ประวัติศาสตร์ยุทธการแห่งแฮตติน ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของชาวมุสลิมต่อนักรบครูเสด

ยุทธการแห่งแฮตติน ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของชาวมุสลิมต่อนักรบครูเสด

ยุทธการแห่งแฮตติน (Battle of Hattin) เป็นหนึ่งในการต่อสู้ที่สำคัญที่สุดในสงครามครูเสด เพราะเป็นสมรภูมิที่กองทัพมุสลิมได้รับชัยชนะเหนือพวกนักรบครูเสดอย่างเด็ดขาด และเปลี่ยนกลับเป็นฝ่ายรุกในสงคราม

ผลที่ตามมาคือกองทัพมุสลิมสามารถช่วงชิงเมืองเยรูซาเลม (Jerusalem) เมืองศักดิ์สิทธิ์ของทั้งสามศาสนากลับคืนมาได้ในที่สุด และพวกนักรบครูเสดไม่เคยหวนกลับมาครอบครองเมืองแห่งนี้อีกเลย

ยุทธการแห่งแฮตติน

ปูมหลัง

ในช่วงปี ค.ศ.1096-1099 นักรบครูเสดได้รุกรานเยรูซาเลมในช่วงสงครามครูเสดครั้งที่ 1 และสามารถช่วงชิงเมืองดังกล่าวมาจากชาวมุสลิมได้สำเร็จ เหล่านักรบครูเสดได้จัดตั้งการปกครองเยรูซาเลมและดินแดนรอบๆเสียใหม่ โดยสถาปนาเยรูซาเลมเป็นอาณาจักรที่มีกษัตริย์ปกครอง อาณาจักรเยรูซาเลม (Kingdom of Jerusalem) ซึ่งเป็นหนึ่งในอาณาจักรของพวกนักรบครูเสด (Crusader States) จึงถือกำเนิดขึ้นนับตั้งแต่บัดนั้น

ตลอดในช่วงศตวรรษที่ 12 อาณาจักรเยรูซาเลมมีข้อพิพาทเรื่องดินแดน ทำให้ต้องทำสงครามกับอาณาจักรของชาวมุสลิมอย่างอาณาจักรฟาติมิด และอาณาจักรเซลจุกเติร์กอยู่เนืองๆ ในสงครามเหล่านี้ ทั้งสองฝ่ายผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ

แม้จะอยู่ในช่วงสงบสุข ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายก็ไม่ได้พัฒนาขึ้น พวกนักรบครูเสดรู้สึกไม่ปลอดภัยที่ถูกล้อมโดยอาณาจักรของชาวมุสลิม ส่วนชาวมุสลิมเองก็ต้องการตีเมืองเยรูซาเลมกลับคืนมาจากชาวคริสต์

ช่วงปลายศตวรรษที่ 12 ซาลาดิน (Saladin) วีรบุรุษคนสำคัญของชาวมุสลิมสามารถตีอียิปต์ ซีเรีย และดินแดนหลายแห่งในเมโสโปเตเมียให้อยู่การครอบครองของตนเองได้ทั้งหมดในนามอาณาจักรอัยยูบิด (Ayyubid) เป้าหมายต่อไปของซาลาดินแน่นอนว่าคือ เยรูซาเลมและรัฐต่างๆ ที่พวกนักรบครูเสดสร้างขึ้นมา

ซาลาดิน

ซาลาดินเคยทำสงครามกับพวกนักรบครูเสดภายใต้การนำของกษัตริย์บาล์ดวินที่ 4 (Baldwin IV) ที่ช่วงปี ค.ศ.1179-1180 การต่อสู้ดำเนินไปโดยไม่มีใครได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด ทั้งสองฝ่ายจึงเจรจาสงบศึกเพื่อยุติความขัดแย้งไปชั่วคราว

กษัตริย์บาลวินที่ 4 สวรรคตในปี ค.ศ.1185 ทำให้ปัญหาความวุ่นวายเรื่องการสืบทอดบัลลังก์ในเยรูซาเลม สุดท้ายแล้วกีย์แห่งลูซินยง (Guy of Lusignan) ได้เป็นกษัตริย์แห่งเยรูซาเลม (ผู้เขียนออกเสียงตามแบบฝรั่งเศส เพราะนักรบครูเสดส่วนใหญ่มีเชื้อสายฝรั่งเศส)

