ประวัติศาสตร์รัสเซียครอบครัวซาร์วันอาทิตย์เลือด: เหตุการณ์ที่เปลี่ยนรัสเซียไปตลอดกาล ตอนจบ

วันอาทิตย์เลือด: เหตุการณ์ที่เปลี่ยนรัสเซียไปตลอดกาล ตอนจบ

จากความเดิมตอนที่แล้ว แรงงานที่เข้าร่วมการประท้วงมีมากกว่า 150,000 คนในวันเสาร์ที่ 21 มกราคม ค.ศ 1905 (ตามปฏิทินจูเลียนที่รัสเซียใช้อยู่นั้นจะตรงกับวันที่ 8 มกราคม ค.ศ 1905) แต่ละคนล้วนแต่ศรัทธาในตัวกาปอน และปรารถนาจะให้เขามานำเหล่ามวลชนไปทูลซาร์นิโคลัสให้ทรงให้การช่วยเหลือ

ทัศนคติเก่าแก่ของชาวรัสเซียต่อซาร์

สำหรับชาวรัสเซียแล้ว พวกเขามองว่าซาร์ทรงเป็นมากกว่าพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์ทรงเป็นทั้งผู้นำทางศาสนาและจิตวิญญาณ พระองค์ทรงผู้ปกครองโดยชอบธรรมจากพระเจ้า

นอกจากนี้ซาร์ยังทรงเป็นบิดาของชาวรัสเซียทั้งมวล พระองค์ทรงมิใช่พวกเดียวกับพวกชนชั้นสูงที่คดโกง ซาร์ทรงรักในประชาชนของพระองค์ เมื่อใดที่ประชาชนประสบปัญหา ซาร์จะทรงเป็นที่พึ่งสุดท้ายที่จะมาช่วยเหลือให้ประชาชนพ้นจากความทุกข์ยาก เรื่องราวความรักความผูกพันระหว่างซาร์และประชาชนมีมาทุกยุคทุกสมัย เช่น เรื่องซาร์อีวานกับโจรก็เป็นหนึ่งในนั้น

ด้วยเหตุนี้ในวันนั้น เหล่าแรงงานที่ทนกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ไม่ไหวอีกแล้วจึงหวังว่าซาร์จะให้การช่วยเหลือพวกเขา อย่างที่พวกเขาเชื่อมั่นในพระองค์เสมอมา

การตัดสินใจของกาปอน

สำหรับกาปอนแล้ว เขามีทางเลือกอยู่สองทาง นั่นคือเลือกที่จะนำมวลชน หรือ ปฏิเสธ ตัวกาปอนเองเป็นเจ้าหน้าที่พิเศษของตำรวจลับ เขาย่อมต้องการให้ชุมนุมเกิดความสงบเรียบร้อย ไม่ให้พวกนักปฏิวัติเข้ามายุ่มย่ามได้ อีกอย่างหนึ่งกาปอนก็เห็นว่าเป็นโอกาสที่เขาจะช่วยเหลือให้คุณภาพชีวิตของพวกแรงงานดีขึ้น กาปอนจึงตัดสินใจที่จะนำมวลชนอย่างไม่ลังเล

กาปอนเดินทางไปพูดคุยกับแรงงานกลุ่มต่างๆ และประมวลข้อเรียกร้องต่างๆ ของเหล่าแรงงาน จนสุดท้ายแล้วก็ได้ข้อเรียกร้องร่วมขึ้นมาว่า เหล่าแรงงานต้องการให้รัฐบาลซาร์ปรับปรุงด้านคุณภาพชีวิตของแรงงาน ด้วยการลดเวลาทำงานเหลือ 8 ชั่วโมงต่อวัน แก้ไขสภาพโรงงานให้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังให้เงินเดือนและสวัสดิการอย่างยุติธรรม นอกจากนี้พวกเขายังต้องการให้ซาร์นิโคลัสทรงสงบศึกกับญี่ปุ่นเสียที และเริ่มนำระบบเลือกตั้งเข้ามาใช้บ้าง

ในใจของกาปอนคิดว่า เขาจะนำข้อเรียกร้องไปถวายต่อซาร์ด้วยพระองค์เองที่พระราชวังฤดูหนาว ซาร์นิโคลัสจะเสด็จออกมารับข้อเรียกร้องอย่างในตำนานรัสเซียโบราณ แล้วทุกอย่างจะจบลงแบบ Happy Ending

