ธุรกิจตลาดหุ้น4 เว็บดูราคาหุ้นทั่วโลกแบบ real-time และมีกราฟหุ้นที่ใช้ง่ายสุดๆ

4 เว็บดูราคาหุ้นทั่วโลกแบบ real-time และมีกราฟหุ้นที่ใช้ง่ายสุดๆ

สำหรับนักลงทุนและเทรดเดอร์ที่ลงทุนทั่วโลกแล้ว การมีเครื่องมือที่สามารถดูราคาหุ้นจากตลาดหุ้นทั่วโลกแบบ real time เป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้อย่างแน่นอน จริงอยู่ว่าโบรกเกอร์ต่างประเทศส่วนใหญ่จะให้ข้อมูลราคาหุ้นต่างประเทศมาในระดับหนึ่งอยู่แล้ว แต่การใช้งานอาจจะไม่ดีเท่าไรนักในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่ desktop ทำให้คุณไม่สามารถเทรดหรือลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพอย่างทันท่วงทีในทุกที่ทุกแห่ง

นอกจากนี้ผมเชื่อว่ามีนักลงทุนจำนวนมากที่ไม่ได้ลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ แต่อยากดูราคาหุ้นหรือดัชนีต่างประเทศ อย่างเช่นดาวโจนส์ หรือ S&P 500 เพื่อประเมินแนวโน้มการเทรดในตลาดหุ้นไทยในวันรุ่งขึ้นด้วย ดังนั้นกลุ่มนี้จึงไม่ได้มีโบรกเกอร์ที่ให้เครื่องไม้เครื่องมือเหมือนกลุ่มแรก

ในโพสนี้ผมขอนำเสนอ 4 เว็บไซต์ดูราคาหุ้นต่างประเทศพร้อมกราฟหุ้นแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายเลย (แต่ถ้าจะเสียเพื่อได้บริการระดับพรีเมียมก็ได้เหมือนกัน) โดยเว็บเหล่านี้ตัวผมเองได้ใช้มานานหลายปีแล้ว จะมีเว็บไหนบ้างมาดูกันเลยดีกว่าครับ

ข้อควรทราบ:

  • เงื่อนไขและราคาของการใช้งานอาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้ โปรดตรวจสอบกับเว็บไซต์ผู้ให้บริการอีกครั้งก่อนที่จะตัดสินใจครับ
  • เว็บไซต์แต่ละแห่งที่ผมแนะนำส่วนมากจะเป็นแบบ Freemium นั่นหมายความว่าแต่ละตัวจะมีทั้งเวอร์ชันใช้ฟรี แต่คุณสามารถอัพเดตได้เพื่อเข้าถึงข้อมูลแบบ Real-time หรือฟีเจอร์อื่นๆ ที่ดีมากขึ้นครับ

1. Tradingview

[sc name=”tradingview” ][/sc]

ภูมิภาคที่ใช้ดูราคาหุ้นได้แบบ real-time: ทั่วโลก (หุ้นสหรัฐอเมริกา หุ้นยุโรป หุ้นเอเชีย ฯลฯ) รวมไปถึงหุ้นไทย

เว็บไซต์ tradingview.com เป็นเว็บที่ผมชอบมากๆ เพราะว่าผมลงทุนอยู่ในหลายตลาดหุ้นด้วยกัน Tradingview มีข้อมูลราคาหุ้นและดัชนีแทบจะเรียกว่าทั่วโลก คุณจะใช้ดูกราฟหุ้นไทยหรือหุ้นต่างประเทศก็ได้ และมีข้อมูลย้อนหลังของหุ้นรายตัวนานมากๆด้วย

ในปัจจุบันเว็บไซต์นี้เป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งในการดูราคาหุ้นรวมไปถึงกราฟหุ้นทุกแห่งของผมเลยครับ โดยส่วนตัวผมมองว่าครบเครื่องที่สุดแล้วถ้าคุณเทรดโดยใช้ Technical Analysis เป็นหลัก

