ธุรกิจทำไมคุณถึงควรมี "เว็บไซต์ e-commerce" มาใช้ขายของออนไลน์?

ทำไมคุณถึงควรมี “เว็บไซต์ e-commerce” มาใช้ขายของออนไลน์?

ปี ค.ศ.2020 เป็นปีทองของ e-commerce การที่เราต้อง social distancing ทำให้การซื้อขายของผ่านทางเครือข่ายออนไลน์เพิ่มจำนวนขึ้นตามลำดับ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าในอีกหลายปีข้างหน้า มูลค่าการซื้อขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์จะต้องเพิ่มขึ้นหลายเท่าทั่วโลก

ดังนั้นการมีเว็บไซต์ e-commerce สำหรับการซื้อขายออนไลน์จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการไทย หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมคุณถึงควรจะมีเว็บไซต์ด้วย ขายแค่บน Social Media อย่างเช่น Instagram หรือ Facebook Page หรือว่าเว็บไซต์ใหญ่ๆ อย่าง Shopee/Lazada/JD Central ไม่เพียงพอหรืออย่างไร?

คำตอบคือ “ไม่พอ” ครับ

EDIT: June 2020 แก้ไขใส่ Term ผิด ผมใส่ SEO ในบางจุดเป็น SEM ครับ ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

1. ช่วยยกระดับแบรนด์

เว็บไซต์ e-commerce จะช่วยยกระดับแบรนด์ของคุณอย่างมาก เพราะคุณสามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้าได้ คุณจะมีสถานที่ไม่จำกัดให้คุณเล่าสตอรี่ และบรรยายความดีงามของสินค้าของคุณได้อย่างเต็มเปี่ยม โดยที่ไม่ต้องสนใจข้อบังคับจุกจิก อย่างเช่นรูปต้องมีขนาดเท่านั้นเท่านี้ สิ่งเหล่านี้จะเพิ่มโอกาสที่ลูกค้าจะตัดสินใจสั่งซื้อสินค้าของคุณอย่างมีนัยสำคัญ

ลองคิดดูง่ายๆครับ ถ้าสินค้า A และ B เหมือนกัน ขายในแพลตฟอร์มอย่าง Shopee เหมือนกัน แต่ว่า

  • A มีเว็บไซต์ e-commerce ที่สวยมากที่บรรยายขั้นตอนการผลิต และประโยชน์ของสินค้าอย่างละเอียดให้ลูกค้าได้อ่าน และยังอยู่บนหน้าแรกของ Google
  • B มีแต่คำโปรยใน Shopee ถ้าไป search ใน Google ก็ไม่เจออะไรเลย คุณจะซื้อสินค้าของใคร?

ไม่ต้องสงสัยว่าจะต้องเป็น A อย่างแน่นอน

อีกสิ่งหนึ่งที่ควรกล่าวถึงคือ ถ้าคุณขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง Lazada, Shopee หรือแม้กระทั่ง Amazon ก็ตาม แบรนด์ของผู้ค้าแทบจะไม่เด่นเลย ไม่มีใครจำได้ว่าซื้อสินค้านั้นๆ ไปจากใคร จำได้แค่ว่าซื้อจาก Lazada เท่านั้น

อย่างผมเคยซื้อสินค้าจาก Amazon มากกว่า 100 รายการ แต่ถามว่าซื้อสินค้านี้มาจากร้านหรือบริษัทไหน ผมบอกเลยว่าตอบไม่ได้

ดังนั้น loyalty ของลูกค้าที่มีต่อคุณแทบจะเป็นศูนย์ แม้ว่าสินค้าของคุณจะใช้ดีมากก็ตาม โอกาสที่ลูกค้าชั้นดีจะหวนกลับมาซื้อสินค้าของคุณซ้ำจึงต่ำมาก

แต่ถ้าคุณมีเว็บไซต์และทำ SEO (ทำให้อยู่บนหน้าแรกของ Google) ถ้าลูกค้า search หาสินค้าที่ต้องการครั้งใด แบรนด์ของคุณก็จะปรากฏให้เห็นทันที ลูกค้าก็จะจำได้และไว้ใจมากกว่า โอกาสที่ลูกค้าจะซื้อซ้ำ และเลือกสินค้าของคุณเหนือคู่แข่งจึงเป็นไปได้สูง สินค้าของคุณจะกลายเป็น “ผู้นำ” ในหมวดสินค้านั้นๆ ในสายตาของลูกค้าไปโดยปริยาย

2. กระจายความเสี่ยง account โดนปิด

การที่คุณไปขายสินค้าอยู่บน Facebook/Instagram หรือแม้กระทั่ง Lazada/Shopee/Amazon นั่นแปลว่าคุณกำลังใช้สถานที่ของคนอื่นอยู่

