ประวัติศาสตร์จู่ที่ ผู้มีปณิธานอันยิ่งใหญ่แต่ล้มเหลวเพราะขาดการสนับสนุน

จู่ที่ ผู้มีปณิธานอันยิ่งใหญ่แต่ล้มเหลวเพราะขาดการสนับสนุน

ถ้าเอ่ยถึงวีรบุรุษต่างๆ แล้ว เรามักจะเห็นจากในซีรีส์ต่างๆ ว่าพวกเขามีปณิธานอันยิ่งใหญ่ และมีความเป็นฮีโร่ที่ดูเหมือนว่าพวกเขาประสบความสำเร็จได้ด้วยตัวของเขาเองเพียงคนเดียว

แต่อันที่จริงแล้ว การสนับสนุนจากบุคคลรายรอบเป็นสิ่งที่จำเป็นและขาดเสียไม่ได้ ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดจากประวัติของบุคคลที่ผมจะนำเสนอในโพสนี้

บุคคลคนนี้ชื่อว่าจู่ที่ (祖逖) เราไปดูกันดีกว่าครับว่าชายผู้นี้มีความเป็นมาอย่างไร

ไม่รู้หนังสือ

จู่ที่เกิดในปี ค.ศ.266 หรือในช่วงปลายยุคสามก๊ก จริงๆ แล้วเป็นปีเดียวกับที่สุมาเอี๋ยนบีบบังคับให้โจฮวนสละราชสมบัติ และสถาปนาราชวงศ์จิ้นขึ้น ชาติตระกูลของจู่ที่นั้นเป็นข้าราชการมาหลายสมัย ดังนั้นจึงเรียกได้ว่ามีฐานะดีในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ดีนั่นไม่ได้ทำให้จู่ที่เกิดมาเป็นเด็กที่อยู่กับร่องกับรอยแต่อย่างใด จู่ที่มีนิสัยเกเร ไม่ชอบเชื่อฟังพ่อแม่เท่าไรนัก เมื่อบิดามารดาให้เรียนหนังสือก็ไม่ยอมเรียน ทำให้สุดท้ายแล้วจู่ที่มีอายุ 14-15 ปี ตัวเขาเองก็ยังไม่รู้หนังสือแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดีสิ่งที่จู่ที่มีติดตัวมาตั้งแต่ยังเด็กก็คือนิสัยมีน้ำใจและชอบแบ่งปันสิ่งของ เขานำของดีๆ มามอบให้กับคนในหมู่บ้านไม่ได้ขาด ดังนั้นแม้ว่าจะไม่อยู่กับร่องกับรอย จู่ที่ก็เป็นคนที่เป็นที่ชื่นชอบของผู้คนในหมู่บ้านไม่น้อย

เมื่อเข้าสู่วัยหนุ่ม จู่ที่ก็มีวุฒิภาวะมากยิ่งขึ้น และตัดสินใจเริ่มเรียนรู้หนังสือ ปรากฏว่าจู่ที่เป็นคนที่เฉลียวฉลาดมาก เขาใช้เวลาไม่นานก็กลายเป็นปัญญาชนคนหนึ่ง และมีใจรักในการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาประวัติศาสตร์ และการเมืองการปกครอง ทำให้ในเวลาต่อมาจู่ที่ตัดสินใจย้ายมาอาศัยที่เมืองลั่วหยาง เมืองหลวงของราชวงศ์จิ้นเพื่อการศึกษาเล่าเรียนเพิ่มเติม

บ้านแตกสาแหรกขาด

หลังจากมาที่ลั่วหยาง จู่ที่ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นข้าราชการท้องถิ่นผ่านระบบเสี้ยวเหลียน โดยระบบนี้เป็นระบบดั้งเดิมที่ใช้มาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น โดยข้าราชการระดับสูงจะแนะนำบุคคลที่มีความประพฤติดีให้ราชสำนักแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการ (ต่อมาได้ถูกยกเลิกและเปลี่ยนเป็นระบบสอบเข้ารับราชการทั้งหมดในสมัยราชวงศ์สุย)