ซาร์นิโคลัสที่ 2

ความผิดพลาดด้านการสื่อสาร

ปัญหาสำคัญเริ่มเกิดขึ้น รัฐบาลซาร์ไม่ได้ทราบข่าวและความต้องการของกาปอนล่วงหน้า และดูเหมือนว่ากาปอนอาจจะไม่ได้แจ้งไปที่รัฐบาลด้วยซ้ำไป ด้วยเหตุนี้ทุกอย่างจึงตรงกันข้ามกับสิ่งที่กาปอนคิดไว้โดยสิ้นเชิง

ในวันเสาร์ ซาร์นิโคลัสที่ 2 ทรงประทับอยู่ที่พระราชวังอเล็กซานเดอร์ที่หมู่บ้านซาร์ที่ห่างออกไปจากเซนต์ปีเตอร์สเปิร์กประมาณ 30 กิโลเมตร พระองค์ทรงมิได้ประทับภายในเมืองหลวงมานานแล้วเนื่องจากเหตุผลทางด้านความปลอดภัย (หลังจากการปลงพระชนม์ซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2) นิโคลัสจะเสด็จเข้ามาในเซนต์ปีเตอร์สเปิร์กเมื่อมีวาระสำคัญเท่านั้น

ข้อนี้กาปอนอาจจะไม่ทราบ เขาอาจจะคิดว่าซาร์ประทับอยู่ที่พระราชวังฤดูหนาวตลอดเวลา และเขาจะพบพระองค์ได้ในทันทีโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้าหลายวัน นั่นเป็นความผิดพลาดที่ทำให้เกิดเหตุการณ์อันเลวร้ายที่สุด

ดังนั้นเมื่อกาปอนไม่ได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลล่วงหน้า ทำให้ไม่มีใครไปทูลให้นิโคลัสทรงทราบเช่นกันว่า กาปอนและมวลชนจำนวนมากต้องการที่จะเข้าพบพระองค์ที่พระราชวังฤดูหนาวในวันอาทิตย์ นิโคลัสจึงไม่ทราบเรื่องใดๆ ที่เกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย

กว่ากาปอนจะแจ้งให้รัฐบาลทราบก็เป็นเวลาเย็นของวันเสาร์แล้ว การแจ้งว่ามวลชนหลายหมื่นคนกำลังจะเดินหน้าไปยังพระราชวังฤดูหนาวในรุ่งขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลซาร์ตื่นตระหนก

เจ้าชายซีว์ตาโป-เมียร์สกี้ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้อ่านข้อเรียกร้องและรับทราบอย่างกะทันหันว่า มวลชนจำนวนมหาศาลกำลังเดินทางมายังพระราชวังฤดูหนาว เขารู้สึกตื่นตระหนกกับสถานการณ์ เหล่าเสนาบดีจึงได้รับคำสั่งให้มาประชุมกันโดยด่วน ในที่ประชุมได้มีข้อเสนอว่า ให้แกรนด์ดยุคองค์อื่นมารับหน้าแทนซาร์นิโคลัสไปก่อนจะดีหรือไม่ แต่ข้อเสนอดังกล่าวกลับตกลงไปอย่างไม่ทราบสาเหตุ

เมียร์สกี้จึงสั่งให้กองกำลังทหารจากบริเวณโดยรอบเข้าเสริมกำลังที่พระราชวังฤดูหนาวโดยเร็วที่สุด และได้เรียนให้ซาร์นิโคลัสทรงทราบในคืนวันเสาร์ นิโคลัสได้บันทึกไว้ในไดอารี่ของพระองค์ว่า

กองทหารได้รับคำสั่งให้เข้ามาจากรอบๆเมืองเพื่อเสริมกำลังในป้อมค่าย ตอนนี้พวกแรงงานกำลังอยู่ในความสงบ จำนวนของพวกเขาอยู่ที่ประมาณ 120,000 คน หัวหน้าของพวกเขาคือบาทหลวงสังคมนิยมชื่อกาปอน เมียร์สกี้เดินทางมาที่นี่ตอนเย็นเพื่อรายงานถึงมาตรการรับมือ

แกรนด์ดัชเชสโอลกาให้ข้อมูลว่าในวันนั้น นิโคลัสต้องการที่จะเข้ามาพบประชาชนในเมืองหลวง แต่พวกรัฐมนตรีต่างห้ามพระองค์ไว้ นิโคลัสทรงเชื่อในคำแนะนำเหล่านั้น พระองค์จึงไม่ได้เข้ามาในเมืองหลวงในเช้าวันอาทิตย์

