ประวัติศาสตร์ยุทธนาวีแห่งหยาเหมิน และวาระสุดท้ายของ "ราชวงศ์ซ่งใต้"

ยุทธนาวีแห่งหยาเหมิน และวาระสุดท้ายของ “ราชวงศ์ซ่งใต้”

ยุทธนาวีแห่งหยาเหมิน (崖门战役) เป็นยุทธนาวีที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน และมีความสำคัญในประวัติศาสตร์จีนอย่างยิ่ง ยุทธนาวีครั้งนี้เป็นการปิดม่านราชวงศ์ซ่งที่ปกครองจีนมานานกว่า 300 ปีอย่างเป็นทางการ

ในโพสนี้เราจะมาดูกันครับว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

อนุสรณ์ที่ระลึกถึงยุทธนาวีแห่งหยาเหมิน By 长夜无风, CC BY 3.0,

ปูมหลัง

หลังจากพวกมองโกลพิชิตราชวงศ์จิน (ศัตรูเก่าที่รุกรานราชวงศ์ซ่งจนเกิดทุกขภัยแห่งจิ้งคัง) ได้สำเร็จในปี ค.ศ.1234 ทำให้พรมแดนระหว่างจักรวรรดิมองโกลและราชวงศ์ซ่งใต้ติดกัน หลังจากนั้นไม่นานกองทัพมองโกลก็เริ่มยกเข้าตีราชวงศ์ซ่งใต้

จริงอยู่ว่าแต่ไหนแต่ไรมาราชวงศ์ซ่งใต้ไม่เคยมีกองทัพที่เกรียงไกรเหมือนกับราชวงศ์ฮั่นที่มีชัยเหนือพวกซงหนู และราชวงศ์ถังที่มีชัยเหนือโกคูรยอ พวกทูเจี๋ย ฯลฯ แต่ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าเศรษฐกิจของราชวงศ์ซ่งมั่งคั่งมากที่สุดในทุกราชวงศ์ ทำให้มีทุนทรัพย์ในการต่อสู้ทำสงครามได้อย่างยาวนาน

ตลอดสามทศวรรษต่อมากองทัพมองโกลพยายามเข้าโจมตีราชวงศ์ซ่งใต้อย่างหนัก แต่ก็ยังตีไม่ได้ แม้ว่าจะทุ่มกองทัพเข้าตีราชวงศ์ซ่งมากกว่าที่ส่งไปตะวันออกกลางหลายเท่าก็ตาม

สาเหตุหนึ่งเพราะราชวงศ์ซ่งใต้มีแม่น้ำแยงซีเกียงเป็นปราการธรรมชาติ กองทัพเรือซ่งก็เข้มแข็ง แถมยังใช้ดินปืนเป็นอาวุธ พวกมองโกลเองก็ไม่ชำนาญการสู้รบในสมรภูมิที่ร้อนชื้นและเหนอะหนะในภาคใต้ของจีนด้วย

อย่างไรก็ดีสถานการณ์จะเปลี่ยนไปหลังจากที่กุบไลข่านขึ้นเป็นข่านแห่งจักรวรรดิมองโกลในปี ค.ศ.1260

การรุกรานครั้งใหญ่

หลังจากกุบไลข่านได้ราชสมบัติ กุบไลข่านได้ใช้ยุทธศาสตร์ใหม่ในการประนีประนอมกับชาวฮั่นด้วยการมอบสิ่งของมากมายให้กับชาวฮั่นที่สวามิภักดิ์ นอกจากนี้ยังมีการมอบที่ดินที่ตีได้ให้อย่างมากมายด้วย ชาวฮั่นจำนวนมากจึงเลือกที่ทิ้งอาวุธต่อพวกมองโกล

ในปี ค.ศ.1267 กองทัพมองโกลยกเข้าตีราชวงศ์ซ่งใต้ แต่กลับถูกสกัดไว้ที่เมืองเซียงหยาง ป้อมปราการขนาดยักษ์ริมแม่น้ำฮั่นที่ตั้งสกัดกองทัพมองโกลไม่ให้เข้าถึงที่ราบลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง แม้ว่าพวกมองโกลพยายามเข้าตีอย่างหนักสักเพียงใด แต่เมืองเซียงหยางกลับต้านทานอย่างแข็งแกร่ง

การต่อสู้ที่เมืองเซียงหยางดำเนินไปถึง 5 ปีเศษ พวกมองโกลถึงจะตีเมืองให้แตกได้ด้วยการล้อม ตีสกัดกองทัพซ่งที่ยกมาช่วย และใช้เครื่องยิงหินและอาวุธเพลิงจำนวนมหาศาลยิงเข้าใส่เมือง

