ประวัติศาสตร์ไฟไหม้ใหญ่กรุงโรมเป็นผลงานของ "เนโร" จักรพรรดิโรมันจริงหรือ?

ไฟไหม้ใหญ่กรุงโรมเป็นผลงานของ “เนโร” จักรพรรดิโรมันจริงหรือ?

ถ้าพูดถึง “ไฟไหม้” แล้ว ประเทศไทยเองก็มีเหตุการณ์ไฟไหม้ใหญ่อยู่หลายครั้ง เช่นไฟไหม้กรุงศรีอยุธยาก่อนที่กรุงจะแตกในช่วงเสียกรุงครั้งที่ 2 บ้าง หรือไฟไหม้ที่เกิดไม่นานมานี้อย่าง ไฟไหม้โรงแรมรอยัลจอมเทียน หรือไฟไหม้ซานติก้าผับเป็นต้น

แต่ไฟไหม้ทุกครั้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยล้วนแต่เป็น “อุบัติเหตุ” มิใช่ “การวางเพลิง”

หากแต่ว่าหนึ่งในเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์โลกอย่าง ไฟไหม้กรุงโรมในปี ค.ศ.64 กลับมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่าเป็นผลงานของเนโร (Nero) หรือ นีโร จักรพรรดิแห่งโรมในเวลานั้น

เรามาดูกันดีกว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่เนโรจะเป็นผู้วางเพลิงเมืองหลวงของตัวเอง

ไฟไหม้ใหญ่กรุงโรม

ไฟไหม้ใหญ่แห่งกรุงโรม

ไฟไหม้ใหญ่แห่งกรุงโรม (Great Fire of Rome) เป็นไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในคืนวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ.64 ไฟเริ่มต้นลุกลามจากร้านค้าที่ขายสินค้าที่ติดไฟได้ง่ายใกล้กับโรงละครสัตว์ ไฟลุกลามไปอย่างรวดเร็วเพราะคืนนั้นมีลมแรงมาก

บริเวณที่เกิดไฟไหม้เป็นย่านแออัดของเมืองทำให้ไม่มีพื้นที่ว่างใดๆ ที่จะสกัดกั้นเพลิงได้เลย ชาวโรมันใช้เวลาถึงหกวันกว่าจะควบคุมเพลิงไว้ได้ทั้งหมด แต่เรื่องแปลกประหลาดกลับเกิดขึ้นเพราะเพลิงที่ดับไปแล้วกลับลุกขึ้นมาใหม่ และเผาผลาญอาคารบ้านเรือนไปอีกถึงสามวันด้วยกัน รวมแล้วใช้เวลาไปถึง 9 วันกว่าเพลิงจะดับลงอย่างสมบูรณ์

กรุงโรมเสียหายหนักมากจากไฟไหม้ครั้งนี้ โดยรวมแล้ว 2 ใน 3 ของกรุงโรมถูกเพลิงเผาผลาญจนเสียหายยับเยิน จาก 14 เขตในกรุงโรม 3 เขตพินาศยับเยิน 7 เขตได้รับความเสียหายอย่างหนัก ส่วนอีก 4 เขตรอดพ้นไปได้ วิหารสำคัญๆ หลายแห่งถูกทำลายย่อยยับ

ข้อกล่าวหาต่อเนโร

หลักฐานทั้งหมดที่เรามีเกี่ยวกับไฟไหม้ใหญ่ครั้งนี้มาจากนักประวัติศาสตร์โรมัน 3 คนได้แก่ ตาชิตุส (Tacitus) ซูโทนิอุส (Suetonius) และ คาสซิอุส ดิโอ (Cassius Dio) ซึ่งทั้งสามคนนี้ไม่ใช่ผู้เห็นเหตุการณ์จริง หลักฐานของพวกเขาจึงไม่ใช่หลักฐานชั้นต้น หลักฐานที่สามารถเป็นหลักฐานชั้นต้นได้ไม่ได้เหลือรอดมาถึงปัจจุบัน

ดังนั้นเราจึงต้องฟังหูไว้หูอย่างมากกับสิ่งที่ผมจะเล่าต่อไป

ข้อมูลจากตาซิตุส

ตาซิตุสเล่าว่าในเวลานั้นชาวโรมันลือกันว่า เนโรได้ส่งคนออกไปวางเพลิงกรุงโรม ระหว่างที่กรุงโรมกำลังมีไฟไหม้ใหญ่ เนโรได้หลบอยู่ในที่ปลอดภัยและร้องเพลงเล่นระหว่างที่ประชาชนกำลังหนีตาย อย่างไรก็ตามเนโรได้อนุญาตให้ชาวบ้านหนีไฟเข้ามาในสวน และพื้นที่สาธารณะได้ และยังให้นำเสบียงมาแจกจ่ายด้วย

