ตำนานเทศกาล "ดิวาลี" เทศกาลแห่งแสงสว่างของชาวฮินดู ซิกข์ และเชน

เทศกาล “ดิวาลี” เทศกาลแห่งแสงสว่างของชาวฮินดู ซิกข์ และเชน

เทศกาล (Diwali) เป็นเทศกาลแห่งแสงสว่างที่มีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ในหมู่ชาวฮินดู ซิกข์ และเชน โดยเฉพาะในประเทศอินเดีย สำหรับชาวฮินดูแล้ว ดิวาลีถือว่าเป็นหนึ่งในเทศกาลที่เก่าแก่และสำคัญที่สุดในบรรดาเทศกาลทั้งหมด

ที่มาของเทศกาลดิวาลี

ดิวาลี มีที่มาจากคำว่าทิปะวะลิ (Dipavali) ในภาษาสันสกฤตซึ่งแปลว่าสายธารแห่งแสงสว่าง การเฉลิมฉลองจะให้ความสำคัญกับ “แสงสว่าง” เพราะถือว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะของ “ฝ่ายธรรมะ” ที่เอาขนะ “ฝ่ายอธรรม”

แสงไฟแห่งดิวาลี By Soumendrak – Own work, CC BY-SA 4.0,

โดยทั่วไปแล้วดิวาลีจะมีการเฉลิมฉลองทั้งหมด 5 วัน โดยมีวันที่สามหรือที่เรียกว่า อะมาสวัสยะเป็นวันที่สำคัญที่สุด วันอะมาสวัสยะเป็นที่มืดที่สุดตามปฏิทินฮินดู แต่ก็เป็นวันที่แสงสว่างเริ่มกลับมาด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้การเฉลิมฉลองจะเริ่มต้นสองวันก่อนวันอะมาสวัสยะและสิ้นสุดลงสองวันหลังจากวันอามาสวัสยะ อย่างไรก็ตามเนื่องจากเทศกาลดิวาลีจะใช้ปฏิทินฮินดูเป็นตัวกำหนด ดังนั้นเทศกาลดิวาลีจะไม่ตรงกันในแต่ละปี แต่จะอยู่ในช่วงเดียวกันนั่นคือช่วงปลายเดือนตุลาคม-ต้นเดือนพฤศจิกายน

หลายประเทศอย่างเช่นอินเดียได้ประกาศให้วันทั้งห้าในเทศกาลดิวาลีเป็นวันหยุดราชการ ทำให้ดิวาลีเป็นช่วงวันหยุดยาวและสำคัญที่สุดในแต่ละปี

วันแรก

เทศกาลเริ่มต้นขึ้นสองวันก่อนวันอามาสวัสยะ วันนี้จะเรียกว่า ธันเตรัส (dhanteras)

ในวันนี้ชาวอินเดียจะทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่เพื่อขจัดสิ่งสกปรก บางคนถึงกับซ่อมแซมบ้านไว้ล่วงหน้า เพราะเชื่อว่าพระแม่ลักษมีจะเสด็จมาบ้านที่สะอาดที่สุดก่อน นอกจากนี้ทุกคนจะซื้อโคมไฟ หรือเทียนน้ำมันมาไว้ที่บ้านและจะจุดมันเป็นเวลาห้าวันด้วย

โคมไฟและเทียนถูกจุดขึ้นในวันธันเตรัส By Arne Hückelheim – Own work, CC BY-SA 3.0,

หลังจากนั้นผู้หญิงและเด็กจะช่วยกันตบแต่งพื้นบ้านและประตูด้วยการนำข้าว ทรายสีสวยๆ และกลีบดอกไม้มาทำเป็นรูปต่างๆ ส่วนญาติพี่น้องผู้ชายจะช่วยกันตบแต่งหลังคาและกำแพงของบ้าน และวัดวาอารามอื่นๆ

นอกจากนี้ภายในวันนี้ ชาวฮินดูเชื่อว่าเป็นวันที่พระลักษมีเสด็จออกมาจากเกษียรสมุทร ทำให้เป็นมงคลอย่างยิ่งที่จะถวายเครื่องบูชาต่อพระองค์ เครื่องบูชาเหล่านี้คือขนมอินเดียแบบต่างๆ นั่นเอง

ธันเตรัสยังถือว่าเป็นวันที่ชาวฮินดูนิยมซื้อของ เพราะคำว่า “ธัน” แปลว่าความมั่งคั่ง ดังนั้นพวกเขาจึงนิยมซื้อของที่อยากได้เพราะว่าจะได้โชคดี ร้านขายของจึงมักจะทำยอดขายได้จำนวนมหาศาลในวันนี้

วันที่สอง

วันที่สอง หรือ วันก่อนวันอามาสวัสยะเรียกว่า นะระกะ ฉะตุรทัสหิ (Naraka Chaturdashi) วันนี้เป็นวันที่ชาวฮินดูสวดมนต์ให้กับเหล่าดวงวิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และชี้ทางให้พวกเขาไปสู่สวรรค์