เจ้าชายสวีตาโป-เมียร์สกี้

วันอาทิตย์เลือด

เช้าวันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม ค.ศ.1905 (ถ้าตามรัสเซียจะเป็น 9 มกราคม) เหล่าแรงงานทั้งหญิงชายพากันถือรูปภาพของซาร์นิโคลัสและรูปเคารพต่างๆ ในศาสนาคริสต์ พวกเขาร้องเพลง “God Save the Tsar!” เพื่อสรรเสริญซาร์เป็นอันที่รักของพวกเขาจนเสียงกึกก้องไปทั่วบริเวณ

เพลง God Save the Tsar หรือ Bozhe Tsarya Kharni

เราสามารถเห็นได้ชัดเจนว่าเจตนาของการประท้วงไม่ใช่การล้มล้างระบอบซาร์อย่างแน่นอน กาปอนเองก็ยังให้ผู้ประท้วงฉีกทำลายใบปลิวที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองของพวกนักปฏิวัติไปทั้งหมด

เช้าวันนั้น ผู้ประท้วงจำนวนมหาศาลเริ่มเดินเท้าไปยังพระราชวังฤดูหนาว (Winter Palace) ซึ่งพวกเขาคิดว่าซาร์ประทับอยู่ที่นั่น โดยไม่รู้ว่าความผิดพลาดได้เกิดขึ้นมาแล้ว ฝูงชนยังคงเดินหน้าอย่างเป็นระเบียบ นำโดยคุณพ่อกาปอนตามเดิม พวกเขาคาดว่าน่าจะเดินทางถึงพระราชวังฤดูหนาวในเวลาบ่ายสองโมงของวันอาทิตย์

กาปอน และเหล่าผู้ชุมนุมในวันอาทิตย์เลือด

เวลาสิบโมงเช้า เหล่ามวลชนกลับพบทหารราบและทหารม้าคอสแซกและฮุสซาร์ในเส้นทางสู่พระราชวังฤดูหนาว มวลชนทั้งหลายไม่คาดคิดว่าพวกทหารจะใช้กำลังรุนแรง พวกเขาจึงพยายามเดินเท้าต่อไปอย่างสงบเพื่อที่จะไปยังพระราชวังฤดูหนาว

ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนั้น การสั่งการมันคลุมเครือมากๆ และไม่ปรากฏชัดเจนว่าใครเป็นผู้สั่ง จู่ๆเหล่าทหารที่ตั้งแถวอยู่ต่างระดมยิงเข้าใส่มวลชน และทหารม้าคอสแซกก็ตรงเข้าชาร์จมวลชนจำนวนมากด้วยดาบ มวลชนจำนวนมากถึงกับตกใจจนสิ้นสติว่าเกิดเรื่องอะไรขึ้น

กระสุนมากมายทะลุร่างของมวลชนที่ชุมนุมโดยสงบ ซึ่งบางคนเป็นผู้หญิงและเด็ก ทำให้พวกเขาได้รับบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก กองหิมะที่อยู่ในเมืองถึงกับกลายเป็นสีเลือด นี่จึงเป็นที่มาของชื่อเหตุการณ์ที่เรียกว่า วันอาทิตย์เลือด หรือ Bloody Sunday นั่นเอง

มวลชนพากันแตกหนีกันไปทุกทิศทุกทาง บางส่วนเกิดการเหยียบกันเอง ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากขึ้นไปอีก รายงานของรัฐบาลซาร์ได้บันทึกว่ามีผู้เสียชีวิตเกือบร้อยคน และบาดเจ็บอีกสามร้อยกว่าคน แต่ข้อมูลจากแหล่งอื่นได้ให้ข้อมูลผู้เสียชีวิตมากถึง 1,000 – 4,000 คน

ซาร์นิโคลัสทรงได้ทราบเรื่องทั้งหมดในเย็นของวันนั้น พระองค์ทรงตกตะลึงไปและเศร้าพระทัย นิโคลัสไม่เคยปรารถนาจะให้เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นเลย และเป็นที่แน่ชัดว่าพระองค์ไม่ได้สั่งการให้ยิงประชาชน นิโคลัสทรงบันทึกไว้ว่า วันนั้นเป็นวันที่เจ็บปวดอย่างยิ่ง ส่วนซารินาอเล็กซานดราเสียพระทัยอย่างหนักกับเรื่องที่เกิดขึ้น

ภาพยนตร์โซเวียตจำลองเหตุการณ์การยิงในวันอาทิตย์เลือด

ผลที่ตามมา

เซอร์เกย์ วิตต์ เสนาบดีเก่าแก่ของซาร์องค์ก่อน ทูลให้นิโคลัสทรงรีบนำพระองค์ออกจากเรื่องดังกล่าวด้วยการประกาศว่าเหล่าทหารยิงประชาชนโดยไม่ได้รับคำสั่งใดๆ (ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง) เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของพระองค์ไว้ แต่ซาร์นิโคลัสกลับปฏิเสธ เพราะพระองค์ไม่ต้องการให้กองทัพของพระองค์เสื่อมเสียชื่อเสียง

