ประวัติศาสตร์รัสเซียครอบครัวซาร์วันอาทิตย์เลือด: เหตุการณ์ที่เปลี่ยนรัสเซียไปตลอดกาล ตอนแรก

วันอาทิตย์เลือด: เหตุการณ์ที่เปลี่ยนรัสเซียไปตลอดกาล ตอนแรก

วันอาทิตย์เลือด (Bloody Sunday) หรือที่ในภาษารัสเซียเรียกว่า Крова́вое воскресе́нье เป็นเหตุการณ์สำคัญอันยิ่งยวดที่เปลี่ยนฉากหน้าของการเมืองรัสเซียไปตลอดกาล และเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งที่ทำให้เกิดการปฏิวัติแห่งปี ค.ศ.1905 และ 1917

ปูมหลัง: แรงงานรัสเซีย

ตั้งแต่รัชสมัยของซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 จนถึงซาร์นิโคลัสที่ 2 เป็นรัชสมัยที่รัสเซียทำการปฏิวัติอุตสาหกรรมขนานใหญ่ รัสเซียได้เปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน โรงงานจำนวนมากจึงถูกเปิดขึ้นในเมืองสำคัญๆ อย่าง กรุงเซนต์ปีเตอร์สเปิร์กและมอสโก (ในเวลานั้นเซนต์ปีเตอร์สเปิร์กคือเมืองหลวงของรัสเซีย)

การเปิดจ้างแรงงานจำนวนมากทำให้แรงงานที่เคยอยู่ชนบทเข้ามาอยู่อาศัยในเมือง เพราะแรงงานบางส่วนไม่ต้องการใช้หนี้สินที่เกิดจากการปลดปล่อยเซิร์ฟในปี ค.ศ.1861 และคิดว่าอาจจะมีชีวิตที่ดีกว่าในเมือง นั่นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้สำหรับประเทศที่มีความเหลี่อมล้ำมากที่สุดในโลกอย่างจักรวรรดิรัสเซีย (Russian Empire)

พวกเซิร์ฟใช้ชีวิตอย่างยากลำบากจากการถูกกดขี่ในสังคมรัสเซีย ทำให้พวกเขาเดินทางมาในเมืองเพื่อแสวงหาลู่ทาง

แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมในรัสเซียต้องทำงานหนักมาก พวกเขาต้องทำงานโดยเฉลี่ย 11 ชั่วโมงในวันจันทร์ถึงศุกร์ และ 10 ชั่วโมงในวันเสาร์ แต่บางโรงงานก็บังคับให้แรงงานทำงานมากกว่า 12 ชั่วโมงด้วยซ้ำไป

ถึงแม้ว่าจะทำงานหนักมาก แต่เงินที่เหล่าแรงงานได้รับกลับน้อยมาก แรงงานรัสเซียได้ค่าตอบแทนน้อยที่สุดในยุโรป มิหนำซ้ำถ้าแรงงานทำผิดพลาด พวกเขายังต้องจ่ายค่าปรับสูงมากให้กับนายจ้าง สวัสดิการที่ให้กับแรงงานเหล่านี้เรียกได้ว่าเป็นศูนย์ โอกาสที่แรงงานจะตั้งตัวได้จึงไม่มีอยู่เลย พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ในย่านเสื่อมโทรมแห่งกรุงเซนต์ปีเตอร์สเปิร์ก

กฎหมายคุ้มครองแรงงานรัสเซียมีอยู่บ้าง แต่ทั้งหมดล้วนแต่ไม่เข้มงวด และยังไม่เป็นมิตรกับแรงงานอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายแรงงานห้ามไม่ให้เหล่าแรงงานก่อตั้งสหพันธ์แรงงานเพื่อเรียกร้องการปฏิบัติที่ดีขึ้นจากนายจ้าง

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นอาจจะเป็นเพราะความหวาดระแวงของรัฐบาลรัสเซียเองที่เกรงว่าองค์กรแรงงานจะไปเข้ากับพวกนักปฏิวัติ ศัตรูตัวสำคัญของรัฐบาลซาร์

เมื่อนานเข้า เหล่าแรงงานจึงไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง พวกเขารู้สึกว่ารัฐบาลปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างไม่ยุติธรรม พวกเขาเริ่มมีความรู้สึกเกลียดชังต่อชนชั้นสูง และรัฐบาลมากขึ้นตามลำดับ บางส่วนเริ่มมีความคิดหัวรุนแรง และเห็นดีเห็นงามกับแนวคิดของเหล่านักปฏิวัติ จากการที่พวกนักปฏิวัติลักลอบนำเอกสารต้องห้ามมาแจกตามโรงงานต่างๆ อยู่ตลอดเวลา

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ทั่วโลกมีกระแสการประท้วงของแรงงานอยู่โดยทั่วไป จักรวรรดิรัสเซียเองก็ไม่ได้มีข้อยกเว้น การประท้วงในอาณาจักรมีมาเรื่อยๆ อยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้มีความสำคัญอันใดนัก เพราะเป็นการประท้วงย่อย ผู้คนเข้าร่วมก็ไม่มากนัก รัฐบาลซาร์เองก็ไม่ได้คิดว่าการประท้วงนี้จะกลายเป็นปัญหาใหญ่โต

