ประวัติศาสตร์ส่อง "หมากรุก" 6 แบบที่แปลกตาและน่าสนใจของประเทศต่างๆ

ส่อง “หมากรุก” 6 แบบที่แปลกตาและน่าสนใจของประเทศต่างๆ

หมากรุกเป็นการละเล่นที่มีประวัติยาวนานนับพันปี เชื่อกันว่าชาวอินเดียเป็นผู้ให้กำเนิดหมากรุกในช่วง ค.ศ.600 ในรูปแบบเกมที่ชื่อว่า “Chaturanga” เกมนี้ได้ถ่ายทอดไปยังเปอร์เซียและทั่วโลกในเวลาต่อมา

เราดูมากันดีกว่าประเทศต่างๆ มีหมากรุกของตัวเองในรูปแบบใดบ้าง

หมายเหตุ: เนื่องจากหมากรุกสากลและหมากรุกไทย หลายท่านน่าจะคุ้นเคยกันอยู่แล้ว ผมขอข้ามไปครับ

1. หมากรุกเปอร์เซีย (อิหร่าน)

หมากรุกเปอร์เซียหรือ Shatranj เป็นหมากรุกที่สันนิษฐานว่าคล้ายคลึงกับ Chaturanga มากที่สุด และเนื่องจาก Chaturanga มีกติกาไม่ชัดเจน ผมเลยขออนุญาตข้ามไปครับ

กระดาน Shatranj ที่มีอายุนานกว่าเก้าร้อยปี By Zereshk – Own work, CC BY 3.0,

กระดานของ Shatranj ไม่ต่างอะไรกับหมากรุกฝรั่งทั่วไป ตัวหมากเองก็คล้ายคลึงกับหมากรุกฝรั่งในปัจจุบันนี้มาก

สิ่งที่ไม่เหมือนคือควีนใน Shatranj หรือที่เรียกว่า fers เดินเฉียงได้ทีละช่องเหมือนกับเม็ดในหมากรุกไทย และพลทหารจะได้รับยกระดับเป็น fers เมื่อเดินไปสุดกระดานของฝ่ายตรงข้าม นอกจากนี้ถ้าผู้เล่นสามารถกินหมากอื่นๆ ยกเว้นคิงของฝ่ายตรงข้ามได้หมดจะเป็นผู้ชนะทันที

เชื่อกันว่า Shatranj เป็นหมากรุกชนิดแรกที่มีกติกาประกาศให้ฝ่ายตรงข้ามทราบว่าหมากของเรากำลัง “รุก” หรือ “Check” ตัว “คิง” เข้ามาใช้ กติกานี้แพร่หลายไปยังหมากรุกอื่นๆ ในเวลาต่อมา

2. หมากรุกจีน

หมากรุกจีนหรือเซี่ยงฉี (Xiangqi) เป็นหมากรุกที่แตกต่างออกไปจากหมากรุกฝรั่งและหมากรุกสากล แม้จะมีที่มาจาก Chaturanga เหมือนกันก็ตาม

เซี่ยงฉีนี้อาจจะเรียกได้ว่ามีที่มาจากสงครามการแย่งชิงอำนาจของหลิวปังและเซี่ยงอวี่ โดยทั่วไปแล้วส่วนกลางของกระดานหรือ “แม่น้ำ” จะมีตัวอักษรจีนที่ระบุว่าเป็นพรมแดนของ “ฉู่” และ “ฮั่น” อยู่

การเดินของหมากรุกจีนอาจจะดูซับซ้อน แต่จริงๆ แล้วไม่ยากอย่างที่เห็น ตัวผมเองก็ชอบเล่นมันมาก มากกว่าหมากรุกอื่นๆ เสียอีก ผมขออธิบายอย่างง่ายๆ ในโพสนี้ครับ

จุดเด่นของหมากรุกจีนคือตัวปืนใหญ่ที่จะต้องกินข้ามหมากตัวใดตัวหนึ่ง และการที่คิงห้ามเผชิญหน้ากัน และการที่คิงห้ามออกจากกรอบแคบๆ นี่แหละครับ

3. หมากรุกเกาหลี

หมากรุกเกาหลีหรือ Janggi เป็นอีกหนึ่งหมากรุกที่ได้อิทธิพลมาจากหมากรุกจีน แต่แตกต่างออกไปเล็กน้อย

