ประวัติศาสตร์พระอุบลวรรณา: ภิกษุณีอรหันต์ผู้ถูกทำร้ายโดยบุรุษในสมัยพุทธกาล

พระอุบลวรรณา: ภิกษุณีอรหันต์ผู้ถูกทำร้ายโดยบุรุษในสมัยพุทธกาล

พระอุบลวรรณาเทวี (Uppalavanna)เป็นภิกษุณีผู้เป็นอัครสาวิกาเบี้องซ้าย ผู้เป็นเลิศทางด้านการมีฤทธิ์ แต่ทว่าชีวิตในการเป็นพระเถรีของเธอไม่ได้ราบรื่นเหมือนกับภิกษุณีองค์อื่น สิ่งที่เธอต้องพบเจอเป็นสิ่งที่เลวร้ายสำหรับผู้หญิงทุกคน แม้ว่าจะอยู่ในสถานะภิกษุณีแล้วก็ตาม

ชีวิตก่อนบวช

พระเถรีเกิดในตระกูลเศรษฐีแห่งเมืองสาวัตถี บิดามารดาของเขาให้ตั้งชื่อเธอว่า “อุบลวรรณา” เพราะว่าเธอมีผิวพรรณงดงามเหมือนกับดอกอุบล (ดอกไม้ตระกูลบัวสาย) และยังมีใบหน้าอันงามล้ำเลิศอย่างหาที่เปรียบมิได้

เมื่อเธอเติบโตขึ้นเป็นสาว ความสวยทำให้เธอเป็นที่สนใจมากมายของกษัตริย์และบุคคลผู้มั่งมีในชมพูทวีป เศรษฐีพ่อของนางอุบลวรรณารู้สึกลำบากใจ เพราะถ้ายกให้ใครคนหนึ่ง คนที่เหลือย่อมไม่พอใจ ด้วยเหตุนี้เศรษฐีที่ศรัทธาในพระพุทธเจ้าอยู่แล้วจึงถามนางอุบลวรรณาว่า นางจะบวชในพระพุทธศาสนาได้หรือไม่

ตำนานพุทธเชื่อว่านางอุบลวรรณาได้สั่งสมบุญมามากมายแล้วตั้งแต่อดีตชาติ ในชาตินี้นางจึงตอบตกลงที่จะบวชในบัดดล นางอุบลวรรณาจึงได้บวชเป็นภิกษุณีในเมืองสาวัตถีในที่สุด

การบรรลุธรรม

หลังจากที่บวชแล้วได้ไม่นาน พระอุบลวรรณาได้รับมอบหมายให้ไปทำความสะอาดพระอุโบสถ ระหว่างที่กำลังจะเดินเข้า พระอุบลวรรณาจึงจุดเทียนเพื่อให้แสงสว่าง ช่วงที่พระอุบลวรรณาเห็นดวงไฟดังกล่าว จิตของเธอได้เข้าสู่ความเป็นวิปัสสนา และได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในทันที

เมื่อได้เป็นพระอรหันต์แล้ว พระอุบลวรรณาจึงเดินทางไปเผยแพร่ศาสนาพุทธหลายต่อหลายแห่ง แต่เวลาพัก พระอุบลวรรณาจะกลับมาที่บริเวณป่าอันธวันเสมอ ด้วยเหตุนี้เหล่าอุบาสกอุบาสิกาจึงปลูกกระท่อมที่พักถวายพระเถรีเพื่อให้เธอได้ทำการพักผ่อนในบริเวณป่าแห่งนั้น

ที่ป่าแห่งนี้เองที่เกิดเรื่อง

นันทมานพ

ก่อนที่พระอุบลวรรณาจะบวชเป็นภิกษุณี ได้มีชายผู้หนึ่งชื่อ นันทมาณพ เขาเป็นลูกชายของลุงของพระอุบลวรรณา ดังนั้นเขาจึงมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกับเธอ นันทมาณพหลงใหลในตัวพระอุบลวรรณาตั้งแต่เธอยังไม่บวช ถึงแม้เธอจะบวชเป็นภิกษุณีแล้ว ความหลงใหลดังกล่าวก็ยังไม่คลาย นันทมาณพจึงตัดสินใจกระทำการอุกอาจอย่างหาที่เปรียบมิได้

เขาทราบดีว่าพระอุบลวรรณาจะต้องกลับมาที่กระท่อมดังกล่าว นันทนาณพจึงแอบเข้าไปในกระท่อม แล้วไปซ่อนตัวอยู่ใต้เตียง รอเวลาที่พระอุบลวรรณาเดินทางกลับมา