สหภาพแรงงานฝ่ายขวา

แนวคิดหัวรุนแรงเป็นเหมือนไวรัส จำนวนของแรงงานหัวรุนแรงจึงเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว รัฐบาลรัสเซียแก้สถานการณ์ด้วยการให้ตำรวจมอบหมายหน้าที่พิเศษให้กับประชาชนหรือแรงงานบางคนเป็นการลับเพื่อป้องกันไม่ให้แนวคิดปฏิวัติลุกลามไปมากกว่านี้

ดังนั้นเราจะเรียกประชาชนพวกนี้ว่า เจ้าหน้าที่พิเศษ (Special Agent) หรือ สายลับ (Spy) ก็ย่อมได้

เจ้าหน้าที่พิเศษมีหน้าที่จัดตั้ง “กลุ่ม” หรือ “สังคมแรงงาน” ขึ้นในรูปแบบที่ถูกกฎหมาย โดยตำรวจลับมีหน้าที่ควบคุมดูแลองค์กรเหล่านี้ผ่านเจ้าหน้าที่พิเศษอีกทีหนึ่ง เป้าหมายของนโยบายนี้ก็คือ สร้างแนวคิดที่ถูกต้องเพื่อให้แรงงานยังคงจงรักภักดีต่อรัฐบาลซาร์และ ป้องกันเหล่าแรงงานไม่ให้ถูกชักจูงไปเป็นนักปฏิวัติ

วิธีการหนึ่งขององค์กรนี้ก็คือ การ “โบ้ย” ปัญหาทั้งหมดไปยังเหล่าผู้ประกอบการ หรือ นายจ้าง เพื่อไม่ให้เหล่าแรงงานนั้นคิดจะล้มล้างรัฐบาล เหล่านายจ้างไม่พอใจสักเท่าใดนักกับวิธีการนี้ แต่รัฐบาลรัสเซียก็ได้ส่งคนมาเกลี้ยกล่อมว่า การมีองค์กรที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่พิเศษยังไงเสียก็ดีกว่าปล่อยให้พวกแรงงานถูกชักจูงไปโดยพวกนักปฏิวัติสังคมนิยมเสียหมด เหล่านายจ้างจึงยินยอมให้คงสถานะดังกล่าวต่อไป

หนึ่งในเจ้าหน้าที่พิเศษก็คือ บาทหลวงกอร์กี กาปอน เขาได้ก่อตั้งสมาพันธ์แรงงานโรงงานและโรงสีรัสเซียแห่งกรุงเซนต์ปีเตอร์สเปิร์กขึ้น ซึ่งสมาพันธ์นี้ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลรัสเซียเป็นการลับ

กอร์กี กาปอน

ถึงแม้คุณพ่อกาบอน จะเป็นหนึ่งในผู้รับเลือกให้เป็นเจ้าหน้าที่พิเศษ แต่ในใจของเขานั้น เขาไม่ได้เป็น “หมาก” ตัวหนึ่งของรัฐบาลรัสเซีย กาปอนมีความจริงใจที่จะแก้ไขความทุกข์ยากของแรงงานรัสเซียอย่างแท้จริง ดังนั้นเขาจึงร่วมมือกับตำรวจทางหนึ่ง อีกทางหนึ่งเขาก็พยายามหาวิธีที่ถูกกฎหมายในช่วยเหลือแรงงานรัสเซียให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

แรงงานบางคนก็สงสัยคุณพ่อกาปอนว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่พิเศษของตำรวจ (ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ) แต่พวกเขาก็เลื่อมใสในความจริงใจและความเป็นผู้นำของคุณพ่อกาปอนมาก นอกจากนี้คุณพ่อกาปอนยังทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับพวกเขา เหล่าแรงงานจึงยอมรับว่ากาปอนเป็นผู้นำ และพากันลืมๆ ประเด็นที่ว่าเขาเป็นคนของตำรวจไป

ชนวนระเบิด

ในต้นปี ค.ศ 1905 แรงงานของโรงงานพูติลอฟ (Putilov Factory) จำนวนสี่คนได้ถูกไล่ออก เพราะแรงงานกล่าวหาว่าไปเข้าร่วมเป็นสมาชิกในองค์กรของกาปอน ผู้จัดการโรงงานพยายามอธิบายว่าพวกเขาถูกไล่ออกจากสาเหตุอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่แรงงานทั้งหมดไม่มีใครเชื่อ แรงงานทั้งหมดพยายามต่อรองให้ผู้จัดการรับแรงงานสี่คนกลับเข้ามาทำงาน ผู้จัดการปฏิเสธข้อเรียกร้องของพวกเขา แรงงานทั้งโรงงานจึงลุกฮือขึ้นประท้วง

การลุกฮือขึ้นประท้วงทำให้แรงงานกลุ่มอื่นๆ ที่โกรธแค้นรัฐบาลอยู่แล้วเข้ามาร่วมด้วย การหยุดงานไปประท้วงของพวกแรงงานทำให้ทั้งกรุงเซนต์ปีเตอร์สเปิร์กไม่มีไฟฟ้าใช้ หนังสือพิมพ์ก็หยุดจำหน่าย พื้นที่ต่างๆ ล้วนแต่ปิดให้บริการเพราะขาดคนงาน

ผู้ประท้วงนับรวมกันได้ถึง 150,000 คน พวกเขาล้วนแต่ปรารถนาให้กาปอนเป็นผู้นำพวกเขาในการเรียกร้องการปฏิบัติให้ดีขึ้นจากชนชั้นนำ

เรื่องจะเป็นไปอย่างไร โปรดติดตามได้ในตอนจบ

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!