ประวัติศาสตร์"หมากรุกจีน" เล่นอย่างไร มีความเป็นมาอย่างไรในหน้าประวัติศาสตร์

“หมากรุกจีน” เล่นอย่างไร มีความเป็นมาอย่างไรในหน้าประวัติศาสตร์

เซี่ยงฉี (Xiangqi, 象棋) หรือที่คนไทยนิยมเรียกกันว่า “หมากรุกจีน” เป็น “หมากรุก” ที่สนุกและเพลิดเพลินไม่แพ้หมากรุกไทย หรือ หมากรุกสากล สำหรับตัวผมแล้ว ผมชอบหมากรุกจีนมากที่สุดในบรรดาหมากรุกทุกรูปแบบที่เคยเล่นมา

เรามาดูกันความเป็นมาของหมากรุกจีนก่อนว่าเป็นอย่างไร หลังจากนั้นเราค่อยไปดูเรื่องวิธีเล่นเป็นลำดับต่อไปครับ

ตัวหมากรุกจีนสมัยราชวงศ์ซ่ง By Gary Lee Todd – Luoyang Museum, CC BY-SA 4.0,

ความเป็นมาของหมากรุกจีน

หมากรุกจีนนี้มีประวัติความเป็นมาที่เก่าแก่มาก หรือสามารถย้อนไปได้ถึงอย่างน้อยในยุคจ้านกว๋อเลยทีเดียว มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวว่าหมากรุกจีนเป็นสิ่งที่เมิ่งฉางจวิน สมุหนายกแคว้นฉีชื่นชอบเล่น นอกจากนี้บ้างยังว่าจ้าวคว่อ แม่ทัพที่พ่ายยับในสมรภูมิที่ฉางผิงเล่นหมากรุกจีนเก่งมาก แต่ไม่เก่งในสมรภูมิจริง

อย่างไรก็ตามนักประวัติศาสตร์บางคนได้เสนอว่า หานสิ้น แม่ทัพของหลิวปังผู้เอาชนะเซี่ยงอวี่เป็นผู้คิดค้นมันขึ้นมา อนึ่งเพราะว่าในหมากรุกจีนแบบดั้งเดิม บริเวณ “แม่น้ำ” มีตัวอักษรจีนคำว่า “พรมแดนฝ่ายฉู่/ฮั่น” เขียนลงไปด้วย

เซี่ยงฉีหรือหมากรุกจีนยังเป็นที่นิยมอย่างสูงตลอดระยะเวลาสองพันปี ในปัจจุบันมันก็ยังเป็นหนึ่งในบอร์ดเกมที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในประเทศจีนและเวียดนาม

วิธีเล่น หมากรุกจีน

หมากรุกจีนมีจุดเด่นคือมีกระดานที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวต่างกับหมากรุกอื่นๆ ที่คนไทยคุ้นเคย อย่างเช่นในรูปด้านล่างนี้ นี่เป็นกระดานแบบสมบูรณ์ตามแบบปัจจุบัน สังเกตว่าตัวของหมากรุกจีนจะตั้งอยู่ที่บริเวณจุดตัดของเส้นสองเส้น

จากกระดานเราจะเห็นว่ามีการแบ่งฝั่งอย่างชัดเจน เป็นฝั่งเรา และฝั่งคู่ต่อสู้ ส่วนตรงกลางเรียกว่า “แม่น้ำ” สำหรับส่วนที่มีเส้นแนวทแยง เรียกว่า “วัง” ทั้งสองมีบทบาทสำคัญมากในการเล่นหมากรุกจีน

เรามาดูกันที่ตัวหมากดีกว่า

แม่ทัพ (ตี่)

ตัวแม่ทัพในหมากรุกจีนใช้ตัวอักษรต่างกันในสีที่ต่างกัน แต่มีความหมายใกล้เคียงกัน ตัวสีแดงอ่านว่าช่วย (帥) ส่วนตัวสีดำอ่านว่าเจี้ยง (将) แต่สำหรับคนไทยที่ได้รับอิทธิพลมาจากภาษาถิ่นจีนทางตอนใต้มาเยอะ เรามักจะเรียกว่า ตี่ ทั้งสองฝั่ง

สถานะของแม่ทัพในหมากรุกจีนเทียบเท่ากับ ขุนในหมากรุกไทย นั่นคือเป็นตัวที่สำคัญที่สุดในเกม ถ้าถูกกิน เกมจะจบลงด้วยความพ่ายแพ้ทันที