หน้าเว็บของ Tradingview สามารถตั้งเป็นภาษาไทยได้

ข้อมูลของหุ้นในตลาดอย่าง SET นี่ข้อมูลย้อนไปตั้งแต่ปี 1999 แต่ตลาดหุ้นต่างประเทศหลักๆ อย่างเช่น หุ้นสหรัฐอเมริกา หรือหุ้นเยอรมัน นี่ย้อนไปไกลกว่านั้นมากครับ ความละเอียดเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเทรดเดอร์ที่อยากตรวจสอบ Trend ราคาหุ้นแบบระยะยาว

สำหรับเรื่อง Indicator แล้ว ตัวแพลตฟอร์มมีให้ใช้หลายร้อยหลายพันชนิด อย่างพวกตัวเบสิกๆ อย่าง RSI, MACD, เส้นฟีโบอะไรนี่มีหมดเลยครับ

กราฟ AAPL (Apple Inc.) ของ Tradingview

นอกจากนี้ยังมีกราฟของผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ อย่าง Cryptocurrency, Fixed Income, Futures, Forex และอื่นๆอีกมากมายด้วยเช่นกัน ในส่วนนี้ผมเองยังต้องยอมรับว่ากราฟหุ้นที่โบรกเกอร์หุ้นต่างประเทศของผมสู้ Tradingview ไม่ได้เลย

ในการใช้งานเว็บไซต์ ผมว่าใช้งานค่อนข้างง่าย เพราะไม่ต้อง install อะไรเลยทั้งสิ้น แถมยังมีหน้าเว็บภาษาไทยให้ใช้ แถมตัวกราฟยังอัพเดตราคาด้วยตัวของมันเอง เราไม่จำเป็นต้องมากด F5 เพื่อ Refresh แต่ประการใดครับ นอกจากนี้เรายังทำ List ราคาหุ้นของทุกตลาดรวมกันได้ด้วย ทำให้เวลาเราจะตรวจเช็คราคา เราสามารถทำได้ไปพร้อมๆ กันครับ

กราฟหุ้น Advanc ใน Tradingview

ที่ผมชอบมากอีกอย่างหนึ่งคือ ตัวเว็บมี Stock Screener หรือตัวสกรีนหาหุ้นตัวใหม่ๆ ให้เรา โดยที่ไม่ต้องไปเสียเงินมากมาย ซื้อบริการ screener แพงๆ เลย ทั้งหมดนี้รวมอยู่ในเว็บนี้เว็บเดียวจริงๆ

ทั้งหมดนี้คือฟีเจอร์ของแพลตฟอร์มฟรีของ Tradingview ซึ่งคุณสามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ

Tradingview แบบเสียเงิน

อย่างไรก็ดีแบบฟรีมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่นมีโฆษณาที่ทำให้คุณรู้สึกเกะกะ และใส่ Indicator ในแต่ละ Chart ได้แค่ 3 ตัว กราฟหุ้นแบบ Intraday ก็ไม่ละเอียดสักเท่าใดนัก ถ้าคุณสมัครสมาชิกแบบเสียเงิน คุณจะได้ฟีเจอร์ที่เพิ่มมากกว่านี้อีก ซึ่งการสมัครพรีเมียมจะมี 3 รูปแบบนั่นคือ

  • Pro ($14.95 หรือ 450 บาทต่อเดือน)
  • Pro+ ($29.95 หรือ 900 บาทต่อเดือน)
  • Premium ($59.95 หรือ 1,800 บาทต่อเดือน)

ทั้งนี้ถ้าคุณจ่ายเป็นรายปีจะได้ลด 16% ครับ เพราะฉะนั้นถ้าวางแผนจะใช้งานยาวๆ ซื้อเป็นปีจะถูกกว่าครับ

แต่ละแพลนจะได้รับการอัพเกรดฟีเจอร์เพิ่มมากกว่าแบบฟรีมาก ฟีเจอร์ที่ต้องกล่าวถึงได้แก่

