ประวัติศาสตร์มหาวีระ ศาสดาแห่งศาสนาเชน คู่แข่งสำคัญของศาสนาพุทธ

มหาวีระ ศาสดาแห่งศาสนาเชน คู่แข่งสำคัญของศาสนาพุทธ

ในช่วงพุทธกาล ศาสนาที่จัดว่าเป็นคู่แข่งจริงๆ ของศาสนาพุทธคือ ศาสนาเชน (Jainism) สำหรับศาสนาพราหมณ์จะเรียกว่าคู่แข่งก็ได้ แต่ถ้าว่ากันตามตรง ฐานของศาสนาพราหมณ์แข็งแกร่งกว่าศาสนาพุทธมาก จำนวนสาวกก็ไม่อาจจะเทียบได้เลย

ดังนั้นถ้านับจากจำนวนศาสนิก ศาสนาที่เป็นคู่แข่งกับศาสนาพุทธย่อมเป็นเชน

นอกจากนี้ศาสนาเชนนี้เกิดขึ้นใกล้เคียงกับในช่วงพุทธกาล จัดว่าเป็นศาสนาใหม่ในช่วงนั้นเหมือนกัน และยังเป็นศาสนาอเทวนิยมเหมือนกันอีก แนวทางหลายๆ อย่างก็ใกล้เคียงกัน แถมชีวิตของศาสดายังคล้ายกันอีก!

มาดูกันครับว่า ศาสดาของศาสนาเชนคือใคร

mahavira
มหาวีระ Cr: Ms Sarah Welch

มหาวีระ

ศาสนาเชนมีศาสดาชื่อ มหาวีระ (Mahavira) เวลาการเกิดของมหาวีระไม่ชัดเจน บ้างว่าเกิดก่อนพระพุทธเจ้า 20-30 ปี บ้างว่าเกิดหลังพระพุทธเจ้าเล็กน้อย

ที่แน่ๆ มหาวีระเป็นบุคคลร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า แค่อายุมากกว่าหรือน้อยกว่าพระพุทธเจ้าเท่านั้นเอง

มหาวีระผู้นี้ปรากฏอยู่ในพุทธประวัติอยู่หลายครั้ง แต่หลายท่านอาจจะไม่ทราบว่า “เขา” คือมหาวีระ

“เขา” คือ นิครนถ์นาถบุตร หนึ่งในหกอาจารย์คนสำคัญของอินเดียในยุคนั้น

อย่างไรก็ตามมีผู้โต้แย้งว่า นิครนถ์นาถบุตรไม่ใช่มหาวีระ แต่กระแสหลักว่าใช่ ผมก็ขอว่าใช่ไปก่อนก็แล้วกัน

ชาติกำเนิดของมหาวีระมีดังนี้

ในความเชื่อของศาสนาเชน มหาวีระเป็นพระโอรสของพระเจ้าสิทธารถะ และพระนางตรีชละ แห่งราชวงศ์ Ikshvaku ราชวงศ์ที่เชื่อว่าสืบเชื้อสายจากพระรามในเรื่องรามายณะ

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง มหาวีระก็เป็นญาติห่างๆ ของพระพุทธเจ้า เพราะหลักฐานพุทธก็อ้างว่าพระพุทธเจ้าสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ Ikshvaku เหมือนกัน!

แต่จะห่างขนาดไหนไม่รู้

ประสูติกาลของมหาวีระ

พระบิดาของมหาวีระเป็นพระราชาองค์หนึ่งของแคว้นเวสาลี มหาวีระจึงเป็นเจ้าชายพระองค์หนึ่งไม่ต่างกับพระพุทธเจ้า

เมื่อเติบโตเป็นหนุ่ม มหาวีระเป็นคนสูงมาก ว่ากันว่าเขาสูงถึง 10.5 ฟุต (ประมาณ 3.15 เมตร) ถึงแม้จะสูงกว่าคนทั่วไป แต่ตำราเชนกลับว่า มหาวีระเป็นศาสดาที่เตี้ยที่สุดแล้วในบรรดาศาสดา (Tirthankara) 24 คนของเชน