วิธีการเดินของแม่ทัพนี้ง่ายมาก ตามนี้

  • เดินเหมือนขุนในหมากรุกไทย แต่ห้ามเดินเฉียง ทำให้เดินได้เพียง 4 ช่องเท่านั้น ถ้าไม่มีตัวหมากใดๆ กั้นอยู่
  • เดินได้เฉพาะใน “วัง” หรือช่องที่มีเส้นทแยงเท่านั้น
  • วิธีการกินเหมือนกับวิธีการเดิน
แม่ทัพเดินได้เฉพาะในช่องทแยงเท่านั้น CC BY-SA 3.0,

อย่างไรก็ตามยังมีกฎพิเศษอีกข้อหนึ่งด้วย นั่นคือ ในแนวตั้ง ห้ามแม่ทัพทั้งสองฝ่ายหันหน้าชนกัน โดยไม่มีตัวหมากใดๆ กั้นขวางอยู่เป็นอันขาด กฎข้อนี้ทำให้แม่ทัพมีข้อจำกัดในการเดินเพิ่มมากขึ้นไปอีก

ดังนั้นถ้าเปรียบกับหมากรุกไทยแล้ว “แม่ทัพ” ในหมากรุกจีน อ่อนแอว่า “ขุน” ในหมากรุกไทยอย่างมาก ผู้เล่นจึงไม่อาจจะประมาทได้เลย เพราะภายในไม่กี่ตา อาจจะโดนรุกจนก็เป็นได้

หมากตัวรับ

องครักษ์ (ฉือ)

สำหรับตัวองครักษ์ใช้ตัวอักษรที่ต่างกันเล็กน้อย แต่ความหมายและออกเสียงเหมือนกัน นั่นคือ ชื่อ ในภาษาจีนกลาง แต่คนไทยมักเรียกว่า ฉือ หรือ สือ ความหมายของตัวนี้คือองครักษ์

วิธีการเดินขององครักษ์เรียบง่ายมากนั่นคือ

  • เดินเฉียงสี่ด้านเหมือน “เม็ด” ในหมากรุกไทย
  • ห้ามเดินออกจากนอก “วัง”
  • วิธีการกินเหมือนกับวิธีการเดิน

ด้วยข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้องครักษ์สามารถเดินได้แค่ 5 ช่องเท่านั้น แม้จะเดินได้น้อย หน้าที่ของมันสำคัญมากเพราะเป็นตัวป้องกันแม่ทัพ เหล่าองครักษ์จะแข็งแกร่งมากถ้าผูกมันไว้เป็นคู่ ถ้าเสียคู่มันไปเมื่อไรแล้ว มันจะอ่อนแอลงมากทันที

อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งการเดินที่ผิดพลาด หรือความประมาทของผู้เล่น จะทำให้องครักษ์ทั้งสองปิดการเดินหนีตายของแม่ทัพ และทำให้แม่ทัพถูกรุกฆาตโดยตัวหมากอย่างปืนใหญ่ (เผ่า) ได้ง่ายๆ

ช้าง (เฉีย)

ตัวนี้ในภาษาจีนกลางออกเสียงเหมือนกัน (เซี่ยง) โดยคนไทยเรียกว่า “เฉีย” แต่ในเรื่องความหมายแล้ว ไม่เหมือนกันโดยสิ้นเชิง ตัวสีแดงแปลว่า “เสนาบดี” ส่วนตัวสีดำแปลว่า “ช้าง”

วิธีการเดินของช้างซับซ้อนอยู่มาก ดังต่อไปนี้

  • เดินแบบกระโดดแนวเฉียงทีละสองช่อง เช่น จากจุดเริ่มต้น ช้างตัวซ้ายสามารถเลือกได้ว่าจะเดินที่จุด 1 หรือ 2
  • แต่ถ้ามีตัวมาขัดที่แนวเฉียง 1 ช่องของเส้นทางที่จะเดิน ช้างจะเดินผ่านไม่ได้ เช่นถ้าช้างตัวซ้ายอยากเดินไปที่ 1 แต่กลับมีหมากไม่ว่าจะเป็นของเราหรือฝ่ายตรงข้ามมาขัดไว้ที่กากบาทสีเขียว ช้างจะเดินไปไม่ได้ (แบบดั้งเดิมจะเรียกว่าการปิดตาช้าง แต่คนไทยเรียกขัดขาช้าง)
  • ช้างห้ามเดินข้ามแม่น้ำ .
  • วิธีการกินเหมือนกับวิธีการเดิน