เมื่อรัชสมัยของกีย์เริ่มต้น ความสัมพันธ์ของอาณาจักรอัยยูบิดและเยรูซาเลมก็ย่ำแย่ลง พวกนักรบครูเสดอย่าง เรย์นาวด์แห่งชาติยง (Raynald of Châtillon) ได้ปล้นสะดมกองคาราวานของชาวมุสลิม และฆ่าฟันพ่อค้าด้วย

บ้างว่าเรย์นาวด์ทำไปด้วยความโลภ แต่บ้างว่าตัวเขาเห็นว่าซาลาดินกำลังรวบรวมไพร่พลและเสบียงเพื่อมากับเยรูซาเลมในไม่ช้า เขาจึงต้องการจะรบกวนการระดมกำลังดังกล่าว

ซาลาดินที่ได้ทราบเรื่องรู้สึกโกรธมาก เขาลั่นวาจาว่าจะต้องสังหารเรย์นาวด์เพื่อล้างแค้นให้ได้

ในเวลานั้นสนธิสัญญาสงบศึกของทั้งสองฝ่ายกำลังจะจบลง ซาลาดินเองไม่มีความคิดที่จะต่อเวลาของสันติภาพตั้งแต่เดิมอยู่แล้ว เมื่อพวกนักรบครูเสดปล้นสะดมกองคาราวานชาวมุสลิมเช่นนี้ ซาลาดินจึงไม่มีความคิดเป็นอื่นอีกต่อไป ทั้งสองฝ่ายกลับคืนสู่สถานะสงครามอีกครั้งหนึ่งในปี ค.ศ.1187

เริ่มต้นสงคราม

กองทัพมุสลิมถูกจัดตั้งขึ้นทันที โดยรวมแล้วกองทัพของซาลาดินมีทหารม้า 12,000 นาย และทหารราบอีกประมาณ 30,000 คน ซาลาดินได้สั่งให้กองทหารบางส่วนล่วงหน้าไปก่อนเพื่อโจมคีป้อมปราการต่างๆ ของอาณาจักรเยรูซาเลม ส่วนตัวซาลาดินรอกองทัพจากซีเรียและอียิปต์มารวมตัวกันเสียก่อน แล้วจึงยกกำลังข้ามแม่น้ำจอร์แดน เข้าไปในดินแดนของอาณาจักรเยรูซาเลม

ขณะเดียวกันกีย์ได้รวบรวมเหล่าอัศวินและนักรบครูเสดของเขาที่ Saffuriya กีย์ได้ทราบว่ากองทัพมุสลิมมีจำนวนมาก เขาจึงสั่งให้รวบรวมกำลังนักรบทั้งหมดในเยรูซาเลม และใช้เงินจำนวนมากหาทหารรับจ้างทั้งหมดที่หาได้ กำลังกองทัพครูเสดของกีย์ไม่แน่ชัดว่ามีจำนวนเท่าใด หลักฐานมุสลิมว่ามีมากถึง 50,000 คน แต่นักประวัติศาสตร์มองว่าน่าจะมีไม่เกิน 20,000 คนเท่านั้น

กีย์

การรวมกองทัพของกีย์เริ่มต้นด้วยความเสี่ยง เพราะถ้ากองทัพชาวคริสต์พ่ายแพ้ เมืองต่างๆ ในเยรูซาเลมแทบจะไม่มีกำลังทหารคอยป้องกัน

ดังนั้นสำหรับซาลาดินแล้ว ถ้าเขาทำลายกองทัพครูเสดกองนี้ได้ ดินแดนของอาณาจักรเยรูซาเลมแทบจะทั้งหมดจะตกเป็นของเขาในบัดดล ซาลาดินจึงต้องการล่อกองทัพครูเสดกองนี้ออกมาในจุดที่กองทัพมุสลิมได้เปรียบ แล้วบดขยี้ให้แหลกยับเยิน

อย่างไรก็ตามซาลาดินตระหนักดีว่า เขาจะดูแคลนพวกนักรบครูเสดไม่ได้ พวกนักรบครูเสดเหล่านี้เคยพิสูจน์ตนเองมาแล้วในสงครามครั้งก่อน ดังนั้นเขาจะต้องใช้กลยุทธ์ที่เหนือชั้นในการล่อพวกนักรบครูเสดออกมา

