การศึกษา5 วิธีแก้อาการหมดไฟ ไม่อยากอ่านหนังสือสมัคร TCAS แล้ว

5 วิธีแก้อาการหมดไฟ ไม่อยากอ่านหนังสือสมัคร TCAS แล้ว

ในช่วงมัธยมปลาย ไฮไลท์ของชีวิตนักเรียนทุกคนอยู่ที่การเข้าสู่ระบบ TCAS หรือการสอบเข้ามหาวิทยาลัยอย่างไม่ต้องสงสัย ทุกคนต้องอ่านหนังสือ และทบทวนบทเรียนอย่างหนักหน่วงเพื่อที่จะได้ติดมหาวิทยาลัยและคณะที่หวังไว้

อย่างไรก็ตามกว่าจะได้เข้ามหาวิทยาลัย เด็ก ม.ปลายทุกคนต้องใช้เวลาอ่านหนังสือสอบนานนับปี ในช่วงเวลาเหล่านี้ มันจึงเป็นเรื่องปกติมากๆ ที่เราจะรู้สึก burnout หรือหมดแรง หมดไฟ ไม่อยากอ่านหนังสือสอบอีกแล้ว ซึ่งตอนผมอยู่ ม.ปลาย ตัวผมเองก็เคยเป็นครับ

การมีอาการแบบนี้ชั่วครั้งชั่วคราวคงจะไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นนานๆ คงจะไม่ดีแน่ เพราะเราจะเสียเวลาอันมีค่าในการอ่านหนังสือไปอย่างมาก และอาจจะทำให้เราพลาดมหาวิทยาลัยในฝันได้

ดังนั้นผมจึงขอบอกต่อวิธีการที่ผมเคยใช้แก้อาการแบบนี้ในโพสนี้ครับ

1. จัดตารางอ่านหนังสือใหม่

ผมพบว่าบ่อยครั้งที่ผมเกิดปัญหาเช่นนี้ สาเหตุมักจะมาจากตารางของตัวผมเองที่เข้มงวดมากเกินไป ผมให้เวลากับการอ่านหนังสือ หรือเรียนพิเศษมากเกินไป โดยแทบจะปราศจากช่วงเวลาพักผ่อนและผ่อนคลาย ทำให้เกิดความเครียดสะสมอย่างมาก

ดังนั้นวิธีแก้คือ การจัดตารางอ่านหนังสือใหม่ครับ

ตารางใหม่ของเราควรจะมีเวลาพักผ่อนอย่างพอเหมาะ โดยเฉพาะเวลานอนที่ควรจะได้ 6-7 ชั่วโมงขึ้นไป นอกเหนือจากนี้ควรจะมีเวลาทำกิจกรรมอื่นๆ ในวันด้วย เช่นออกกำลังกาย หรือ พักผ่อนอื่นๆ ที่ไม่ใช่การนอนเป็นต้น

ผมพบว่าหลังจากเปลี่ยนตารางเป็นแบบใหม่แล้ว ปัญหา Burnout ของผมน้อยลงไปพอสมควร แม้มันจะกลับมาหาผมอีก มันก็หายไปอย่างรวดเร็วครับ

2. หยุดพักเต็มวัน

อีกหนึ่งวิธีแก้ของผมคือ การหยุดพักเต็มวันครับ

การหยุดในที่นี้คือ หยุดไปเลยแบบจริงจัง นั่นก็คือภายในวันนั้น ผมจะไม่แตะอะไรที่เป็นหนังสือเรียนเลย และผมจะใช้เวลาไปทำอย่างอื่นแทน ไม่ว่าจะเป็นการนอน ไปกินข้าว ไปเที่ยวกับเพื่อน เล่นเกม อ่านการ์ตูน ฟังเพลง ไปคอนเสิร์ต ดูซีรีส์ หรือทำอะไรก็ได้ที่เป็นความสุขของผม

หรือพูดง่ายๆ สิ่งที่ผมทำคือการกดปิดมือถือชั่วคราวหลังจากที่ใช้มานาน แล้วค่อยเปิดใหม่ มือถือจะได้กลับมาลื่น ไม่ค้างเหมือนเดิม