ด้วยสาเหตุที่ไม่แน่ชัด จู่ที่ได้ปฏิเสธไป อย่างไรก็ดีจู่ที่กลับได้รับตำแหน่งเป็นนายทะเบียนที่เสฉวนในเวลาต่อมา ดังนั้นจึงถือได้ว่าชีวิตการรับราชการของจู่ที่ได้เริ่มต้นอย่างเป็นทางการ

ต่อมาในช่วงจลาจลอ๋องทั้งแปด จู่ที่ได้เข้าเป็นขุนนางของอ๋องอยู่หลายคนที่สู้รบแย่งชิงอำนาจกัน แต่ตัวเขาก็ไม่ได้อยู่รับใช้ใครนานนัก จนกระทั่งมารดาของเขาเสียชีวิต จู่ที่ที่รักแม่มากจึงลาออกจากตำแหน่งและกลับมาทำพิธีไว้อาลัยให้กับนางตามธรรมเนียมขงจื้อ

อย่างไรก็ดีในปี ค.ศ.311 กองทัพของอาณาจักรฮั่นจ้าว (อาณาจักรของพวกซงหนู) ได้เข้าโจมตีลั่วหยาง เมืองหลวงของราชวงศ์จิ้นแตก ทำให้เกิดกลียุคไปทั่วทุกหนทุกแห่ง เพราะรัฐบาลกลางได้ล่มสลาย

จู่ที่จึงเป็นอีกหนึ่งคนที่ต้องหลบหนีภัยสงคราม ซึ่งเส้นทางของจู่ที่และผู้อพยพคนอื่นๆ ก็คือทางเดียวกัน นั่นคือหนีความวุ่นวายลงไปทางใต้ของแม่น้ำแยงซี ซึ่งไม่ได้ความเสียหายใดๆ จากการรุกรานของพวกอนารยชน

ตลอดเส้นทาง จู่ที่ได้แสดงออกถึงความมีน้ำใจและความเป็นผู้นำ เขาได้แจกจ่ายข้าวของ เสบียงอาหาร ตลอดจนรถม้าของตนเองทั้งหมดให้กับชาวบ้านและคนอื่นๆ ที่เจ็บป่วย โดยตัวเขาเองต้องเดินด้วยสองเท้าไปตลอดทาง นอกจากนี้เขายังทำหน้าที่ปกป้องชาวบ้านจากเหล่าโจรผู้ร้ายที่ฉวยโอกาสฉกชิงทรัพย์สินอีกด้วย จนสุดท้ายทุกคนก็เดินทางมาถึงที่หมายได้อย่างปลอดภัย

ความทะเยอทะยาน

ด้วยความที่เห็นผู้คนเพื่อนร่วมแผ่นดินเดือดร้อนอย่างมากตลอดการเดินทางลงใต้นับพันกิโลเมตร จู่ที่จึงตั้งมั่นว่าเขาจะต้องขจัดความเดือดร้อนนี้ให้กับประชาชนให้จงได้ ซึ่งการที่จะทำความฝันนี้ให้เป็นจริงได้ เขาต้องขับไล่พวกอนารยชนที่ยึดครองภาคเหนือและภาคกลางของจีนออกไปให้ได้เท่านั้น

เวลานั้นดินแดนจีนภาคใต้อยู่ในการปกครองของซือหม่ารุ่ย เชื้อพระวงศ์จิ้นที่หลบหนีลงมาภาคใต้และสร้างศูนย์การปกครองขึ้นมาใหม่ที่เมืองเจี้ยนคัง (นานกิง) ซือหม่ารุ่ยที่ได้ทราบถึงความสามารถของจู่ที่จึงแต่งตั้งให้เขาเป็นผู้ตรวจการและที่ปรึกษาทางทหาร

ซือหม่ารุ่ย

ในช่วงปี ค.ศ.313 ราชสำนักจิ้นที่ได้ตั้งขึ้นมาใหม่ในภาคเหนือ (ที่ฉางอาน) ได้สั่งให้ซือหม่ารุ่ยนำกำลังทหารจากภาคใต้ยกขึ้นไปกอบกู้ดินแดนที่เสียไป และขับไล่พวกอนารยชน ซือหม่ารุ่ยที่ได้รับพระราชโองการกลับเฉยเสีย โดยไม่ได้คิดจะยกไปตีภาคเหนือแต่อย่างใด

