Dropshipping หรือการดรอปชิป คือระบบการซื้อขายที่ผู้ขาย (Retailer) จะไม่เก็บหรือกักตุนสินค้าไว้กับตัว แต่จะติดต่อให้บริษัทหรือ supplier ที่มีสินค้าดังกล่าวส่งสินค้าให้กับลูกค้าโดยตรง ซึ่งบริษัทอย่างหลังนี้มักจะขายสินค้าแบบขายส่ง หรือเป็นผู้ให้บริการที่ขายสินค้าในราคาถูก (ที่นิยมใช้กันคือ Aliexpress)
กำไรของผู้ทำ Dropshipping คือส่วนต่างของราคาที่ขายลูกค้ากับราคาที่ต้องจ่ายให้กับบริษัทขายส่ง
หลายคนอาจจะมองไม่เห็นภาพ ผมขออธิบายง่ายๆ แบบนี้
สมมติผมวางขายเครื่องเขียนบนเว็บไซต์ของผม (victorytale.com) เมื่อมีนาย ก มาซื้อสินค้าบนเว็บไซต์ ผมจะส่งออเดอร์ไปให้บริษัท A ที่เป็น supplier จัดเตรียมและส่งให้กับนาย ก โดยตรง โดยผมไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับการดูแลสินค้าใดๆ เลย เพราะบริษัท A ทำทุกอย่างทั้งหมด ผมจึงไม่เคยเห็นเครื่องเขียนที่นาย ก ด้วยซ้ำไป
แน่นอนว่าบริษัท A จะเรียกเก็บเงินจากผม เพราะผมเป็นคนสั่ง แต่ผมจะได้กำไรเพราะผมเรียกเก็บจากนาย ก สูงกว่าที่จ่ายให้บริษัท A นี่แหละครับที่เรียกกันว่า Dropshipping
จุดแข็งของ Dropshipping คือผู้ขายไม่ต้องพะวงกับปัญหาเรื่องการจัดการสินค้าใดๆ และสามารถทุ่มเวลาทั้งหมดให้กับการดูแลลูกค้าโดยตรง แถมยังขายได้ทั่วโลกและขายได้แบบไม่จำกัดชนิดอีกด้วย (เพราะไม่ต้องพะวงว่าจะมีที่เก็บสินค้าหรือขนส่งสินค้าได้รึเปล่า) นอกจากนี้คุณอาจจะทำเว็บไซต์ภาษาอังกฤษในการขายสินค้าให้กับชาวต่างชาติเพื่อผลกำไรและเม็ดเงินที่มากขึ้น
อย่างไรก็ดีการสร้างธุรกิจ Dropshipping ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะอาจเกิดปัญหาได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นคุณอาจจะเลือกสินค้าไม่ดีหรือ supplier ที่ไม่ดี ทำเว็บไซต์ e-commerce ออกมาไม่ดี ทำ Email marketing แบบไม่มีประสิทธิภาพ ทำ Landing Page แล้วลูกค้าไม่เข้าตา เสียค่าโฆษณามากเกินไปทำให้ขาดทุน และอื่นๆ อีกมากมาย
การเดินตามรอยเท้าของบุคคลที่ประสบความสำเร็จแล้วจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะพวกเขาจะได้เตือนคุณว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ และยังให้ข้อแนะนำให้การใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อช่วยกระตุ้นยอดขายด้วยครับ
ส่วนมากแล้วในไทย ถ้าอยากเรียน Dropshipping จริงๆ กับคนเก่งๆ จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงไม่น้อย (หลายพันหรือเป็นหมื่นบาท) และอาจจะอยู่ในรูปของการสัมมนาเสียเป็นส่วนใหญ่ นั่นแปลว่าคุณไม่สามารถนำมาทบทวนหรือเรียนซ้ำได้เลย ดังนั้นการเรียน dropshipping ทางออนไลน์ที่คุณเรียนซ้ำได้จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
