ธุรกิจมือใหม่อยากเปิดเว็บไซต์ e-commerce จะใช้ระบบของผู้ให้บริการไหนดี?

มือใหม่อยากเปิดเว็บไซต์ e-commerce จะใช้ระบบของผู้ให้บริการไหนดี?

ในปัจจุบันธุรกิจการค้าออนไลน์เฟื่องฟูมากขึ้น การมีเว็บไซต์ e-commerce สำหรับธุรกิจของคุณจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เว็บไซต์ที่มีคุณภาพจะช่วยส่งเสริมแบรนด์ สร้างภาพลักษณ์ และความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะมีประโยชน์มากต่อการสร้างยอดขายของธุรกิจ

เนื่องจากผมได้เขียนบทความถึงประโยชน์ของการมีเว็บไซต์ e-commerce ไปมากแล้ว ผมจึงขอไม่อธิบายซ้ำ ถ้าสนใจสามารถไปอ่านได้ที่นี่ครับ

หลังจากที่คุณตัดสินใจว่าจะเปิดเว็บไซต์ e-commerce ขึ้นมา สิ่งที่คุณต้องพิจารณาต่อไปก็คือ คุณจะใช้ระบบของผู้ให้บริการไหนดี?

ทั้งนี้ผมเชื่อว่าหลายคนที่กำลังอ่านอยู่น่าจะไม่มีความรู้เรื่องการเขียนเว็บมากนัก ดังนั้นการใช้ระบบที่มีอยู่แล้วและใช้โดยบริษัทที่ประสบความสำเร็จมากมายย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

เราไปเริ่มต้นกันดีกว่าครับ

ข้อควรทราบ: เนื่องจากในปัจจุบันมีคนไทยนำสินค้าไปขายผู้ซื้อต่างชาติมากขึ้นอย่างมาก เช่นเปิดร้านบน Amazon เป็นต้น ผมจึงเขียนโพสนี้ขึ้นเพื่อผู้ขายกลุ่มดังกล่าวด้วย ดังนั้นผู้ให้บริการที่กล่าวถึงในโพสนี้ (อย่างเช่น Shopify) จึงอาจจะเหมาะกับการขายกับลูกค้าต่างชาติมากกว่าในไทยครับ

1. Shopify

Shopify เป็นผู้ให้บริการเว็บไซต์ e-commerce อันดับต้นๆ ของโลก ในปัจจุบันมีเว็บไซต์จำนวนมหาศาลที่ใช้ระบบของ Shopify ในการสร้างเว็บไซต์ขึ้นมาขายของและรับออเดอร์จากลูกค้าออนไลน์

Shopify

ถ้าคุณใช้ Shopify ในการเปิดร้านค้าออนไลน์ คุณจะไม่ต้องสนใจเรื่อง hosting ก็เพราะ Shopify นั่นแหละครับที่เป็น hosting ของคุณ

สำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการใช้งาน Shopify นั้นจะมีสองส่วน (ดูรายละเอียดทั้งหมดได้ที่นี่) โดยส่วนแรกคือ

ค่าสมาชิก

  • Basic Shopify ($29 ต่อเดือน)
  • Shopify ($79 ต่อเดือน)
  • Advanced Shopify ($299 ต่อเดือน)

นอกจากนั้นคุณยังต้องจ่ายค่า Transaction Fee หรือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับระบบการจ่ายเงิน ค่านี้จะถูกเก็บจากออเดอร์แต่ละออเดอร์ที่คุณขายได้ ค่านี้จะอยู่ที่

  • Basic Shopify (2.9%+ $0.30 ต่อครั้ง)
  • Shopify (2.6% + $0.30 ต่อครั้ง)
  • Advanced Shopify (2.4% + $0.30 ต่อครั้ง)

ทั้งนี้ถ้าลูกค้าของคุณใช้ payment อื่นๆ นอกจาก Shopify payments คุณจะโดนเก็บอีก 2% จากแต่ละออเดอร์ ทำไปทำมาก็รวมแล้ว 5% นั่นแหละครับ

