Uncategorizedสิบปีสุดท้ายของ "ซุนกวน" ช่วงเวลาที่นิยายสามก๊กไม่ได้ให้คำตอบ

สิบปีสุดท้ายของ “ซุนกวน” ช่วงเวลาที่นิยายสามก๊กไม่ได้ให้คำตอบ

ซุนกวน (ซุนเฉวียนในภาษาจีนกลาง) เป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญที่สุดในนิยายสามก๊ก เพราะเป็นผู้ปกครองง่อก๊ก หนึ่งในสามแคว้นในช่วงเวลานั้น แต่สิ่งที่ต่างจากโจโฉ และเล่าปี่ก็คือ นิยายสามก๊กไม่ได้ให้ “บท” กับซุนกวนมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงบั้นปลายชีวิตหลังจากที่ได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นฮ่องเต้แล้ว

ในบทความนี้ผมจึงจะมาเล่าว่าเกิดอะไรขึ้นกับซุนกวนในช่วงสิบปีสุดท้ายของชีวิตของเขา ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องเศร้า และเป็นต้นเหตุที่นำไปสู่การล่มสลายของง่อก๊กเลยก็ว่าได้

รัชทายาทสิ้นพระชนม์

หลังจากที่ซุนกวนได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นฮ่องเต้แห่งง่อก๊ก เขาให้มอบตำแหน่งรัชทายาท (ไท่จื่อ) ให้กับซุนเติง (Sun Deng) บุตรชายคนโต ซึ่งโอรสคนนี้ก็เป็นที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด และยังมีคุณธรรมอีกด้วย ซุนเติงมักปฏิบัติต่อผู้ติดตามอย่างดี และไม่ถือตัว ทำให้ชาวง่อก๊กล้วนแต่รักรัชทายาทพระองค์นี้มาก ดังนั้นเหล่าราชนิกูลคนอื่นๆ ล้วนแต่ไม่มีใครแก่งแย่งตำแหน่งรัชทายาทกับซุนเติง

อย่างไรก็ดีซุนเติงกลับล้มป่วยและสิ้นพระชนม์อย่างทันด่วนด้วยวัย 32 ปีในปี ค.ศ.241 การจากไปของซุนเติงทำให้ตำแหน่งรัชทายาทว่างลง ตัวซุนกวนในวัยเกือบหกสิบปีก็โศกเศร้าเสียใจอย่างหนักกับการจากไปของโอรสสุดที่รัก ดังนั้นสภาพจิตใจของซุนกวนจึงย่ำแย่อย่างรวดเร็ว การตัดสินใจที่เคยเฉียบคบและชาญฉลาดก็เริ่มทดถอยลงไป

ในปี ค.ศ.242 ซุนกวนจึงได้แต่งตั้งรัชทายาทพระองค์ใหม่นามว่า ซุนเหอ อุปนิสัยของซุนเหอผู้นี้ก็คล้ายกับพี่ชาย นั่นคือมีความกตัญญูและมีสติปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องวรรณกรรม ตัวซุนเหอเองก็เอางานเอาการ และเกลียดชังการฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นที่สุด

ดังนั้นถ้าดูเผินๆ แล้วการสืบทอดบัลลังก์ของซุนกวนเหมือนว่าจะไม่เป็นปัญหา เพราะซุนเหอน่าจะเป็นฮ่องเต้ที่ดีพระองค์ต่อไป

แต่แล้วกงล้อประวัติศาสตร์ก็ทำงานอีกครั้งหนึ่ง

โปรดปรานซุนป้า

นอกจากซุนเหอแล้ว ซุนกวนยังมีโอรสที่โปรดปรานอีกคนหนึ่ง นั่นก็คือซุนป้า โอรสคนที่สี่ ซึ่งเป็นน้องชายต่างมารดาของซุนเหอ ซุนป้าคนนี้ก็ถือว่ามีสติปัญญา แต่ไม่น่าจะมีคุณธรรมสักเท่าใดนัก เพราะเขามักใหญ่ใฝ่สูงและต้องการเป็นรัชทายาทแทนที่พี่ชาย

อย่างไรก็ดีในช่วงแรกนั้นไม่ได้ปรากฏว่าซุนป้ามักใหญ่ใฝ่สูงแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะตัวซุนกวนเองที่แสดงออกว่าโปรดปรานซุนป้าไม่น้อยกว่าซุนเหอ แถมยังอนุญาตให้ซุนป้ามีที่ปรึกษาและคนในสังกัดไม่แพ้กับรัชทายาท และยังมอบยศศักดิ์และทรัพย์สินให้ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน แม้ว่าขุนนางหลายคนจะทัดทานว่าการทำเช่นนี้จะเป็นอันตราย แต่ซุนกวนก็ไม่สนใจ

