ประวัติศาสตร์หม่อมเจ้าบันลุศิริศานต์ ดิศกุล: ท่านหญิงผู้จากไปเพราะโรคพิษสุนัขบ้า

หม่อมเจ้าบันลุศิริศานต์ ดิศกุล: ท่านหญิงผู้จากไปเพราะโรคพิษสุนัขบ้า

โรคพิษสุนัขบ้า หรือ โรคกลัวน้ำ (Rabies) เป็นโรคของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมรวมทั้งมนุษย์ ถ้าใครติดเชื้อและแสดงอาการจะต้องตายสถานเดียว ปัจจุบันยังไม่มีทางรักษาโรคพิษสุนัขบ้าในกรณีที่ปรากฏอาการขึ้นมาได้

ท่านทราบหรือไม่ว่ามีเจ้าหญิงแห่งราชวงศ์จักรีผู้หนึ่งถึงชีพิตักษัยโดยโรคดังกล่าวด้วยเช่นกัน

หม่อมเจ้าหญิงบันลุศิริศานต์ ดิศกุล หรือท่านหญิงเภา ทรงเป็นธิดาของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับหม่อมเจิม ดิศกุล ณ อยุธยา

กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงเล่าเหตุการณ์การสิ้นชีวิตของท่านหญิงเภาไว้อย่างละเอียดในพระนิพนธ์ของพระองค์เรื่อง นิทานโบราณคดี

ในปี ค.ศ 2455 พระบา่ทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้เสด็จแปรพระราชฐานไปยังพระราชวังสนามจันทร์ ซึ่งท่านหญิงเภาได้ตามเสด็จไปด้วย

Cr: Jeffrey Finestone/Wikipedia

ปรากฎว่าจู่ๆกลับมีสุนัขบ้าวิ่งเข้ามาในพระราชฐาน เจ้าหญิงและข้าราชบริพารต่างวิ่งหนีสุนัขบ้า แต่ท่านหญิงเภากลับทรงสะดุดหกล้ม อันเป็นเหตุให้สุนัขบ้ากัดท่านหญิง เกิดเป็นรอยเขี้ยว 2 แผล

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบความ พระองค์จึงตรัสให้กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงส่งท่านหญิงเภาไปยังรักษาที่เมืองไซ่ง่อน (โฮจิมินห์ในปัจจุบัน) ซึ่งในขณะนั้นเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส

ที่เมืองไซ่ง่อนมีสถาบันปาสเตอร์ ของหลุยส์ ปาสเตอร์ ผู้ค้นพบและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้เป็นคนแรก (ร่วมกับ Émile Roux)

วิธีการผลิตของวัคซีนปาสเตอร์ไม่ได้ซับซ้อนมากนัก กล่าวคือผลิตวัคซีนโดยการเพาะเชื้อในตัวกระต่ายก่อน หลังจากนั้นจึงทำให้มันอ่อนแอด้วยการทำเนื้อเยื่อประสาทของกระต่ายให้แห้ง เชื้อที่อ่อนแอสามารถทำให้ร่างกายมนุษย์สร้างภูมิคุ้มกันโรคพิษสุนัขบ้าขึ้นมาได้

แต่ ณ เวลานั้น กลับเป็นคราวเคราะห์ของท่านหญิงเภา เพราะเรือที่จะไปไซ่ง่อนได้ออกเดินทางไปแล้ว ทำให้ท่านหญิงต้องรอเรืออีก 15 วัน ถึงจะมีเรือลำใหม่มา หลังจากนั้นไม่นานท่านหญิงเภาจึงมีอาการของโรคพิษสุนัขบ้า

กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเชิญแพทย์ชาวตะวันตกมาตรวจดูอาการ แต่แพทย์ทุกนายก็เรียนให้พระองค์ทราบว่าหมดวิธีการรักษาแล้ว ท่านหญิงเภาจึงถึงชีพิตักษัยในไม่นาน เธอมีอายุได้เพียง 13 พรรษาเศษ

การสิ้นชีพิตักษัยของท่านหญิงเภาทำให้กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเสียพระทัยเป็นอย่างยิ่ง ในเวลาต่อมาเมื่อนายแพทย์ชาวฝรั่งเศสได้ทูลให้พระองค์ทรงก่อตั้งสถานปาสเตอร์ขึ้นในกรุงเทพมหานคร พระองค์จึงทรงเห็นด้วยในทันที

กรมพระยาดำรงราชานุภาพโปรดให้มีการเรี่ยไรเงินเพื่อก่อตั้งสถานปาสเตอร์ขึ้น ปรากฎว่ามีผู้บริจาคเงินจำนวนมาก สถานปาสเตอร์จึงได้ก่อตั้งขึ้นในกรุงเทพ ในเวลาต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้ในการสร้างอาคารของสถาบันปาสเตอร์ ปัจจุบันนี้สถานปาสเตอร์ดังกล่าวก็คือ “สถานเสาวภา” นั่นเอง

ท่านใดที่เลี้ยงสุนัขหรือแมว หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมใดๆ ก็ตาม โปรดนำสัตว์เลี้ยงของท่านไปฉีดวัคซีนด้วยเถิดครับ

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!