ในเรื่องผู้เสียชีวิต ตาซิอุสให้ข้อมูลว่าจำนวนไม่ได้มากนัก แต่เพลิงได้ทำลายอาณาบริเวณส่วนใหญ่ในกรุงโรมจนย่อยยับ

หลังจากเหตุการณ์สงบลง มีกระแสและข่าวลือในหมู่ชาวโรมันว่าเนโรจงใจวางเพลิงกรุงโรมเพื่อสร้างเมืองและพระราชวังใหม่ เพราะจู่ๆ ไฟที่ถูกดับไปแล้วกลับลุกขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

ดังนั้นเพื่อเป็นการเอาตัวรอด เนโรจึงป้ายความผิดให้กับพวกชาวคริสต์ว่าเป็นผู้วางเพลิงและเริ่มการกวาดล้างชาวคริสต์อย่างรุนแรง

อย่างไรก็ตามตาซิตุสได้อธิบายไว้ด้วยว่า เรื่องที่เนโรเป็นผู้วางเพลิงกรุงโรมอาจจะไม่ใช่เรื่องจริงก็เป็นได้ ตัวเขาแค่เล่าเรื่องที่บันทึกไว้เท่านั้น และได้ให้ข้อมูลทั้งสองฝั่งแล้ว (เนโรเป็นผู้วางเพลิง vs เนโรเป็นผู้ช่วยเหลือประชาชน)

หลักฐานของตาซิตุสจึงจัดว่าเป็นกลางมากที่สุด เพราะสองคนถัดมาให้ข้อมูลแบบฟันธง 100% ว่าเนโรเป็นผู้ทำแน่นอน

ข้อมูลจากคาสซิอุส ดิโอ

คาสซิอุส ดิโอเล่าว่า ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ เนโรเคยมักกล่าวอยู่บ่อยๆ ว่ากษัตริย์เพรียมแห่งทรอย (ในมหากาพย์อิเลียด) โชคดีที่ได้เห็นบัลลังก์และอาณาจักรของตนเองถูกทำลายไปพร้อมกัน เนโรจึงอยากจะมีประสบการณ์แบบนั้นบ้าง

ดังนั้นในคืนวันหนึ่ง เนโรจึงให้คนปลอมตัวเป็นคนเมาไปจุดไฟขึ้น 2-3 จุดในเมือง ชาวโรมันจะได้สับสนและไม่สามารถดับได้ทันเวลา นอกจากนี้คนของเนโรที่ทำทีมาช่วยยังจุดไฟเผาเพิ่มเติมด้วย ส่วนกองทหารที่อยู่ในเมืองก็สนใจแต่การปล้นสะดมทรัพย์สินชาวบ้าน และไม่ช่วยในการดับไฟแต่อย่างใด

ระหว่างที่เพลิงกำลังเผาไหม้ เนโรขึ้นไปอยู่หลังคาในพระราชวังนอกเมืองของเขาเพื่อชมไฟไหม้ดังกล่าว และร้องเพลงชื่อว่า “การพิชิตกรุงทรอย” ซึ่งเขาเป็นผู้แต่งมันขึ้นมาเอง

เหล่าชาวโรมันเสียชีวิตในกองเพลิงไปนับไม่ถ้วน คนที่เหลืออยู่ต่างรู้ดีว่าใครเป็นผู้วางเพลิง แต่ไม่มีใครกล้าด่าเนโรตรงๆ เพราะเนโรเป็นจักรพรรดิ ชาวโรมันจึงด่าและแช่งสาปเนโรอ้อมๆโดยผ่านคำว่า “ผู้วางเพลิง” นั่นเอง

นอกจากนี้เนโรยังเก็บเงินมากมายจากชาวโรมัน โดยใช้ไฟไหม้เป็นข้ออ้าง ทำให้ชาวโรมันที่เดือดร้อนจากไฟไหม้อยู่แล้วสิ้นเนื้อประดาตัว

ข้อมูลจากซูโทนิอุส

นักประวัติศาสตร์ที่บันทึกเรื่องนี้เป็นคนสุดท้ายคือ ซูโทนิอุส โดยมีความดังต่อไปนี้

