ประวัติศาสตร์หยีว์เชียน: ขุนนางผู้ยืดอายุราชวงศ์แต่กลับต้องจบชีวิตอย่างน่าเศร้า

หยีว์เชียน: ขุนนางผู้ยืดอายุราชวงศ์แต่กลับต้องจบชีวิตอย่างน่าเศร้า

ในสมัยเด็กผมเคยอ่านหนังสือประวัติศาสตร์จีนเล่มหนึ่ง ซึ่งได้กล่าวว่าราชวงศ์หมิงเป็นราชวงศ์โหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์จีน เพราะตั้งแต่ต้นราชวงศ์ ขุนนางที่ซื่อสัตย์และมีความดีความชอบมักจะไม่ได้ดี มิเพียงเท่านั้นยังต้องจบชีวิตลงด้วยวิธีการอันป่าเถื่อนอีกด้วย

หยวนฉงฮ่วนเป็นหนึ่งในตัวอย่างลักษณะนี้ที่ดีที่สุด แต่ยังมีขุนนางมากความสามารถอีกผู้หนึ่งที่สร้าง “มหาความดีความชอบ” แต่กลับต้องโดนลงทัณฑ์อย่างไม่มีความผิด เขาผู้นั้นคือหยีว์เชียน (Yu Qian, 于謙) เสนาธิการฝ่ายทหารในช่วงตอนกลางราชวงศ์หมิง

ปักกิ่งมีภัย

ในปี ค.ศ.1449 กองทัพออยแร็ต (Oirat) ซึ่งเป็นสายหนึ่งของชาวมองโกลได้มีชัยครั้งใหญ่เหนือกองทัพหมิงที่มีจำนวนมากกว่านับสิบเท่าที่ป้อมถู่มู่ ความปราชัยของฝ่ายหมิงนั้นถือว่าแทบจะสมบูรณ์ 100% เพราะจักรพรรดิเจิ้งถ่งถูกพวกออยแร็ตจับเป็นเชลย แถมยังเสียเสนาบดี แม่ทัพนายกอง ไพร่พล ตลอดจนยุทธปัจจัยไปอีกจำนวนมหาศาล

เจิ้งถ่ง ฮ่องเต้ที่ถูกจับเป็นเชลย

เหตุการณ์นี้ถือว่าแทบจะเป็น Killing Blow ของราชสำนักหมิง เพราะกลไกการปกครองตั้งแต่ประมุขและขุนนางถูกทำให้หายไปเพียงวันเดียว ภายในเมืองหลวงอย่างกรุงปักกิ่งจึงมีแต่ความหวาดกลัว ชาวจีนทุกคนยังจำได้ดีถึงเหตุการณ์เมื่อสองร้อยกว่าปีก่อนที่เจงกิสข่านและพวกมองโกลพิชิตกรุงปักกิ่งได้สำเร็จ หลังจากนั้นก็พิชิตดินแดนที่เหลือได้ทั้งหมด ทำให้ชาวจีนต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของชาวมองโกลนานถึงเกือบหนึ่งร้อยปี

อย่างไรก็ดีเอเซน (Esen) หรือชื่อในภาษาจีนกลางว่าเหย่เซียน ผู้นำของพวกออยแร็ตยังไม่ได้มีความทะเยอทะยานถึงระดับนั้น เขาเพียงคิดแต่ใช่จักรพรรดิ (ฮ่องเต้) ที่ถูกจับเป็นเชลยให้เป็นประโยชน์ทางด้านการต่อรองและการค้าขายให้มากที่สุด ทูตจึงถูกส่งตัวไปยังราชสำนักหมิงเพื่อให้ส่งค่าไถ่จำนวนมหาศาลมาไถ่ตัวฮ่องเต้กลับไป

แต่ฝันของเอเซนก็เป็นฝันกลางวัน เพราะขุนนางที่เหลืออยู่ที่ปักกิ่งได้ถวายบัลลังก์ให้จักรพรรดิองค์ใหม่แล้วนามว่า จักรพรรดิจิ้งไท่ และปฏิเสธที่จะต่อรองใดๆ ทั้งสิ้นกับพวกอนารยชน