หรือพูดง่ายๆ บริษัทเหล่านั้นมีอำนาจเหนือคุณ ถ้าคุณละเมิดกฎเหล็กของพวกเขาเล็กๆ น้อยๆ หรือโดนรีพอร์ต account ของคุณอาจจะโดนปิด หรือโดนแบน/ปลิวถาวร คุณยากที่จะมีปากมีเสียงได้ เพราะคุณเป็นแค่ผู้ใช้คนหนึ่งในจำนวนผู้ใช้นับพันล้านคนของเขา

เมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ช่องทางการขายสินค้าที่คุณพากเพียรสร้างหรือลงทุนมา อย่างเช่น Facebook Page ที่มีคน Like มากถึง 200,000 คนก็จะหายไปในบัดดล คุณแทบจะต้องเริ่มสร้างฐานลูกค้าใหม่จากศูนย์ ยอดขายแต่ละเดือนที่อาจมีมูลค่าหลายแสนบาทอาจจะหายไปได้ในพริบตา

ผมขอยกตัวอย่างจากกระทู้ pantip เหล่านี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าการโดนปิด account เป็นเหตุการณ์น่ากลัวที่สามารถเกิดขึ้นได้จริง

สำหรับเว็บไซต์ e-commerce แล้ว โอกาสที่จะถูกปิดแทบจะเป็นศูนย์ถ้าคุณไม่ได้ทำผิดกฎหมายหรือว่าใช้เว็บไซต์แพร่ malware เพราะคุณคือเจ้าของเว็บไซต์ทุกอย่างโดยสมบูรณ์นั่นเอง เหมือนกับว่าเราอยู่ในบ้านของเรา เราจะทำอะไรก็ได้ครับ

ในกรณีที่ account บน Facebook/Instagram/Shopee/Lazada/Amazon โดนปิด คุณจึงยังมีโอกาสสร้างยอดขายได้อยู่ เพราะลูกค้าสามารถ search เว็บไซต์ของคุณเจอได้จาก Google นอกจากนี้คุณยังสามารถส่งอีเมล์จากเว็บไซต์ไปแจ้งลูกค้าประจำให้ย้ายไปซื้อที่แพลตฟอร์มใหม่ได้ด้วยครับ โอกาสที่ยอดขายคุณจะกลายเป็น 0 ในพริบตาจึงเป็นไปไม่ได้เลย

3. เพิ่มวิธีการโฆษณาแบบประหยัด

หลายคนอาจจะทราบถึงความจริงข้อนี้ดีว่าในช่วงหลังนั้น ค่าโฆษณาบน Facebook, Instagram สูงขึ้นมากหลายเท่าเมื่อเทียบกับหลายปีก่อน ดังนั้นกำไรของคุณจึงลดน้อยลงไปด้วย

การที่มีเว็บไซต์ e-commerce มีประโยชน์อีกอย่างที่สำคัญ นั่นคือคุณสามารถ “โฆษณา” สินค้าของคุณได้อย่างประหยัดผ่านทางสองช่องทางอันมีประสิทธิภาพ

ช่องทางแรกคือ Search Engine optimization (SEO) อย่าง Google ซึ่งในส่วนนี้น่าจะชัดเจนอยู่แล้ว ผมจึงไม่จำเป็นต้องอธิบายมากนัก

ช่องทางที่สองคือ E-mail Marketing ซึ่งหลายคนอาจจะไม่คุ้นเคยกับมันเท่าไร แต่จริงๆ แล้วคุณเจอกับมันอยู่บ่อยๆ แบบไม่รู้ตัว

ยกตัวอย่างเช่น คุณน่าจะเคยซื้อเสื้อผ้าจากร้านค้าอย่าง Pomelo หรือ Forever 21 หรือไม่ก็ซื้อเกมผ่าน Steam แล้วเคยได้รับอีเมล์ที่ส่งมาแจ้งโปรโมชั่นลดราคาพิเศษกันมาบ้าง

นี่แหละครับ E-mail marketing หรือพูดง่ายๆ ถ้าคุณมีเว็บไซต์ e-commerce คุณสามารถเก็บรวบรวมอีเมล์ของลูกค้าเก่าหรือแม้กระทั่งคนที่สนใจ และส่งอีเมล์ให้กับพวกเขาได้ (ผ่านการยินยอมของลูกค้าทุกประการแล้ว ดังนั้นจึงไม่เป็น spam)

ภายในอีเมล์คุณอาจจะแจ้งลูกค้าว่าตอนนี้ถ้าไปซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์ของคุณจะได้ลดราคา 30% นะ แต่ลดในเวลาจำกัด ถ้าสนใจก็รีบไปซื้อกันเลย หรือคุณอาจจะใส่ code ลดราคาพิเศษไว้ก็ได้

เพียงเท่านี้คุณก็จะกระตุ้นความสนใจของลูกค้า และอาจทำให้ลูกค้าซื้อสินค้าของคุณก็เป็นได้

เชื่อหรือไม่ธุรกิจ e-commerce บางแห่งก็สร้างยอดขายส่วนใหญ่จากการโฆษณาผ่านอีเมล์นี่แหละครับ เพราะลูกค้าที่ให้คุณส่งอีเมล์ถึงได้ส่วนมากจะเป็นลูกค้าชั้นดี หรือลูกค้าประจำที่ประทับใจในสินค้าและบริการของคุณ พวกเขาจึงจ่ายเงินซื้อของง่ายกว่าลูกค้าหน้าใหม่