  • Ad-free – ปิดโฆษณาทั้งหมด
  • ใส่ Indicator เพิ่มเติมได้
  • ใส่หุ้น Watchlist ได้มากขึ้น
  • สามารถ Customize Chart แบบที่คุณต้องการได้มากขึ้น
  • เพิ่มความเร็วของข้อมูล และเปิดโอกาสให้คุณเข้าถึงข้อมูลราคาหุ้นแบบ Real-time ของตลาดหุ้นทุกประเทศ
  • เปิด Chart ได้หลาย Chart พร้อมกัน ทำให้สะดวกต่อการวิเคราะห์ โดยเฉพาะในช่วงตลาดหุ้นผันผวน มีการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นสูง
  • เพิ่มความละเอียดของ Financial Data ใน Chart คุณสามารถเห็นรายละเอียดย้อนหลังไปได้ถึง 15 ปี!
  • ใช้งาน Indicator บน Indicator ได้ อาทิเช่นใส่เส้น Moving average บน Indicator อื่นอย่าง Stochastic ทำให้คุณอาจจะได้ค้นพบกลยุทธ์การเทรดใหม่ๆ (Pro+ ขึ้นไปเท่านั้น)
  • เพิ่มความละเอียดของ Intraday Chart
  • เพิ่มคุณภาพของการเตือน (Alert)
  • ข้อมูล Stock Screener สามารถดาวน์โหลดไปใช้งานข้างนอกได้ เช่นใน Excel และตัว Screener จะ autorefresh
  • Save Layout ได้ไม่ต้องมาแก้ Chart ซ้ำๆ ที่เปิดโปรแกรมใหม่
  • และอื่นๆ

บางคนอาจจะสงสัยว่าแล้ว Pro, Pro+ และ Premium ต่างกันอย่างไร คำตอบคืออยู่ที่ทรัพยากรที่ให้ครับ อย่างเช่นแบบพรีเมียมสามารถใส่ Indicator ได้มากถึง 25 ตัวใน Chart เดียว แต่แบบ Pro จะใส่ได้เพียง 5 ตัวเท่านั้น

ถ้าอยากได้ข้อมูลของสมาชิกแบบจ่ายเงินแบบละเอียด อ่านได้จากลิงค์นี้ครับ

อย่างไรก็ดีผมขออธิบายการเข้าถึงข้อมูลราคาหุ้นแบบ real-time ของ Tradingview เพิ่มเติม กล่าวคือถ้าคุณต้องการข้อมูลแบบ real-time ในกราฟหุ้นคุณจะต้องเสียเงินรายเดือนเพิ่มแม้ว่าคุณจะสมัครสมาชิกแบบ Pro, Pro+ หรือ Premium แล้วก็ตาม เพราะเป็นไปตามกฎของตลาดหลักทรัพย์ในแต่ละประเทศครับ

ราคาจะต่างกันไปแล้วแต่แห่ง อย่างเช่นตลาดหุ้นเกาหลีจะให้คุณได้ข้อมูลราคาหุ้นได้ฟรีเลย ตลาดหุ้นไทยจะคิดราคา $1 ต่อเดือน แต่ตลาดหุ้นสิงคโปร์จะคิดราคาสูงถึง $13 ต่อเดือนครับ รายละเอียดอ่านได้จากหน้า GoPro

โดยส่วนตัวแล้วผมโอเคกับการเสียเงินเพิ่ม เพราะว่าวิธีนี้เป็นวิธีเพียงไม่กี่วิธีที่ผมจะได้ราคาหุ้นของบางตลาดแบบ real-time เช่นตลาดหุ้นเวียดนาม ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย ตลาดหุ้นอินเดีย ฯลฯ ซึ่งข้อมูลราคาหุ้นเป็นสิ่งที่จำเป็นมากๆ ถ้าคุณเทรดอยู่ในตลาดนั้นๆ ครับ

แต่ Tradingview ไม่ได้บังคับให้คุณต้องสมัครทุกตลาดแต่อย่างใด คุณสามารถเลือกได้ว่าต้องการข้อมูลตลาดไหนครับ และเมื่อไรไม่ใช้ก็เลิกสมัครเท่านั้นเอง

