เทคโนโลยีจดทะเบียนโดเมนเนม (Domain Name) อย่างไรและทำที่ไหนดี?

จดทะเบียนโดเมนเนม (Domain Name) อย่างไรและทำที่ไหนดี?

โดเมนเนม (Domain Name) มีความสำคัญมากสำหรับทุกเว็บไซต์ เพราะโดเมนเนมคือชื่อของเว็บไซต์อย่างเช่น “victorytale.com” เป็นต้น ดังนั้นถ้าคุณจะเปิดเว็บไซต์ขึ้นมาใหม่ คุณจะต้องจดโดเมนเนมเป็นของคุณเอง โดยที่ไม่ซ้ำกับโดเมนเนมที่มีเจ้าของอยู่แล้ว

ในโพสนี้เราจะมาดูกันว่าวิธีการจดโดเมนเนมเป็นอย่างไร มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง และจะใช้บริการของผู้ให้บริการไหนดีครับ

คำลงท้ายของโดเมนเนม หรือ TLDs Image by EstudioWebDoce from Pixabay

ขั้นตอนการจดทะเบียนโดเมนเนม

การจดโดเมนเนม (Domain Name) ไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย แม้ว่าคุณจะเป็นมือใหม่ที่ไม่มีความรู้เรื่องการพัฒนาเว็บเลยก็ตาม (ผมก็ไม่มีครับ) ขั้นตอนของการจดโดเนมเนมประกอบด้วย 4 ขั้นได้แก่

  1. เปิดเว็บไซต์ผู้ให้บริการจดโดเมนเนม (Domain Name Registrar)
  2. ตรวจสอบว่าชื่อที่คุณต้องการมีคนใช้อยู่แล้วหรือไม่
  3. ตรวจสอบราคา
  4. จ่ายเงิน

ขั้นตอนที่เสียเวลามากที่สุดก็คือขั้นตอนที่ 2-3 เพราะชื่อที่คุณต้องการอาจจะมีเจ้าของอยู่แล้ว หรือว่าราคาแพงเกินไป ทำให้คุณต้องหาชื่อใหม่ แต่เมื่อคุณได้ชื่อที่ต้องการแล้ว ทุกอย่างก็เรียบง่ายสบายบรื๋อครับ

ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการจดโดเมนเนม

ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจดโดเมนเนมจะแตกต่างกันไปแล้วแต่ผู้บริการ แต่ส่วนมากจะมีคร่าวๆ ดังต่อไปนี้

  1. ค่าซื้อโดเมน/ค่าแรกเข้า/ค่าบริการปีแรก (First-year cost)
  2. ค่าต่ออายุรายปี (Renewal)
  3. ค่าปกปิดความเป็นส่วนตัวของโดเมน (Whois Privacy)

ผมขอสรุปง่ายๆ ว่า หลังจากที่คุณจ่ายค่าใช้จ่ายในปีแรก (ในข้อ 1) คุณจะได้ใช้โดเมนเนมดังกล่าวเป็นเวลา 1 ปี ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะแตกต่างกันออกไปตามคำลงท้าย (TLD) และปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่าง ราคาของแต่ละโดเมนอาจจะอยู่ในหลักร้อยถึงหลักแสนเลยบาทก็ได้

หลังจากที่คุณใช้โดเมนนี้ไป 1 ปี ถ้าคุณจะต้องการเป็นเจ้าของโดเมนเนมนี้ต่อไป คุณจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการต่ออายุเป็นรายปี ส่วนนี้คือค่าใช้จ่ายในข้อ 2)

ถ้าคุณไม่เสียค่าใช้จ่ายในการต่ออายุ โดเมนของคุณจะถูกเก็บเข้ากรุเป็นเวลา 45-90 วันเผื่อว่าคุณจะเปลี่ยนใจ แต่ถ้าคุณไม่เปลี่ยนใจ โดเมนดังกล่าวจะพ้นจากการครอบครองของคุณ ถูกนำไปเข้าตลาดโดเมนและ รอเวลาที่เจ้าของใหม่มาซื้อต่อไป

ส่วนข้อ 3 คือค่าใช้จ่ายพิเศษที่คุณขอให้ Registrar ปกปิดข้อมูลส่วนตัวของคุณ ถ้าคุณไม่เสียเงินในข้อนี้ เกิดมีใครไป search หาข้อมูลของ domain ใน Whois (เว็บไซต์ตรวจสอบข้อมูล Domain name) มันก็จะขึ้นชื่อว่าใครเป็นเจ้าของ พร้อมกับอีเมล์และเบอร์โทรติดต่อทั้งหมดเลย หลังจากนั้นพายุ spam ก็จะเข้ามาทั้งในโทรศัพท์และอีเมล์ของคุณ

ดังนั้นผมแนะนำให้เสียค่าใช้จ่ายตรงนี้ไปด้วยครับ

นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายเหล่านี้ อาจจะมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก ในกรณีที่คุณต้องการ subdomain, เปลี่ยน domain name หรือว่าย้าย registrar ซึ่งถ้าคุณเลือก domain name และ registrar อย่างดีแล้วก็ไม่ต้องกังวลครับ

ถัดไปเราไปดูกันดีกว่า คุณจะจดโดเมนกับเว็บไซต์ไหนดี?