ด้วยเหตุนี้เอเซนจึงต้องนำกองทัพออยแร็ตเข้าตีกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของราชวงศ์หมิง

หยี่ว์เชียน

เมื่อข่าวศึกมาถึง เหล่าขุนนางก็แตกแยกเป็นสองฝ่ายทันที สี่ว์โหย่วเจิน ขุนนางระดับสูงคนหนึ่งได้ทูลให้จักรพรรดิจิ้งไท่ทิ้งกรุงปักกิ่ง และเสด็จหนีลงใต้ไปตั้งเมืองหลวงใหม่ที่หนานจิง โดยอ้างว่ากองทหารที่เหลืออยู่ที่ปักกิ่งเหลือน้อยเต็มที

เมื่อสี่ว์โหย่วเจินพูดจบ ขุนนางคนหนึ่งก็ก้าวเท้าออกมาและตวาดขึ้นว่า

ขุนนางที่ทูลให้หนีศึกลงใต้ควรถูกนำไปตัดหัว ไม่เห็นราชวงศ์ซ่งหรืออย่างไร หนีศึกลงใต้จนสิ้นชาติ เมืองหลวงเป็นรากแก้วของประเทศจะให้ทิ้งไปได้ง่ายๆ ได้อย่างไร

ขุนนางผู้นี้คือหยีว์เชียน เขาเป็นขุนนางที่สอบเข้ารับราชการ (จื้นสื่อ) ได้เป็นอันดับหนึ่ง และมีประสบการณ์ปราบปรามพวกกบฏมาแล้ว แต่ก่อนหน้านี้ในรัชกาลของเจิ้งถ่ง เขาได้ขัดแย้งกับพวกขันทีใหญ่จนถูกกลั่นแกล้งและส่งตัวเข้าคุก โดยเขาเพิ่งได้รับการปล่อยตัวน่าจะเป็นหนึ่งในกลุ่มขุนนางที่เห็นว่า “ฮ่องเต้ไม่สำคัญเท่ากับประเทศชาติ” ดังนั้นจึงปฏิเสธที่จะจ่ายค่าไถ่ให้กับพวกออยแร็ต

หยีว์เชียน (Yu Qian)

เคราะห์ดีที่จักรพรรดิจิ้งไท่เห็นด้วยกับหยี่ว์เชียน ดังนั้นราชสำนักหมิงจึงไม่ได้ทิ้งเมืองปักกิ่งทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ต่อสู้ หยี่ว์เชียนจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นเสนาธิการฝ่ายทหาร และมีหน้าที่ป้องกันรักษากรุงปักกิ่ง

หลังจากที่ได้รับตำแหน่งแล้ว หยีว์เชียนได้สั่งให้ตระเตรียมเสบียงอาหารในเมืองให้พร้อมสรรพ พร้อมกับปรับปรุงเส้นทางการขนส่งการเข้าออกเมืองปักกิ่ง นอกจากนี้ยังสั่งให้มณฑลโดยรอบส่งกำลังทหารมาสนับสนุน ทำให้กำลังทหารในเมืองในเวลานั้นมีประมาณ 220,000 คน

อย่างไรก็ดีทหารเหล่านี้ไม่ใช่ทหารเจนศึกที่มีประสบการณ์ เหล่าทหารชั้นเยี่ยมของราชวงศ์หมิงนั้นล้มตายไปจนเกือบหมดแล้วที่ป้อมถู่มู่ แถมขวัญกำลังใจก็อยู่ในระดับที่ย่ำแย่ เพราะเพิ่งพ่ายแพ้ยับเยิน ดังนั้นเทียบไม่ได้กับกองทัพออยแร็ตที่มีประสบการณ์และกำลังใจดีเยี่ยม