ถัดไปเราไปดูข้อดีข้อเสียกันครับ จะได้ทราบกันว่า Shopify ดีมั้ย

ข้อดีของ Shopify

  • ไม่ต้องกังวลเรื่อง hosting และปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับเว็บไซต์ เพราะ Shopify จัดการให้คุณหมดทุกอย่างแล้ว
  • ใช้งานง่ายมาก ไม่ต้องเรียนรู้เรื่องการเขียน code ใดๆ ใช้เวลาไม่นานก็พร้อมขายแล้วดังนั้นเป็นระบบที่เหมาะกับมือใหม่สุดๆ
  • เว็บไซต์โหลดอย่างรวดเร็ว เหมาะต่อความต้องการของลูกค้า เพราะเป็นแบบ Cloud-hosting
  • เนื่องจากคนใช้งาน Shopify เยอะทั่วโลก ทำให้มีสังคมที่คอยช่วยเหลือคุณตลอดเวลา
  • มีเครื่องมือมหาศาลในการทำเว็บไซต์ให้สวยงาม การปรับแต่งทำได้หลากหลายไม่แพ้ WordPress มากนัก
  • เชื่อมต่อกับ social network และระบบร้านค้าต่างๆ ได้ง่าย
  • มีส่วนลดค่า Shipping 64%-74% ถ้าคุณส่งผ่าน DHL Express, UPS, USPS (ทำให้เหมาะสำหรับคนที่ขายของให้กับลูกค้าต่างชาติ อย่างเช่นมีร้านบน Amazon เป็นต้น)

ข้อเสียของ Shopify

  • ราคาของ Shopify สูงมากเมื่อเทียบกับผู้ให้บริการสร้างเว็บไซต์ e-commerce อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นรายเดือน และ transaction fee ที่จะต้องโดนเก็บเกือบ 5% ถ้าไม่ใช้ Shopify payments
  • ถ้าคุณต้องการเว็บไซต์ที่มีฟังก์ชันแปลกๆ นอกเหนือจาก e-commerce คุณแทบจะไม่สามารถแก้ไขได้เลย
  • ไม่มีแบบให้ใช้ฟรี ต้องจ่ายเงินก่อนเท่านั้น

2. LnwShop

LnwShop หรือเทพช็อป เป็นผู้ให้บริการเว็บไซต์ e-commerce ชั้นนำของไทย ในปัจจุบันเทพช็อปให้บริการเว็บไซต์มากกว่า 700,000 แห่งทั่วไทย ลักษณะของเทพช็อปคล้ายกับ Shopify ครับ แต่เป็นของคนไทย ให้บริการลูกค้าคนไทยนั่นเอง

เทพช็อปให้คุณเปิดร้านค้าออนไลน์ฟรีทุกอย่างแบบไม่มีกั๊ก แต่ถ้าคุณต้องการ features ที่จำเป็นอย่างเช่นได้โดเมนดีๆ เชื่อมต่อกับ Shopee หรือ Lazada คุณจะต้องอัพเกรดตาม plan ต่างๆ ของเทพช็อป โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • Combo 1: 150 บาทต่อเดือน
  • Combo 2: 350 บาทต่อเดือน
  • Combo 3: 734 บาทต่อเดือน
  • Combo 4: 1,459 บาทต่อเดือน
  • Combo Max: 1,950 บาทต่อเดือน

แต่ละแพลนจะแตกต่างกันไปตาม features ที่ให้ สามารถอ่านรายละเอียดทั้งหมดได้ที่นี่

จากที่ผมดูแพลนของเทพช็อปแล้ว ถ้าคุณต้องการเว็บไซต์ e-commerce ที่ได้มาตรฐานจริงๆ คุณควรจะต้องสมัคร Combo 3 ขึ้นไป เพราะคุณจะสามารถเชื่อมต่อ (sync) ร้านของคุณบนเทพช็อปกับแพลตฟอร์ม e-commerce หลักอย่าง Shopee, Lazada ได้ จัดโปรส่วนลดได้ และยังมี SSL เพื่อความปลอดภัยด้วย ซึ่ง SSL จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการค้าขายออนไลน์ครับ

