ประวัติศาสตร์วัลเลนเบิร์ก: ฮีโร่ผู้ช่วยชีวิตชาวยิวด้วยชีวิตของตัวเขาเอง

วัลเลนเบิร์ก: ฮีโร่ผู้ช่วยชีวิตชาวยิวด้วยชีวิตของตัวเขาเอง

ตลอดสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวยิวถูกนาซีเยอรมันปราบปรามและเข่นฆ่าสังหารอย่างเหี้ยมโหด ไม่ว่าพวกนาซีจะยึดครองที่ใดได้ก็จะออกคำสั่งให้จับชาวยิวทั้งหมดออกมาและส่งไปที่ค่ายกักกันทันที

ผู้ที่ช่วยเหลือชาวยิวที่มีชื่อเสียงที่สุดก็คือ ออสการ์ ชินด์เลอร์ (Oskar Schindler) ชีวิตของเขาถูกทำเป็นภาพยนตร์แล้วในเรื่อง Schindler’s List แต่ยังมีผู้ที่เคยช่วยเหลือชาวยิวอีกมากมายที่ไม่เคยถูกเอ่ยนาม

หนึ่งในนั้นคือชายชาวสวีเดนชื่อ ราอูล วัลเลนเบิร์ก (Raoul Wallenberg)

รูปติดหน้าพาสปอร์ตของวัลเลนเบิร์ก

ไปฮังการี

ในกลางปี ค.ศ. 1944 ชาวยิวจำนวนหลายแสนคนในฮังการีกำลังถูกจับส่งขึ้นรถไฟ เพื่อไปยังค่ายแห่งความตายที่เอาส์ชวิทซ์ในโปแลนด์ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ทราบข่าวดังกล่าวจึงคิดจะส่งใครสักคนหนึ่งเข้าไปช่วยเหลือชาวยิวในฮังการี แต่เนื่องด้วยสหรัฐเป็นคู่สงครามกับนาซีเยอรมัน การจะส่งชาวอเมริกันไปยังฮังการีจึงเป็นไปไม่ได้

ประธานาธิบดีรูสเวลต์จึงให้เจ้าหน้าที่สหรัฐเดินทางมายังสวีเดน ซึ่งเป็นประเทศเป็นกลาง เพื่อติดต่อกับองค์กรชาวยิว และสรรหาผู้ที่เหมาะสมไปช่วยเหลือชาวยิวในฮังการี

ในตอนแรกนั้นคณะกรรมการขององค์กรดังกล่าวต้องการให้โฟลค เบอร์นาดอต์ (Folke Bernadotte) ผู้ที่เคยต่อรองกับพวกนาซีมาแล้วเป็นผู้ที่เดินทางไปยังฮังการี แต่เขากลับถูกปฏิเสธโดยเหล่าชาวฮังการีเอง คณะกรรมการจำต้องเลือก ราอูล วัลเลนเบิร์ก (Raoul Wallenberg) เป็นผู้เดินทางไปยังฮังการีแทน

เจ้าหน้าที่จากสหรัฐอเมริกาไม่วางใจในตัววัลเลนเบิร์กนัก แต่เพราะการสนับสนุนของกระทรวงการต่างประเทศสวีเดน วัลเลนเบิร์กจึงได้ถูกส่งไปยังสถานกงสุลสวีเดนในฮังการี พร้อมกับภารกิจลับสุดยอด นั่นก็คือช่วยเหลือชาวยิวออกมาให้ได้มากที่สุด

พาสปอร์ตป้องกัน

เมื่อวัลเลนเบิร์กเดินทางมาถึงฮังการีนั้น ชาวยิวจำนวนกว่า 400,000 คนได้ถูกส่งไปยังค่ายกักกันแล้ว เหลืออยู่เพียงประมาณ 230,000 คนเท่านั้น ดังนั้นทันทีที่มาถึงฮังการี วัลเลนเบิร์กกับ เพอร์ เอ็นเกอร์ (Per Anger) ทูตสวีเดนจึงเริ่มทำการออกพาสปอร์ตป้องกัน (Protective Passport) ให้กับชาวยิว

พาสปอร์ตนี้เป็นพาสปอร์ตพิเศษที่แสดงให้เห็นว่าผู้ถือพาสปอร์ตดังกล่าวเป็นพลเมืองสวีเดนที่รอการส่งตัวไปอยู่ ดังนั้นพวกนาซีจะไม่สามารถจับกุมชาวยิวไปได้