ซาลาดินได้ส่งกำลังเข้าคุกคามกองกำลังหลักของพวกนักรบครูเสดที่ Saffuriya เพื่อทดสอบว่าพวกนักรบครูเสดจะหวั่นไหวและยกกำลังตามมาหรือไม่ ตัวซาลาดินเองถึงกับไปมองดูค่ายของพวกนักรบครูเสดจากระยะไกลด้วย เมื่อผ่านไปไม่กี่วัน ซาลาดินตระหนักว่าถ้าตนเองโยนเหยื่อล่อลงไป พวกนักรบครูเสดจะตะครุบเหยื่ออย่างแน่นอน

ในวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ.1187 ซาลาดินให้ทหารกองหนึ่งเข้าตีเมือง Tiberias เมืองเล็กๆ ที่มีการป้องกันเบาบาง การโจมตีของซาลาดินทำให้เกิดความวุ่นวายในค่ายของพวกนักรบครูเสดทันที

เคานท์เรย์มอนด์ (Count Raymond) ผู้อาวุโสในราชสำนักเยรูซาเลมเสนอให้กีย์ใช้ความอดทนและระมัดระวัง เพราะกองทัพมุสลิมแข็งแกร่งมาก เขาเสนอให้หลีกเลี่ยงการปะทะแม้ว่าภายในเมือง Tiberias จะมีภรรยาของเขาอยู่ในเมืองด้วยก็ตาม

ขณะเดียวกันเรย์นาวด์แห่งชาติยงคนเดิมกลับเห็นตรงกันข้าม เขาบอกกีย์ว่าวิธีของเรย์มอนด์เป็นวิธีของพวกขี้ขลาด และเสนอให้กีย์นำกองทัพเข้าช่วยเหลือเมือง Tiberias ทันที

สุดท้ายแล้วกีย์ตัดสินใจเชื่อคำแนะนำของเรย์นาวด์ด้วยการนำกองทัพทั้งหมดออกจากจุดที่ปลอดภัยอย่าง Saffuriya เพื่อไปช่วยเมือง Tiberias

กีย์ไม่รู้เลยว่า อะไรกำลังรอเขาอยู่

นักรบครูเสดพ่ายแพ้ยับเยิน

ข่าวการเคลื่อนทัพของกีย์ถูกรายงานไปยังซาลาดินราวกับลมพัดโดยสายลับมุสลิมที่ดักรออยู่ในบริเวณทะเลทราย

ซาลาดินไม่ต้องการให้กองทัพครูเสดไปถึง Tiberias เพราะเขาต้องการจะขยี้กองทัพครูเสดระหว่างทาง ซาลาดินจึงนำกองทัพใหญ่ของเขามาสกัดไว้ที่เส้นทางสู่เมืองดังกล่าว ขณะเดียวกันก็ให้ทหารม้าอาวุธเบามุ่งหน้าไปโจมตีและรบกวนการเดินทัพของพวกนักรบครูเสด

ไม่เพียงเท่านั้นซาลาดินตระหนักว่ากองทัพครูเสดกำลังเดินทางไกลในช่วงฤดูร้อนของปี (กรกฎาคม) แถมยังเดินทางผ่านทะเลทรายด้วย นักรบชาวคริสเตียนน่าจะประสบปัญหาการขาดน้ำ ดังนั้นเขาจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายขึ้นอีก ด้วยการถมบ่อน้ำทั้งหลายตามทางทั้งหมด

ส่วนกองทัพมุสลิมมีน้ำดื่มกินอย่างสมบูรณ์อยู่แล้ว เพราะได้ลำเลียงน้ำจำนวนมากโดยอูฐมาไว้ล่วงหน้า และยังยึดแหล่งน้ำรายรอบไว้โดยสมบูรณ์

ด้วยความร้อนรน กีย์ต้องการให้กองทัพเดินทางถึง Tiberias โดยเร็วที่สุด การเดินทัพจึงดำเนินไปอย่างรีบร้อน แต่พวกเขากลับประสบปัญหาเมื่อเห็นว่าหมู่บ้านต่างๆ แทบไม่มีน้ำอยู่เลย ทำให้พวกนักรบครูเสดอ่อนแอลงมาก

ฝ่ายซาลาดินเห็นกองทัพครูเสดมาถึงแล้ว เขาสั่งให้กองทัพหลวงของเขาปิดเส้นทางไปที่ Tiberias เอาไว้ และสั่งกำลังทหารอีกกองหนึ่งปิดเส้นทางถอยกลับของพวกนักรบครูเสดทั้งหมด ทำให้พวกนักรบครูเสดสามารถเดินทัพได้ทางเดียว นั่นคือขึ้นไปบนที่ราบสูงที่ซาลาดินเลือกไว้แล้วว่าจะใช้เป็นสถานที่ทำศึกชี้ขาด