ในโพสนี้เราจะมาดูกันครับ คอร์สสอน Dropshipping ดีๆ มีให้เรียนทางออนไลน์ที่ไหนบ้าง
1. Oberlo 101
Oberlo เป็นผู้อำนวยความสะดวกเรื่องการทำ dropshipping ดังนั้นไว้ใจได้เลยว่า ครูของคุณจะเจนจบสิ่งที่พวกเขาสอนคุณอย่างแน่นอน โดยคอร์สของ Oberlo จะสอนคุณในสิ่งต่อไปนี้
- Getting started with Oberlo 101 – คลาสนี้จะสอนการ dropshipping ว่าคืออะไร และรูปแบบการทำธุรกิจแบบ dropshipping มีอะไรบ้าง พูดง่ายๆ คือเป็นเรื่องพื้นฐานต่างๆ ครับ
- Find great products to sell – สอนวิธีหา product ที่มีคุณภาพ
- Set up your online store – สอนวิธีการสร้างร้านบนแพลตฟอร์มอย่าง Shopify
- Launch Facebook ads – สอนการใช้ Facebook ads
- Scale Business – สอนการจัดการออเดอร์และการขยายธุรกิจ dropshipping ของคุณ
รวมเนื้อหาที่มีให้เรียนนั้นมากกว่า 6 ชั่วโมงเลยครับ อย่างไรก็ดีการสอนอาจจะอ้างอิงเครื่องมือของ Oberlo บ้าง ซึ่งคุณก็ไม่ต้องกังวล เพราะเครื่องมือใช้งานได้ฟรีในเริ่มแรก หรือถ้าไม่ได้ใช้จริงๆ คุณก็สามารถนำความรู้อื่นๆ ที่ได้จากคอร์สนี้ไปใช้ได้อยู่ดีครับ
ไม่เพียงเท่านี้ Oberlo ยังให้ทรัพยากรและข้อมูลดีๆ กับคุณด้วย ไม่ว่าจะเป็น
- Budget Spreadsheet
- Business Name Generator
- Brand Color Chart
- Best Countries to Sell to – ข้อมูลชั้นยอดที่ช่วยการทำ dropshipping ต่างประเทศได้อย่างมาก
- Shipping Policy Template
- Live Q&A
ทั้งหมดนี้ราคา $49.90 หรือประมาณ 1,500 บาท แต่ตอนนี้ Oberlo เปิดให้เรียนฟรี ถ้าใครสนใจสามารถไปเรียนได้ที่นี่ครับ
2. Udemy
ผมนิยามว่า Udemy เป็นแพลตฟอร์มที่สอนตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ ดังนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่าคอร์สสอน Dropshipping ย่อมมีให้เรียนอย่างแน่นอนครับ โดยมีคอร์สที่น่าสนใจได้แก่
- The Complete Shopify Aliexpress Dropship Course – สอนการสร้างเว็บไซต์ e-commerce เพื่อการ dropshipping โดยใช้ Shopify รวมไปถึงการหา supplier/partner ที่ดีบน Aliexpress รวมไปถึงเทคนิคอื่นๆ อีกมากมาย คอร์สนี้มีความยาว 8 ชั่วโมงครับ (รีวิว 4.6/5.0 จากผู้รีวิว 13,092 คน)
- Build a Dropshipping Empire From Scratch – เรียนวิธีการสร้างธุรกิจ Dropshipping จากศูนย์ โดยเน้นไปที่การเลือก product ที่ใช่ สร้างเว็บไซต์ที่มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการพิจารณาหา supplier ที่มีคุณภาพ และทักษะอื่นๆ อีกมากมาย (รีวิว 4.4/5.0 จากผู้รีวิว 7,099 คน)