ก่อนที่จะมีไฟไหม้ใหญ่ มีผู้เคยกล่าวกับเนโรว่า

ตอนที่ฉันตาย ขอให้ไฟเผาผลาญโลกใบนี้เสีย

แต่เนโรกลับเสนอว่า ในท่อน “ตอนที่ฉันตาย” ควรจะเปลี่ยนเป็น

ตอนที่ฉันยังมีชีวิตอยู่

หลังจากนั้นเนโรก็เริ่มคิดจริงจังกับการทำลายกรุงโรมด้วยไฟ ต่อมาไม่นานเนโรทำเป็นรู้สึกเกลียดชังถนนแคบๆ เก่าแก่ของกรุงโรมที่สร้างมาแล้วหลายร้อยปี ดังนั้นเนโรจึงมีคำสั่งให้วางเพลิงทำลายกรุงโรมเสีย

เหล่ากงสุลและสภาเซเนตล้วนแต่ไร้อำนาจ พวกเขาไม่มีใครกล้าขัดขวางเนโร ทุกอย่างจึงดำเนินไปอย่างสะดวกโยธิน เนโรได้ให้คนใช้อาวุธหนักถล่มกำแพงคลังเสบียงเพื่อที่จะเข้าไปวางเพลิงเผาข้างในด้วย หลังจากที่เพลิงสงบลง ซูโทนิอุสเล่าว่าสิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์และศิลปะหลายแห่งกลับรอดมาได้

ระหว่างที่เพลิงกำลังไหม้ ซูโทนิอุสเล่าว่าเนโรอยู่ที่สวนของเขาและกำลังมีความสุขกับ “ความงามของเพลิง” และร้องเพลง “การล่มสลายของกรุงทรอย” จากต้นจนจบ

หลังจากไฟสงบลง เนโรอนุญาตให้นำศพไปฝังโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ไม่อนุญาตให้ใครค้นหาสิ่งของมีค่าใดๆ ในซากปรักหักพัง เพราะว่าเนโรต้องการข้าวของดังกล่าวเอาไว้เอง หลังจากนั้นเนโรได้เปิดกองทุนช่วยเหลือโดยบีบบังคับให้ผู้เสียหายจากไฟไหม้เป็นผู้จ่ายเงินดังกล่าวเอง!

เนโรทำจริงหรือไม่จริง

ถ้าลองพิจารณาจากข้อมูลทั้งสามแหล่งแล้ว เราจะพบว่ามีความแตกต่างกันไม่มากนัก โดยเฉพาะระหว่างฉบับของคาสซิอุส ดิโอ และฉบับของซูโทนิอุส

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลสำคัญบางส่วนกลับแตกต่างกัน เช่นตาซิตุสบอกว่าผู้เสียชีวิตมีไม่มาก แต่อีกสองคนบอกว่ามีมาก หรือ ตาซิตุสบอกว่าเนโรช่วยเหลือประชาชน แต่อีกสองคนบอกว่าเนโรซ้ำเติมประชาชน

อย่างไรก็ตามในทั้งสามคนนี้ มีแต่ตาซิตุสคนเดียวที่ “อาจจะ” เคยได้เห็นไฟไหม้ใหญ่กรุงโรมจริงๆ แต่ในเวลานั้นเขาอายุแค่ 8 ขวบเท่านั้นเอง อีกสองคนล้วนแต่เกิดไม่ทันทั้งสิ้น

ทั้งคาสซิอุส ดิโอ และซูโทนิอุสจึงต้องเขียนพงศาวดารโดยอ้างอิงกับหลักฐาน ตำนาน และข่าวลือที่อาจจะเชื่อถือไม่ได้ ในเวลาต่อมาเนโรเองก็เป็นที่เกลียดชังของชาวโรมัน และประสบชะตากรรมไม่ต่างกับคาลิกูล่าด้วย ข่าวลือเลวร้ายของเนโรย่อมมีมาก ทำให้งานเขียนของทั้งสองไม่เป็นกลางก็เป็นได้

ดังนั้นเราควรให้น้ำหนักกับหลักฐานของตาซิตุสมากที่สุด ทว่าตาซิตุสเองก็ไม่อาจสรุปได้เช่นกันว่าเนโรวางเพลิงจริงหรือไม่ ผมจึงมองว่าเนโรอาจจะวางเพลิงจริง เพราะต้องการจะสร้างวังใหม่ (ซึ่งก็สร้างจริงๆ ในเวลาต่อมา) แต่ไม่ได้ต้องการทำให้ประชาชนล้มตาย เห็นได้จากการที่เนโรให้ประชาชนหลบหนีเข้ามาในพื้นที่ของเขาเอง

อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นการคาดเดาเท่านั้น เนโรจะทำจริงหรือไม่จริงกลายเป็นปริศนาที่ใครไม่อาจจะตอบได้

Sources:

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!