พอมีอายุมากขึ้น พระบิดาจึงให้มหาวีระแต่งงาน ตำราเชนสองเล่มขัดแย้งกันเอง บ้างว่ามหาวีระไม่ยอมแต่งงาน บ้างก็ว่าแต่งกับสตรีชื่อ “ยโสดา” แล้วมีบุตรสาวหนึ่งคน

นานวันเข้า มหาวีระเกิดความเบื่อหน่ายในลาภยศสมบัติ เขาออกจากบ้านเพื่อแสวงหาความจริงของชีวิต ในเวลานั้นเขามีอายุได้ 30 ปี

เรื่องคุ้นๆ มั้ยละครับ

ถูกต้อง เพราะมันคล้ายกับของพระพุทธเจ้ามาก คล้ายจนมีข้อสันนิษฐานว่า ทั้งสองคนเป็นคนเดียวกัน แต่ข้อนี้ตกไป หลังพบหลักฐานว่าเป็นคนละคนกัน

พอมาเป็นนักบวชแล้ว มหาวีระกับพระพุทธเจ้าก็มีความคล้ายกันอีก ทั้งพระพุทธเจ้าและมหาวีระต่างได้บำเพ็ญทุกรกิริยา แต่พระพุทธเจ้าทรงเลิกไปเพราะว่าพระองค์ดำริว่ามันไม่เวิร์ค

มหาวีระภาวนาด้วยวิธีทุกขกิริยาอย่างเข้มข้นอยู่นานหลายปี เขาตั้งเป้าว่าระหว่างที่ภาวนาอยู่ เขาจะไม่พูดกับผู้ใดเลย พร้อมทั้งสละทุกสิ่งทั้งหมดทั้งมวล แม้กระทั่งเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม มีนักศาสนาวิทยาวิเคราะห์ว่าวิธีการบำเพ็ญเพียรทุกรกิริยาของพระพุทธเจ้าคือการบำเพ็ญเพียรในแบบของเชน (เพราะเชนเกิดก่อนพุทธเล็กน้อย) ซึ่งก็ไม่แน่ชัดว่าจริงหรือไม่จริง

จริงๆมหาวีระไม่ได้ตั้งใจจะสละเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม แต่มีพราหมณ์ผัวเมียคู่หนึ่งมานำออกไปจากตัวมหาวีระเอง โดยมหาวีระก็ไม่ได้ห้ามปรามอันใด เพราะตนเองปวารณาไว้ว่าจะไม่พูดกับใคร

สุดท้ายแล้วมหาวีระก็ได้บรรลุธรรม แต่เขาใช้เวลาในการภาวนามากถึง 12 ปี มหาวีระบรรลุธรรมเมื่อเขาอายุได้ 42-43 ปีแล้ว มรรคผลที่มหาวีระบรรลุเรียกว่าเขฬละ ชนานะ (Kevala Jnana) หรือความรู้อันไม่มีที่สิ้นสุด

หลังจากบรรลุธรรมขั้นสูงสุดแล้ว มหาวีระก็เผยแพร่ศาสนาไปที่ต่างๆ ของอินเดียเป็นเวลา 30 ปี แล้วจึงเสียชีวิตด้วยวัย 72 ปี หลักฐานเชนเล่าว่ามหาวีระมีสานุศิษย์จำนวนหลายแสนคน ในจำนวนนี้เป็นนักบวชชายหญิงถึงห้าหมื่นคน

มหาวีระ Cr: Dayodaya

คำสอนของมหาวีระ

คำสอนของมหาวีระให้ความสำคัญกับ “อหิงสา” หรือการยกเว้นจากการเบียดเบียนทุกรูปแบบแม้กระทั่งต่อสัตว์ตัวเล็กๆ หรือ พืชก็ตาม มหาวีระสอนให้ละทิ้งทุกสิ่งทางโลกที่เป็นของตน แล้วมาบำเพ็ญเพียรเมื่อให้บรรลุมรรคผลสูงสุด