ทำไมการเลือก Domain Name Registrar ถึงสำคัญ

การเลือก Domain Name Registrar หรือบริษัทผู้ให้บริการจดโดเมนเนมเป็นสิ่งที่สำคัญมาก คุณควรจะเลือกผู้ให้บริการที่น่าเชื่อถือและโปร่งใสเอาไว้ก่อน เพราะบางเจ้าอาจจะทำมาหากินแบบไม่ซื่อสัตย์ด้วยการขายโดเมนให้พวก spammer ทั้งหลาย ทำให้คุณอาจจะเป็นเจ้าของโดเมนที่เคยเป็นโดเมนที่เคยมีชื่อเสียงเน่าๆ ในโลกออนไลน์อย่างเช่น เคยใช้แพร่กระจาย malware เป็นต้น

นอกจากนี้ถ้าเปิดปัญหาอะไรสักอย่างกับโดเมนเนม อย่างเช่นระบบผิดพลาดไม่ได้ต่ออายุ เว็บไซต์ของคุณจะทำงานไม่ได้ ดังนั้นการเลือกผู้ให้บริการจึงสำคัญอย่างยิ่งครับ

1. Web Hosting ของคุณ

Web Hosting จำนวนมากทั้งไทยและต่างประเทศล้วนแต่ให้บริการจดโดเมนเนมไปในตัว ดังนั้นการจดโดเมนเนมกับ Host ของคุณไปเลยจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะคุณไม่จำเป็นต้องเลือก Hosting บริษัทนึง และ Domain Name Registrar ของที่นึง แต่ทำทั้งสองอย่างไปเลยในแพลตฟอร์มเดียว สำหรับมือใหม่แล้ว มันทำให้ความยุ่งยากหายไปไม่น้อยเลยครับ

ผู้ให้บริการลักษณะนี้ที่น่าสนใจได้แก่ Z.com เพราะเป็น Web Hosting และ Domain Name Registrar ที่มีสาขาในประเทศไทย เจ้าหน้าที่ customer support ก็เป็นคนไทย ซึ่งให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง แถมบริษัทนี้ยังเปิดมาแล้วกว่า 20 ปีและให้จดทะเบียนโดเมนเนมมาแล้วมากกว่าสิบล้านโดเมนครับ ดังนั้นสามารถเชื่อถือได้อย่างแน่นอน

ข้อดีของ Z.com คือ ค่าโดเมนไม่แพง นั่นคือเริ่มต้นที่ 270 บาทเท่านั้นเองสำหรับโดเมนที่ลงท้ายด้วย .com แถมยังจัดการกับ Whois Privacy ให้ฟรี โดยที่ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มอีกด้วยครับ ส่วนค่าใช้จ่ายต่ออายุก็คือ 270 บาทต่อปี ไม่มีการเพิ่มเหมือนกับเว็บไซต์บางแห่งแต่อย่างใด แถมบริการ Hosting ของ Z.com ยังถือว่าเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทยด้วย

ผู้ให้บริการอื่นๆ ที่คล้ายกันได้แก่

จริงอยู่ว่าการจดโดเมนเนมกับผู้ให้บริการ Web Hosting ของคุณอาจจะสะดวกสบาย แต่ผมแนะนำให้คุณระวังให้ดี บาง Web Hosting อย่างเช่น Godaddy จะคิดค่าใช้จ่ายในปีที่ 2 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ค่าใช้จ่ายในการต่ออายุโดเมนเนมสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด

นอกจากนี้การที่โดเมนเนมถูกติดกับ Hosting plan จะทำให้การย้ายโดเมนหรือ Host ยุ่งยากมากถึงมากที่สุด จากประสบการณ์ส่วนตัว มันชวนให้หัวร้อนและหวาดระแวงสำหรับมือใหม่มากๆ ครับ

