โรคมะเร็ง (Cancer) เป็นโรคที่น่ากลัว มันคร่าชีวิตมนุษย์แต่ละปีไปเป็นจำนวนมาก ในสหรัฐอเมริกา โรคมะเร็งเป็นโรคที่ทำให้ชาวอเมริกันเสียชีวิตมากที่สุดเป็นลำดับที่สอง
มะเร็งเกิดจากการแตกตัวของเซลล์ที่ผิดปกติ นำมาสู่การกำเนิดของเนื้องอก (Tumor) ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เซลล์มะเร็งเหล่านี้จะแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆ ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุด
หากแต่ว่าท่านทราบหรือไม่ ว่ามนุษย์รู้จักโรคนี้มานานหลายพันปีแล้ว และเราก็พัฒนาวิธีการต่อสู้กับมันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นทุกวัน ในอนาคต โรคมะเร็งอาจจะไม่ใช่โรคที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์อีกต่อไปก็เป็นได้
การค้นพบโรงมะเร็งในยุคโบราณ
โรคมะเร็งเป็นโรคที่มนุษย์รู้จักกันดีมาตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณแล้ว นักโบราณคดีได้พบว่ามัมมี่ในยุคอียิปต์โบราณหลายร่างเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในกระดูกที่เรียกว่า Osteosarcoma และโรคมะเร็งอื่นๆ อีกหลายชนิด
ชาวอียิปต์โบราณในช่วงปี 3000 BC (3000 ปีก่อนคริสตกาล) ได้บันทึกรูปแบบของเนื้องอกที่บริเวณหน้าอกทั้งหมด 8 ชนิดที่ถูกตัดออกโดยอุปกรณ์ที่เรียกว่า “Fire Drill” ไว้ในกระดาษปาปิรัส เชื่อกันว่าพวกเขาได้บันทึกไว้มากกว่านี้อีก แต่มันหลงเหลือมาถึงปัจจุบันเพียงเท่านี้เท่านั้น
ภายในตำราแพทย์ของชาวอียิปต์ยังได้อธิบายลักษณะของโรคไว้อย่างดีทีเดียว และยังกำกับไว้ด้วยว่า โรคนี้ “ไม่มีวิธีการรักษา” ซึ่งก็ไม่แปลกอะไรสำหรับในยุคนั้น
สองพันกว่าปีต่อมา ในยุคกรีกโบราณ (ช่วง 400 BC) ฮิปโปเครตีส (Hippocrates) หรือบิดาแห่งการแพทย์ได้ทำการอธิบายโรคมะเร็งไว้หลายรูปแบบด้วยกันในตำราของเขา ฮิปโปเครตีสเรียกมันว่าคาร์คิโนส (karkinos หรือ carcinos) ซึ่งแปลว่า ปู
สาเหตุที่ฮิปโปเครตีสเรียกมันว่า “ปู” ก็เพราะว่าเขาได้ตัดผ่าชื้นเนื้อร้ายออกมา และเห็นว่าเส้นเลือดในชิ้นเนื้อแตกแขนงเหมือนกับขาของปู หลังจากนั้นโรคนี้จึงได้ชื่อในภาษากรีกว่า carcinos หรือ carcinoma
คำว่า carcinoma ยังใช้ในวงการแพทย์มาถึงทุกวันนี้ มันคือโรคมะเร็งชนิดหนึ่ง
ฮิปโปเครตีสคิดว่า ร่างกายประกอบด้วยของเหลวสี่ชนิดได้แก่ เลือด น้ำเหลือง น้ำดำ และ เสมหะ ถ้าของเหลวทั้ง 4 ชนิดสมดุล มนุษย์จะมีสุขภาพที่ดี เขาเชื่อว่าถ้ามนุษย์มีของเหลวชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไปจะทำให้เกิดโรคมะเร็ง
วิธีการรักษาของฮิปโปเครตีสคือ คุมอาหาร ถ่ายเลือด ซึ่งไม่น่าจะได้ผลสักเท่าใดนัก แต่มันได้กลายเป็นพื้นฐานในการรักษาโรคนี้มานานสองพันปี จนกระทั่งในวิทยาศาสตร์พัฒนาจนพิสูจน์ได้ว่าความเชื่อนี้ไม่เป็นจริงในศตวรรษที่ 19
