ธุรกิจตลาดหุ้นเน็ตฟลิกซ์ (Netflix): จากสตาร์ทอัพสู่มหาอำนาจในวงการบันเทิง

เน็ตฟลิกซ์ (Netflix): จากสตาร์ทอัพสู่มหาอำนาจในวงการบันเทิง

ถ้าย้อนกลับไป 7-8 ปีก่อน ถ้าถามคนไทยหลายคนว่าเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) คืออะไร ผมเชื่อว่าน้อยคนจะตอบได้ เพราะในเวลานั้น Netflix ยังไม่ได้เปิดบริการในประเทศไทย แต่ทุกวันนี้คนไทยน่าจะรู้จัก Netflix กันดีในระดับหนึ่งแล้ว

Netflix คือบริษัทที่ให้บริการ streaming ซึ่งจะส่งตรงภาพยนตร์ ซีรีส์ สารคดี และสื่อบันเทิงอื่นๆ อีกมากมายถึงโทรทัศน์แบบ Smart TV ที่บ้านของคุณ

ภายในเวลาเพียงยี่สิบสองปี Netflix เปลี่ยนตัวเองจากสตาร์ทอัพเล็กๆ มาเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ให้บริการเกือบทั่วโลก (ยกเว้นจีน เกาหลีเหนือ และบางภูมิภาคเท่านั้น) ในปัจจุบัน Netflix มีสมาชิกที่จ่ายค่าเงินรายเดือนมากถึง 151.56 ล้านคน และกำลังเพิ่มขึ้นตามลำดับด้วย

By Netflix – https://www.netflix.com/, Public Domain,

Netflix ทำได้อย่างไร?

ก้าวแรกของ Netflix

ในปี ค.ศ.1997 Netflix ถือกำเนิดขึ้นโดยชายสองคน คนแรกชื่อ มาร์ค แรนดอล์ฟ (Marc Randolph) และรีด เฮสติ้งส์ส์ (Reed Hastings) เมื่อก่อตั้ง Netflix แรนดอล์ฟอายุ 39 ปี ส่วนเฮสติ้งส์อายุได้ 38 ปี

ตอนนั้นแรนดอล์ฟทำงานเป็นผู้จัดการฝ่ายขายให้กับบริษัท Pure Atria บริษัทเทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จแล้วของเฮสติ้งส์

เฮสติ้งส์ผู้นี้เป็นนักคณิตศาสตร์และนักคอมพิวเตอร์มาก่อน แต่ในเวลานั้นนั่งเป็น CEO ของบริษัทที่เขาตั้งขึ้นมาเอง

ในปีนั้นเฮสติ้งส์กำลังจะขาย Pure Atria ให้กับอีกบริษัทหนึ่ง เขาจึงต้องเดินทางไปๆ มาๆ เพื่อเจรจาและแจ้งรายละเอียดการขายกิจการให้หน่วยงานราชการรับทราบ ระหว่างที่รออนุมัติการขายบริษัท Pure Atria เฮสติ้งส์ได้พูดคุยเรื่องไอเดียธุรกิจภาพยนตร์แบบออนไลน์กับแรนดอล์ฟ

เฮสติ้งส์เคยเล่าว่าไอเดียการเปิดบริษัทอย่าง Netflix เกิดขึ้นหลังจากที่เขาโดนปรับ 40 ดอลลาร์เพราะลืมคืนวิดีโอให้กับร้าน Blockbuster ให้ตรงเวลา ทำให้เขาเกิดแนวคิดว่าจะตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา

จะว่าไปแล้ว จริงๆ เฮสติ้งส์ไม่ต้องทำอะไรแล้วก็ได้ เขามีเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์อยู่ในกระเป๋า แต่นั่นไม่อาจหยุดความทะเยอทะยานของเขาได้

ในการพูดคุยกัน แรนดอล์ฟที่ชอบโมเดลธุรกิจของ Amazon มากได้เสนอว่าพวกเขาน่าจะขายภาพยนตร์ผ่านทางออนไลน์ แต่จะขายอย่างไรดีให้เอาชนะร้านขายหรือให้เช่าวิดีโอที่มีมากมายในขณะนั้นได้ เพราะลูกค้าสามารถเดินไปเลือกเรื่องที่ต้องการและนำกลับบ้านไปดูได้ทันที