ด้วยข้อจำกัดเช่นนี้ทำให้ช้างสามารถเดินได้เพียง 7 จุดทั่วทั้งกระดานเท่านั้น (ตามรูปด้านบน) อย่างไรก็ตามช้างเป็นตัวหมากที่สำคัญมากในการตั้งรับชั้นนอก มันมีประสิทธิภาพมากในการหยุดยั้งหมากตัวรุกที่ถูกวางโดยไม่ระมัดระวัง โดยเฉพาะเมื่อมันอยู่เป็นคู่

การแลกช้าง 1 ตัวกับหมากตัวรุกอย่าง รถ ปืนใหญ่ ม้า เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ แต่ถ้าแลกช้าง 2 ตัวกับตัวพวกนี้ 1 ตัวอาจจะไม่คุ้มสักเท่าใดนัก

หมากตัวรุก

หมากอย่างองครักษ์และช้างเป็นหมากตัวรับ หมายถึงว่ามันไม่มีศักยภาพในการรุกต่อแม่ทัพของคู่ต่อสู้ได้ ดังนั้นในการรุกแม่ทัพของฝ่ายตรงข้าม เราต้องอาศัยมากเล่านี้

ทหารเลว (จุก)

ตัวอักษรของทหารเลวในหมากรุกจีนจะใช้คนละตัว และอ่านออกเสียงคนละแบบด้วย

ในภาษาจีนกลาง ทหารเลวฝ่ายแดงอ่านว่า “ปิง” (兵) ส่วนฝ่ายดำอ่านว่า “จู๋” (卒) แต่คนไทยอ่านแบบท้องถิ่นว่า “จุก” ทั้งสองตัวแปลว่า “ทหารเลว” หรือ ทหารทั่วไปเหมือนกัน

วิธีการเดินของทหารเลวนี้ง่ายมากๆ ดังต่อไปนี้

  • เมื่ออยู่ในแม่น้ำฝั่งเรา ทหารเลวสามารถเดินตรงด้านหน้า 1 ช่องได้อย่างเดียว และไม่สามารถเดินเฉียงหรือถอยหลังไม่ว่าจะทิศทางใดๆได้
  • เมื่อข้ามแม่น้ำไปยังฝั่งตรงข้ามได้สำเร็จ ทหารเลวจะได้รับการอัพเกรดให้เดินซ้ายขวาได้ แต่ห้ามเดินเฉียงและถอยหลังเหมือนเดิม

จากที่ว่ามาทำให้ศักยภาพของทหารเลวต่ำต้อยมาก เพราะไม่สามารถป้องกันตนเอง หรือ ผูกกันได้เหมือนหมากรุกไทยและฝรั่ง อย่างไรก็ตามทหารเลวร่างอัพเกรดสามารถผูกกันได้ เมื่อมันสามารถผูกกันเองได้แล้วจะกลายเป็นตัวรุกที่แข็งแกร่งทีเดียว และจะทำให้ฝ่ายตรงข้ามลังเลว่าจะยอมเสียหมากตัวรับเพื่อกำจัดทหารเลวดีหรือไม่

การเดินทหารเลวไปข้างหน้าต้องคิดให้ดีก่อนเสมอ เพราะมันไม่สามารถถอยหลังได้ ถ้ามันเดินไปสุดกระดานฝั่งตรงข้ามแล้ว มันจะเดินได้แค่ซ้ายขวาเท่านั้น

เนื่องจากทหารเลวมีความสามารถต่ำชั้นที่สุด ถ้ามีโอกาสแลกมันกับหมากอย่างเรือ ม้า และปืนใหญ่ โปรดทำโดยทันที อย่างไรก็ตามอย่าได้ดูถูกความสามารถของพวกมัน เพราะพวกมันเป็นตัวตัดสินแพ้ชนะในกระดานมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน โดยเฉพาะในท้ายเกมที่หมากตัวอื่นออกจากกระดานไปหมดแล้ว

ม้า (เบ๊)

ม้าในหมากรุกจีนใช้ตัวอักษรต่างกันเล็กน้อย แต่ทั้งความหมายและการออกเสียงเหมือนกันทุกประการ ในภาษาจีนกลางอ่านว่า “หม่า” และแปลว่าม้า ส่วนคนไทยเรียกว่า “เบ๊”