สำหรับใครที่สนใจสมาชิกแบบ Pro, Pro+ และ Premium ทาง Tradingview ให้คุณใช้ฟรีได้ 30 วัน

2. Finviz

ภูมิภาคที่ใช้ดูราคาหุ้นได้แบบ Real-time – หุ้นสหรัฐอเมริกาเท่านั้น

Finviz เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับใครที่อยากดูกราฟหุ้นและความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นแบบ Real-time ของตลาดสหรัฐอเมริกา แม้ว่าจะใช้ดูตลาดอื่นไม่ได้เลย แต่ข้อมูลที่ Finviz ให้นั้นละเอียดอย่างมากเลยครับ ปัจจุบัน Finviz ถูกใช้งานทั้งในสถาบันการเงินใหญ่ๆ อย่าง Credit Suisse, Deutsche Bank และ Goldman Sachs เช่นเดียวกับนักลงทุนทั่วไปอีกมากมายครับ

เราไปดูฟีเจอร์ของ Finviz กันดีกว่า

อย่างหน้าแรกคุณจะเห็นการเคลื่อนไหวของดัชนีทั้ง 3 อย่าง DJIA, Nasdaq Composite และ S&P 500 อย่างเสร็จสรรพ พร้อมกับจัดสรรข้อมูลมาให้ดูกันอย่างง่ายๆ ว่า หุ้นตัวไหนเป็น Top Gainer, Top Loser หรือตัวไหนทำ New Low, New High, ตัวไหนมี Volume มากกว่าปกติ ฯลฯ

อีกหนึ่งสิ่งที่ผมหลายคนน่าจะชอบก็คือ Finviz จะมีข่าวสารให้คุณติดตาม ซึ่งจะรวมถึงข้อมูลดีๆ อย่าง Insider Trading ด้วยครับ

ถัดไปเราไปดูหุ้นรายตัวกันบ้าง อย่างด้านล่างจะเป็นหุ้นอย่าง NFLX (Netflix) อย่างด้านล่างนี่ผมยังไม่ได้ทำอะไรเลยครับ ตัวเว็บไซต์จะตี Trendline พร้อมกับตีความกราฟหุ้นเบื้องต้นให้ผมอยู่แล้ว (อย่างมุมขวาจะเขียนว่า Multiple Top)

ในหน้าเดียวกันก็จะมีข้อมูลเบื้องต้นอื่นๆ อย่างละเอียดยิบ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลในส่วนของ Fundamental อย่างเช่น P/E, P/B, P/S หรือ Sales Growth, EPS Growth, Margin, ROE ฯลฯ เช่นเดียวกับราคาเป้าหมาย และคำแนะนำจากนักวิเคราะห์ต่างๆ

นอกจากนี้ในหน้าเดียวกัน Finviz ยังมีรายละเอียดของธุรกิจ ตลอดจนข้อมูลงบการเงินทั้งสามแบบละเอียด รวมไปถึงบทความต่างๆ ในโลกออนไลน์ที่เขียนถึงหุ้นตัวนี้ เช่นเดียวกับข้อมูล Insider Trading ให้คุณได้อ่านอีกด้วย ในส่วนนี้ถือว่ายอดเยี่ยมครับ เพราะอยู่ในหน้าเดียวกัน คุณไม่ต้องเปิดหลายๆ หน้าเหมือนบางเว็บไซต์

อีกสิ่งหนึ่งที่ยอดเยี่ยมของ Finviz ก็คือ Stock Screener ครับ เพราะคุณสามารถสรรหาหุ้นในตลาดสหรัฐอเมริกาที่ตรงกับความต้องการของคุณมาเทรดหรือลงทุนได้อย่างสบายๆ

หลายคนคงจะอยากจะลองใช้ Finviz กันแล้ว ไปลองใช้กันเลยดีกว่าครับ

อย่างไรก็ดีข้อมูลราคาหุ้นสหรัฐอเมริกาที่ให้คุณฟรีจะไม่เป็นแบบ Real-time (จะเป็นแบบ Delayed ประมาณ 3-5 นาที) และคุณจะไม่สามารถใส่อะไรในกราฟหุ้นได้เลย นอกเสียจากว่าคุณจะอัพเกรดเป็น Finviz Elite เท่านั้นครับ