จู่ที่ได้ทราบเช่นนั้นจึงไปเข้าเฝ้าซือหม่ารุ่ยเพื่อขอโอกาสให้ตนเองเป็นแม่ทัพไปตีภาคเหนือ ซึ่งซือหม่ารุ่ยกลับตอบสนองด้วยการแต่งตั้งสุดแปลกนั่นก็คือ

  • เขาแต่งตั้งให้จู่ที่เป็นแม่ทัพ และผู้ตรวจการมณฑลใหญ่อย่างยีว์โจว
  • เขามอบเสบียงอาหาร เสื้อผ้า และปัจจัย 4 ให้
  • แต่ไม่ให้เสื้อเกราะ อาวุธ รวมไปถึงกำลังคนใดๆ

ดังนั้นพูดง่ายๆ ซือหม่ารุ่ยก็ไม่ได้ปฏิเสธถ้าจู่ที่จะยกทัพไปตีภาคเหนือ แต่ไม่ให้กองทัพใดๆ ดังนั้นจู่ที่ต้องหากำลังคนและยุทธปัจจัยด้วยตนเอง

โดยส่วนตัวผมมองว่าซือหม่ารุ่ยไม่ได้ไว้ใจเขานัก และในใจก็คงไม่อยากจะไปตีภาคเหนือด้วย เพราะในเวลานั้นซือหม่ารุ่ยกำลังเผชิญกับปัญหาการเมืองภายในของภาคใต้ และเขาเองก็มักใหญ่ใฝ่สูงอยากตั้งตนเป็นฮ่องเต้ ถ้าจู่ที่ตีภาคเหนือคืนได้สำเร็จ ตนเองก็คงจะไม่ได้เป็นฮ่องเต้นั่นเอง

อย่างไรก็ดีผู้คนทั่วไปล้วนแต่เห็นความตั้งใจและความผู้นำของจู่ที่ ผู้คนจึงมาสมัครเข้าร่วมกองทัพของเขาไม่น้อย ในปีเดียวกันนั่นเอง จู่ที่จึงนำผู้คนของเขาข้ามแม่น้ำแยงซี และยึดพื้นที่บางส่วนของภาคเหนือเอาไว้ได้ และได้สร้างฐานที่มั่นเพื่อผลิตอาวุธและเตรียมการปะทะกับศัตรูต่อไป

ชัยชนะของจู่ที่

หลังจากข้ามแม่น้ำมาได้ไม่นาน ศัตรูกลุ่มแรกที่จู่ที่ได้ปราบปรามก็คือเหล่านายโจรชาวฮั่นที่ได้ฉวยโอกาสที่แผ่นดินวุ่นวายปล้นสะดมและสถาปนาตนเองเป็นขุนศึกที่อยู่เหนือกฎหมาย การปราบปรามพวกโจรเหล่านี้ดำเนินไปอย่างราบรื่น ความสำเร็จในยุทธการปราบปรามโจรได้ทำให้จู่ที่ได้เสบียงอาหาร ผู้คน และอาวุธต่างๆ ทำให้กองทัพของเขาเข้มแข็งมากขึ้น

ข่าวการได้รับชัยชนะของจู่ที่ได้ทำให้สือเล่อ ประมุขของอาณาจักรโฮ้วจ้าว (สืบต่อจากฮั่นจ้าว) ที่ปกครองภาคเหนืออยู่รู้สึกเกรงกลัว สือเล่อจึงให้สือหูนำกองทัพยกมาปราบปรามจู่ที่และกองทหารของเขา

นี่เป็นครั้งแรกที่จู่ที่จะได้ปะทะกับกองทัพอนารยชนที่เป็นกองทัพระดับมืออาชีพ และมีชัยในสงครามมาแล้วมากมาย การต่อสู้ดำเนินไปอย่างเข้มข้น สุดท้ายจู่ที่เป็นฝ่ายมีชัย เพราะเขาได้ขอกองทัพสนับสนุนจากหวางหาน พันธมิตรของเขา ซึ่งได้ส่งกำลังมาช่วยทันเวลา จู่ที่จึงสามารถขับไล่กองทัพโฮ้วจ้าวไปได้สำเร็จ

