ประวัติศาสตร์รัสเซียครอบครัวซาร์เมื่ออเล็กซานเดอร์ คีเรนสกี้ มาเยี่ยมเยือนครอบครัวซาร์ (4)

เมื่ออเล็กซานเดอร์ คีเรนสกี้ มาเยี่ยมเยือนครอบครัวซาร์ (4)

เมื่อเวลาผ่านไป นิโคลัสและอเล็กซานดราก็เริ่มทำใจกับสถานะนักโทษได้ตามลำดับ ประกอบกับเหล่าลูกๆ ทั้งห้าเริ่มหายจากอาการป่วยอย่างสมบูรณ์ ทำให้กำลังใจของครอบครัวโรมานอฟดีขึ้น

หากแต่ว่าในวันที่ 3 เมษายน ผู้นำคนสำคัญของรัฐบาลชั่วคราวก็มาถึง เขาผู้นี้จะเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของครอบครัวโรมานอฟอย่างมากในระยะเวลาหนึ่งปีสุดท้าย

เขาผู้นั้นคือ อเล็กซานเดอร์ คีเรนสกี้ (Алекса́ндр Фёдорович Ке́ренский) หรือ อเล็กซานเดอร์ เคอเรนสกี้ (Alexander Kerensky)

คีเรนสกี้

อเล็กซานเดอร์ คีเรนสกี้

อเล็กซานเดอร์ คีเรนสกี้ผู้นี้เคยเป็นสมาชิกของกลุ่ม Narodniks (народники) หนึ่งในกลุ่มปัญญาชนหัวก้าวหน้ามาก่อน หลังจากจบการศึกษาสาขานิติศาสตร์ คีเรนสกี้ทำงานเป็นทนายความว่าความให้กับพวกนักปฏิวัติที่ถูกรัฐบาลซาร์จับกุมมากมาย

ดังนั้นไม่ต้องสงสัยว่าเขามีแนวคิดทางการเมืองแบบใด นั่นก็คือต่อต้านรัฐบาลซาร์ อย่างไรก็ตาม เขาได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในสมาชิกสภาดูมาในฐานะสมาชิกของพรรคสายกลาง

ต่อมาเมื่อการปฏิวัติกุมภาพันธ์ปะทุขึ้น คีเรนสกี้ได้เข้าร่วมรัฐบาลชั่วคราว และเป็นหนึ่งในสมาชิกของสภาโซเวียตด้วย โดยในสภาโซเวียตนั้น เขาเป็นตัวแทนของพรรค SR (Socialist Revolutionary Party) พรรคของสายลับตัวแสบของอาเซฟที่ได้สังหารแกรนด์ดยุคเซอร์เกย์ สามีของเอลลา ก่อนหน้านี้

ด้วยความที่เป็นสมาชิกของรัฐบาลชั่วคราวและสภาโซเวียต ทำให้อิทธิพลของคีเรนสกี้สูงยิ่ง เขาจึงได้รับตำแหน่งที่ทรงอำนาจอย่างรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม (ต่อมาก็ได้ขึ้นเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสงคราม) แต่คนอย่างคีเรนสกี้ยังไม่พอใจ เขาเป็นคนทะเยอทะยาน เขาต้องการมากกว่านั้นอีก

ช่วงเวลานั้นกระแสของฝ่ายซ้ายที่ให้จับนิโคลัสและอเล็กซานดราไปขังไว้ในป้อมปีเตอร์แอนด์พอลพุ่งสูง แต่คีเรนสกี้ใช้อิทธิพลที่ตนมีอยู่ยับยั้งเอาไว้

คีเรนสกี้ตัดสินใจเดินทางมาเยี่ยมเยือนครอบครัวซาร์ในวันที่ 3 เมษายน เพื่อมาดูว่าพวกเขามีความเป็นอยู่อย่างไร

จับกุมแอนนา ไวรูโบวา

คีเรนสกี้มาถึงพระราชวังอเล็กซานเดอร์ด้วยรถหลวงที่เคยเป็นของนิโคลัสมาก่อน เขาเรียกให้ข้ารับใช้และทหารรักษาการณ์ทั้งหมดมาพบและประกาศว่า หลังจากนั้นพวกเขาไม่ใช่ข้ารับใช้ของครอบครัวซาร์อีกต่อไปแล้ว แต่เป็นข้ารับใช้ของประชาชน เงินเดือนที่พวกเขาได้มาก็มาจากภาษีของประชาชน ดังนั้นพวกเขาจงรายงานความผิดปกติทุกอย่างให้คีเรนสกี้รับทราบด้วย