การศึกอันยาวนานทำให้กองทัพมองโกลต้องพัฒนากองทัพเรือของตนเองขึ้นมา แม้ว่าจะไม่แข็งแกร่งเท่ากับกองทัพซ่ง แต่ก็พัฒนาศักยภาพขึ้นอย่างรวดเร็วโดยการสนับสนุนของกุบไลข่าน หลังจากที่ตีเมืองเซียงหยางแตก กุบไลข่านจึงสั่งให้กองทัพเรือดังกล่าวส่งกำลังเข้าตีเมืองต่างๆ ริมแม่น้ำแยงซีเกียงของราชวงศ์ซ่ง

เมื่อถูกโจมตีจากทั้งทางบกและทางน้ำ ทำให้กองทัพซ่งแตกกระเจิง เมืองต่างๆ ล้วนแต่ถูกตีแตกหรือไม่ก็ทิ้งอาวุธยอมจำนนต่อพวกมองโกล ราชสำนักซ่งพยายามจะขอหย่าศึกแต่ก็ไม่เป็นผล กองทัพมองโกลเข้าใกล้เมืองหางโจว เมืองหลวงของราชวงศ์ซ่งใต้เข้ามาทุกที

เหล่าแม่ทัพซ่งอย่างจางซื่อเจี๋ยต่างพยายามป้องกันเมืองหลวงอย่างเข้มแข็ง แต่ราชสำนักซ่งกลับเลือกที่จะยอมจำนนต่อข้าศึก จางซื่อเจี๋ยและแม่ทัพซ่งคนอื่นๆ จึงรวบรวมเชื้อพระวงศ์บางส่วนและหนีลงใต้ต่อสู้กับพวกมองโกลต่อไป และสถาปนาเจ้าปิ่ง ราชนิกูลซ่งอายุ 4 ขวบขึ้นเป็นฮ่องเต้

พวกมองโกลจึงกรีธาทัพลงใต้ตามมาด้วย และเข้าตีที่มั่นของฝ่ายซ่งแตกไปตามลำดับ จนสุดท้ายมาถึงเมืองหยาเหมิน เมืองเล็กๆในดินแดนกว่างตง ที่นี่จะเป็นสถานที่ที่ศึกชี้ขาดระหว่างสองฝ่ายจะกำเนิดขึ้น

แม่ทัพแซ่จาง

สถานการณ์ของฝ่ายซ่งถือว่าคับขัน ก่อนหน้านี้จางซื่อเจี๋ยได้สร้างกองทัพเรือขนาดใหญ่ขึ้นจากทรัพยากรที่เหลืออยู่ และให้ฮ่องเต้ของตนอยู่กลางกระบวนรบ กองทัพซ่งจะได้ไม่ต้องเสียกำลังในการป้องกันเมืองใดๆ ที่ฮ่องเต้อยู่ และฮ่องเต้เองจะได้เสด็จหนีได้อย่างรวดเร็วด้วย

กองเรือซ่งนี้มีมากกว่าพันลำ และมีผู้ที่อยู่อาศัยบนเรือ 100,000-200,000 คน จะเรียกว่าเป็นเมืองลอยน้ำน่าจะเหมาะสมกว่า แต่ผู้ที่อาศัยอยู่บนเรือส่วนใหญ่ไม่ใช่ทหารเรือ แต่เป็นผู้ที่อพยพหนีมองโกลมาด้วย ข้าราชบริพารในราชสำนัก ฯลฯ

เมื่อเข้าปี ค.ศ.1279 กองเรือขนาดยักษ์นี้เป็นกองกำลังสุดท้ายที่กองทัพซ่งเหลืออยู่ เพราะที่มั่นและกองทัพบนบกล้วนแต่ถูกตีแตกไปหมดแล้ว เพื่อกำจัดราชวงศ์ซ่งให้เด็ดขาด กุบไลข่านได้สั่งให้กองเรือมองโกลภายใต้การนำของจางหงฟ่านจำนวน 50 ลำ พร้อมทหารเรืออีก 20,000 คนเข้าโจมตีกองเรือซ่งที่อยู่ภายใต้การนำของจางซื่อเจี๋ย

ก่อนที่จะไปพูดถึงการสู้รบ ผมขอเล่าถึงแม่ทัพก่อน เพราะสองแม่ทัพที่กำลังจะทำศึกกันนี้มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย

อย่างแรกคือทั้งสองแม่ทัพแซ่จางเหมือนกัน

อย่างที่สองคือเรื่องประวัติความเป็นมาของทั้งสองที่น่าจะเป็นคนบ้านเดียวกัน!