เย็นวันนั้น กีย์อยู่ในสภาพที่ไม่แน่ใจ เขามีตัวเลือกอยู่สองทาง นั่นคือเข้าตีที่มั่นของกองทัพมุสลิมทันที และแหวกวงล้อมออกไป หรือตั้งค่ายรอความตาย กีย์เลือกอย่างหลัง กองทัพครูเสดจึงตั้งค่ายอยู่ที่กลางทะเลทรายตลอดทั้งคืน พวกนักรบครูเสดที่ไม่ได้รับน้ำเลยตลอดทั้งวันยิ่งมีสภาพแย่ลงไปตามลำดับ

การตัดสินใจของกีย์ผิดพลาดเหมือนกับจ้าวคว่อที่ฉางผิง ทั้งกีย์และจ้าวคว่อถูกล้อมและตัดน้ำหรืออาหารเหมือนกัน ทั้งสองเลือกที่จะไม่รีบฝ่าวงล้อม แต่กลับเลือกที่จะตั้งค่าย ทำให้ทั้งสองพ่ายแพ้ยับเยินและสูญเสียกำลังเกือบทั้งหมด

ฝ่ายซาลาดินได้เตรียมทุกอย่างเรียบร้อยแล้วสำหรับวันรุ่งขึ้น ตลอดคืนเขาสั่งให้ทหารมุสลิมร้องตะโกนให้ดังที่สุดเพื่อขู่ขวัญพวกคริสเตียน กำลังใจที่จะรบของพวกนักรบครูเสดไม่มีอยู่แล้ว

วันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1187 ซาลาดินเริ่มต้นวันอย่างไม่รีบร้อน เขาต้องการให้นักรบครูเสดอ่อนแอที่สุดก่อนที่จะเข้าโจมตี เขารอให้แสงแดดอันร้อนระอุแผดเผานักรบครูเสดในช่วงเช้าและสาย แถมยังให้ทหารจุดไฟเพื่อรมควันพวกนักรบครูเสดด้วย

ผู้เห็นเหตุการณ์ชาวมุสลิมคนหนึ่งบันทึกว่า

พวกแฟรงก์ปรารถนาจะได้พักผ่อน และกองทัพของพวกเขาพยายามหาทางหนีอย่างสิ้นหวัง แต่ในทุกทางออก พวกเขาถูกขัดขวางเอาไว้ และทรมานด้วยความร้อนของสงครามโดยไม่ได้รับโอกาสให้หยุดพัก

เที่ยงของวันนั้น พลธนูของซาลาดินเริ่มระดมยิงใส่พวกนักรบครูเสด ซาลาดินได้แจกลูกธนูจำนวนมหาศาลแก่พวกพลธนูตั้งแต่คืนก่อนแล้ว ซาลาดินสั่งให้พวกพลธนูกระหน่ำยิงได้อย่างเต็มที่ พวกนักรบครูเสดจึงล้มตายระเนระนาดโดยไม่สามารถหลบหลีกไปไหนได้

การระดมยิงของพลธนูอัยยูบิดทำให้นักรบครูเสดตื่นตระหนกและเริ่มเสียกระบวนทัพ เคานท์เรย์มอนด์จึงสั่งให้กองทัพเข้าตีกองทหารมุสลิมทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ กองทหารมุสลิมตัดสินใจถอนกำลังออกไปก่อนเพื่อหลบเลี่ยงความรุนแรงในการเข้าชาร์จของพวกนักรบครูเสด เปิดช่องให้เรย์มอนด์นำนักรบครูเสดส่วนหนึ่งตีฝ่าออกไปได้ทางด้านดังกล่าว

การหนีไปของเคานท์เรย์มอนด์ ทำให้นักรบครูเสดที่ยังเหลืออยู่ใจเสีย แต่ก็พยายามแข็งใจเข้าตีที่มั่นของพวกมุสลิม ผู้เห็นเหตุการณ์ชาวมุสลิมเล่าว่าการโจมตีของพวกนักรบครูเสดเกือบจะทำให้ฝ่าวงล้อมของกองทัพมุสลิมออกไปได้อยู่แล้วถ้าพวกเขาแข็งใจโจมตีอีกครั้งหนึ่ง แต่การโจมตีดังกล่าวกลับไม่เกิดขึ้น