ด้วยเหตุนี้เอง ในเวลาไม่นานเหล่าที่ปรึกษาของซุนป้าล้วนแต่สนับสนุนให้ซุนป้าแย่งชิงตำแหน่งรัชทายาทมาครองเสียเลย หลังจากนั้นซุนป้าจึงกระทำตนเป็นคู่แข่งของซุนเหอในทุกๆ ด้าน ราชสำนักง่อก๊กเองก็แตกออกเป็นสองฝ่าย นั่นคือกลุ่มสนับสนุนซุนเหอ ส่วนอีกกลุ่มสนับสนุนซุนป้า

สถานการณ์เริ่มที่แย่ลงไปอีกในปี ค.ศ.245 เพราะซุนเหอกับซุนป้าที่เคยพำนักอยู่ในวังหลวง ต่างแยกออกไปอยู่ที่วังของตนเองกับคนของตนเอง ดังนั้นโอกาสที่จะสมานความสัมพันธ์ดังเดิมจึงเป็นไปไม่ได้อีก

ซุนเหอโดนใส่ความ

ถ้าว่ากันตามค่านิยมขงจื้อแล้ว ซุนป้านั้นไม่มีสิทธิ์ใดๆ ที่จะมาแก่งแย่งตำแหน่งรัชทายาทเลย เพราะซุนเหอไม่ได้ทำอะไรผิด เขายังเป็นบุตรและรัชทายาทที่ดี ดังนั้นเหล่าขุนนางตงฉินในง่อก๊กอย่างเช่นลกซุนจึงสนับสนุนซุนเหอ แต่โมเมนตัมกลับเหวี่ยงไปทางซุนป้า เพราะเหตุการณ์โอละพ่อที่ผมจะเล่าดังต่อไปนี้

เรื่องมีอยู่ว่าซุนหลู่ปัน ธิดาคนโตของซุนกวนนั้นเกลียดชังหวางฟูเหริน มารดาของซุนเหอ ทำให้นางพาลเกลียดชังซุนเหอไปด้วย นางจึงหาโอกาสที่จะเล่นงานซุนเหออยู่ตลอดเวลา ซึ่งในเวลาไม่นาน โอกาสนั้นก็มาถึง

ในวันหนึ่ง ซุนกวนที่มีอายุมากแล้วเกิดประชวรขึ้นมา ทำให้ไม่สามารถไปทำพิธีบวงสรวงบรรพบุรุษได้ เขาจึงมอบหมายให้ซุนเหอไปเป็นประธานในพิธีแทน ซุนเหอจึงเดินทางไปตามคำสั่ง แต่ระหว่างที่กำลังจะเดินทางไป จางซิว ลุงของมเหสีจาง (มเหสีของซุนเหอ) ได้เสนอให้ซุนเหอเดินทางไปพักที่บ้านของตน ซึ่งอยู่ใกล้กับศาลที่ใช้ทำพิธีไม่ไกลนัก ตัวซุนเหอไม่ได้คิดอะไรจึงเดินทางไปตามคำเชิญ

ปรากฏว่าคนของซุนหลู่ปันที่ได้ติดตามซุนเหออยู่ตลอดเวลาจึงเร่งไปรายงานเจ้านายทันที ซุนหลู่ปันเห็นโอกาสทองจึงเร่งเข้าเฝ้าซุนกวน และทูลให้บิดาทราบว่า ซุนเหอไม่ได้พำนักที่ศาลเจ้าตามรับสั่ง แต่กลับไปพักที่บ้านพักของญาติฝ่ายมเหสี และดูเหมือนว่าจะวางแผนอะไรกันสักอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ยังฉวยโอกาสนี้ใส่ความหวางฟูเหริน แม่ของซุนเหอไปด้วยว่ามีท่าทีดีใจเมื่อซุนกวนล้มป่วย

ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ซุนกวนเป็นคนที่มีวิจารณญาณที่ดีมาก และไม่หูเบา แต่ในครั้งนี้กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น ซุนกวนเชื่อคำใส่ความอย่างสนืทใจ แม้ว่าจะไม่ได้ลงโทษซุนเหอ แต่หลังจากนั้นซุนกวนก็แสดงออกชัดเจนว่าซุนเหอไม่ใช่โอรสคนโปรดอีกต่อไปแล้ว

ฝ่ายซุนป้าเมื่อเห็นเช่นนั้นก็ยิ่งกระทำตนเป็นคู่แข่งมากกว่าเดิม ขุนนางฝ่ายซุนป้าจึงใช้ท้องพระโรงเป็นสถานที่โจมตีซุนเหอต่างๆ นาๆ และยังแพร่ข่าวลือด้วยว่าซุนเหอกำลังจะโดนซุนกวนถอดออกจากตำแหน่งในไม่ช้า

เหล่าขุนนางตงฉินที่เห็นซุนเหอถูกโจมตีเช่นนั้นจึงปกป้องซุนเหอกันยกใหญ่ ทำให้ราชสำนักง่อก๊กมีแต่การสาดโคลนใส่กัน ตัวซุนกวนเองก็อึดอัดใจมากขึ้นไปทุกที แต่ตัวเขาไม่เคยเอะใจเลยว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากตัวของซุนกวนเองทั้งสิ้น