ถัดไปเราไปดูข้อดีข้อเสียกันครับ จะได้ทราบกันว่า LnwShop (เทพช็อป) ดีมั้ย

ข้อดีของ LnwShop

  • เปิดร้านค้าออนไลน์ได้ฟรี โดยไม่จำกัดจำนวนสินค้า และขนาดเว็บไซต์ เหมาะสำหรับพ่อค้าแม่ค้าหน้าใหม่ที่ยังไม่มีลูกค้าประจำ และเพิ่มมาเริ่มขายของออนไลน์
  • แก้ไขหน้าเว็บไซต์ได้ด้วยเครื่องมือหลายชนิด
  • ไม่ต้องกังวลเรื่อง hosting และปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์เพราะเทพช็อปทำหน้าที่จัดการให้กับคุณทั้งหมด
  • มีรีวิวและระบบยืนยันตัวตนให้ลูกค้าพิจารณา ซึ่งจะเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับเว็บไซต์ของคุณ
  • Customer Support เป็นคนไทย
  • เชื่อมต่อกับแพลตฟอร์ม e-commerce และ social network ได้ง่ายและสะดวกสบาย
  • สามารถจัดการเรื่องภาษี และงานเอกสารอื่นๆ ได้
  • จัดการเรื่องการจัดเก็บสินค้าและการจัดส่งให้คุณ
  • มี LnwMall เพื่อช่วยขายสินค้าให้คุณอีกทางหนึ่ง
  • โดยรวมแล้วถือว่าครบถ้วนสมบูรณ์ สำหรับพ่อค้าแม่ค้ามือใหม่ที่ต้องการขายสินค้าในประเทศไทย

ข้อเสียของ LnwShop

  • แม้ว่าเทพช็อปจะให้บริการฟรี แต่ถ้าคุณต้องการเว็บไซต์ e-commerce ที่ได้มาตรฐานจริงๆ คุณจะต้อง upgrade อย่างแน่นอน ค่ารายเดือนจัดว่าสูงกว่าค่า Hosting เว็บไซต์ทั่วไปมาก
  • การปรับแต่งเว็บไซต์ทำได้จำกัดถ้าเทียบกับการสร้างเว็บไซต์จาก WordPress และถ้าต้องการ features ดีๆ ยังมีค่าใช้จ่ายรายเดือนเพิ่มด้วย ซึ่งในส่วนนี้จัดว่ามีราคาแพง
  • แม้ว่าเทพช็อปจะไม่เก็บ Transaction fee แต่ถ้าคุณสนใจเพิ่มช่องทางการชำระเงิน (LnwPay) คุณจะต้องเสียค่าธรรมเนียมมากถึง 3.4%-5% ต่อออเดอร์

3. WordPress + Woocommerce

WordPress เป็นหนึ่งใน CMS หรือระบบที่ใช้สร้างเว็บไซต์ทั่วโลก ซึ่งจะต่างจาก Shopify และ LnwShop ที่ให้บริการลูกค้า e-commerce โดยตรงครับ

คุณสามารถใช้ WordPress ในการสร้างเว็บไซต์ e-commerce ได้ไม่ยากเลย คุณแค่ดาวน์โหลดส่วนเสริม (Plugin) ที่เรียกว่า Woocommerce เข้ามาเท่านั้น และปรับแต่งอีกเล็กน้อย เพียงเท่านี้เว็บไซต์ของคุณก็พร้อมทุกด้านที่จะขายสินค้าแล้วครับ ในปัจจุบันมีคนสร้างเว็บไซต์ e-commerce ด้วยวิธีนี้มากกว่า 20% ของทั้งหมด

สิ่งที่คุณทราบอย่างหนึ่งคือ ถ้าคุณจะสร้างเว็บไซต์ e-commerce ด้วยวิธีนี้ คุณจะต้องหา hosting ด้วยตัวเองครับ ต่างจาก Shopify และเทพช็อป

เรามาดูกันดีกว่า WordPress + Woocommerce มีข้อดีข้อเสียอย่างไร

ข้อดีของ WordPress + Woocommerce

  • สามารถสร้างเว็บไซต์ e-commerce ที่มีฟังก์ชันหลากหลายอะไรก็ได้ตามใจคุณ สำหรับมือใหม่ ถ้าคุณต้องการอะไรเพิ่มก็เพียงแค่ดาวน์โหลด plugin เท่านั้น (แต่อาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม) ความยืดหยุ่นของ WordPress + Woocommerce เป็นจุดเด่นหลักที่ทำให้คนจำนวนมากเลือกใช้วิธีนี้
  • แม้ว่าจะต้องหา Hosting และซื้อ Domain เอง แต่ถ้าเทียบกันแล้วค่าใช้จ่ายรายเดือนจะถูกกว่า Shopify
  • มีผู้ใช้งานมหาศาล ทำให้ขอความช่วยเหลือได้ไม่ยาก
  • มีวิธีมากมายที่ไม่แพงที่จะทำให้เว็บไซต์ของคุณออกมาดูดี สวยงาม และเป็นมืออาชีพ
  • ฟังก์ชันการซื้อขายออนไลน์เหมือนกับ Shopify มีอย่างครบถ้วนใน Woocommerce และ plugin อื่นๆ
  • ไม่ต้องเสียค่า Transaction fee