เริ่มต้นที่จางหงฟ่านก่อน เขาผู้นี้เป็นชาวฮั่น แต่ไม่เคยเป็นชาวซ่งมาก่อน ตัวเขาเกิดในเหอเป่ย ดินแดนจีนที่ตกอยู่ภายใต้การครอบครองของพวกมองโกลมาตั้งแต่เขาเกิด ดังนั้นตัวเขาจึงไม่ใช่ผู้ทรยศแต่อย่างใด ครอบครัวของเขาก็ไม่เคยรับใช้ราชสำนักซ่ง แต่รับใช้ราชสำนักจินมาก่อนหน้านี้นับร้อยปี

ส่วนจางซื่อเจี๋ยผู้นี้เป็นชาวฮั่นที่เกิดที่เหอเป่ยเหมือนกัน และเคยรับใช้ราชสำนักมองโกล แต่ตัวเขาได้ทำความผิดอะไรสักอย่างหนึ่ง และหนีมายอมจำนนต่อราชวงศ์ซ่ง ปรากฏว่าจางซื่อเจี๋ยมีความสามารถและมีความซื่อสัตย์จึงได้รับตำแหน่งสูงในราชสำนักซ่ง

ดังนั้นในทางทฤษฎีแล้ว จางหงฟ่านจึงไม่ใช่คนทรยศ แต่จางซื่อเจี๋ยเป็นคนทรยศ แต่ในนักประวัติศาสตร์ยุคก่อน (ไม่ใช่ในยุคปัจจุบัน) มักด่าว่าจางหงฟ่านว่าเป็นคนทรยศ เพราะเป็นคนฮั่นแต่กลับไปรับใช้มองโกล และให้ความยกย่องต่อจางซื่อเจี๋ยว่าซื่อสัตย์ต่อราชวงศ์ซ่งจนตัวตาย

ไม่ต้องสงสัยว่าเป็นเพราะเหตุผลทางชาตินิยมอีกตามเคย

ยุทธนาวีแห่งหยาเหมิน

ด้วยความที่เกรงว่าเรือฝ่ายเดียวกันจะหลบหนี จางซื่อเจี๋ยสั่งให้เรือทั้งหมดหนึ่งพันลำร้อยโซ่เข้าด้วยกัน ใครที่เคยอ่านสามก๊กคงจะคุ้นๆ เพราะคิดไปถึงเคสที่โจโฉสั่งให้ร้อยโซ่เข้าด้วยกัน อันที่จริงโจโฉไม่เคยสั่งให้ร้อยโซ่เรือแต่อย่างใด หลอกว้านจง (ที่มีชีวิตอยู่ในสมัยหมิง) น่าจะเคยทราบถึงยุทธนาวีที่หยาเหมินนี้ และเอาไปใส่ในศึกเซ็กเพ็กอีกตามเคย

เมื่อจางหงฟ่านเห็นว่ากองทัพเรือฝ่ายซ่งร้อยโซ่เข้าด้วยกัน เขาจึงสั่งให้โจมตีโดยเรือไฟเพื่อเผากองทัพเรือซ่ง แต่จางซื่อเจี๋ยเตรียมการไว้แล้วล่วงหน้าด้วยการทาดินเหนียวที่ไม่ติดไฟไว้รอบลำเรือ ทำให้กลยุทธ์เรือเพลิงถูกแก้ทางและกลายเป็นหมันไป

จางหงฟ่านเห็นแผนการไม่ได้ผลจึงใช้วิธีใหม่ เขาสั่งให้กองเรือปิดปากอ่าวเอาไว้ และเข้าตีชิงคลังแสงฝ่ายซ่งที่อยู่บนบกทั้งหมด ทำให้ฝ่ายซ่งขาดทั้งน้ำและอาหารอย่างรวดเร็ว จางหงฟ่านเห็นว่ายังไงฝ่ายซ่งก็ไม่น่ารอด เขาจึงเสนอให้ฝ่ายซ่งทิ้งอาวุธยอมจำนน แต่กลับได้รับการปฏิเสธถึงสามครั้ง

ด้วยเหตุนี้จางหงฟ่านจึงต้องสั่งให้กองทัพเรือมองโกลเข้าโจมตี เดิมทีเหล่านายทัพของเขาเสนอให้ยิงโจมตีกองทัพเรือซ่งด้วยปืนใหญ่ (แบบโบราณ ไม่ใช่สไตล์ตะวันตก) แต่จางหงฟ่านปฏิเสธเพราะเกรงว่าโซ่จะขาดและทำให้กองเรือซ่งหนีไปได้ ตัวเขาอยากให้การต่อสู้จบสิ้นลงที่อ่าวแห่งนี้