ในช่วงเวลากลางคืน หรือ ในเวลาเช้าตรู่ พระอุบลวรรณาก็เดินทางกลับมายังกระท่อมแห่งนั้น เมื่อเธอเข้าไปในกระท่อมและปิดประตู นันทมาณพก็ออกมาจากใต้เตียง และพยายามปลุกปล้ำพระเถรี พระอุบลวรรณาพยายามห้ามเขาอยู่หลายต่อหลายครั้งโดยกล่าวว่า

คนพาล เธออย่าฉิบหายเลย

อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท พาลวรรคที่ ๕

สาเหตุที่พระอุบลวรรณาห้ามเช่นนั้น เพราะเธอทราบว่ากรรมที่นันทมาณพกำลังจะทำนั้นหนักหนาสาหัสมาก แต่สุดท้ายแล้วนันทมาณพก็ไม่ฟังเพราะราคะได้ครอบงำจิตใจเขา

การห้ามของเธอไม่สำเร็จ นันทมาณพทำร้ายเธอจนสำเร็จความใคร่ หลังจากนั้นก็เดินออกจากกระท่อมไป อย่างไรก็ตามบ้างว่านันทมาณพได้ลอบออกมาหลังจากที่พระอุบลวรรณานอนหลับพักผ่อนไปแล้ว และได้ฉวยโอกาสล่วงเกินเธอระหว่างที่เธอหลับอยู่

ตำนานพุทธเล่าว่าเพียงไม่กี่ก้าวหลังจากที่เขาเดินออกไป แผ่นดินก็สูบเขาลงไปทันที (เช่นเดียวกับเทวทัต และนางจิญจมานวิกา) เพราะทนต่อบาปที่เขาทำไม่ไหว นันทมาณพสิ้นชีวิตไปเกิดในอเวจีมหานรกในทันที

ย้ายสถานที่อยู่

พระอุบลวรรณาได้รายงานเรื่องทั้งหมดให้ภิกษุณีรูปอื่นทราบ จนสุดท้ายความทราบไปถึงพระพุทธเจ้า พระองค์จึงทูลเชิญพระเจ้าปเสนทิโกศลมาเฝ้า พระพุทธเจ้าตรัสกับกษัตริย์แห่งกรุงโกศลว่า

มหาบพิตร แม้กุลธิดาทั้งหลาย ในพระศาสนานี้ ละหมู่ญาติอันใหญ่และกองแห่ง
โภคะมาก บวชแล้ว ย่อมอยู่ในป่า เหมือนอย่างกุลบุตรทั้งหลายเหมือนกัน, คนลามกถูกราคะย้อมแล้ว ย่อมเบียดเบียนภิกษุณีเหล่านั้นผู้อยู่ในป่า ด้วยสามารถแห่งการดูถูกดูหมิ่นบ้าง ให้ถึงอันตรายแห่งพรหมจรรย์บ้าง เพราะฉะนั้น พระองค์ควรทำที่อยู่ภายในพระนครแก่ภิกษุณีสงฆ์. 

อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท พาลวรรคที่ ๕

กล่าวคือพระประสงค์ของพระพุทธเจ้าคือ พระองค์ปรารถนาให้ภิกษุณีทั้งหมดอาศัยอยู่ในเมืองเพื่อความปลอดภัย แทนที่จะอยู่ในป่าที่จะทำให้เสี่ยงอันตรายอย่างที่เกิดกับพระอุบลวรรณา พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงได้รับฟังก็ทรงเห็นด้วย พระองค์โปรดให้สร้างอารามถวายภิกษุณีที่บริเวณฝากหนึ่งของกรุงสาวัตถี ตั้งแต่บัดนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงโปรดให้ภิกษุณีอยู่แต่ในเมืองเท่านั้น และไม่โปรดให้ออกไปอาศัยในป่าอีกอีกต่อไป

รูปปั้นพระพุทธเจ้า ศิลปะคันธาระ

ต่อมาได้มีเหล่าภิกษุปุถุชนพูดคุยกันในเรื่องพระอุบลวรรณา และพากันพูดว่า พระอรหันต์ยังยินดีในกามสุข เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบ พระองค์จึงตรัสแย้งว่า พระอรหันต์ทั้งหลายไม่ยินดีในกามสุข เปรียบเหมือนหยาดน้ำที่ตกลงบนใบบัว หยาดน้ำเหล่านั้นจะไหลลงไปทั้งหมดโดยไม่ติดอยู่บนใบบัวแต่อย่างใด

พระอุบลวรรณาได้เผยแพร่พระพุทธศาสนาแก่สตรีจำนวนหลายพันคน และทำให้พวกเธอได้บรรลุธรรม จนกระทั่งเธอปรินิพพานในที่สุด

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!