หมากรุกเกาหลี

จริงอยู่ว่าเป็นหมากรุกเกาหลี แต่ตัวอักษรกลับใช้เป็นอักษรจีน อย่างในรูปด้านบน คิงของฝ่ายเขียวมีตัวอักษรว่า “ฉู่” ส่วนฝ่ายแดงเป็น “ฮั่น” แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างฉู่กับฮั่น (เซี่ยงอวี่กับหลิวปัง)

สิ่งที่ต่างกับหมากรุกจีนมีอยู่หลายอย่างเช่น หมากรุกเกาหลีไม่มีแม่น้ำ เพราะฉะนั้นตัวช้างจะสามารถข้ามไปได้อิสระ และตัวปืนใหญ่ต้องข้ามตัวอื่นทุกครั้งไม่ว่าจะเดินหรือกิน ส่วนตัวคิงสามารถเดินเฉียงได้ (8 ช่องรอบทิศ)

4. หมากรุกญี่ปุ่น

หมากรุกญี่ปุ่นหรือ Shogi เป็นหมากรุกที่มีเสน่ห์เฉพาะตัวหลายอย่าง และอาจจะเรียกได้ว่าไม่เหมือนใครเลยก็ว่าได้

จุดเด่นของ Shogi คือ เราสามารถชุบชีวิตหมากอีกฝ่ายที่เรากินและนำกลับมาใช้ประโยชน์บนกระดานอีกครั้งหนึ่งได้ นี่น่าจะเป็นสาเหตุที่หมากของสองฝ่ายมีสีเหมือนกัน

นอกจากนี้หมากเกือบทุกตัว ยกเว้นคิงตัวเดียวสามารถยกระดับได้เหมือนกับหมากรุกไทย ทั้งสองอย่างนี้ทำให้ Shogi มีเสน่ห์มาก และโดดเด่นจากหมากรุกอื่นๆ

5. หมากรุกมองโกเลีย

หมากรุกมองโกเลียหรือ Shatar เป็นหมากรุกที่เป็นที่นิยมมากในประเทศมองโกเลีย โดยทั่วไปแล้วหมากรุกชนิดนี้เหมือนกับหมากรุกฝรั่งแทบจะทุกประการ ยกเว้นขัอบังคับบางประการเท่านั้น

หมากรุกมองโกเลีย By BabelStone – Own work, CC BY-SA 3.0,

กฎการเล่น Shatar เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ตามกฎดั้งเดิม “ม้า” หรือ “อัศวิน” ไม่สามารถรุกคิงฝ่ายตรงข้ามให้ตายได้ และ “ควีน” จะเดินเหมือนกับควีนในหมากรุกฝรั่ง แต่ไม่สามารถเดินแทยงได้มากกว่าหนึ่งช่อง

อย่างไรก็ตามกฎสมัยใหม่ทำให้ Shatar คล้ายคลีงกับหมากรุกฝรั่งมากขึ้น และเสียอัตลักษณ์ของตัวเองไปไม่น้อย

6. หมากรุกพม่า

สิตตูยิน (Sittuyin) หรือหมากรุกพม่าที่ได้รับอิทธิพลมาจาก Chaturanga เช่นเดียวกัน หมากรุกพม่ามีความโดดเด่นและไม่เหมือนใครหลายอย่าง ตั้งแต่การเริ่มเล่นแล้ว

ข้อบังคับในหมากรุกพม่าที่สำคัญมีอย่างหนึ่งคือ ผู้เล่นต้องวางเบี้ยในลักษณะนี้

ข้อบังคับหมากรุกพม่า

ส่วนที่เหลือนั้นหรือ? หมากตัวอื่น ผู้เล่นจะวางอย่างไรก็ได้ แล้วแต่แผนการของผู้เล่น อาจจะเป็นแบบนี้ก็ได้

หมากรุกพม่า By wikimerge – https://my.wikipedia.org/wiki/File:Chess14.JPG, CC BY-SA 4.0,

หรือจะแบบนี้ก็ได้เหมือนกัน

หมากรุกพม่า

การเดินของหมากรุกพม่าเหมือนทุกประการกับหมากรุกไทย ตัวที่เหมือนช้างคือ “โคน” ในหมากรุกไทยนั่นเอง

บทส่งท้าย

จริงๆแล้วยังมีหมากรุกแปลกๆอีกนับร้อยแบบจากทั่วโลก สิ่งที่ผมนำเสนอในโพสนี้จึงเป็นหมากรุกที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมมากที่สุดของแต่ละประเทศเท่านั้น ท่านที่สนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ chess.com ครับ

Sources:

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!