ปัจจุบันโรงเรียนสอนพิเศษมีจำนวนมากมาย และมีสอนในทุกวิชา ในสภาวะที่มีการแข่งขันสูงเช่นในระดับมัธยมที่มีการสอบเข้าโรงเรียนชั้นนำอย่าง เตรียมอุดมศึกษา มหิดลวิทยานุสรณ์ หรือสอบ GAT-PAT เข้ามหาวิทยาลัย
ผู้ปกครองย่อมอยากให้ลูกหลานเรียนในโรงเรียนสอนพิเศษ เพื่อที่ลูกๆ จะได้เป็นคนเก่ง และสอบติดโรงเรียนหรือคณะในฝันให้ได้
แต่ทว่าผู้ปกครองหรือแม้กระทั่งตัวเด็กมัธยมกลับให้ความสำคัญกับเรียนพิเศษเหล่านี้มากเกินไป เช่นเรียนวิชาอย่างคณิตศาสตร์ กับครูหลายคนเป็นต้น บางคนหวังว่าเด็กจะได้เรียนกับครูที่ว่ากันว่าสอนดีให้ครบทุกคน แล้วจะได้เก่งเหนือคนอื่น
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมสามารถฟันธงได้เลยว่า การเรียนพิเศษลักษณะนี้ก่อให้เกิดผลร้ายมากกว่าที่จะผลดี ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นกันแน่?
ไม่มีเวลาทบทวนและพักผ่อน
ปัญหาสำคัญอันดับหนึ่งของการเรียนพิเศษมากเกินไปคือ เด็กจะไม่มีเวลาทบทวน
ลองคิดดูง่ายๆ เด็กจะมีเวลาทบทวนตอนไหน ถ้าเด็กต้องเรียนพิเศษหลังเลิกเรียนในวันธรรมดาทุกวัน และเช้าจรดเย็นในวันเสาร์-อาทิตย์! เมื่อกลับมาถึงบ้าน ผมเชื่อว่ามากกว่าร้อยละ 90 จะรู้สึกเหนื่อยและอยากนอน
ตัวผมเองก็เคยเป็น เพราะเรียนในโรงเรียนก็ต้องใช้สมาธิ เรียนพิเศษก็ต้องใช้ พอกลับถึงบ้านก็เหนื่อยแล้ว อยากพักผ่อน อยากนอน อยากทำอะไรที่ชอบบ้าง
ผลที่ตามมาคือ ไม่ได้ทบทวน หรือ ทบทวนแบบไม่มีสมาธิ ความรู้ที่เรียนมาจึงหายไปในเวลาไม่นาน
นอกจากนี้ ผมพบว่าการที่จะทำข้อสอบได้ดี และเป็นคนเก่งในวิชาใดวิชาหนึ่งต้องอาศัยการทำความเข้าใจสิ่งที่เรียนมาด้วยตนเองด้วย แม้ว่าจะมีครูมาอธิบายให้ฟัง สมองของเราก็ต้องทำความเข้าใจสิ่งที่ครูอธิบายด้วยอยู่ดี ไม่ใช่ว่าครูอธิบายมาแล้ว เราจะเข้าใจได้ทันที
เพราะฉะนั้นเราต้องเปิดเวลาให้สมองทำงานในส่วนตรงนี้บ้าง ไม่ใช่ว่าจะไปฟังครูอย่างเดียว
ไม่เพียงเท่านั้น การที่ไม่ได้พักผ่อนยิ่งทำให้สมองล้าเข้าไปอีก และมีส่วนทำให้เกิดปัญหาต่อไปด้านล่าง
ทำให้เกิดความเหนื่อยหน่าย
การเรียนพิเศษมากเกินไปสามารถทำให้เกิดความเหนื่อยหน่าย (Burn out) ซึ่งผมบอกได้เลยว่าไม่ดีต่อชีวิตการเรียนของเด็กมัธยมอย่างสิ้นเชิง
ลองคิดดูครับว่าถ้าเรียนติดๆ กันทุกวัน เราจะเบื่อและเหนื่อยหน่ายกับสิ่งที่เรียนหรือไม่
ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะตอบว่า “ใช่” โดยเฉพาะในวิชาที่ไม่ชอบ ไม่ถนัด และวิชาสุดท้ายของวันนั้นๆ
อย่างเช่น ตอนที่ผมเรียนอยู่เตรียมอุดม ผมเคยเรียนในตารางแบบนี้ในวันเสาร์
- คณิตศาสตร์ (7.50-9.50)
- ภาษาไทย (10.00-12.00)
- เคมี (12.30-14.30)
- ชีววิทยา (14.30-16.30)
พอมาถึงวิชาชีววิทยาที่เป็นวิชาสุดท้าย ผมเรียนมาแล้ว 7 ชั่วโมง กับ 3 วิชา ทำให้ผมรู้สึกเหนื่อยและเบื่อมาก ขนาดเดินออกไปล้างหน้าก็แล้วก็ไม่หายอยู่ดี ร่างกายมันเหมือนต้องการการนอนหรือพักผ่อนอย่างจริงจัง
ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือ อาจารย์ชีววิทยาพูดอะไรเข้ามา สมองของผมไม่ได้รับรู้อะไรเลย ถึงแม้ตาของผมจะเปิดและมองไปที่อาจารย์ก็ตาม พูดง่ายๆ คือผมกำลังเหม่อลอย สรุปคือตลอด 2 ชั่วโมง ผมไม่ได้รับทราบอะไรเลยนอกจาก เซลล์พืชมีผนังเซลล์ ส่วนเซลล์สัตว์ไม่มี! ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่อาจารย์พูดใน 10 นาทีแรก
อาการนี้จะเป็นง่ายขึ้น ถ้าเรียนในวิชาที่เราไม่ชอบ!