ข้อเสียของ WordPress + Woocommerce

  • การใช้งานทั้ง WordPress + Woocommerce จัดว่าไม่ง่ายสำหรับมือใหม่ถ้าเทียบกับ Shopify หรือเทพช็อป แต่คุณสามารถหาคอร์ส WordPress เรียนได้ง่ายๆ หลังจากนั้นทุกอย่างจะง่ายดายสำหรับคุณ
  • โดยส่วนใหญ่แล้ว คุณจะต้องจัดการเรื่องปัญหาต่างๆ ที่เกิดกับเว็บไซต์ด้วยตัวเอง แม้กระทั่งเรื่อง Malware ต่างๆ ที่จะคุกคามเว็บไซต์ e-commerce ของคุณ รวมไปถึง back up ด้วย อย่างไรก็ดีเจ้าหน้าที่ของ host จะช่วยเหลือคุณได้ด้วยเช่นกัน
  • คุณภาพของ Host จะมีผลมากต่อคุณภาพของเว็บไซต์ ตั้งแต่ล่มบ่อยหรือไม่ ไปจนถึงเว็บเร็วหรือช้า
  • ตัว Woocommerce ฟรีก็จริง แต่ plugin ที่จำเป็นอื่นๆ อาจจะไม่ฟรี

Hosting ที่แนะนำสำหรับ WordPress + Woocommerce

สำหรับใครที่อยากสร้างเว็บไซต์ของคุณด้วย WordPress + Woocommerce ผมแนะนำให้คุณใช้ Hosting เหล่านี้ เพราะว่าเสถียร เร็ว และมี customer support ที่ดีเยี่ยม และราคาประหยัดเหมาะสมกับคุณภาพที่ได้ครับ

ถ้าคุณต้องการ host ของไทย ผมแนะนำ Z.com Thailand ครับ Host นี้เป็นที่ไว้วางใจโดยลูกค้าระดับบริษัทมากมาย ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 135 บาทต่อเดือนเท่านั้น ถ้ามีปัญหาคุณสามารถขอความช่วยเหลือจากทีม support คนไทยได้ตลอด 24 ชั่วโมงครับ

แต่ถ้าคุณต้องการ host คุณภาพเยี่ยมระดับโลกที่ให้บริการผู้ประกอบการหน้าใหม่ คงจะไม่มี host ไหนดีกว่า SiteGround อีกแล้ว เพราะ SiteGround มีบริการ Woocommerce hosting ที่ใช้สำหรับการสร้างเว็บไซต์ e-commerce โดยตรง ค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนเริ่มต้นที่ $3.95 (ประมาณ 120 บาท) ต่อเดือนเท่านั้น สิ่งที่ผมชอบของ SiteGround คือเว็บไซต์คุณจะเร็วมาก และทีม support ของเค้าดีจริงๆ ครับ

ทำไม SiteGround ถึงดี? สามารถอ่านรายละเอียดทั้งหมดได้ที่นี่ครับ

สำหรับผู้ประกอบการที่มีธุรกิจที่ใหญ่โต และมั่นคงในระดับนึงแล้ว คุณอาจจะพิจารณา host ที่เป็น Managed cloud hosting ที่มีคุณภาพสูง เร็วมาก เสถียรราวกับหินผาทำให้ไม่ต้องกลัวเรื่องเว็บล่มอีกเลย

Host ดังกล่าวคือ Cloudways ราคาต่อเดือนเริ่มต้นที่ $10 หรือประมาณ 300 บาทครับ

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมชอบ Cloudways มาก เพราะทีม support เค้าดีเยี่ยมและเคยช่วยผมแก้ปัญหาไว้หลายครั้งแล้ว นอกจากนี้ผมยังสามารถเข้าไปตรวจสอบข้อมูลทุกอย่างของ Server ได้อย่างโปร่งใส ทำให้ผมสามารถดูได้ครับว่ามีปัญหาอะไรรึเปล่า

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!