ความรู้เรื่องนี้ได้แพร่จากกรีกไปสู่โรมัน เซลซัส (Celsus) แพทย์ชาวโรมันได้เรียก karkinos หรือ carcinos ว่า Cancer ซึ่งแปลว่าปูในภาษาโรมัน
เล่ามาถึงตอนนี้ หลายท่านคงทราบแล้วว่าทำไม โรคมะเร็ง (Cancer) กับ ราศีกรกฏ (Cancer) มันเป็นคำเดียวกันในภาษาอังกฤษ สาเหตุก็คือรากศัพท์มันมาจากคำเดียวกันนั่นเอง นั่นก็คือ ปู
ต่อมาในช่วงคริสตศตวรรษที่ 2 Galen แพทย์ชาวกรีกได้ใช้คำว่า oncos มาเพื่อจำกัดความถึงพวกเนื้องอกทั้งหมด และสงวนคำของฮิปโปเครตีสไว้สำหรับเนื้องอกที่เป็นเนื้อร้ายเท่านั้น นั่นแปลว่าในเวลานั้นชาวกรีกมีความรู้แล้วว่าเนื้องอกทุกชิ้นไม่ได้แปลว่าจะต้องเป็นเนื้อร้ายที่ก่อมะเร็ง
คำว่า oncos พัฒนามาเป็นชื่อศาสตร์ในการป้องกันรักษาโรคมะเร็ง (Oncology) ในปัจจุบัน
การค้นพบและต่อสู้กับโรคมะเร็ง
หลังจากจักรวรรดิโรมันล่มสลาย ยุโรปได้เข้าสู่ยุคกลาง อันเป็นยุคที่ความเชื่อทางศาสนาคริสต์เข้มข้น ทำให้ศาสนจักรไม่ให้มีการศึกษาร่างกายมนุษย์ รวมไปถึงตรวจสอบศพทางด้านนิติวิทยา เพราะเหตุผลทางศาสนา ทำให้ความรู้ทางการแพทย์ของมนุษย์ (ในยุโรป) ชะงักงันไปนานถึงพันกว่าปี
ในศตวรรษที่ 16-17 ศาสนจักรเสื่อมถอยลง ทำให้แพทย์สามารถตรวจสอบศพได้มากขึ้นเพื่อหาสาเหตุของการตายของผู้ป่วย ในช่วงเวลานี้ในวงการแพทย์จึงเกิดข้อสันนิษฐานหลายอย่างว่า โรคมะเร็งเกิดขึ้นได้อย่างไร ทฤษฎีใหม่ที่ปรากฏขึ้นมาช่วงนี้กล่าวว่า โรคมะเร็งเกิดจากการหมักหมมและทรุดโทรมของต่อมน้ำเหลือง หรือเป็นผลิตผลทางลบของปฏิกิริยาทางเคมีบางอย่าง
ถึงแม้จะใกล้เคียงกับสาเหตุที่แท้จริงมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ถูกต้องสักเท่าไรนัก
ในช่วงศตวรรษที่ 18 กล้องจุลทรรศน์ได้ถูกประดิษฐ์ขึ้น และเป็นที่แพร่หลาย นักวิจัยได้พบว่าตัวโรคได้แพร่กระจายจากเนื้องอกชิ้นหลักไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ที่เรียกว่า Metastasis
ในปี ค.ศ.1761 แพทย์ชาวอิตาลีชื่อ Giovanni Morgagni ได้ทำการตรวจสอบชื้นเนื้อของผู้ป่วยหลังจากที่ตายไปแล้ว วิธิการของเขาถูกนำมาใช้เพื่อศึกษาวิจัยหาสาเหตุของโรคมะเร็งในเวลาต่อมา นั่นก็คือการตรวจสอบชิ้นเนื้อที่ใช้กันในทุกวันนี้นั่นเอง
ขณะเดียวกันในอีกส่วนหนึ่งของยุโรป John Hunter แพทย์ชาวสกอตได้พบว่ามะเร็งบางชนิดสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด เขาให้ความเห็นว่าถ้าเนื้อร้ายยังไม่แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกาย แพทย์สามารถตัดมันออกมาได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรคมะเร็งได้