ชัยชนะครั้งนี้ได้ทำให้จู่ที่และกองทัพของเขาฮึกเหิม กองทัพอาสาจึงเปลี่ยนกลับเป็นฝ่ายรุกบ้าง โดยได้เข้าตีเมืองต่างๆ ของโฮ้วจ้าวเข้ามาไกลถึงเมืองจวิ้นหยี (ไคเฟิงในปัจจุบัน) ราชสำนักโฮ้วจ้าวจึงเร่งส่งกองกำลังเข้ามาสกัดอย่างเร่งด่วน

ในเวลานั้นจู่ที่ยึดครึ่งหนึ่งของเมืองเอาไว้ได้ แต่กลับประสบกับปัญหาขาดเสบียงอาหาร ส่วนกองทัพฝ่ายโฮ้วจ้าวก็มีปัญหาเดียวกัน จู่ที่จึงใช้กลลวงหลอกศัตรูว่ากองทัพของตนมีเสบียงอาหารครบถ้วน ทำให้ฝ่ายโฮ้วจ้าวครั่นคร้ามและไม่กล้าออกมาเผชิญศึก เปิดโอกาสให้จู่ที่ส่งกำลังเข้าปล้นชิงเสบียงอาหารที่กำลังขนมาส่งให้กับฝ่ายโฮ้วจ้าวได้ทั้งหมด

แม่ทัพฝ่ายโฮ้วจ้าวเห็นว่าไม่อาจจะต่อสู้ต่อไปได้จึงเร่งถอนกำลัง จู่ที่จึงฉวยโอกาสตีเมืองยุทธศาสตร์สำคัญอย่างจวิ้นหยีเอาไว้ได้ ฐานกำลังของเขาในตอนเหนือของแม่น้ำแยงซีจึงมั่นคงมากยิ่งขึ้น

ชัยชนะของจู่ที่ได้เปลี่ยนให้เขาเป็นฝ่ายได้เปรียบในสงคราม กองทัพของจู่ที่เข้ากดดันค่ายและเมืองต่างๆ ของฝ่ายโฮ้วจ้าว ทำให้สือเล่อรู้สึกกังวล เขาจึงส่งทูตไปขอสงบศึกกับจู่ที่ ซึ่งปรากฏว่าจู่ที่ได้รับข้อเสนอ การศึกในภาคเหนือจึงสงบลงชั่วคราว

เป็นเรื่องน่าแปลกที่จู่ที่ยินยอมสงบศึกกับฝ่ายโฮ้วจ้าว โดยส่วนตัวผมมองว่าจู่ที่อาจจะมองว่าฝ่ายตนรุกเร็วจนเกินไป เดิมทีจู่ที่มีทรัพยากรน้อยมากอยู๋แล้ว การทำสงครามต่อไปอาจจะสุ่มเสี่ยงต่อการพ่ายแพ้ได้ ซึ่งถ้าจู่ที่พ่ายแพ้ เขาเสียทุกอย่างที่ได้ทำไปจนหมดสิ้นจนไม่เหลืออะไรเลย ดังนั้นการพักรบและรอจังหวะใหม่น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

นอกจากนี้ในช่วงพักรบ จู่ที่ได้สั่งให้เสริมการป้องกันดินแดนที่เขายึดมาได้ และเตรียมความพร้อมสำหรับสงครามครั้งใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับข้อสังเกตตรงนี้ครับ

อีกสาเหตุหนึ่งน่าจะเป็นเพราะการเมืองในแนวหลังกำลังคุกรุ่น ในเวลานั้นซือหม่ารุ่ยได้สามารถตนเองขึ้นเป็นฮ่องเต้แล้ว (นามว่าจิ้นหยวนตี้) และสถาปนาราชวงศ์จิ้นตะวันออกขึ้น อย่างไรก็ดีเขากำลังแย่งชิงอำนาจกับหวางตุ้น หนึ่งในขุนนางใหญ่ในราชสำนัก ดังนั้นแนวหลังของจู่ที่จึงมีแต่ความปั่นป่วน การทำศึกต่อไปโดยที่ปราศจากการสนับสนุนของแนวหลังย่อมเพิ่มโอกาสที่จะพ่ายแพ้ (ซือหม่ารุ่ยยังมอบเสบียงให้กับจู่ที่อยู่)