อย่างไรก็ดีคุณอย่าให้หยุดอ่านหนังสือนานเกินไป และคุณต้องมีวินัยในการกลับมาอ่านหนังสือ โดยส่วนมากแล้ว ผมมักจะให้วันแบบนี้กับตัวเอง 1-2 วันต่อเดือนครับ ถ้าให้ตัวเองพักนานเกินไป เราอาจจะติดนิสัยขี้เกียจมาแทนได้ ซึ่งในเคสนั้นไม่ดีหรอกครับ 555

3. สร้างสภาพแวดล้อมใหม่ๆ

บ่อยครั้งอาการแบบนี้เกิดจากความจำเจ เรารู้สึกเบื่อถ้าเราทำอะไรซ้ำๆ กันทุกวัน ลองคิดดูง่ายๆ ครับ ผมขอยกตัวอย่างจากชีวิตเด็กเตรียมอุดมของผมในช่วง ม.5

  • 8.00 – 15.50 เรียนที่โรงเรียน
  • 17.00 – 20.00 เรียนพิเศษที่สยาม
  • 21.30 – 23.30 อ่านหนังสือทบทวนที่บ้าน

ตารางผมเป็นแบบนี้แทบจะเป็นแบบนี้ทุกวันในวันจันทร์ถึงพฤหัส (วันศุกร์มีเรียนรักษาดินแดน หรือ ร.ด เลยไม่เหมือนวันอื่นเสียทีเดียว แต่จริงๆ ก็คล้ายๆ นั่นแหละครับ แค่เปลี่ยนครึ่งบ่ายเป็นเรียน ร.ด เท่านั้นเอง)

ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ก็คล้ายกัน นั่นคือ

  • 8.00 – 17.00 เรียนพิเศษที่สยาม
  • 19.00 – 23.30 อ่านหนังสือทบทวนที่บ้าน

เห็นมั้ยละครับว่ามันจำเจสุดๆ เลยทีเดียว สภาพแวดล้อมอะไรมันก็แบบเดิมๆ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง พอทำแบบนี้ไปนานๆ เข้า ผมรู้สึกเบื่อสุดๆ หมดไฟอย่างมาก

ดังนั้นผมจึงใช้วิธีสร้างสภาพแวดล้อมใหม่ในการอ่านหนังสือให้กับตัวผมเองครับ เช่น

  • จากอ่านที่ห้องตัวเอง ย้ายมาอ่านที่ห้องนั่งเล่น
  • จากอ่านที่บ้าน ย้ายมาอ่านที่ร้านกาแฟ ห้องสมุด หรือ Coworking space

โดยส่วนตัวแล้ว ผมชอบอ่านที่ Coworking space มากที่สุด แต่ไม่ใช่เพราะว่ามันเงียบ หรือแอร์เย็นนะครับ 5555

สาเหตุที่ผมชอบคือ มันให้ความรู้สึกแข่งขัน พอมองไปรอบห้องแล้ว เราจะเห็นคนอื่นกำลังอ่านหนังสืออย่างขะมักเขม้น หรือบางคนก็กำลังติวกับครูสอนพิเศษอยู่ มันยิ่งให้ความรู้สึกว่า

เห้ย เราต้องแข่งกับพวกนี้ว่ะ เพราะฉะนั้นต้องลุยสักหน่อย เค้าอ่านเราก็ต้องอ่าน

สภาพแวดล้อมใหม่ที่ผมนำตัวเองไปสัมผัสได้กระตุ้นให้ไฟในตัวผมกลับมา และทำให้อาการเบื่อๆ เหนื่อยๆ ของผมหายไปแทบจะในทันทีเลยครับ

อีกสถานที่ที่ผมชอบคือ โรงเรียนเรียนพิเศษครับ! หลายคนอาจจะงงว่าผมไปอ่านที่ไหน คำตอบคือห้องสอนสดนั่นแหละ ผมจะไปก่อนเวลาเริ่มเรียนเร็วมากๆ (ถ้าไม่มีคลาสก่อนหน้านะ) และอ่านหนังสือสอบที่นั่นเลย

