วุยก๊กของโจโฉนั้นมีขุนพลที่เก่งกาจสามารถอยู่มากมาย แม้ว่าชื่อเสียงของพวกเขาอาจจะเทียบไม่ได้กับฝ่ายจ๊กก๊กในนิยาย แต่อันที่จริงแล้วนั้นพวกเขามีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการสถาปนาวุยก๊กให้เป็นแคว้นที่แข็งแกร่งที่สุดในบรรดาแคว้นทั้งสามในยุคสามก๊ก
หลายคนที่เคยอ่านนิยายสามก๊กอาจจะสงสัยว่าจุดจบที่แท้จริงของพวกเขาเป็นอย่างไร เนื่องจากในนิยายสามก๊กนั้น ขุนพลและแม่ทัพเหล่านี้ไม่ต่างอะไรกับตัวประกอบ เมื่อไม่มีเหตุให้กล่าวถึงก็ทิ้งเสียดื้อๆ หรือในบางกรณี หลอกว้านจงก็แต่งจุดจบของพวกเขาขึ้นมาใหม่ ซึ่งไม่ตรงกับพงศาวดารและบันทึกทางประวัติศาสตร์ในยุคนั้น
ดังนั้นในบทความนี้ ผมจะมาอธิบายคร่าวๆ ครับว่าพวกเขาพบกับจุดจบอย่างไร
1. เตียวคับ (จางเหอ)
เตียวคับหรือจางเหอเป็นขุนพลที่เก่งกาจที่สุดคนหนึ่งของวุยก๊กอย่างไม่ต้องสงสัย เขารับใช้ตระกูลโจมาสามสมัย และสร้างผลงานในการศึกเอาไว้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขาเป็นผู้นำกองทัพวุยก๊กในการเอาชนะม้าเจ๊กที่เกเต๋ง และทำให้ขงเบ้งต้องล้มเลิกยุทธการพิชิตภาคเหนือไปอย่างสมบูรณ์
จุดจบของเตียวคับผู้นี้ หลอกว้านจงได้เขียนในนิยายได้ตรงกับในประวัติศาสตร์อยู่พอสมควร นั่นคือเตียวคับไล่ตามกองทัพจ๊กก๊กที่ถอยทัพไป และสุดท้ายถูกซุ่มโจมตีที่มู่เหมินต้าว ทำให้เตียวคับสิ้นชีวิตลง
อย่างไรก็ดีในพงศาวดารได้อธิบายละเอียดกว่านั้นเล็กน้อย พงศาวดารเว่ยเลวี่ยซึ่งอยู่ร่วมสมัยกับตัวเหตุการณ์อธิบายว่าเมื่อจ๊กก๊กกำลังถอยทัพ สุมาอี้ต้องการให้เตียวคับไล่ตามไป แต่เตียวคับคัดค้านโดยกล่าวว่าในตำราพิชัยสงครามเขียนไว้ว่า ไม่ควรเข้าตีกองทัพที่กำลังจะถอยไปอย่างเป็นระเบียบ แต่สุมาอี้ไม่ฟัง เตียวคับจึงต้องปฏิบัติตามคำสั่ง สุดท้ายจึงสิ้นชีวิตด้วยการถูกเกาทัณฑ์ที่บริเวณสะโพก
2. ซิหลง
ซิหลง หรือสวีหวง เป็นอีกขุนพลเลื่องชื่อของวุยก๊กที่มีประวัติรับใช้ตระกูลโจมาถึงสามสมัย โดยเฉพาะผลงานพิชิตกวนอูอย่างเด็ดขาดที่เมืองอ้วนเสีย จนทำให้สุดท้ายกวนอูต้องเสียหัวให้กับลิบองในเวลาต่อมา