ยุทธการแห่งปักกิ่ง

กองทัพมองโกลจำนวน 70,000-100,000 คนได้ยกมาถึงเมืองต้าถงก่อน แต่พบว่าประตูเมืองปิดแน่น เอเซนจึงให้นำตัวจักรพรรดิเจิ้งถ่งมาที่หน้าประตูเมือง และแจ้งให้ทหารรักษาเมืองวางอาวุธ เพราะพวกออยแร็ตต้องการเพียงแค่สถาปนาเจิ้งถ่งเป็นจักรพรรดิตามเดิม (ซึ่งไม่ใช่เรื่องจีน) แต่ทหารในเมืองก็ไม่หลงกล ทำให้เอเซนจนแต้มไม่รู้จะทำอย่างไรดี เมืองต้าถงก็เป็นป้อมปราการที่แข็งแกร่งไม่ใช่ว่าจะตีง่าย

เอเซนที่เห็นว่าแผนแรกของตนไม่สำเร็จจึงเปลี่ยนเส้นทางโดยผ่านเมืองต้าถงไป และพุ่งเข้าตีกรุงปักกิ่งโดยตรง ในวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ.1449 กองทัพออยแร็ตก็มาถึงหน้ากรุงปักกิ่ง

ในช่วงแรกเอเซนหวังจะใช้ลูกไม้แบบเดิมด้วยการอ้างว่าจะปล่อยตัวจักรพรรดิเจิ้งถ่ง โดยขอให้ส่งขุนนางระดับสูงออกมารับ หลังจากนั้นจะจับขุนนางเหล่านั้นเป็นตัวประกัน แต่ราชสำนักหมิงก็ส่งมาแต่ขุนนางชั้นผู้น้อยมาดูลาดเลา ทำให้เอเซนต้องส่งทูตไปแจ้งว่าให้ส่งหยี่ว์เชียนและขุนนางอื่นๆ มาที่ค่าย ไม่ต้องสงสัยเลยว่าราชสำนักหมิงต้องปฏิเสธ

เมื่อเห็นว่าลูกไม้ใช้ไม่ได้ผล เอเซนจึงสั่งให้กองทัพของตนโจมตีกรุงปักกิ่ง ปรากฏว่าประตูเมืองส่วนถูกเปิดออก ทำให้เอเซนคิดว่ามีทหารแปรพักตร์จึงเร่งให้ทหารของตนบุกตีเข้าไป ในเมือง

ปรากฏว่านั่นเป็นกลยุทธ์ของหยีว์เชียน เขาจงใจเปิดประตูเมืองให้พวกออยแร็ตเข้ามาจะได้ยิงถล่มได้ถนัด ทหารหมิงจึงปิดประตูตีแมว และยิงระดมยิงกระหน่ำด้วยลูกธนูและอาวุธเพลิงราวกับห่าฝน ทหารออยแร็ตที่หลงเข้าไปในเมืองจึงล้มตายกลาดเกลื่อน ซึ่งรวมไปถึงน้องชายของเอเซนด้วย

การสู้รบดำเนินต่อไปอีกหลายวัน เหล่าแม่ทัพหมิงได้รับคำสั่งจากหยีว์เชียนให้ใช้อาวุธเพลิงยิงเข้าใส่ทหารม้า เมื่อถูกยิงกระหน่ำรุนแรงเช่นนั้น ฝ่ายออยแร็ตจึงต้องถอย เปิดโอกาสให้กองทัพหมิงได้ไล่ตามและสร้างความเสียหายให้ศัตรูได้อย่างมากมาย

ช่วงเวลาเดียวกันหยีว์เชียนได้ออกสองคำสั่ง อย่างแรกคือให้ทหารมณฑลต่างๆ เร่งเข้ามาช่วยเมืองหลวง ขณะเดียวกันก็ให้ตีสกัดกองหนุนของพวกออยแร็ตไว้ที่ด่านจีว์หยง ซึ่งจะไม่ให้กองทัพออยแร็ตได้ทั้งกองหนุนและเสบียง