ทำไมผมถึงชอบอ่านที่นี่ คำตอบคือมันให้ความรู้สึกแข่งขันเหมือนกับที่ co-working space นั่นแหละ แต่ให้ความรู้สึกที่แรงกว่าด้วย เพราะผมรู้ว่าคนข้างๆ นี่ก็น่าจะอยากได้คณะเดียวกันกับผม เพราะฉะนั้นผมต้องพยายามเต็มที่เพื่อที่จะเอาชนะเขาให้ได้ 55 ดังนั้นลุย!

จริงๆ แล้วผมมองว่า เราจะนั่งอ่านหนังสือที่ไหนก็ได้ครับที่เป็นสภาพแวดล้อมใหม่ๆ แต่ถ้าสภาพแวดล้อมเหล่านั้นสามารถจุดไฟในตัวขึ้นมาได้ แบบนี้เหมือนกับเราได้โบนัสครับ

4. หาแรงบันดาลใจ

อีกวิธีหนึ่งที่แก้ภาวะเบื่อหน่าย ไม่อยากอ่านหนังสือได้คือ การหาแรงบันดาลใจ ซึ่งผมยอมรับว่ามันก็ได้ผลสำหรับผมเช่นกัน

การหาแรงบันดาลใจของแต่ละคนแตกต่างกัน ซึ่งคุณจะหาแรงบันดาลใจด้วยวิธีไหนก็ไม่ใช่เรื่องผิด สามารถใช้ได้ทุกวิธีเลยครับ

แต่สำหรับผมแล้ว ผมชอบหาแรงบันดาลใจด้วยการไล่ดูคณะหรือมหาวิทยาลัยที่ผมอยากเข้าว่ามีคลาสเรียนอะไรบ้าง และมีกิจกรรมอะไรบ้าง รวมไปถึงดูว่าเรียนจบแล้วจะทำอะไรได้บ้าง ราวกับว่าผมสอบติดคณะนั้นๆ แล้วก็ไม่ปาน

ทั้งหมดนี้เพื่อเพิ่มความคึกคักในจิตใจของผมเองครับ ผมจะได้เกิดความรู้สึกอยากทำความฝันนั้นให้เป็นจริง และกลบความเบื่อหน่ายทิ้งไปครับ

5. เอาข้อสอบที่ยากที่สุดมาทำ

ถ้าลองวิธีอื่นหมดแล้ว คุณยังรู้สึก burnout อยู่อีก ผมแนะนำให้ใช้ท่าไม้ตายครับ

นั่นคือเอาข้อสอบที่ยากที่สุดมาทำ หรือ ข้อสอบเก่า GAT-PAT 9 วิชาสามัญ หรืออะไรก็ได้มาลองทำเลยครับ

หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไปทำไม?

พอเราทำข้อสอบเหล่านี้แล้วทำไม่ได้ มันจะเป็นการตบหน้าเราแรงๆ ว่า เรายังไม่พร้อมสำหรับการสอบเลยแม้แต่น้อย เรายังต้องอ่านหนังสืออีกมาก ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป เราคงจะสอบไม่ติดแน่ๆ

ผมลองทำแบบนี้บ่อยครั้งเวลาที่รู้สึกว่าผมหมดกำลังใจจะอ่านแล้ว และทำให้ไฟในการอ่านหนังสือของผมกลับมาได้จริงๆ ครับ

ส่งท้าย

น้องๆ มัธยมปลายควรจะตระหนักว่าการสมัคร TCAS เหมือนกับการปีนภูเขาสูง ดังนั้นมันไม่แปลกอะไรที่เราจะรู้สึกเหนื่อยหรือท้อ แต่เราไม่ควรให้อาการนี้อยู่กับเรานานเกินไปครับ เราควรหาวิธีนำอาการแบบนี้ออกไปโดยเร็วที่สุด เพื่อที่ทุกคนจะได้ตอบติดมหาวิทยาลัยในฝันได้สมใจครับ

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!