เช้าวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ.1279 กองทัพเรือมองโกลถูกแบ่งออกเป็นสี่กอง และเข้าตีกองเรือซ่งทั้งสี่ด้าน ปรากฏว่ากองเรือซ่งต้านทานอย่างแข็งแกร่ง ทำให้กองเรือมองโกลต้องถอยออกมา

จางหงฟ่านจึงแสร้งให้ทหารร้องรำทำเพลงเพื่อเห็นว่าพวกมองโกลคงจะไม่โจมตีซ้ำแล้วในวันนั้น กองทัพซ่งจะได้ไม่ระวังป้องกัน ขณะเดียวกันก็ให้นำทหารนอนลงกับลำเรือ และให้ใช้ผ้าขนาดใหญ่คลุมเอาไว้ กองสอดแนมฝ่ายซ่งจะได้มองไม่เห็นว่ามีกองทัพมองโกลกำลังเข้าโจมตี

แผนของจางหงฟ่านได้ผล กองทัพมองโกลเข้าถึงเรือฝ่ายซ่งได้สำเร็จ ทหารมองโกลเหลือคณานับกระหน่ำยิงธนูเข้าใส่เรือฝ่ายซ่ง และตามด้วยปีนป่ายขึ้นเรือฝ่ายซ่ง การสู้รบแบบประชิดตัวจึงเกิดขึ้นในบัดดล

ทหารซ่งนั้นแตกตื่นเพราะไม่คิดว่ากองทัพมองโกลจะโจมตีซ้ำ แถมยังอดน้ำอดอาหารมาก่อนหน้านี้อีก กองเรือเองก็ไม่สามารถหลบหนีไปไหนได้เพราะถูกโซ่ผูกติดกันไว้ ทหารซ่งและผู้คนที่อยู่ในกองเรือจึงถูกสังหารล้มตายมากมาย ลู่ซิ่วฝู อัครมหาเสนาบดีราชวงศ์ซ่งเห็นว่าจุดจบของราชวงศ์ซ่งมาถึงแล้ว คุณจึงพาฮ่องเต้น้อยกระโดดลงน้ำสิ้นชีวิตพร้อมกัน

อย่างไรก็ดีจางซื่อเจี๋ยและทหารเจนศึกฝ่ายซ่งบางส่วนสามารถตัดโซ่ได้ทันเวลา และหนีเอาตัวรอดออกไปได้จากยุทธนาวีที่หยาเหมิน ไม่มีใครทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขาและกองเรือที่หนีออกไปได้หลังจากนั้น เชื่อกันว่ากองเรือของเขาน่าจะผจญกับพายุทำให้จางซื่อเจี๋ยจมน้ำตาย

ความเสียหายของฝ่ายซ่งในวันนั้นถือว่ามากถึงหนึ่งแสนคน ทั้งจากการถูกกองทัพมองโกลสังหาร จมน้ำ และการฆ่าตัวตายเพื่อรักษาเกียรติยศ ส่วนผู้คนอีกหลายหมื่นคนน่าจะตกเป็นเชลยหรือหลบหนีไปได้

วาระสุดท้ายของราชวงศ์ซ่ง

ความพ่ายแพ้ที่หยาเหมินเป็นจุดจบของราชวงศ์ซ่งอย่างสมบูรณ์ เพราะนับตั้งแต่บัดนั้นไม่มีกองทัพใดที่หาญกล้าลุกขึ้นต่อต้านพวกมองโกลอีกเลย จนกระทั่งกบฏโพกผ้าแดงลุกขึ้นสู้พวกมองโกลอีกครั้งในอีกเกือบหนึ่งร้อยปีต่อมา

แผ่นดินจีนทั้งหมดตกอยู่ในการปกครองของราชวงศ์หยวนที่ก่อตั้งขึ้นโดยพวกมองโกล จนกระทั่งจูหยวนจาง ปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิงขับไล่พวกมองโกลออกนอกด่านไปได้สำเร็จในปี ค.ศ.1368

ปัจจุบันได้มีการสร้างพิพิธภัณฑ์และอนุสรณ์เพื่อระลึกถึงยุทธนาวีครั้งสำคัญครั้งนั้นที่เมืองเจียงเหมินในมณฑลกว่างตงของจีนครับ

บทความประวัติศาสตร์

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!