เมื่อเอเซนเห็นสถานการณ์เป็นเช่นนั้นจึงต้องสั่งให้ถอยทัพ และต่อมาก็ยอมเจรจาสงบศึก ฝ่ายหมิงจึงสามารถป้องกันเมืองหลวงเอาไว้ได้อย่างสมบูรณ์

จักรพรรดิจิ้งไท่ปรารถนาจะมอบรางวัลให้กับหยีว์เชียน แต่ขุนนางผู้นี้กลับปฏิเสธ โดยอ้างว่าการศึกยังมีอยู่ในสี่ด้านของชายแดน เขาจึงไม่อาจจะรับรางวัลใดๆ ได้

วาระสุดท้าย

หลังจากนั้นหยีว์เชียนจึงให้เสริมแนวป้องกันให้เข้มแข็ง รวมไปถึงใช้กลยุทธ์เชิงรุกด้วยการให้แม่ทัพชายแดนเข้าตีพวกอนารยชนก่อน เพื่อเป็นการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ทำให้ชายแดนราชวงศ์หมิงสงบขึ้น นอกจากนี้ยังจัดระเบียบกองทัพใหม่ให้มีความเป็นระบบ ทหารหมิงจำนวนมากที่เคยหย่อนหยานก่อนหน้านี้จึงเป็นกองทัพที่เป็นมืออาชีพมากขึ้นอีกด้วย

จักรพรรดิจิ้งไท่เห็นหยีว์เชียนมีความดีความชอบใหญ่หลวง แต่กลับอยู่บ้านหลังเล็กๆ เก่าๆ ที่เพียงพอต่อการหลบฝนเท่านั้น ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงจะมอบบ้านพักขนาดใหญ่โตให้ แต่ขุนนางผู้นี้กลับปฏิเสธ โดยอ้างว่าในฐานะเสนาธิการ บ้านเมืองยังเป็นอันตราย เขาจะมีเวลาเสพสุขได้อย่างไร

ต่อมาในปี ค.ศ.1450 เอเซนได้ปล่อยอดีตจักรพรรดิเจิ้งถ่งกลับมายังเมืองหลวง แต่จักรพรรดิจิ้งไท่ที่นั่งบัลลังก์อยู่ไม่อยากจะไปรับเสียเท่าใดนัก หยีว์เชียนจึงต้องเกลี้ยกล่อม ทำให้สุดท้ายอดีตจักรพรรดิได้กลับเข้ามาอยู่ในเมืองหลวง

นั่นเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ครั้งเดียวของหยีว์เชียน เพราะในอีก 7 ปีต่อมา สีว์โหย่วเจินและขุนนางอีกหลายคนฉวยโอกาสที่จักรพรรดิจิ้งไท่ป่วยกระเสาะกระแสะได้สมคบคิดกันก่อรัฐประหาร และนำเจิ้งถ่ง อดีตฮ่องเต้ที่ถูกปลดไปแล้วกลับมารับตำแหน่งฮ่องเต้

เดิมทีจักรพรรดิเจิ้งถ่งไม่ได้ตั้งใจจะเอาโทษหยีว์เชียน แต่พวกขุนนางที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการก่อรัฐประหารนั้นไม่อยากจะเอาหยีว์เชียนไว้ เพราะหลายปีที่ผ่านมา หยีว์เชียนเป็นคนตรงและซื่อสัตย์ ทำให้ขัดแย้งกับพวกขุนนางกังฉินอยู่บ่อยครั้ง หลายคนอย่างเช่นสีว์โหย่วเจินก็เจ็บแค้นฝังใจที่เคยถูกหยีว์เชียนต่อว่าที่ให้ทิ้งเมืองหลวงหนีลงภาคใต้มาแต่ก่อน