Finviz แบบเสียเงิน

เว็บไซต์ Finviz ที่มีให้ใช้แบบฟรีนั้นก็ถือว่าโอเคในระดับหนึ่ง และมีข้อมูลเบื้องต้นทุกอย่างให้คุณใช้งาน อย่างไรก็ดี Finviz Elite ซึ่งเป็นแบบเสียเงินนั้นจะเหนือล้ำกว่าแบบฟรีไปอย่างมากเลยครับ

ราคาของ Finviz Elite จะเริ่มต้นที่ $25 หรือประมาณ 750 บาทต่อเดือน แต่ราคานี้คุณจะต้องจ่ายเป็นรายปีเท่านั้น ถ้าแบบเดือนชนเดือนราคาจะอยู่ที่ $39.50 หรือประมาณ 1,200 บาทต่อเดือนครับ

สิ่งที่คุณจะได้เพิ่มเติมจากแบบฟรีคือ

  • ข้อมูลราคาหุ้นตลาดสหรัฐอเมริกาแบบ Real-time ซึ่งจะครอบคลุมถึง Pre-Market และ AfterHours
  • การเปลี่ยนแปลงกราฟหุ้นได้อย่างอิสระ และครบถ้วนสมบูรณ์ และยังมี Intraday Charts และ Fundamental Charts ให้ใช้อีกด้วย
  • การทำ Backtest เพื่อตรวจสอบกลยุทธ์การเทรดหรือการลงทุนของคุณว่ามีประสิทธิภาพมากเพียงใด
  • ตรวจสอบ Correlations คือความเกี่ยวพันของหุ้นแต่ละตัวได้ เพื่อที่คุณจะได้ diversify พอร์ตของคุณอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • เพิ่มความละเอียดของงบการเงินที่มีให้เป็น 8 ปี (จากแบบฟรีที่ 3 ปี)
  • เพิ่มศักยภาพของ Stock Screener ให้แสดงผลข้อมูลให้ดียิ่งขึ้น และสามารถ Export ตัว Screener ออกไปได้
  • แจ้งเตือนข่าวสารต่างๆ ให้กับคุณแบบ Real-time ไม่ว่าจะเป็นราคาหุ้น การเคลื่อนไหวของ Insider การเปลี่ยนแปลงของ Analyst Rating หรือว่าข่าวสำคัญที่เกิดขึ้น
  • นำ Ads (ที่คุณเห็นในรูปด้านบน) ออกไปทั้งหมด
  • และอื่นๆ อีกม่ากมาย

โดยรวมแล้วผมมองว่า Finviz เป็นเว็บไซต์ดูราคาหุ้นแบบ Real-time ที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณเทรดโดยใช้ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Analysis) เพราะในเว็บไซต์เดียว คุณสามารถอ่านราคาหุ้น, ข้อมูลงบการเงิน, ข้อมูลเชิงลึกอย่าง Analyst Rating และ Insider Trading, ใช้งาน Stock Screener รวมไปถึงการทำ Backtest และหา Correlations ได้อย่างเสร็จสรรพครับ

ทั้งนี้ Finviz Elite ไม่มีให้ใช้ฟรี แต่จะคืนเงินให้คุณทุกบาททุกสตางค์ภายในเวลา 30 วันหลังสมัคร ในกรณีที่คุณไม่พอใจครับ

3. Marketscreener

ภูมิภาคที่ใช้ดูราคาหุ้นได้ – ทั่วโลก

เว็บไซต์ marketscreener.com เป็นอีกเว็บนึงที่ผมใช้มานานมากๆ เพราะว่าเป็นเว็บที่รวมทั้ง Fundamental Analysis (วิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน) และ Technical Analysis (กราฟ) ไว้ในเว็บเดียว แต่ Marketscreener มีข้อมูลของหลายประเทศมากๆ ทำให้บางทีผมลืม Tools ของโบรกเกอร์ที่ผมใช้ไปเลย เพราะของเจ้านี้ดีกว่า