หลังจากนั้นคีเรนสกี้เดินเข้ามาในวัง เขาพบกับพอล แบงค์เคนดอร์ (Paul Benckendorff) หัวหน้าของเหล่าข้าราชบริพารของนิโคลัส แบงค์เคนดอร์บอกคีเรนสกี้ว่าครอบครัวซาร์กำลังรับประทานอาหารกลางวันอยู่ ขอให้คีเรนสกี้ฆ่าเวลาด้วยการเที่ยวชมวังเสียก่อน คีเรนสกี้รับคำ แต่ก็ไม่วายสั่งให้คนของเขาที่ติดตามมาด้วยค้นทุกสิ่งทุกอย่างในห้องของเหล่าครอบครัวซาร์ เฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นทุกรื้อค้นอย่างไม่สนใจไยดีถึงเรื่องความเป็นส่วนตัว

เวลานั้นเอง ความสนใจของคีเรนสกี้กลับไปอยู่ที่เหล่านางกำนัลของซาริซาอเล็กซานดรา เขาเดินไล่ไปทุกห้องจนกระทั่งหยุดที่ห้องที่มีชื่อว่า แอนนา ไวรูโบวา หรือ อ่านเป็นแบบรัสเซียว่า อันนา วีรูโบวา (Anna Vyrubova, А́нна Вы́рубова)

แอนนา ไวรูโบวา

ไวรูโบวาผู้นี้เป็นนางกำนัลที่ใกล้ชิดซาริซาอเล็กซานดรามากที่สุด และเป็นสาวกตัวยงของรัสปูติน เธอจึงมีข่าวฉาวไม่ต่างอะไรกับเจ้านายของเธอ

ระหว่างที่คีเรนสกี้เข้ามาในวัง ไวรูโบวาเพิ่งจะหายป่วยจากโรคหัดได้ไม่นาน เธอกำลังนั่งกินอาหารเที่ยงอยู่กับลิลี่ เดห์น นางกำนัลอีกนางหนึ่ง เมื่อไวรูโบวาได้ยินเสียงฝีเท้าคนหลายคนเข้ามาใกล้ เธอก็รู้ทันทีว่าน่าจะมีคนมาตามหาตัวเธอ ไวรูโบวารีบโยนจดหมายส่วนตัวของเธอทั้งหมดเข้ากองเพลิงทันที หลังจากนั้นเธอกระโดดขึ้นไปนอนอยู่บนเตียง และนำผ้าห่มมาคลุมหน้าเอาไว้

เมื่อคีเรนสกี้เปิดประตูห้องออกมา และเดินมาที่เตียงของไวรูโบวา เขาพูดขึ้นว่า

ฉันคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เธอรีบแต่งตัวซะ แล้วไปเปโตรกราดเดี๋ยวนี้!

ไวรูโบวาไม่มีทางเลือกอื่น เธอต้องทำตามคำสั่งของเขาแต่โดยดี

คีเรนสกี้พบครอบครัวโรมานอฟ

หลังจากจัดการกับไวรูโบวาแล้ว คีเรนสกี้ก็ได้เดินทางมาพบกับนิโคลัสและอเล็กซานดรา

คีเรนสกี้เล่าว่าเขาตื่นเต้นและประหม่าไม่น้อย ตัวเขาเป็นนักปฏิวัติมาทั้งชีวิต และกล่าวสุนทรพจน์โจมตีระบอบซาร์มานับครั้งไม่ถ้วน แต่บัดนี้เขาต้องพบกับอดีตซาร์แห่งรัสเซียในฐานะนักโทษ แต่ตัวเขาเองกลับเป็นผู้คุมชะตาของนิโคลัสและครอบครัวเสียอย่างนั้น

ส่วนนิโคลัสและอเล็กซานดราก็ประหวั่นไม่แพ้กัน ทั้งสองไม่ทราบว่าคีเรนสกี้มาหาเพราะเหตุใด

คีเรนสกี้และนิโคลัสจับมือกัน นิโคลัสยิ้มเล็กน้อย หลังจากนั้นนิโคลัสจึงนำคีเรนสกี้ไปพบกับครอบครัวของเขา ลูกๆ ห้าคนของนิโคลัสต่างจ้องมองคีเรนสกี้เป็นตาเดียวว่า เขาผู้นี้จะมาทำอะไรกันแน่?

