ประวัติศาสตร์ฟาโรห์เพพปิที่ 2 (Pepi II) ทรงครองราชย์ 94 ปีจริงหรือ?

ฟาโรห์เพพปิที่ 2 (Pepi II) ทรงครองราชย์ 94 ปีจริงหรือ?

ตามบันทึกทางประวัติศาสตร์ของโลกแล้วนั้น กษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดก็คือฟาโรห์เพพปิที่ 2 (Pepi II) แห่งอียิปต์โบราณ ซึ่งจากหลักฐานประวัติศาสตร์ว่ากันว่าเพพปิครองราชย์อยู่นานถึง 94 ปีด้วยกัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากอย่างไม่น่าเชื่อ

ดังนั้นคำถามที่น่าสนใจก็คือ ฟาโรห์องค์นี้ครองราชย์นานขนาดนี้จริงหรือไม่ และตลอดรัชกาลเกิดเหตุการณ์ใดบ้าง

หลักฐานที่ร่อยหรอ

เพพปิที่ 2 เป็นฟาโรห์แห่งราชวงศ์ที่ 6 ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของอาณาจักรเก่า (Old Kingdom) โดยช่วงที่เพพปิมีชีวิตอยู่จะตรงกับช่วงปี 2284-2184 ก่อนคริสตกาล หรือพูดง่ายๆ ก็คือสี่พันกว่าปีมาแล้ว ดังนั้นไม่ต้องสงสัยว่าหลักฐานชั้นต้นทางประวัติศาสตร์ย่อมสูญสลายเกือบไปหมดแล้ว ในปัจจุบันเราจึงได้ข้อมูลเกี่ยวกับรัชกาลของเพพปิจากโบราณวัตถุบางส่วนที่ขุดเจอในช่วงปี ค.ศ.2000 ที่เมือง Saqqara แต่เพียงเท่านั้น

ว่ากันมาถึงตอนนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่าแล้วตัวเลข 94 ปีนี้มาจากไหน คำตอบก็คือมาจากมาเนโธ (Manetho) นักประวัติศาสตร์อียิปต์ที่ดำรงชีวิตอยู่ในช่วงราชวงศ์โตเลมี หรือประมาณเกือบสองพันปีหลังจากยุคของเพพปิ

ในช่วงที่มาเนโธมีชีวิตอยู่ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่หลงเหลือมาจากอาณาจักรเก่าคงจะมากกว่าในปัจจุบัน แต่ถามว่าเชื่อถือเขาได้ทั้งหมดเลยหรือไม่ คำตอบก็คงจะเป็นว่าไม่ เพราะว่ายุคของมาเนโธก็ห่างจากเพพปิมาก ดังนั้นเรื่องความผิดพลาดในเรื่องของข้อมูลจึงเชื่อได้ว่าต้องมีไม่น้อย

อย่างไรก็ดีจารึกตูริน (Turin King List) ซึ่งเป็นกระดาษปาปิรัสที่รวบรวมรายชื่อฟาโรห์อียิปต์โบราณมาจนถึงยุคฟาโรห์รามเสสที่ 2 ก็ได้ให้ข้อมูลว่าเพพปิครองราชย์อย่างต่ำ 90 ปีเช่นกัน ดังนั้นจึงจัดว่าสอดคล้องกับข้อมูลของมาเนโธ แต่จารึกนี้ก็ผิดพลาดได้เพราะจัดทำหลังจากยุคของเพพปิมากกว่าหนึ่งพันปี

จารึกตูริน

นอกจากนี้การค้นพบในระยะหลังกลับขัดแย้งกับข้อมูลสองแหล่งนี้ กล่าวคือโบราณวัตถุหรือเอกสารที่ร่วมสมัยกับเพพปิกลับไม่ระบุถึงปีที่ 62 ของรัชกาลเลยแม้แต่น้อย ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่ข้อมูลของมาเนโธกับจารึกตูรินจะคลาดเคลื่อน นักประวัติศาสตร์บางส่วนจึงเชื่อว่าเพพปิครองราชย์ไม่เกิน 62 ปี หรือให้มากที่สุดก็ 64 ปี

อย่างไรก็ดีรัชกาลของเพพปิเป็นช่วงยุคสุดท้ายของความรุ่งเรืองของอาณาจักรเก่า และราชสำนักของฟาโรห์สูญเสียอำนาจในการปกครองไปทั้งหมด ดังนั้นมันจึงมีความเป็นไปได้เช่นกันที่จะเกิดเหตุการณ์อะไรสักอย่างหนึ่งที่ทำให้ไม่มีการระบุถึงหลังจากปี 62 ของรัชกาลเพพปิ

เรามาดูกันดีกว่าครับ ชีวิตของฟาโรห์พระองค๋นี้เป็นอย่างไร

ชีวิตของเพพปิ

แม้ว่าเราจะไม่ทราบอย่างแท้จริงว่าเพพปิครองราชย์กี่ปี แต่ที่แน่ๆ คือเพพปิครองราชย์ยาวนานมาก และน่าจะเป็นอันดับต้นๆ ของฟาโรห์แห่งอียิปต์โบราณอย่างไม่ต้องสงสัย

