ประวัติศาสตร์เหตุการณ์ไฟไหม้โรงแรมรอยัลจอมเทียนรีสอร์ทที่ยากจะลืมเลือน

เหตุการณ์ไฟไหม้โรงแรมรอยัลจอมเทียนรีสอร์ทที่ยากจะลืมเลือน

ช่วงก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง เป็นช่วงที่ประเทศไทยเติบโตก้าวกระโดด ชาวต่างชาติจำนวนมากเข้ามาลงทุนในประเทศไทย พัทยากลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่คลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวจากนานาชาติ

โรงแรมรอยัลจอมเทียนรีสอร์ทเป็นโรงแรมใหญ่ที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองพัทยา เช้าวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2540 ก็เหมือนกับวันทั่วไป พนักงานโรงแรมทุกคนต่างคอยต้อนรับแขกที่มาพัก พ่อครัวก็ทำอาหารเช้าให้แขกรับประทานตามปกติ ไม่มีใครคาดคิดว่าคนจำนวนมากกำลังจะต้องจบชีวิตในวันนั้นเลย

Image by István Asztalos from Pixabay

ไฟไหม้โรงแรม

ตอนเก้าโมงเช้า พนักงานโรงแรมคนหนึ่งในครัวของโรงแรมถอดสายยางส่งแก๊สออกจากถัง โดยที่ไม่ได้ปิดวาล์วแก๊ส ส่งผลให้แก๊สที่อยู่ในถังไหลออกมาในบริเวณครัวที่พ่อครัวและแม่ครัวทั้งหลายกำลังทำอาหารอยู่

แก๊สดังกล่าวติดไฟจากความร้อนและไฟที่ใช้ทำอาหารจากเตาข้างๆ ส่งผลให้เกิดเพลิงลุกไหม้บริเวณห้องครัวขึ้นมาอย่างรวดเร็ว พนักงานโรงแรมได้ช่วยกันดับไฟ แต่พนักงานโรงแรมจอมเทียนกลับขาดประสบการณ์ อุปกรณ์ดับเพลิงที่สมควรจะมีก็กลับไม่มีในสถานที่อย่างห้องครัว ไฟที่เกิดจากการปะทุจากแก๊สเองก็รุนแรงเกินกว่าพนักงานที่ไม่ใช่มืออาชีพจะดับได้โดยง่าย

ไฟลุกลามไปอย่างรวดเร็ว เจ้าหน้าที่โรงแรมเห็นว่าควบคุมไฟไว้ไม่ได้อีกแล้ว เจ้าหน้าที่จึงออกคำสั่งให้แขกที่เข้าพักและประชุมออกจากบริเวณโรงแรมอย่างรวดเร็ว แต่การอพยพทำไม่ได้ง่ายๆ เพราะแขก ณ เวลานั้นมีจำนวนมากถึง 500 คน

หนีไม่ได้

ประเด็นที่ร้ายแรงที่สุดคือ นอกจากการออกแบบบันไดหนีไฟที่ผิดหลักทางวิศวกรรมแล้ว ผู้บริหารโรงแรมยังใช้ทางหนีไฟเป็นสถานที่เก็บของ สิ่งของจำนวนมากอย่างเก้าอี้ถูกวางกองไว้ที่จุดที่ผู้คนจำนวนมากจะใช้หนีไฟ ประตูหนีไฟบางแห่งก็ถูกปิดตาย ไม่สามารถใช้เข้าออกได้ แขกในโรงแรมจึงไม่ต่างอะไรกับการติดอยู่ในกับดักที่ไม่มีทางหนีออกไปได้

ด้วยเหตุนี้แขกนับร้อยจึงติดอยู่ในตัวโรงแรมที่กำลังไหม้ไฟ พวกเขาถูกล้อมด้วยควันไฟและเพลิงที่ลุกไหม้อย่างรวดเร็วจากชั้น 1 ไปถึงชั้นสูงสุดนั่นคือชั้น 16

ฝ่ายเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเร่งมาที่โรงแรมทันที แต่ไฟลุกลามเร็วเกินกว่าที่จะควบคุมเอาไว้ได้ รถดับเพลิงที่นำมาก็สามารถฉีดน้ำดับไฟได้เพียง 10 ชั้นเท่านั้น แต่โรงแรมมีถึง 16 ชั้นด้วยกัน เจ้าหน้าที่จึงไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ด้านในได้เลย

เมื่อเวลาผ่านไป แขกบางคนพากันหนีตายไปที่ดาดฟ้าโรงแรมเพื่อรอการช่วยเหลือ แขกจำนวนนี้ส่วนมากรอดชีวิตเพราะเจ้าหน้าที่ได้นำเฮลิคอปเตอร์ของกรมตำรวจขึ้นไปรับลงมาได้สำเร็จ

ในทางตรงกันข้าม แขกบางคนโชคร้ายติดอยู่ในห้อง แต่ละคนโบกมือขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่อย่างสุดกำลังขณะที่ควันไฟและเพลิงไล่หลังมาทุกที

แขกบางคนไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากยอมกระโดดลงมาสู่พื้นเบี้องล่างเพื่อที่จะวัดดวงชะตาว่าอาจจะรอดตาย แต่พวกเขาทุกคนตกลงมากระแทกพื้นเสียชีวิต

ผู้เสียชีวิต

เมื่อเพลิงสงบลง เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสภาพโรงแรม ภาพที่ทุกคนล้วนแต่น่าโศกสลด ร่างหลายสิบร่างถูกไฟเผาไหม้เกรียมอยู่ใกล้กับบันไดหนีไฟที่ปิดตาย กลิ่นศพถูกเผาไหม้คละคลุ้งไปทั่วอาณาบริเวณ เจ้าหน้าที่ยังได้พบว่าอุปกรณ์ที่ใช้ป้องกันไฟอย่างปั้มน้ำดับเพลิงไม่สามารถใช้ได้ นี่จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไฟลุกไหม้ไปทั่วทุกชั้นอย่างไม่มีอะไรสกัดกั้นได้เลย

ศพที่ถูกลำเลียงออกมายังภายนอกพบว่ามีถึง 91 ศพ นอกจากนี้ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากไฟไหม้จำนวนมาก บางคนต้องมีร่องรอยของอุบัติเหตุวันนั้นบนร่างกายไปตลอดชีวิต

สาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้เรียกได้ว่าเกิดจาก “การประมาท” อีกครั้งของผู้ประกอบการไทย ไม่ต่างกับ เหตุการณ์แก๊สระเบิดที่ถนนเพชรบุรี และ ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์

ไฟไหม้ที่โรงแรมรอยัลจอมเทียนครั้งนี้ทำให้เจ้าของกิจการโรงแรมไทยตื่นตัว มีการจัดหาอุปกรณ์ที่ดีขึ้นเพื่อป้องกันเหตุไฟไหม้ ระเบียบในโรงแรมมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นทั้งในห้องครัว และเส้นทางหนีไฟ หน่วยงานราชการก็เคร่งครัดมากขึ้นกับเรื่องดังกล่าว ทำให้โรงแรมต่างๆ ของประเทศไทยปลอดภัยมากขึ้น นับตั้งแต่บัดนั้นไฟไหม้ลักษณะนี้ที่สร้างความเสียหายขนาดนี้จึงแทบไม่เคยเกิดในโรงแรมไทยอีกเลย

อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ไฟไหม้ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากยังเกิดขึ้นในประเทศไทยอยู่ดี อย่างเช่น เหตุการณ์ไฟไหม้ซานติก้าผับ หรือว่าเคสผับที่ชลบุรีที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้นั่นเอง

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!