ในนิยายสามก๊ก เบ้งตัดยิงซิหลงที่หน้าผากระหว่างที่ซิหลงยกทัพไปปราบตนเอง ทำให้ซิหลงสิ้นชีวิตทันที แต่ในประวัติศาสตร์ไม่มีเรื่องเช่นนี้เลยแม้แต่น้อย ซิหลงสิ้นชีวิตตามธรรมชาติด้วยโรคภัยไข้เจ็บหลังจากที่โจยอยขึ้นครองราชย์เล็กน้อย ทั้งนี้ก่อนที่จะจากโลกนี้ไป ซิหลงได้สั่งบุตรหลานให้จัดงานศพของเขาอย่างธรรมดาอีกด้วย ดังนั้นการตายของซิหลงในนิยายจึงเป็นเรื่องแต่งอีกตามเคย
3. เตียวเลี้ยว
เตียวเลี้ยว หรือจางเลี่ยว ของอีกหนึ่งขุนพลผู้เก่งกาจของโจโฉ ผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาคือการเอาชนะกองทัพง่อก๊กจำนวนนับแสนด้วยกำลังทหารเพียงไม่กี่พันนายเท่านั้น และยังต้านทานการรุกรานของฝ่ายง่อได้อย่างเด็ดขาด
ในนิยายสามก๊ก เตียวเลี้ยวนำกองทัพเข้าช่วยเหลือโจผีฮ่องเต้จากการเข้าตีของเตงฮอง แม่ทัพง่อก๊ก จนสุดท้ายถูกเตงฮองยิงด้วยเกาทัณฑ์ได้รับบาดเจ็บ และสิ้นชีวิตในเวลาต่อมา แต่ในหน้าประวัติศาสตร์นั้น เฉินโซ่วผู้ประพันธ์พงศาวดารสามก๊กได้เขียนไว้ว่าเตียวเลี้ยวถึงแก่กรรมเพราะโรคภัยไข้เจ็บช่วงเวลาเดียวกับที่โจผียกทัพไปตีง่อก๊กครั้งใหญ่ โดยเขาได้เข้าร่วมสงครามและเอาชนะกองทัพง่อทั้งๆที่สุขภาพไม่ดีนัก หลังจากนั้นไม่นานเขาก็จากโลกนี้ไป
4. งักจิ้น
งักจิ้นหรือเยว่จิ้นคืออีกแม่ทัพมากความสามารถของวุยก๊ก เขาร่วมมือกับเตียวเลี้ยวและลิเตียนในการป้องกันชายแดนวุยก๊กจากกองทัพง่อมาอย่างยาวนาน และมีบทบาทสำคัญในการเอาชนะกองทัพหลวงของซุนกวนที่หับป๋า
ในนิยายสามก๊ก งักจิ้นเป็นเพียงตัวประกอบที่ได้รับการกล่าวถึงน้อยมาก โดยหลอกว้านจงไม่ได้กล่าวถึงว่าเขามีจุดจบอย่างไร ในซีนสุดท้ายที่ถูกกล่าวถึง งักจิ้นโดนกำเหลงยิงเกาทัณฑ์เข้าใส่ที่บริเวณแก้มระหว่างที่กำลังจะสังหารเล่งทอง โจโฉจึงได้สั่งให้นำตัวงักจิ้นไปรักษา
ในหน้าประวัติศาสตร์นั้น งักจิ้นถึงแก่กรรมในช่วงปี ค.ศ.218 หรือก่อนที่โจโฉจะเสียชีวิตประมาณสองปี พงศาวดารเล่มต่างๆ ไม่ได้กล่าวถึงว่างักจิ้นสิ้นชีวิตอย่างไร สาเหตุการตายของเขาจึงน่าจะเป็นโรคภัยไข้เจ็บทั่วไปนั่นเอง
5. ลิเตียน
ลิเตียนหรือหลี่เตียนเป็นอีกหนึ่งขุนพลที่มีบทบาทสำคัญในการบดขยี้กองทัพง่ออย่างเจ็บแสบที่เมืองหับป๋า ร่วมกับเตียวเลี้ยวและงักจิ้น ในนิยายสามก๊กไม่มีการกล่าวถึงลิเตียนอีกเลย หลังจากการต่อสู้ครั้งนั้น
ในหน้าประวัติศาสตร์ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน พงศาวดารซานกว๋อจื่อไม่ได้อธิบายว่าลิเตียนสิ้นชีวิตเพราะอะไร แต่เขาจากไปด้วยอายุเพียง 36 ปีเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก ถ้าเทียบกับขุนพลวุยก๊กคนอื่นๆ