พาสปอร์ตป้องกันที่วัลเลนเบิร์กออกให้ชาวยิว

ในทางกฎหมายนั้น พาสปอร์ตนี้ไม่มีนัยยะใดๆ แต่วัลเลนเบิร์กกับเอ็นเกอร์ได้พยายามทำให้มันดูเป็นทางการมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งปรากฎว่าพวกเยอรมันก็เชื่อเสียด้วย แต่ถ้าใครไม่เชื่อ วัลเลนเบิร์กก็จะนำเงินไปติดสินบนเพื่อให้พวกเขาปล่อยผ่านไป

หลังจากนั้นสถานกงสุลสวีเดนก็ได้ต่อรองกับพวกเยอรมันเป็นผลสำเร็จว่าผู้ที่ถือพาสปอร์ตนี้จะได้รับการยอมรับว่าเป็นพลเมืองสวีเดน และไม่จำเป็นต้องติดตราดาวของเดวิดสีเหลืองที่แสดงว่าเป็นคนยิว

เมื่อวัลเลนเบิร์กออกพาสปอร์ตให้ชาวยิวมากขึ้นเรื่อยๆ ความก็ทราบไปถึงรัฐบาลนาซีเยอรมัน ฝ่ายเยอรมันจึงประกาศว่าพาสปอร์ตป้องกันของสวีเดนไม่มีผลทางกฎหมาย วัลเลนเบิร์กจึงไปขอร้องให้ เอลิซาเบธ เคเมนี่ ภรรยาของรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศฮังการีให้ช่วยเหลือ

ท้ายที่สุดเธอทำให้สามีของเธอยอมรับในพาสปอร์ตป้องกันของชาวยิว 9,000 คนได้สำเร็จ ทำให้พวกชาวยิวไม่ต้องถูกจับตัวไปยังค่ายกักกัน

วัลเลนเบิร์กตระหนักว่าการออกพาสปอร์ตป้องกันไม่เพียงพอเสียแล้ว เขารวบรวมเงินบริจาคจากเจ้าหน้าที่สถานทูตได้จำนวนหนึ่ง แล้วนำเงินดังกล่าวไปเช่าอาคารต่างๆ ถึง 32 แห่งในบูดาเปสต์ เมืองหลวงของฮังการี หลังจากนั้นเขาจึงใช้เอกสิทธิ์ว่า อาคารเหล่านี้เป็นของสถานทูตสวีเดน พวกทหารเยอรมันและฮังการีจึงไม่มีสิทธิ์ที่จะล่วงล้ำเข้ามาได้

นอกจากนี้วัลเลนเบิร์กได้ไปปักป้ายหน้าประตูอาคารที่ซื้อมาใหม่ๆว่า นี่เป็นห้องสมุดสถานทูตสวีเดนบ้าง นี่เป็นอาคารวิจัยของสถานทูตสวีเดนบ้าง หลังจากนั้นเขานำธงชาติสวีเดนขนาดใหญ่มาประดับประดารอบตัวตึก เพื่อปิดบังไม่ให้พวกเยอรมันรู้ว่ามีการทำอะไรในอาคารเหล่านี้

เมื่อเตรียมการเรียบร้อยแล้ว วัลเลนเบิร์กจึงนำชาวยิวจำนวนมากเข้ามาอาศัยอยู่ในอาคารที่ซื้อไว้ ชาวยิวที่เข้ามาหลบในบริเวณนี้มีมากถึง 10,000 คน ในเวลาต่อมาวิธีการของวัลเลนเบิร์กเป็นแบบอย่างให้สถานทูตอื่นๆ ช่วยเหลือชาวยิวด้วยวิธีการเดียวกัน

ขัดขวางรถไฟ

มีอยู่วันหนึ่ง วัลเลนเบิร์กเห็นว่ามีรถไฟขบวนหนึ่งกำลังจะเดินทางไปเอาส์ชวิทซ์ เขาปีนขึ้นไปบนขบวนรถทันที และยื่นพาสปอร์ตป้องกันให้กับชาวยิวผ่านทางประตูที่ยังไม่ปิด เมื่อพวกฟาสซิสต์ฮังการีสั่งให้เขาหยุด วัลเลนเบิร์กก็ยังไม่สนใจ เขายังคงยื่นพาสปอร์ตให้ชาวยิวต่อไป