ผลงานของแพทย์เหล่านี้และแพทย๋คนอื่นๆ หลายท่านมีส่วนสำคัญให้การศึกษามะเร็งก้าวหน้าไปมาก และเป็นส่วนหนึ่งของการระวังป้องกันรักษาในปัจจุบัน
พัฒนาการครั้งสำคัญ
ในช่วงศตวรรษที่ 18 ถึงแม้เราจะทราบแล้วว่าการผ่าตัดชิ้นเนื้อร้ายตั้งแต่เนิ่นๆ เพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตให้กับผู้ป่วยได้สูงมาก แต่เพราะปัญหาเรื่องความสะอาดในยุคนั้น ทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดใหญ่มีโอกาสติดเชื้อมีสูงมาก แพทย์จึงยังไม่กล้าจะผ่าตัดให้ผู้ป่วยเท่าไรนัก
หากแต่ว่าวิทยาการในการฆ่าเชื้อโรค (Asepsis) และยาสลบ (Anesthesia) ได้พัฒนาขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 แพทย์จึงเริ่มใช้การผ่าตัดเป็นกุญแจสำคัญในการต่อสู้กับมะเร็ง อัตราการรอดชีวิตเริ่มสูงขึ้นตามลำดับ
ช่วงเวลานี้เองนักวิทยาศาสตร์ก็ได้ค้นพบว่าร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยเนื้อเยื่อต่างๆ มากมาย และเนื้อเยื่อเหล่านี้ก็ประกอบด้วยเซลล์เล็กๆ จำนวนมาก ท้ายที่สุดการแตกตัวของเซลล์ที่ผิดปกตินี้เองเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง
เมื่อค้นพบสาเหตุที่แท้จริงได้แล้ว ความเชื่อที่ว่าของเหลวและปฏิกิริยาเคมีทั้งหลายทำให้เกิดมะเร็งก็สูญสลายไปในที่สุด
นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่าโรคมะเร็งไม่ใช่โรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อโรคแต่อย่างใด (แต่เชื้อโรคบางชนิดเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งได้) นอกจากนี้ในปี ค.ศ.1902 นักสัตววิทยาชาวเยอรมันชื่อ Theodor Boveri ว่าโครโมโซมของมนุษย์สามารถถ่ายทอดลักษณะทางร่างกายต่างๆ จากพ่อสู่ลูกได้ ในเวลาต่อมานักวิทยาศาสตร์จึงได้ข้อสรุปใหม่ว่าโอกาสการเกิดโรคมะเร็งเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์เช่นเดียวกัน
พัฒนาการที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 18-20 คือ การค้นพบว่าสารบางอย่างมีส่วนสำคัญที่เพิ่มอัตราการเกิดโรคมะเร็ง เช่น ยาสูบ เป็นต้น สารเหล่านี้ต่อมาถูกเรียกว่า สารก่อมะเร็ง หรือ carcinogen รัฐบาลในประเทศต่างๆ จึงเริ่มออกกฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนสัมผัสกับสารก่อมะเร็งบางชนิด แต่บางบริษัทยังคงหลบเลี่ยงอยู่นั่นเอง
การค้นพบเหล่านี้มีส่วนสำคัญยิ่งในการพัฒนาการรักษามะเร็งให้ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์มากขึ้น มนุษย์ไม่เคยยอมแพ้ต่อโรคมะเร็ง เมื่อได้ค้นพบวิทยาการใหม่ๆ โอกาสที่ผู้ป่วยจะรอดตายก็เพิ่มมากตามลำดับ มะเร็งไม่ใช่โรคที่เป็นแล้วต้องตาย 100% อีกต่อไป
ในตอนหน้า เราจะมาดูกันครับว่า วิทยาการต่างๆ ในการรักษาโรคมะเร็งเกิดขึ้นมาได้อย่างไร