ดังนั้นคนกลุ่มนี้ (พวกขุนนางที่ขี้โกง ขี้ขลาด และดีแต่ปล้นชิงอำนาจ) จึงคบคิดกันใส่ความหยีว์เชียนว่าเป็นกบฏ และขอให้จักรพรรดิเจิ้งถ่งลงอาญาประหารชีวิต พวกขุนนางคนอื่นๆ เห็นความไม่เป็นธรรมจึงพยายามโต้แย้งและช่วยหยีว์เชียนอย่างสุดกำลัง แต่ตัวหยีว์เชียนกลับยิ้มและพูดขึ้นว่านี่เป็นผลงานของฉือเหิง และพรรคพวกจะแก้ต่างไปทำไม

หลังจากนั้นเขาจึงโดนลงอาญาโดยการตัดศีรษะ เดิมทีพวกขุนนางกังฉินจะให้ใช้โทษที่โหดร้ายที่สุดอย่างหลิงฉือ (เฉือนเนื้อช้าๆ) รวมไปถึงกวาดล้างขุนนางฝ่ายหยีว์เชียนทั้งหมด แต่จักรพรรดิเจิ้งถ่งลดโทษให้เป็นเพียงการตัดศีรษะ และเนรเทศครอบครัวของหยีว์เชียนไปอยู่ที่อื่น

เมื่อทหารหลวงเดินทางมารีบทรัพย์สินที่บ้านของหยีว์เชียน ทุกคนต่างตกตะลึงเพราะว่าในบ้านไม่มีทรัพย์สินของมีค่าใดๆ อยู่เลย ภายในกล่องเก็บรักษาสมบัติมีแต่เพียงเสื้อผ้าและดาบที่ได้รับมอบจากฮ่องเต้มาก่อนหน้านี้เท่านั้น ดังนั้นหยีว์เชียนจึงรับใช้ราชสำนักด้วยความซื่อสัตย์แบบ 100% เต็มแบบหาที่เปรียบไม่ได้

ร่างของหยีว์เชียนได้รับการฝังตามธรรมเนียมในปีต่อมาที่เมืองหังโจว ในปัจจุบันจึงมีศาลอุทิศให้กับเขาหลายแห่งในเมือง

วัดที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับหยีว์เชียนในเมืองหังโจว ฺBy ShiZhao, CC BY 1.0

เวลาต่อมา

ต่อมาไม่นานจักรพรรดิเจิ้งถ่งกลับรู้สึกเสียใจที่ได้ลงอาญาหยีว์เชียนในวันนั้น โดยเฉพาะอย่างยื่งหลังจากที่ชายแดนประสบกับปัญหาการรุกรานจากอนารยชนอีกครั้งหนึ่ง ขุนนางหลายคนจึงทูลว่าถ้าหยีว์เชียนยังอยู่ พวกอนารยชนคงไม่เหิมเกริมถึงเพียงนี้ เจิ้งถ่งได้แต่นั่งนิ่งไม่สามารถพูดใดๆ ได้

ท้ายที่สุดฟ้าก็มีตาเพราะแก๊งขุนนางที่ใส่ความหยีว์เชียนต่างได้รับกรรมกันทั้งหมด หลายคนถูกจับได้ว่าทุจริตคอรัปชันและเป็นกบฏต่อราชสำนักจึงถูกจำคุก ริบทรัพย์ หรือแม้กระทั่งประหารชีวิตทั้งตระกูล ที่พีคที่สุดก็คือตอนไปริบทรัพย์ก็เจอทรัพย์สินเป็นภาพเขียนและของมีค่าจำนวนมหาศาล ตรงกันข้ามกับหยีว์เชียน ซึ่งแสดงให้ฮ่องเต้เห็นอย่างชัดเจนเลยว่าใครดีใครชั่ว

ในรัชกาลจักรพรรดิเฉิงหัว ชื่อเสียงของหยีว์เชียนจึงได้รับการฟื้นฟูและสถาปนาขึ้นใหม่อย่างเป็นทางการ เท่ากับว่าราชสำนักหมิงได้ยอมรับว่าการลงทัณฑ์หยีว์เชียนเป็นความผิดพพลาดนั่นเอง

References:

  • The Cambridge History of China: The Ming Dynasty
  • The Perilous Frontier: Nomadic Empires and China
  • Book of Ming

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!