- The Complete WordPress Aliexpress Dropship Course – คอร์สนี้สอนการทำ Dropshipping โดยใช้ Aliexpress เช่นเดียวกับคอร์สแรก แต่ว่าเปลี่ยนรูปแบบแพลตฟอร์มจาก Shopify เป็น WordPress ครับ (รีวิว 4.4/5.0 จากผู้รีวิว 1,957 คน)
- 10 Shopify Dropshipping Strategies that Make Me 6-Figures – คอร์สนี้จะเน้นไปที่เทคนิคต่างๆ ในการทำ Dropshipping ไม่ว่าจะเป็นการเลือกประเทศที่มีศักยภาพในการทำเงิน เลือก product ที่ขายได้ และวิธีจัดการเว็บไซต์ shopify ของคุณครับ (รีวิว 4.6/5.0 จากผู้รีวิว 5,229 คน)
ลักษณะการเรียนจะเป็นแบบ Video ครับ แม้ว่าจะใช้ภาษาอังกฤษ แต่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษระดับสูงอะไร เป็นสนทนาทั่วไปครับ และยังมี subtitle ภาษาอังกฤษคอยช่วยถ้าคุณฟังไม่ออกด้วย
นอกเหนือจากคอร์สเหล่านี้แล้ว Udemy ยังมีคอร์สสอน Dropshipping มากกว่า 100 คอร์ส ลองไปดูได้ที่ลิงค์นี้เลยครับว่ามีอะไรบ้าง แต่ผมแนะนำให้อ่านเนื้อหาคอร์ส รวมไปถึงอ่านรีวิวดีๆ ก่อนจะสมัครครับ
คอร์สของ Udemy ดีมากตรงที่เป็นคอร์สซื้อขาด หมายความว่าจะย้อนดูกี่ทีก็ได้ และไม่มีวันหมดอายุ แถมราคายังอยู่ในช่วงหลักร้อยต่อคอร์สด้วย ทำให้เหมาะมากๆ สำหรับคนที่ไม่อยากลงทุนในการเรียนมากนักครับ
3. Skilllane
สำหรับใครที่อยากเรียนคอร์ส Dropshipping ภาษาไทย แพลตฟอร์มอย่าง Skilllane น่าจะเหมาะสมที่สุด เพราะอยู่ในวงการมานาน และมีระบบที่เสถียรและเหนือกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ
อย่างไรก็ดีคอร์ส Dropshipping ใน Skilllane มีคอร์สเดียวเท่านั้น นั่นคือ Alidropship + Theme FlatSome ทำเว็บ DropShip ขายของได้ไม่จำกัด เนื้อหาของคอร์สอยู่ที่ 4 ชั่วโมง 20 นาทีครับ ส่วนราคาอยู่ที่ 999 บาท
คอร์สของ Skilllane เหมือนกับ Udemy นั่นคือเป็นแบบซื้อขาด คุณจะเรียนกี่รอบก็ได้ครับ
4. เว็บไซต์สอน Dropshipping อื่นๆ
นอกเหนือจากสามเว็บไซต์ด้านบนแล้ว ผมบอกได้เลยว่ามีเว็บไซต์ที่สอน Dropshipping อีกนับร้อย เรียกว่ามีหมดทั้งไทยและเทศเลยครับ
คอร์สเหล่านี้ส่วนมากแล้วจะแพงกว่าคอร์สที่ผมแนะนำไปมาก ราคาอาจจะอยู่ที่หลายพันบาทหรือแม้กระทั่งหลายหมื่นบาท ในส่วนนี้ผมออกตัวเลยว่าไม่กล้าแนะนำ เพราะไม่สามารถประเมินความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์ได้ครับ ก่อนหน้านี้มีเว็บไซต์บางแห่งที่ขายคอร์ส Dropshipping แต่เป็นคอร์สคุณภาพต่ำมากที่ไม่ให้อะไรเลยคุณก็มี
ถ้าคุณสนใจเว็บไซต์เหล่านั้น ผมแนะนำให้พิจารณาดูๆ หลายๆ เว็บไซต์ และอ่านรีวิวจากบุคคลที่ 3 (อย่างเช่น search google โดยพิมพ์คำว่า (ชื่อเว็บไซต์) แล้วตามด้วย “reviews” ในกรณีที่เป็นเว็บต่างประเทศ หรือ “รีวิว”ในกรณีที่เป็นเว็บภาษาไทยครับ)