หมากตัวนี้เดินแปลกกว่าหมากรุกไทยและฝรั่งเล็กน้อย

  • เดินเหมือนม้าในหมากรุกไทยและฝรั่ง
  • ในกรณีที่มีตัวมาขวางในเส้นทางการเดิน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายเราหรือฝ่ายตรงข้าม ห้ามม้าเดินไปที่ด้านดังกล่าว (ตามรูปด้านล่าง) คนไทยเรียกลักษณะดังกล่าวว่าการขัดขาม้า เช่นเดียวกับในภาษาจีนกลาง
  • วิธีการกินเหมือนกับวิธีการเดิน
วิธีการเดินของม้า By Mcy jerry CC BY-SA 3.0,

จากรูปด้านบน ม้าไม่สามารถเดินไปทางขวาได้ เพราะทหารเลวสีแดงขวางไว้อยู่

ม้าเป็นหมากตัวรุกที่สำคัญ และมีประโยชน์ทั้งการรุกและการรับ โดยเฉพาะในท้ายเกมที่หมากเหลือไม่กี่ตัวในกระดาน เพราะหมากที่สามารถขัดขาเส้นทางการเดินของม้าได้มีน้อยลง

รถศึก (กือ)

หมากตัวนี้จริงๆ แล้วคือ รถศึก (Chariot) แต่คนไทยมักว่าเรือ เพราะวิธีการเดินเหมือนกับเรือในหมากรุกไทยทุกประการ

ในภาษาจีนกลางเรียกหมากทั้งสองว่า “จีว์” แม้ว่าตัวอักษรทั้งสองตัวนี้โดยทั่วไปจะอ่านว่า “เชอ” ซึ่งแปลว่ารถก็ตาม ส่วนคนไทยเรียกมันว่า “กือ”

วิธีการเดินและกินของรถศึกเหมือนกับเรือในหมากรุกไทย ทำให้มันมีประสิทธิภาพมากที่สุดในหมากทุกตัวของหมากรุกจีน โดยส่วนตัวแล้ว ผมมองว่าไม่ควรแลกหมากตัวนี้กับหมากตัวอื่นใดๆ เลยในกระดาน ยกเว้นแต่สถานการณ์บังคับเท่านั้น หรือแลกกับรถศึกของอีกฝ่ายเท่านั้น

ปืนใหญ่ (เผ่า)

หมากตัวนี้คือปืนใหญ่ ในภาษาจีนกลางอ่านตัวอักษรทั้งสองว่าเผ้า แม้ว่าจะเขียนต่างกันเล็กน้อยก็ตาม ส่วนคนไทยเรียกว่าเผ่า

ปืนใหญ่เป็นเสน่ห์ของหมากรุกจีนโดยแท้ และทำให้หมากรุกจีนสนุกและแตกต่างจากหมากรุกอื่น

วิธีการเดินของปืนใหญ่คือดังต่อไปนี้

  • วิธีการเดินเหมือนกับรถศึกในหมากรุกจีน หรือเรือในหมากรุกไทย
  • วิธีการกินเหมือนกับวิธีการเดิน แต่ต้องข้ามหมากตัวใดตัวหนึ่งถึงจะกินได้ ตามรูปด้านล่าง
การกินของเผ่า By Mcy jerry CC BY-SA 3.0,

จากรูปด้านบน ถ้ามีทหารเลวอยู่คั่นกลางเส้นทางการกินตามแนวตั้ง ไม่ว่าจะประชิดตัวปืนใหญ่หรือไม่ก็ตาม ปืนใหญ่สามารถกระโดดไปกินรถศึกได้

ปืนใหญ่นี้เป็นหมากที่ทรงประสิทธิภาพมากในช่วงต้นเกม เพราะมีหมากจำนวนมากให้ข้าม ทำให้มันมีเป้าให้กินมากมาย แต่ในท้ายเกมที่หมากเหลือน้อยลง ประสิทธิภาพของมันจะลดต่ำลง ในบางครั้งผู้เล่นถึงกับต้องใช้หมากตัวรับมาเป็นตัวกั้นเพื่อที่จะได้ใช้ปืนใหญ่รุกเข้าใส่แม่ทัพฝ่ายตรงข้าม

กฎที่น่าสนใจที่ควรรู้

  • ถ้าแม่ทัพเดินไม่ได้ ผู้เล่นที่มีแม่ทัพที่เดินไม่ได้เป็นผู้แพ้
  • ถ้าแม่ทัพประจันหน้ากันโดยไม่มีตัวหมากมาขวาง ผู้ที่ทำให้แม่ทัพประจันหน้ากันเป็นผู้แพ้
  • หมากตัวรุกทั้งสองฝ่ายตายหมด หรือเหลือแต่ตัวที่ไม่สามารถรุกจนได้ เท่ากับว่าทั้งสองฝ่ายเสมอกัน

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!