สำหรับอเล็กซานดราแล้ว เธอนั่งอยู่บนเก้าอี้ของเธอ และแสดงท่าทีเหมือนเดิม เธอแสดงออกว่าเธอไม่ต้องการจับมือกับเขา แต่ก็ยื่นมือออกมาช้าๆ อย่างไม่เต็มใจนัก

คีเรนสกี้พูดคุยอยู่กับครอบครัวซาร์อยู่พักหนึ่ง เขาบอกนิโคลัสให้เชื่อมั่นในรัฐบาลชั่วคราวว่าจะสามารถดูแลความปลอดภัยให้กับเขาได้ นิโคลัสมีท่าทีสงบนิ่ง เขาถามคีเรนสกี้ว่าสงครามเป็นอย่างไรบ้าง และอวยพรให้คีเรนสกี้โชคดีในภารกิจของเขา

ห้องที่ทุกคนพบคีเรนสกี้

หลังจากนั้นไม่นาน คีเรนสกี้ก็ลากลับไป พร้อมทั้งนำตัวไวรูโบวา และลิลลี่ เดห์น สองนางกำนัลกลับไปด้วย ก่อนที่ทั้งสองจะจากไป ไวรูโบราและเดห์นได้ไปลาอเล็กซานดรา เจ้านายที่พวกเขาทั้งสองคอยดูแลมาสิบกว่าปี อเล็กซานดราฝืนยิ้มเล็กน้อยให้กับทั้งสอง เธอมองขึ้นไปบนฟ้าและบอกว่าบนนั้น เธอกับทั้งสองจะได้พบกันอีกครั้ง

รถของรัฐบาลชั่วคราวได้นำตัวทั้งสองออกไปจากพระราชวังอเล็กซานเดอร์ และซาร์โคเย ซีโล ทั้งไวรูโบวาและเดห์นมองดูอเล็กซานดราและพระราชวังดังกล่าวจนลับตา ทั้งสองไม่ได้พบกับอเล็กซานดรา และไม่ได้ย้อนกลับมาที่พระราชวังอเล็กซานเดอร์อีกเลย

เดห์นถูกปล่อยตัวทันทีเมื่อถึงกรุงเปโตรกราด เธอหนีจากรัสเซียและย้ายไปอยู่ในหลายประเทศ จนกระทั่งเธอเสียชีวิตในปี ค.ศ.1963 ด้วยวัย 76 ปี ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี

ไวรูโบวาไม่โชคดีเท่าเดห์น เธอถูกนำตัวไปขังคุกที่ป้อมปีเตอร์แอนด์พอลเป็นเวลานานถึงห้าเดือน แต่การจับเธอไปขังคุกทำให้เธอรอดชีวิตมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ ไว้ว่างๆ ผมจะเล่าให้ฟังว่าเธอรอดชีวิตมาได้อย่างไร ไวรูโบวาเสียชีวิตที่ฟินแลนด์ด้วยวัย 80 ปี ในปี ค.ศ.1964

การจากไปของข้าราชบริพารที่สนิทสนมและไว้ใจ ทำให้ครอบครัวซาร์ห่อเหี่ยวลงไม่น้อย โดยเฉพาะเหตุการณ์ต่อไปนี้

กะลาสีเรือผู้เปลี่ยนไป

หนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการจากไป หรือ เปลี่ยนไปของข้าราชบริพารมากที่สุด คงไม่พ้น เซซาร์เรวิชอเล็กเซย์ บุตรชายคนเดียวของนิโคลัส และอเล็กซานดรา

อเล็กเซย์ผู้นี้มีเพื่อนที่สนิทที่สุดคือ กะลาสีเรือชื่อ เดเรเวนโก เขาอยู่กับอเล็กเซย์ตลอดเวลา เช่นเดียวกับสุนัขที่อเล็กเซย์รักที่สุดอย่าง จอย

เดเรเวนโก และอเล็กเซย์

หากแต่ว่าเมื่อการปฏิวัติเริ่มต้นขึ้น และครอบครัวโรมานอฟกลายเป็นนักโทษ “หาง” ของเดเรเวนโกก็โผล่ออกมา

มีอยู่วันหนึ่ง เดเรเวนโกได้นั่งแหมะอยู่บนโซฟา และบังคับให้อเล็กเซย์ เด็กชายที่เขาเป็นผู้เลี้ยงดูมาตั้งแต่ยังแบเบาะ และกำลังป่วยอยู่ด้วย หยิบโน่นหยิบนี่มาให้กับเขา พร้อมทั้งตะโกนด่าว่าอเล็กเซย์อย่างหยาบคาย ราวกับว่าทั้งสองไม่เคยผูกพันอะไรกันเลย

เดเรเวนโกถูกไล่ออกไปจากวังทันที หลังจากที่มีผู้มาพบเห็นเหตุการณ์ดังกล่าว

อเล็กเซย์รู้สึกเสียใจไม่น้อย แต่โชคดีที่เขามีเครื่องเล่นภาพยนตร์ และภาพยนตร์หลายเรื่องที่เขาได้รับมาก่อนการปฏิวัติ ทำให้เด็กชายอารมณ์ดีขึ้น และลืมๆ เรื่องเลวร้ายไปได้

อ่านตั้งแต่ตอนแรกและติดตามตอนต่อไป ได้ใน วันสุดท้ายของราชวงศ์โรมานอฟ หรือติดตามตอนที่ 5 ได้ที่นี่

หนังสืออ้างอิงอยู่ที่นี่

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!