ขนมต่างๆ ในเทศกาลดิวาลี By PJeganathan – Own work, CC BY-SA 4.0,

ภายในวันนี้ ชาวฮินดูมักจะซื้อขนมหวานจำนวนมากมาแบ่งปันกันระหว่างเพื่อนฝูงและเพื่อนร่วมงาน

วันที่สาม

วันที่สามหรือเป็นวันอามาสวัสยะ หรือวันที่มืดที่สุดในปฏิทินฮินดู วันนี้มีอีกชื่อหนึ่งว่า ลักษมี ปูชานะ ตามตำนานเก่าแก่แล้ว วันนี้จะเป็นวันที่พระลักษมีเดินทางมาพบเหล่าสาวกและมอบคำอวยพรแก่พวกเขา ดังนั้นวันนี้จึงเป็นวันที่สำคัญที่สุดในวันทั้งห้าแห่งเทศกาลดิวาลี

การจุดเทียนไฟในคืนวันที่สามแห่งเทศกาลดิวาลี By Khokarahman – Own work, CC BY-SA 4.0,

เมื่อวันนี้มาถึงชาวฮินดู ซิกข์ และเชนจะจุดโคมไฟจำนวนมหาศาลไปทั่วทั้งเมือง ไม่ว่าจะเป็นในบ้าน ในร้านขายของ ในร้านอาหาร ทำให้แสงสว่างอันสวยงามเปล่งประกายออกมา

การเฉลิมฉลองจะดำเนินไปอย่างยิ่งใหญ่เต็มไปด้วยความสุข สมาชิกในครอบครัวจะมารวมตัวกัน ทุกคนจะแต่งกายให้สวยงามที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ บางคนจะเดินทางไปที่วัดเพื่อบูชาเทพเจ้าเพื่อความเป็นสิริมงคล ภายในคืนวันนั้นทุกคนจะจุดโคมไฟ ดอกไม้ไฟ และพลุเพื่อทำพิธีสักการะต่อพระแม่ลักษมีด้วย

วันที่สี่

วันที่สี่หรือ พะลิ ประติปะทา (Bali Pratipadā) เป็นการเฉลิมฉลองชัยชนะของพระวิษณุต่ออสูรชื่อพะลิ

อาหารที่ทำถวายเทพเจ้า ก่อนที่จะนำมาแบ่งกินกัน By AroundTheGlobe – Swaminarayan Sampraday, GFDL,

โดยทั่วไปแล้ววันนี้เป็นวันของสามีภรรยา สามีชาวฮินดูจะซื้อของขวัญจำนวนมากมามอบให้กับภรรยาของเขา นอกจากนี้ในชุมชนชาวฮินดูจะทำอาหารจำนวนมากเพื่อถวายเทพเจ้า หลังจากนั้นก็จะนำอาหารดังกล่าวมาแบ่งปันกัน วัดวาอารามเองก็จะเตรียมของหวานไว้จำนวนมากเพื่อแจกจ่ายแก่ศาสนิกด้วย

วันที่ห้า

วันที่ห้า หรือ ไภ ดุช (Bhai Dooj) เป็นวันสุดท้ายในห้าวันของเทศกาลดิวาลี วันนี้ให้ความสำคัญกับความสำคัญระหว่างพี่น้อง โดยเฉพาะระหว่างพี่น้องต่างเพศ เช่น พี่สาวน้องชายเป็นต้น

ภายในวันนี้น้องชายจะเดินทางไปหาพี่สาวและครอบครัวของเธอ ส่วนพี่สาวจะสวดมนต์ให้กับน้องชายและป้อนอาหารเข้าปากเขาด้วย ทำให้วันนี้เป็นเทศกาลที่สร้างความผูกพันและความสุขอีกวันหนึ่ง

ข้อควรทราบ

ดิวาลีเป็นเทศกาลที่คนอินเดียนิยมจับจ่ายซื้อของ เหมือนกับช่วงตรุษจีนในประเทศจีน และคริสต์มาสในประเทศตะวันตก ร้านค้าแบบทั่วไปและออนไลน์สร้างยอดขายได้มหาศาลในช่วงเวลานี้ มูลค่าทางเศรษฐกิจของดิวาลีจึงสูงมาก

สำหรับท่านที่อยากไปสัมผัสกับเทศกาลดิวาลี แน่นอนว่าควรไปที่ประเทศอินเดีย เมืองที่ควรจะไปได้แก่

  • พาราณสี (Varanasi) เมืองศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในอินเดีย เทศกาลดิวาลีที่นี่ถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศเลยก็ว่าได้
  • อัมริตสา (Amritsar) ชมการเฉลิมฉลองเทศกาลดิวาลีแบบชาวซิกข์
  • ไจบูร์ (Jaipur) ชมเทศกาลดิวาลีที่เต็มไปด้วยเสียงเพลงและดอกไม้ไฟ
  • กัลกัตตา (Calcutta) ชมเทศกาลดิวาลีแบบเบงกอลที่ไม่เหมือนที่อื่น ชาวเบงกอลจะบูชาพระแม่กาลีแทนที่พระแม่ลักษมี

Sources:

  • Independent
  • Jacobs, Hinduism Today: An Introduction
  • Crump, Encyclopedia of New Year’s Holidays Worldwide

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!