นั่นเท่ากับว่าเงินที่เราจ่ายไปเป็นค่าเรียนพิเศษเสียเปล่า และเวลาก็เสียไปด้วย เพราะผมแทบไม่ได้อะไรเลยจากการเรียนวิชาสุดท้ายของวัน ผมพยายามตั้งใจจะเรียนนะ อาจารย์ก็สอนดี สอนเก่ง มีชื่อเสียง แต่สมองผมมันไม่เอาแล้วจริงๆ
นี่สามารถเป็นคำตอบให้บางคนได้เช่นกัน ว่าทำไมเรียนแล้วถึงยังไม่เข้าใจ แต่บางคนเลือกที่จะเรียนเพิ่มเติม ซึ่งนั่นก็เป็นหนทางที่ผิดซ้ำซ้อนเข้าไปอีก
ไม่มีเวลาหาสิ่งที่ชอบที่แท้จริง
ระบบการศึกษาของประเทศไทยทำให้นักเรียนต้องเลือกอาชีพของตนเองตั้งแต่ ม.6 ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะผู้เลือกต้องอยู่กับมันไปอีกหลายสิบปี หรือไม่งั้นก็ต้อง retire ออกมาหาอะไรเรียนใหม่
ถ้าว่ากันตามตรงแล้ว การที่จะทราบได้ว่าเราชอบอะไรจริงๆต้องอาศัยการค้นหาตัวเองไม่น้อย และศึกษาอย่างจริงจังว่ามันเหมาะกับเราหรือไม่
หากแต่ว่าเด็กมัธยมปลายจำนวนมากไม่มีเวลาค้นหาสิ่งเหล่านี้เลย ตัวผมเองในเวลานั้นก็ไม่มี
ถามจริงจะเอาเวลาที่ไหนไปคิด เรียนที่โรงเรียน เรียนพิเศษทั้งตอนเย็นวันธรรมดา และวันเสาร์-อาทิตย์ อ่านหนังสือทบทวน อ่าว หมดเวลาแล้วจ้า นอนดีกว่า
กว่าจะรู้ตัวว่าชอบอะไรจริงๆ นู้น ผมอยู่ปีสองที่อเมริกาแล้วครับ แต่ยังดีที่ว่าอเมริกาเปลี่ยน major ได้ง่ายๆ ผมจึงโชคดีกว่าเด็กไทยหลายคนที่ต้อง retire มาสอบเข้ามหาวิทยาลัยใหม่
เราควรจะเรียนพิเศษอย่างไร?
วิธีเรียนพิเศษที่เหมาะสมคือ เรียนให้พอสมควรและตอบโจทย์สิ่งที่เราต้องการเท่านั้น
อย่างแรก การเรียนกับวิชาเดียวกับหลายๆ ครู พร้อมๆ กัน เช่นใน ม.4 เทอม 2 เรียนพิเศษวิชาเลขกับครู 4 คน เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง ถ้าอยากเรียนกับครูหลายคนจริงๆ สาเหตุที่เหมาะสมมีแค่อย่างเดียว นั่นคือเรียนกับครูคนแรกไม่รู้เรื่อง หรือไม่ชอบการสอนของเขาเลย ทำให้อยากเปลี่ยนครูหรือเรียนกับครูคนที่ 2 เพิ่มเติม
อย่างที่สอง การเรียนพิเศษควรเรียนเฉพาะที่จำเป็น เช่นวิชาที่เราเห็นว่าเราอ่านเองไม่ไหวจริงๆ ส่วนวิชาที่เราเก่งหรือทำได้ดีอยู่แล้ว อาจจะใช้วิธีอ่านเอง ฝึกทำข้อสอบ และไปเรียนติวเข้มในช่วงใกล้สอบเท่านั้น ทำให้จำนวนชั่วโมงเรียนพิเศษลดลง
อย่างที่สาม จัดเวลาให้เหมาะสม สำหรับผมแล้ว ผมพบว่าการเรียนพิเศษจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด เมื่อเรียนไม่เกิน 6 ชั่วโมงต่อวัน ถ้าขึ้นชั่วโมงที่ 7 แล้วจะเริ่มรู้สึกว่าหมดแรง ดังนั้นเราควรจะกระจายตารางออกไปให้สมดุล อย่าอัดวิชาทั้งหลายอยู่ในวันเดียวกันมากเกินไป เปิดโอกาสให้ตนเองได้พักผ่อน กินข้าว ทำสิ่งที่ชอบ ค้นหาตัวเอง และทบทวนบทเรียนบ้าง