ในวันเดียวกัน นิโคลัสเชิญแรงงานสามสิบกว่าคนมาที่หมู่บ้านซาร์ (Tsarskoe Selo) และได้สนทนากับพวกเขาเป็นเวลาสั้นๆ นิโคลัสตรัสถึงการสนับสนุนของพวกเขาต่อกองทัพรัสเซีย และแนะนำให้พวกเขาปฏิเสธคำแนะนำอันชั่วร้ายของคณะปฏิวัติ พระองค์ไม่ได้ตรัสถึงข้อเรียกร้องของพวกเขาและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเลย หลังจากนั้นเหล่าแรงงานก็เดินทางออกจากพระราชวังไป ระหว่างที่เดินทางกลับ ทุกคนกลับถูกพวกข้าราชบริพารเหยียดหยามอีกด้วย

การแก้ปัญหาโดยปราศจากการเยียวยา ทำให้เหล่าประชาชนรัสเซียโกรธแค้นมาก ทั้งๆที่พวกเขาถือรูปของซาร์และชุมนุมด้วยความสงบ แต่กลับถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม ตั้งแต่บัดนั้นมุมมองของประชาชนชาวรัสเซียที่มีต่อซาร์เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล พวกเขามองว่าซาร์ที่เป็นบิดาที่รักพวกเขาไม่มีอีกต่อไปแล้ว พวกเขาพากันเรียกซาร์ว่า “นิโคลัสจอมกระหายเลือด” และ “นิโคลัสจอมฆาตกร” คำพูดที่พูดกันบ่อยที่สุดในเวลานั้นคือ

พวกเราไม่มีซาร์อีกแล้ว

ภาพการ์ตูนเสียดสี “นิโคลัสจอมกระหายเลือด”

ถึงแม้ซาร์นิโคลัสทรงไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยกับการสังหารประชาชนในวันนั้น แต่พระองค์ทรงต้องรับการประณามจากประชาชนไปมากที่สุด เพราะทรงปฏิเสธที่จะเชื่อเซอร์เกย์ วิตต์ และจัดการวิกฤตการณ์ไว้เลวร้ายมาก

เหตุการณ์วันอาทิตย์เลือดเป็นต้นเหตุสำคัญของการปฏิวัติรัสเซียในปี ค.ศ.1905 และในปี ค.ศ.1917 ซึ่งเป็นวาระสุดท้ายของราชวงศ์โรมานอฟ

แล้วใครสั่งยิง?

คำถามสำคัญต่อไปคือ ใครเป็นคนสั่งยิงประชาชนกันแน่?

สำหรับซาร์นิโคลัสนั้นไม่ใช่แน่นอน พระองค์ทรงไม่ได้อยู่ในเมืองหลวง และกว่าจะทราบเรื่องก็เวลาเย็นแล้ว ในประเด็นนี้นักประวัติศาสตร์เห็นตรงกันว่าพระองค์ทรงไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

บุคคลที่ต้องสงสัยอันดับหนึ่งคือ เมียร์สกี้ เขาตกเป็นแพะรับบาปของเรื่องทั้งหมด เมียร์สกี้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สั่งการให้ยิงประชาชน และให้การสนับสนุนมวลชนอย่างลับๆ เพื่อผลักดันผลประโยชน์ทางการเมืองของตนเอง เมียร์สกี้ถูกปลดออกจากตำแหน่งในเดือนต่อมา แต่เขาปฏิเสธเสมอว่า เขาไม่ได้เป็นคนสั่งให้ยิงมวลชน

คนต่อมาคือ แกรนด์ดยุควลาดิเมียร์ อเล็กซานดรอวิช อาของซาร์นิโคลัสที่ 2 แต่วลาดิเมียร์เองไม่ได้อยู่ที่เมืองหลวง เขาปฏิเสธความเกี่ยวข้องทั้งหมดในเหตุการณ์ครั้งนั้น

คนสุดท้ายคือ ผู้บังคับบัญชาทหารองครักษ์ เจ้าชายวาซิลชิคอฟ แต่เราก็ไม่มีหลักฐานชัดเจนอีก

ดังนั้นผู้ที่สั่งยิงจึงหายไปกับประวัติศาสตร์รัสเซีย แต่การสั่งยิงครั้งนั้นได้เปลี่ยนแปลงรัสเซียและโลกไปอย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!