นอกจากนี้คุณยังสามารถแจ้งข่าวสารด้วยเช่นกัน เช่นเปลี่ยนแพลตฟอร์ม ออกสินค้าใหม่ ฯลฯ แล้วแต่ที่คุณต้องการเลยครับ

ค่าโฆษณาผ่านอีเมล์นี้ต่ำมาก มีหลายผู้บริการที่ให้ส่งฟรี (MailChimp, Mailjet, Sendinblue ฯลฯ) ยกเว้นแต่ว่าคุณมีรายชื่อที่จะส่งมากมายมหาศาลอย่างเช่นหลายพันคน หรือเป็นหมื่นเป็นแสนคน หรือว่าอยากได้เครื่องมือสร้างอีเมล์แบบพรีเมียม ถึงจะมีค่าใช้จ่ายเข้ามาบ้าง แต่ถือว่าน้อยกว่าโฆษณาผ่าน Facebook/Instagram มากครับ

จริงอยู่ว่าคุณสามารถใช้ Email Marketing โดยไม่ต้องมีเว็บไซต์ก็ได้ แต่ในการใช้งานให้มีประสิทธิภาพจะยากกว่ามากครับ

4. สามารถเรียนรู้พฤติกรรมลูกค้าได้

ประโยชน์สำคัญอีกอย่างหนึ่งของการมีเว็บไซต์ e-commerce คือ การที่คุณสามารถเรียนรู้พฤติกรรมลูกค้าได้

หลายคนอาจจะงง เรียนรู้ยังไง?

ผมขออธิบายง่ายๆ ก็คือ เว็บไซต์แต่ละแห่งสามารถติดเครื่องมือเก็บสถิติได้อย่างเช่น Google Analytics ซึ่งจะเก็บข้อมูลต่างๆ ของผู้ที่เข้ามาชมเว็บไซต์เอาไว้ อย่างเช่น

  • มาจากไหน เช่นมาจาก Google, Facebook หรือเข้าเว็บคุณโดยตรง
  • มาจากประเทศไหน เช่นประเทศไทย จีน อเมริกา
  • Demographics ต่างๆ เช่น อายุอยู่ในช่วงไหนบ้าง หรือเป็นเพศอะไรบ้าง
  • ยอดซื้อเฉลี่ยแต่ละคนเท่าไรต่อออเดอร์
  • ยอดรวมขอส่งคืน (refund) เท่าไร
  • และอื่นๆ อีกมากมายเกินกว่าที่จะระบุได้ในที่นี้

คุณสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ในการขายใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นก็ได้ ข้อมูลจาก Google Analytics จะละเอียดมากกว่าข้อมูลที่ช่องทางที่เว็บไซต์ e-commerce ยักษ์ใหญ่ หรือ Facebook/Instagram ให้มาอย่างชัดเจน และยังใช้ได้ฟรีด้วย

ถ้าคุณใช้เฉพาะ Facebook/Instagram และต้องการข้อมูลที่ละเอียดมาก คุณจะใช้ซอฟต์แวร์ช่วยอย่างเช่น Facebook Analytics ของ third party ทั้งหลาย ซึ่งจะต้องเสียเงินเพิ่มหลายร้อยหรือพันบาทต่อเดือนครับ

5. ขยายตลาดไปต่างประเทศ

เว็บไซต์ e-commerce สามารถทำให้คุณขยายตลาดไปต่างประเทศได้อย่างไม่ยากนัก เพราะคุณมีเว็บไซต์อยู่แล้ว คุณสามารถสร้างหน้าเว็บไซต์อีกภาษาหนึ่งขึ้นมาได้โดยไม่ลำบากอะไร หลังจากนั้นก็เริ่มทำ SEO เพียงเท่านี้คุณก็สามารถขายสินค้าให้กับชาวต่างชาติได้แล้วครับ

การขายสินค้าให้ชาวต่างชาติทำให้คุณได้ตลาดใหม่ๆ ลูกค้าใหม่ๆ และคุณอาจจะได้กำไรต่อชิ้นมากขึ้นด้วย เพราะคุณอาจจะตั้งราคาสินค้าที่สูงกว่าในประเทศนั่นเอง

สำหรับลูกค้าจากประเทศพัฒนาแล้ว การมีเว็บไซต์เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะพวกเขาให้ความสำคัญกับความน่าเชื่อถือของผู้ขายมาก การมีเว็บไซต์ e-commerce ที่ดูดีน่าไว้ใจจึงจำเป็นอย่างมากเลยครับ

ถ้าคุณตัดสินใจได้แล้วว่าจะเปิดเว็บไซต์ e-commerce แล้วคุณจะเปิดระบบไหนดีนะ สามารถอ่านต่อได้ที่นี่ครับ

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!