มหาวีระสั่งให้นักบวชเชนและศาสนิกปฏิญาณว่าจะปฏฺิบัติตามคำสอนสำคัญทั้งห้าได้แก่

  1. อหิงสา – การไม่เบียดเบียนทุกสิ่งบนโลก (รวมถึงพืช ไฟ น้ำ และลมด้วย)
  2. ความมีสัจจะ
  3. ไม่นำของที่ผู้อื่นไม่ได้ให้มาเป็นของตนเอง
  4. สำหรับนักบวชต้องประพฤติพรหมจรรย์ ส่วนศาสนิกต้องซื่อสัตย์กับคู่ของตน
  5. ไม่ยึดติดกับสิ่งใดๆ สำหรับนักบวชนั้น ห้ามเป็นเจ้าของสิ่งใดๆเลย

คำสอนทั้งห้าข้อ จริงๆก็เหมือนกับศีล 5 ยกเว้นข้อสุดท้ายข้อเดียว โดยในทั้งหมด 5 ข้อนี้ ข้อ 1 สำคัญที่สุด มหาวีระเข้มงวดกับข้อนี้มากถึงขนาดห้ามไม่ให้สานุศิษย์โบกมือบนอากาศเพราะเกรงว่าจะไปตบให้สัตว์ตัวใดตัวหนึ่งตาย

สำหรับชาวพุทธแล้ว คำสอนของศาสนาเชนจะเป็นลักษณะที่พระพุทธเจ้าเรียกว่า “ตึงเกินไป”

ศาสนาเชนยังเหมือนกับศาสนาพุทธอีกหลายอย่างเช่น ศาสนาเชนไม่นับถือพระเจ้าเช่นเดียวกับศาสนาพุทธ และสนับสนุนให้บำเพ็ญเพียรเพื่อบรรลุมรรคผล

ด้วยคำสอนที่คล้ายกันเช่นนี้ ทำให้ไม่ต้องสงสัยว่า ศาสนาทั้งสองเป็นคู่แข่งกันในยุคนั้น

หลังยุคมหาวีระ

หลังยุคมหาวีระ ศาสนาเชนยังคงแย่งศาสนิกกับศาสนาพุทธและพราหมณ์ต่อไป จันทรคุปต์ กษัตริย์พระองค์แรกของราชวงศ์เมารยะทรงนับถือศาสนาเชนอย่างเคร่งครัด พระองค์สละราชบัลลังก์และภาวนาแบบเชนจนกระทั่งสวรรคต

ต่อมา ศาสนาเชนก็ได้แตกออกเป็นสองนิกายใหญ่ๆ ได้แก่

  1. นิกายทิฆัมพร หรือ นิกายนุ่งลมห่มฟ้า นักบวชของนิกายนี้จะไม่ใส่เสื้อผ้าอะไรเลย รูปปั้นของมหาวีระในวัดของศาสนาเชนนิกายนี้จะเป็นรูปปั้นเปลือยทั้งหมด ทั้งนี้รูปปั้นของมหาวีระเหมือนกับพระพุทธรูปมาก วิธีสังเกตที่ง่ายที่สุดคือ การดูว่ารูปปั้นมีเสื้อผ้าหรือไม่ ถ้าไม่มี นั่นแสดงว่าเป็นรูปปั้นของมหาวีระ
  2. เศวตตัมพร นิกายนี้นักบวชจะห่มผ้าขาว

โดยหลักคำสอนจะค่อนข้างคล้ายคลึงกัน ไม่มีความแตกต่างมากนัก

รูปปั้นมหาวีระ Cr: Rajeshphy1727

การที่มหาวีระสนับสนุนให้ศาสนิกเข้าป่าบำเพ็ญเพียรมีผลทำให้ศาสนาเชนรอดพ้นการทำลายล้างในช่วงคริสตศตวรรษที่ 9-14 ได้ สาเหตุคือนักบวชเชนกระจัดกระจายไปตามสถานที่ต่างๆ ในอินเดียมากมาย บ้างก็อยู่ในป่าลึก ทำให้ผู้รุกรานชาวมุสลิมตามไปไม่ถึง ศาสนาเชนจึงสามารถดำรงสืบต่อกันได้มานานกว่า 2500 ปีในอินเดียมาจนถึงปัจจุบัน ในขณะที่ศาสนาพุทธแทบจะสูญสิ้นไปจากอินเดียในช่วงคริสตศตวรรษที่ 1ุ6

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!