ฝ่ายกีย์เห็นจวนตัว เขาจึงนำ True Cross หรือไม้กางเขนที่เชื่อว่าถูกใช้ตรึงร่างของพระเยซูออกมาปลุกเร้ากำลังใจของพวกทหาร และนำกำลังขึ้นสู่ที่สูงในบริเวณที่เรียกว่าแฮตติน เพื่อพยายามจะตีฝ่าออกไป

กีย์ไม่รู้เลยว่าซาลาดินรอเขาอยู่แล้ว

กองทัพมุสลิมที่ยังสดยืนหยัดการโจมตีอย่างหนักหน่วงของกองทัพครูเสดเอาไว้ได้ และเริ่มเป็นฝ่ายโจมตีตอบโต้ ทหารม้ามุสลิมปรากฏตัวออกมาและใช้หอกไล่แทงสังหารเหล่าอัศวินที่ขาดน้ำล้มตายลงคนแล้วคนเล่า เมื่อเห็นได้ชัดว่าพวกนักรบครูเสดไม่สามารถต้านทานได้อีกแล้ว ซาลาดินจึงสั่งให้กองทัพทั้งหมดเข้าโจมตีทุกด้าน

การโจมตีของกองทัพมุสลิมทำให้กองทัพของนักรบครูเสดแตกยับเยิน ซาลาดินจับได้ทั้งกีย์และเสนาบดีคนสำคัญในอาณาจักรเยรูซาเลมมากมาย รวมไปถึงยังสามารถช่วงชิง True Cross มาได้ด้วย

ยุทธการแห่งแฮตติน

สองกษัตริย์

ซาลาดินได้พบกับกีย์ที่ถูกจับเป็นเชลย ซาลาดินได้ยื่นแก้วที่มีน้ำแข็งเต็มใบให้กับกีย์เพื่อดับกระหาย กีย์รับไมตรีของซาลาดินไว้และดื่มมันไปพอสมควร หลังจากนั้นเขาจึงส่งแก้วไปให้กับเรย์นาวด์ที่ถูกจับเป็นเชลยเช่นเดียวกัน

เมื่อกีย์ส่งแก้วให้กับเรย์นาวด์ ซาลาดินเข้ามาขัดขวางทันที เขาพูดและให้ล่ามแปลว่า

เจ้าไม่ได้รับอนุญาตจากข้าให้ดื่ม ดังนั้นของขวัญชิ้นนั้นไม่ได้บอกว่าเจ้าจะปลอดภัยจากน้ำมือของฉัน

ซาลาดินด่าว่าเรย์นาวด์ถึงวีรกรรมที่เขาทำลงไป และสั่งให้เขาเปลี่ยนศาสนา เมื่อเรย์นาวด์ปฏิเสธ ซาลาดินจึงนำตัวเขาไปประหารชีวิตตามโทษานุโทษที่เขาเคยปล้นสะดมพ่อค้าชาวมุสลิม

สำหรับกีย์แล้ว ซาลาดินให้การดูแลเขาเป็นอย่างดี และไม่ได้ทำอันตรายแต่อย่างใด

ผลที่ตามมา

ความเสียหายของกองทัพครูเสดเรียกได้ว่าย่อยยับ เกือบทั้งกองทัพถูกสังหารและจับเป็นเชลยศึกทั้งหมด เหล่าเชลยถูกขายเป็นทาสในเมืองดามัสกัส ด้วยความที่มีเชลยมากมาย ทำให้ราคาทาสในเมืองลดลงอย่างมาก

กีย์ยอมจำนนต่อซาลาดิน

อาณาจักรเยรูซาเลมที่สูญเสียกองทัพเกือบทั้งหมดไม่มีกำลังเพียงพอจะป้องกันดินแดนของตนได้อีกต่อไป แม้กำลังที่เหลืออยู่จะพยายามต้านทานอย่างเข้มแข็งก็ตาม ซาลาดินสามารถเข้าเมืองเยรูซาเลมได้สำเร็จในปีเดียวกัน พวกนักรบครูเสดต้องเตลิดหนีขึ้นเหนือ และไม่เคยได้กลับมาครอบครองเยรูซาเลมอีกเลย

การสูญเสีย True Cross เรียกว่าเป็นการสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้ True Cross ถูกซาลาดินนำกลับไปยังดามัสกัส ไม่ปรากฏว่าเกิดอะไรขึ้นกับไม้กางเขนนี้หลังจากนั้น มันได้หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์โดยสมบูรณ์

Sources:

Asbridge, The Crusades

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!