พวกฟาสซิสต์ฮังการีจึงเริ่มยิงเขา เคราะห์ยังดีที่เขาไม่โดนยิงเลยสักนัดเดียว วัลเลนเบิร์กรีบสั่งให้ผู้ที่มีพาสปอร์ตป้องกันลงจากรถ และรีบไปขึ้นรถที่มีสัญลักษณ์ประเทศสวีเดนทันที พวกเยอรมันและฟาสซิสต์ฮังการีชะงักงันไปถึงความกล้าหาญบ้าดีเดือดของเขา พวกเขาจึงไม่ได้ติดตามวัลเลนเบิร์กต่อไป

ทุกคืนวัลเลนเบิร์กจะผลัดเปลี่ยนสถานที่นอนหลับไปตามอาคารที่เขาได้เช่าไว้เพื่อปกป้องชาวยิวถ้ามีพวกเยอรมันเข้ามา

ในปลายปีค.ศ. 1944 กองทัพโซเวียตได้ยาตราทัพเข้ามาใกล้บูดาเปสต์ พวกเยอรมันและฟาสซิสต์ฮังการีวางแผนที่จะวางระเบิดลูกใหญ่ในสลัมของชาวยิว (Ghetto) ที่จะทำให้ชาวยิว 70,000 คนที่อยู่ในบริเวณนั้นตายหมด

วัลเลนเบิร์กเดินทางเข้าไปต่อรองกับแม่ทัพเยอรมันว่า ถ้าเขาทำเช่นนั้นเมื่อสงครามสงบลง เขาจะถูกแขวนคอ ท้ายที่สุดแล้ววัลเลนเบิร์กได้ทำให้พวกเยอรมันล้มเลิกแผนการวางระเบิดเป็นผลสำเร็จ

ความดีที่วัลเลนเบิร์กทำมีมากมายมหาศาล และเหมือนกับพระเจ้ากลั่นแกล้ง ทำให้เขาต้องสูญหายไปตลอดกาล

วาระสุดท้าย

ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1945 วัลเลนเบิร์กได้เข้าไปพบกับกองทัพโซเวียต เพราะมีข่าวว่าเขาเป็นสายลับ วัลเลนเบิร์กได้กล่าวก่อนที่จะไปว่า

ผมกำลังจะไปหามาลินโนฟสกี้ ผมได้รู้ว่าไปในฐานะแขกหรือนักโทษ

นั่นเป็นคำกล่าวสุดท้ายของวัลเลนเบิร์กจากโลกภายนอก

ทั้งวัลเลนเบิร์กและเอ็นเกอร์ล้วนแต่โดนพวกโซเวียตจับตัวไป เอ็นเกอร์ได้รับการปล่อยตัวในอีกสามเดือนต่อมา ส่วนวัลเลนเบิร์ก ไม่มีใครเห็นเขาอีกเลย

ในเวลาต่อมารัฐบาลโซเวียตได้ประกาศว่า วัลเลนเบิร์กได้เสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 1947 ด้วยโรคหัวใจ แต่ในภายหลังได้มีการตรวจสอบว่าวัลเลนเบิร์กถูกพวกโซเวียตสังหารทิ้งต่างหาก ไม่มีใครทราบสาเหตุจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ว่าวัลเลนเบิร์กถูกสังหารเพราะสาเหตุอะไร

หลายสิบปีต่อมา ในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 2016 รัฐบาลสวีเดนจึงประกาศว่าวัลเลนเบิร์กได้เสียชีวิตลงแล้ว ก่อนหน้านี้ใช้คำว่า “หายไป” มาโดยตลอด

ไม่ว่าจุดจบของเขาจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ความกล้าหาญและความดีงามของเขาได้รับจารึกไว้ในประวัติศาสตร์โลก หลากหลายประเทศทั้งในยุโรปและอเมริกาได้ยกย่องสดุดีเขา และนำชื่อของเขาไปเป็นชื่อถนนเป็นต้น

อิสราเอลได้ประกาศให้วัลเลนเบิร์กเป็นหนึ่งใน ผู้ทรงคุณธรรมแห่งนานาประเทศ (Righteous Among the Nations) จากการที่ได้ช่วยเหลือชาวยิวจำนวนเกือบหนึ่งหมื่นคนในฮังการี

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!