วาระสุดท้าย

แม้ว่าจู่ที่จะไม่เคยข้องเกี่ยวกับการแย่งชิงอำนาจ และอยู่ห่างไกลจากราชสำนักจิ้นนับพันกิโลเมตร แต่สุดท้ายเขาก็รับผลกระทบจนได้

กล่าวคือจิ้นหยวนตี้ปรารถนาจะให้มีกองทัพที่ไว้ใจได้คอยปกป้องพระองค์จากหวางตุ้นอยู่ภายนอก และอาจจะเพราะไม่ไว้ใจจู่ที่ด้วย ดังนั้นจิ้นหยวนตี้จึงส่งแม่ทัพคนใหม่มาควบคุมกองทัพของจู่ที่ แม้ว่าจู่ที่จะได้รับอนุญาตให้อยู่ในกองทัพได้ต่อไป แต่ก็เป็นเพียงรองแม่ทัพเท่านั้น ไม่มีสิทธิ์สั่งการใดๆ อีก

ไต้เยวียน แม่ทัพคนใหม่ได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่า เขาไม่สนใจการยึดคืนภาคเหนือกลับคืนอีกต่อไป (ตามคำสั่งของฮ่องเต้ที่ให้ใช้กองทัพนี้ปกป้องพระองค์จากหวางตุ้น) สำหรับจู่ที่แล้วจึงเหมือนโลกพังทลาย เพราะเขาได้ใช้เวลาเกือบสิบปีในการสร้างฐานกำลังอันแข็งแกร่งขึ้นมา แต่ทุกอย่างกลับจบสิ้นเพราะคำสั่งของจิ้นหยวนตี้

ด้วยความผิดหวังส่งผลให้สุขภาพของจู่ที่อ่อนแอลงทีละน้อย จนในที่สุดก็ล้มป่วยและเสียชีวิตด้วยวัย 55 ปี ประชาชนและทหารล้วนแต่โศกเศร้าเสียใจในการจากไปของเขา

ถ้าย้อนกลับไปแล้ว คำสั่งของจิ้นหยวนตี้ผิดพลาดในทุกบริบท เพราะจู่ที่เป็นหนึ่งในคนที่หวางตุ้นเกรงกลัวมากที่สุด หลังจากที่จู่ที่เสียตำแหน่งและเสียชีวิตแล้ว หวางตุ้นจึงไม่มีใครให้เกรงกลัวอีกต่อไป และเริ่มใช้อำนาจคุกคามฮ่องเต้มากยิ่งขึ้น เคราะห์ดีเป็นของราชสำนักจิ้นที่หวางตุ้นล้มป่วยและเสียชีวิตไปในปี ค.ศ.324 ก่อนที่จะชิงบัลลังก์จิ้นได้สำเร็จ (ทหารของจู่ที่เป็นกำลังสำคัญในการปราบปรามตระกูลหวางในเวลาต่อมา)

เมื่อไม่มีจู่ที่ สือเล่อและโฮ้วจ้าวจึงฉวยโอกาสยกเลิกสนธิสัญญาสงบศึก และเข้าตีหัวเมืองต่างๆ ที่จู่ที่ตีไว้ได้ ซึ่งก็สามารถตีได้อย่างง่ายดาย ดังนั้นสิ่งที่จู่ที่เพียรพยายามมาตลอดสูญสลายไปในที่สุด

ถ้ามองแบบภาพรวมแล้ว ผมมองว่าจู่ที่มีพร้อมทุกอย่างทั้งสติปัญญาและความสามารถ แต่สิ่งที่ทำให้จู่ที่ล้มเหลวคือการขาดการสนับสนุนที่ดีพอจากแนวหลัง ถ้าสถานการณ์บ้านเมืองราบรื่นกว่านี้ และมีฮ่องเต้ที่เปี่ยมด้วยสติปัญญามากกว่านี้ ปณิธานของจู่ที่อาจจะเป็นจริงเช่นเดียวกับวีรบุรุษคนอื่นๆ ในหน้าประวัติศาสตร์จีน

References:

  • Book of Jin – Fang Xuanling
  • Zizhi Tongjian – Sima Guang

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!