6. อิกิ๋ม
อิกิ๋ม หรือหยูจินเป็นยอดขุนพลของโจโฉ แต่เป็นขุนพลเพียงคนเดียวที่มีรอยด่าง เพราะเขาโดนจับเป็นเชลยศึก และเลือกที่จะยอมจำนนต่อกวนอู แทนที่จะเลือกตายอย่างมีเกียรติอย่างบังเต๊ก
ในหน้าประวัติศาสตร์ อิกิ๋มได้ถูกนำตัวไปยังเมืองเกงจิ๋วในฐานะเชลยศึก หลังจากที่ลิบองตีเมืองเกงจิ๋วได้ อิกิ๋มจึงตกเป็นเชลยของซุนกวนอีกต่อหนึ่ง แต่ซุนกวนได้ปฏิบัติต่ออิกิ่มอย่างดีเทียบเท่ากับแขกบ้านแขกเมือง และได้ส่งตัวกลับไปให้โจผีในอีกสองปีต่อมา
โจผีซึ่งในขณะนั้นได้เป็นฮ่องเต้แล้วก็ไม่ได้เอาโทษอิกิ๋มที่ยอมจำนน ส่วนหนึ่งเพราะสภาพของอิกิ๋มในขณะนั้นดูย่ำแย่มาก เขาดูเสื่อมถอย ไม่แข็งแรง และมีผมขาวดกไปทั้งศีรษะ เมื่ออิกิ๋มได้พบกับโจผี เขาได้คุกเข่าลงและได้ร่ำไห้อย่างมากมาย โจผีจึงได้ปลอบประโลมอิกิ๋มและได้แต่งตั้งให้อิกิ๋มกลับเป็นแม่ทัพในเวลาต่อมา
หลังจากนั้นไม่นาน โจผีได้แต่งตั้งให้อิกิ๋มเป็นทูตไปยังง่อก๊ก แต่ก่อนที่จะไป โจผีได้สั่งให้อิกิ๋มเดินทางไปสักการะหลุมศพของโจโฉเสียก่อน ซึ่งภายในหลุมศพ อิกิ๋มได้เห็นภาพเขียนที่ตนเองได้ยอมจำนนต่อกวนอูอย่างน่าอัปยศ ขณะที่ภาพเขียนของบังเต๊กนั้นเป็นการเชิดชูความกล้าหาญ ทำให้อิกิ๋มรู้สึกเสียใจและอับอายอย่างมาก หลังจากนั้นไม่นานเขาก็ล้มป่วยและเสียชีวิต
ไม่ปรากฏว่าการที่โจผีสั่งให้อิกิ๋มไปสักการะหลุมศพของโจโฉนั้นเป็นการจงใจให้อิกิ๋มได้เห็นภาพดังกล่าวหรือไม่ หรืออาจจะเป็นการสั่งให้ไปตามธรรมเนียมปกติ เพราะช่วงที่โจโฉเสียชีวิตนั้น อิกิ๋มไม่ได้เข้าร่วมงานศพ เพราะอยู่ที่ง่อก๊กนั่นเอง
7. เคาทู
เคาทูหรือสวีฉู่ คือขุนพลของโจโฉที่นิยายสามก๊กบรรยายว่าเก่งกาจเป็ฺนลำดับต้นๆ และมีความจงรักภักดีต่อโจโฉอย่างมาก เมื่อโจโฉเสียชีวิต พงศาวดารได้บันทึกไว้ว่าเคาทูโศกเศร้าจนถึงกับกระอักเลือดเลยทีเดียว
โจผีนั้นไว้ใจเคาทูอย่างมาก โดยได้มอบหมายให้เขาเป็นผู้บังคับบัญชากองทหารองครักษ์ และเขาได้รับใช้โจยอยต่อมา จนกระทั่งในปี ค.ศ.230 เคาทูก็ได้จากไปเพราะสาเหตุที่ไม่ปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์ แต่น่าจะเป็นสาเหตุทางโรคภัยไข้เจ็บ เพราะในเวลานั้นเขาน่าจะมีอายุมากแล้ว