2. Google Domains

Google Domains เป็นบริการจดทะเบียนโดเมนเนมของ Google บริษัทเทคโนโลยีที่คนไทยรู้จักกันดีอยู่แล้ว ดังนั้นเชื่อได้เลยว่าโดเมนของคุณจะปลอดภัยและเป็นของดีมีคุณภาพอย่างแน่นอนครับ

คุณไม่จำเป็นต้องเลือกแพลนอะไรให้ยุ่งยาก เพียงแค่คุณเลือก search ดูว่าโดเมนเนมที่คุณต้องการมีเจ้าของหรือไม่ ถ้าไม่มีก็สามารถจับจองและจ่ายเงินได้เลย เพียงเท่านี้ก็เสร็จแล้วครับ

ทั้งนี้โดเมนเนมเริ่มต้นปีแรกในราคา $9 (270 บาท) และยังมี privacy protection มาแล้วเรียบร้อยตลอดชีพ ค่าใช้จ่ายลึกลับอื่นๆ ก็ไม่มีแล้ว แถม Customer Support ก็ยังมีพร้อม คุณติดต่อเจ้าหน้าที่ได้จากทางอีเมล์, livechat, หรือโทรศัพท์ Google Domains จึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากๆ เลยครับ

3. Namecheap

Namecheap เป็นผู้ให้บริการจดโดเมนเนมยอดนิยมที่มีคำลงท้าย หรือ TLD (top-level domain) อย่าง .com, .net, .co ให้เลือกนับร้อย ทำให้คุณสามารถหาชื่อและคำลงท้ายที่ต้องการได้ไม่ยากเลยครับ

สรรหา Domain name ผ่านแพลตฟอร์มของ Namecheap

โดเมนเนมของ Namecheap จะมีราคาที่แตกต่างกันออกไป ถ้าเป็น .com จะเริ่มต้นปีแรกที่ $8.88 (ประมาณ 270 บาท) แต่ค่าต่ออายุจะอยู่ที่ปีละ $13 (390 บาท) โดยรวมแล้วถือว่าอยู่ในเกณฑ์ถูกครับ โดยเฉพาะถ้าคิดว่า Namecheap จัดการเรื่อง Whois Privacy ให้คุณฟรีโดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม

ในเรื่อง support ก็ไม่ต้องกังวล เพราะมีคนช่วยเหลืออยู่ตลอดผ่านทาง Live Chat ครับ

สามารถสมัครได้ที่ Namecheap

4. Domain.com

Domain.com เป็นหนึ่งในเว็บไซต์จดทะเบียนโดเมนเนมที่อยู่คงกระพันมากที่สุดในตลาด และเป็นผู้บริการที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งด้วย ดังนั้นคุณสามารถวางใจในโดเมนเนมของ Domain.com ได้ครับ

Domain.com

ราคาโดเมนเนมของ Domain.com จะใกล้เคียงกับผู้ให้บริการอื่นๆ อย่างโดเมนที่ใช้ .com จะมีค่าแรกเข้า $9.99 (300 บาท) ในปีแรก และค่าต่ออายุ $13.99 (420 บาท) ในปีที่สองครับ และต้องเสียค่า privacy protection เพิ่มปีละ $8.99 (270 บาท) ด้วย

ถ้าพูดถึงเรื่องราคาแล้ว Domain.com อาจจะไม่ได้ถูกที่สุด แต่จุดเด่นของเจ้านี้คือคำลงท้ายหรือ TLD มีให้เลือกเยอะมากครับ หลายคนจึงเลือกใช้บริการเพราะสาเหตุนี้เอง

โดเมนเนมจะหมดอายุต้องทำอย่างไร?

ทั่วไปแล้วโดเมนเนมจะมีอายุ 1 ปี (ยกเว้นคุณซื้อไว้ล่วงหน้าหลายปี) และเมื่อใกล้จะหมดอายุ ผู้ให้บริการจะส่งอีเมล์มาแจ้งเตือนคุณอยู่เนืองๆ ถ้าคุณเปิดระบบ auto renewal ไว้ ทาง registrar จะต่ออายุให้กับคุณโดยอัตโนมัติเมื่อโดเมนเนมเหลืออายุ 1 เดือน ดังนั้นไม่ต้องกังวลว่าคุณจะลืมการต่ออายุและเสียการครอบครองโดเมนนั้นไปครับ

สำหรับใครที่ตัดสินใจว่าจะเลิกทำเว็บ หรือไม่ใช้โดเมนเนมนั้นแล้ว คุณสามารถปิดระบบ auto renewal ทิ้งและไม่ต้องทำอะไรอีกแล้ว หลังจากนั้นโดเมนเนมของคุณจะหมดอายุและเข้าไปสู่ตลาดให้เจ้าของใหม่มาซื้อครับ

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!