ราคาและกราฟของเว็บนี้จะช้ากว่าตลาด 15-20 นาที ถ้าจะ Trade แบบรายวันไม่แนะนำครับ ถ้าอยากจะได้แบบ Real-time แน่นอนว่าจะต้องจ่ายเงินค่าสมาชิก

การใช้แพลตฟอร์มของ Marketscreener ผมว่าง่ายมาก โดยเฉพาะท่านที่มีปัญหาหาแนวรับแนวต้านไม่เป็น เว็บนี้หามาให้เสร็จโดยที่ไม่ต้องไปถามนักวิเคราะห์ครับ Indicator ก็มีให้มากพอสมควร ถือว่าดีเยี่ยมเลยครับ

กราฟหุ้นญี่ปุ่น (2193: Cookpad Inc) ใน Marketscreener

นอกจากนี้ Marketscreener ยังมี Stock Screener (ระดับคุณภาพ) ที่ช่วยทุกท่านหาหุ้นดีๆ น่าลงทุนจากทุกตลาดในโลก และมีบทวิเคราะห์และข่าวให้อ่านด้วยครับ

จุดเด่น:

  • เป็นเว็บไซต์ที่ใช้ได้ทั้งสายพื้นฐานและสายกราฟ
  • มี Stock Screener ที่มีคุณภาพที่ครอบคลุมทุกตลาดในโลก
  • มีข่าวและบทวิเคราะห์ให้อ่าน ถ้าอยากอ่าน
  • มือใหม่ใช้งานกราฟง่าย

4. Investing

ภูมิภาคที่ใช้ดูราคาหุ้นได้แบบ Real-time – ทั่วโลก

อีกหนึ่งเว็บไซต์ที่รับประกันความครบถ้วนครับ Investing.com เป็นเว็บไซต์ที่แจกจ่ายข้อมูลราคาหุ้นต่างประเทศและสินทรัพย์อื่นๆ จำนวนมาก สิ่งที่เจ๋งที่สุดของเว็บนี้คือกราฟแบบ real time ครับ พอที่เราสามารถนำไปใช้เทรดได้เลย ส่วน indicator หลักมีให้ใช้พอสมควรครับ ถึงแม้จะไม่มากเท่ากับเว็บอย่าง Tradingview ก็ตาม

กราฟหุ้นใน Investing.com

นอกจากนี้ investing ยังมีข่าวให้อ่าน (อัพเดตค่อนข้างเร็ว) รวมไปถึงการประกาศข้อมูลทางเศรษฐกิจของทุกประเทศทั่วโลก แบบ Real time ครับ ซึ่งรวมไปถึงประเทศไทยด้วย ผมใช้มันในการตรวจสอบข้อมูลเศรษฐกิจของประเทศที่ผมลงทุนอยู่ อาทิเช่น ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เป็นต้น

โดยส่วนตัวแล้ว ผมชอบใช้เว็บนี้ในการเช็คราคาหุ้นต่างประเทศแบบเร็วๆ (ไม่ต้องการดูกราฟ) ครับ เพราะว่ามันเป็นแบบ real time มันเลยใช้ง่ายใช้ดีที่สุดครับ

จุดเด่น

  • ข้อมูลและกราฟเป็นแบบ real time
  • ข่าวเร็ว และมีการอัพเดตข้อมูลเศรษฐกิจแบบ real time ให้ดู
  • ใช้ง่าย ไม่ซับซ้อน
  • ข้อมูลมาก ใช้ได้กับหลายสินทรัพย์

Pun Anansakunwat
Pun Anansakunwathttps://victorytale.com/about-victorytale/
ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Victory Tale ผมชื่นชอบในหลากหลายสาขาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ การท่องเที่ยว เทคโนโลยี ไปจนถึงการลงทุน หลังจากที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) ผมก็ได้เป็นนักลงทุนในหุ้น, ติวเตอร์, นักเขียน (ตีพิมพ์ไปแล้ว 3 เล่ม) และในปัจจุบันก็เป็นเจ้าของเว็บไซต์ครับ

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!