ทั้งนี้เพพปิได้นั่งบัลลังก์ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ซึ่งถ้ามองในแง่ของวิทยาศาสตร์แล้ว เพพปิจะครองราชย์ 94 ก็เป็นไปได้ เพราะอายุของเพพปิจะเป็น 100 ปีเมื่อสวรรคต แต่ด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ของอียิปต์โบราณที่ต้อยกว่าปัจจุบันอย่างเทียบไม่ติด ผมจึงมองว่าโอกาสที่เพพปิจะมีอายุยืนถึง 100 ปีน่าจะต่ำมาก

ช่วงที่เพพปิยังไม่บรรลุนิติภาวะ พระมารดาได้เป็นผู้สำเร็จราชการ ข้อมูลนี้เราได้มาจากรูปปั้นโบราณที่เพพปินั่งอยู่บนตักของมารดาของเขา แต่ข้อมูลนอกเหนือจากนี้นั้นไม่มีอยู่เลย นอกจากว่าหลังจากที่เติบใหญ่ เพพปิก็ได้มีมเหสีทั้งหมด 6 คน และได้มีโอรสหลายคนด้วยกัน

ฟาโรห์เพพปิที่ 2 นั่งอยู่บนตักมารดา
ฟาโรห์เพพปิที่ 2 นั่งอยู่บนตักมารดา By Keith Schengili-Roberts – Own work (photo), CC BY-SA 2.5

อย่างไรก็ดีสิ่งที่เรารู้แน่ๆ คือรัชกาลของเพพปิเป็นรัชกาลที่อำนาจของฟาโรห์ลดเหลือน้อยลงไปทุกที เพราะเหล่าผู้ว่าราชการ (Nomarch) มีอำนาจมาก และมีอิทธิพลและความร่ำรวยไม่แพ้ฟาโรห์ (เห็นได้จากการค้นพบสุสานอันอลังการของพวกผู้ว่าราชการเหล่านี้ในดินแดนที่พวกเขาปกครอง) นอกจากนี้พวกเขายังสืบทอดตำแหน่งผ่านทางสายเลือดอีกด้วย

โมเดลนี้ไม่ต่างอะไรกับปลายสมัยราชวงศ์ถังของจีนที่พวกขุนศึกมีอำนาจ หลังจากนั้นก็เบียดเบียนราชสำนักด้วยการแข็งข้อ ตลอดรัชกาลของเพพปิก็ยังเผชิญปัญหาแบบเดียวกัน แต่เพพปิก็คงจะจัดการทุกอย่างได้ดีไม่น้อย มิฉะนั้นรัชกาลของพระองค์คงไม่ยืนยาวอย่างต่ำ 62 ปี

หนึ่งในกลยุทธ์ของเพพปิที่เราทราบก็คือในช่วงท้ายรัชกาล เพพปิได้แบ่งอำนาจของวิเซียร์ (Vizier) ให้คานอำนาจกัน นั่นก็คือให้มีวิเซียร์สำหรับอียิปต์ตอนบน และอียิปต์ตอนล่าง แต่ปัญหาที่ดูเหมือนจะตามมาด้วยก็คือ การแบ่งแบบนี้ทำให้ราชสำนักของเพพปิที่เมมฟิส (Memphis) นั้นยิ่งไร้ความหมายไปมากกว่าเดิม

นี่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไหนกล่าวถึงรัชกาลของเพพปิหลังจากนั้น เพราะเพพปิอาจจะเป็นแค่หุ่นเชิดที่ไร้ความหมาย นักประวัติศาสตร์บางคนก็ว่าเพพปิน่าจะหมดสิ้นอำนาจโดยสิ้นเชิงในช่วงปลายรัชกาล เหล่าผู้ว่าราชการจึงสู้รบกันเองเพื่อแย่งชิงดินแดน (เหมือนกับยุคชุนชิวของจีน) และปล่อยเพพปิไว้อย่างนั้นเพราะฟาโรห์นั้นมีสัญลักษณ์ทางศาสนาใกล้เคียงเทพเจ้า

อย่างไรก็ดีผมมองว่าเพพปิคงจะทำเต็มที่แล้วในการรับมือกับพวกผู้ว่าราชการและรักษาราชวงศ์เอาไว้ให้นานที่สุด แต่สุดท้ายแล้วอายุที่ยืนยาวของเพพปิเองกลับทำให้เกิดปัญหา เพราะเพพปิเหมือนจะมีอายุที่ยืนยาวเกินกว่ารัชทายาทของตนเอง ทำให้เกิดปัญหาในการแย่งชิงราชสมบัติ เมื่อประกอบกับการต่อสู้ของพวกผู้ว่าราชการแล้ว การปกครองโดยรัฐบาลกลางของไอยคุปต์จึงพังทลาย ผลที่ตามมาคืออียิปต์เข้าสู่ยุคมืดครั้งใหญ่ที่เรียกว่า First Intermediate Period

References:

  • Gardiner, Alan: Egypt of the Pharaohs
  • Breasted, James Henry. A History of the Ancient Egyptians
  • Anthony Spalinger, Dated Texts of the Old Kingdom

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!