof หรือ Ginger ดูครับ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือคุณต้องลองใช้ด้วยตัวเองก่อน ซึ่งแทบทุกตัวมีให้ลองใช้ฟรีครับ

อย่างไรก็ดีถ้าเรื่องความแม่นยำในการตรวจแกรมม่าไม่นับการตรวจรูปแบบอื่น ผมมองว่า Sapling แม่นยำที่สุด และหาข้อผิดพลาดได้มากที่สุดอย่างชัดเจนครับ

ส่วนใครที่ทำ Content Marketing เป็นภาษาอังกฤษ หรือเปิดเว็บไซต์ Dropshipping และ e-commerce ผมแนะนำให้ใช้เครื่องมือตรวจแกรมม่าเหล่านี้สักตัวหนึ่งตรวจสอบความถูกต้องของสื่อทุกชนิดก่อนที่จะส่งไปถึงสายตาลูกค้า เพราะจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือของคุณได้อย่างมากเลยครับ

Pun Anansakunwat
Pun Anansakunwathttps://victorytale.com/about-victorytale/
ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Victory Tale ผมชื่นชอบในหลากหลายสาขาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ การท่องเที่ยว เทคโนโลยี ไปจนถึงการลงทุน หลังจากที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) ผมก็ได้เป็นนักลงทุนในหุ้น, ติวเตอร์, นักเขียน (ตีพิมพ์ไปแล้ว 3 เล่ม) และในปัจจุบันก็เป็นเจ้าของเว็บไซต์ครับ

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!