ช่วงปี ค.ศ.245 ลกซุน ขุนนางผู้ใหญ่และเสาหลักของง่อก๊กได้ถวายฏีกาให้ซุนกวนพิจารณา สิ่งที่ลกซุนเสนอคือให้ซุนกวนแสดงออกอย่างชัดเจนว่าซุนเหอเป็นรัชทายาท และอย่าได้ให้ความสำคัญกับซุนป้าไปมากกว่านี้ แต่ซุนกวนกลับโกรธจัด เขาส่งทูตไปยังเมืองเอ้อโจวที่ลกซุนรักษาการณ์อยู่หลายต่อหลายครั้งเพื่อต่อว่าลกซุนว่าอย่าได้มายุ่งกับเรื่องการสืบราชบัลลังก์ ซุนป้าเองก็ฉวยโอกาสใส่ไฟโจมตีลกซุนด้วย ลกซุนจึงกลัดกลุ้มและล้มป่วยจนสุดท้ายก็สิ้นชีวิตลงไปในปีเดียวกัน

การสิ้นชีวิตของลกซุนไม่ได้ทำให้ซุนกวนตาสว่างแต่อย่างใด สถานการณ์ในง่อก๊กจึงแย่ลงไปตามลำดับ ซุนกวนเองก็เริ่มกังวลว่าหลังจากตนเองสิ้นชีวิตไป ง่อก๊กจะเกิดสงครามกลางเมืองเหมือนกับที่เคยเกิดกับบุตรชายของอ้วนเสี้ยว ซุนกวนจึงสั่งให้ซุนเหอและซุนป้าติดต่อกับขุนนางฝั่งตน แต่ก็ไม่เป็นผล

ล้มโต๊ะการแย่งบัลลังก์

ในปี ค.ศ.250 ซุนกวนที่เหนื่อยหน่ายกับการสาดโคลนที่ดำเนินต่อเนื่องมาเกือบสิบปีจึงตัดสินใจทำสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด ด้วยการกวาดล้างของทั้งสองฝ่ายของการแย่งชิงอำนาจด้วยตนเอง

สิ่งที่ซุนกวนทำก็คือแต่งตั้งรัชทายาทคนใหม่ที่ไม่ใช่ซุนเหอและซุนป้า โดยซุนเหอนั้นให้คุมขังไว้ในบ้านแต่หลังจากนั้นไม่นานก็ถอดออกจากตำแหน่ง ส่วนซุนป้านั้นถูกบังคับให้ปลิดชีพตนเอง ส่วนพวกขุนนางที่เคยออกตัวสนับสนุนซุนเหอหรือซุนป้าล้วนแต่ถูกคุมขังหรือว่าประหารชีวิตจนหมดสิ้น ส่วนตำแหน่งรัชทายาทนั้นมอบให้ซุนเลี่ยง (ซุนเหลียง) โอรสองค์สุดท้อง

ตลอดเหตุการณ์ครั้งนี้คนที่น่าสงสารที่สุดคือซุนเหอและเหล่าที่ปรึกษาของเขาที่ทำทุกอย่างเพื่อปกป้องเจ้านาย ที่ปรึกษาเหล่านี้ไม่ได้ทำความผิดใดๆ แต่ต้องโดนลงอาญาไปด้วย ปวงประชาง่อก๊กในเวลานั้นจึงมองว่าซุนเหอไม่ได้รับความยุติธรรม

ช่วงปี ค.ศ.251 ซุนกวนเริ่มตาสว่างอย่างช้าๆ และคิดจะคืนตำแหน่งรัชทายาทให้กับซุนเหอ แต่ซุนหลู่ปันก็ทัดทานบิดาเอาไว้ ทำให้ซุนเหอไม่ได้รับตำแหน่งกลับคืน ตัวซุนเหอนั้นมีชีวิตรอดจนกระทั่งปี ค.ศ.253 จนกระทั่งถูกสั่งให้ฆ่าตัวตายหลังจากที่ซุนจุ๋นสังหารจูกัดเก๊ก

ในปี ค.ศ.252 ซุนกวนล้มป่วยและสวรรคตในวัย 70 ปี แต่การจากไปของซุนกวนนั้นทิ้งง่อก๊กให้อยู่ในการปกครองของรัชทายาทที่มีอายุเพียง 10 ขวบ และรายล้อมไปด้วยขุนนางที่ทรงอำนาจ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าหลังจากนั้นราชสำนักง่อก๊กจึงขาดเสถียรภาพ และเผชิญกับความเสื่อมถอยในทุกๆ ด้าน จนสุดท้ายก็ถูกทำลายโดยราชวงศ์จิ้นในที่สุด

ถ้าย้อนไปแล้ว คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าง่อก๊กก้าวย่างมาสู่สถานการณ์นี้ก็เพราะตัวซุนกวนเอง

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!