ทั้งสองรู้ว่าไม่ง่ายเลยที่จะเอาชนะเจ้าตลาดเดิมที่ลูกค้าคุ้นเคยได้ แต่ถ้าพวกเขาสำเร็จ พวกเขาจะครอบครองตลาดที่มีมูลค่ามากถึง 16 พันล้านเหรียญสหรัฐในเวลานั้น

ตอนแรกทั้งสองเคยคิดว่าจะเปิดเว็บไซต์เพื่อขายวิดีโอหรือเทป แต่แนวคิดนี้ล้มเลิกไปเพราะเทปและวิดีโอมีค่าใช้จ่ายในการเก็บที่สูงมาก และมีโอกาสเสียง่ายระหว่างการส่ง

ในช่วงนั้นปรากฏว่าแผ่น DVD ได้เริ่มแพร่หลายในสังคมสหรัฐ ดังนั้นเฮสติ้งส์และรูดอล์ฟตัดสินใจว่าธุรกิจของพวกเขาจะเริ่มต้นจาก DVD

กล่าวคือพวกเขาจะขายหรือให้เช่า DVD ผ่านเว็บไซต์ในราคาที่ต่ำกว่าร้านทั่วไป การที่พวกเขาไม่ต้องมีหน้าร้านทำให้ต้นทุนการดำเนินงานของพวกเขาต่ำลง และขายในราคาที่ถูกกว่าคู่แข่งได้

เฮสติ้งส์และแรนดอล์ฟทดสอบระบบของเขาด้วยการส่ง DVD ผ่านไปรษณีย์ไปยังบ้านของเฮสติ้งส์ ปรากฏว่ามันมาถึงแบบสมบูรณ์ไม่มีอะไรเสียหาย Netflix จึงถือกำเนิดนับตั้งแต่บัดนั้น

ทำไมต้องชื่อ Netflix?

ชื่อ Netflix มาจากสองคำ นั่นก็คือ Net และ Flix

Net นี่ค่อนข้างชัดเจนว่าหมายถึง Internet ที่เราใช้กันอยู่เป็นปัจจัยที่ห้าของมนุษย์

ส่วน Flix เป็นศัพท์สแลงที่มาจากคำว่า Flicks คำนี้มีความหมายว่าหนังหรือภาพยนตร์

เพราะฉะนั้น Netflix ก็คือ หนังหรือภาพยนตร์ผ่าน Internet นั่นแหละครับ

เริ่มพุ่งทะยาน

Netflix เปิดตัวในฐานะเว็บไซต์ขายและให้เช่า DVD ในช่วงนี้จะว่าไป Netflix หาเงินด้วยวิธีการที่ไม่ต่างอะไรกับ Blockbuster เจ้าตลาดร้านเช่าและขายวิดีโอและ VCD เจ้าเก่ามากนัก

โลโก้แรกของ Netflix

วิธีการหาเงินของ Netflix คือจะขายหรือให้ยืม DVD ผ่านทางเว็บไซต์ เมื่อได้รับออเดอร์ทางออนไลน์แล้ว Netflix จะส่งแผ่น DVD ไปให้กับลูกค้าทางไปรษณีย์ สำหรับคนที่ซื้อขาดก็ซื้อขาดไปเลย แต่สำหรับคนที่เช่า ลูกค้ามีหน้าที่ส่ง DVD ให้กับ Netflix ตามกำหนดด้วย

พอเปิดไปสักพัก ปรากฏว่าธุรกิจที่บูมคือธุรกิจให้เช่า เพราะ Netflix คิดค่าเช่าแค่ $4 บวกกับค่าส่ง $2 ทำให้ถูกกว่าการซื้อ DVD ที่ราคา $15-20 มาก และคนทั่วไปก็ดูหนังเรื่องหนึ่งแค่ครั้งเดียวอยู่แล้ว

ผ่านไปสักพัก เว็บไซต์ก็เริ่มเป็นที่นิยม แต่แรนดอล์ฟและเฮสติ้งส์ยังรู้สึกไม่พอใจ ทั้งสองต้องการหาโมเดลรายได้ที่มั่นคงมากกว่านี้ และเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้าด้วย

วิธีการที่ว่าคือ ใช้ระบบสมาชิก (Subscription) เข้ามาแทน และยกเลิกระบบเก่าไปเสีย ซึ่งรวมไปถึงระบบขายขาด DVD ด้วยเช่นกัน

DVD ที่ Netflix ส่งมา By BlueMint, CC BY 2.5,

ระบบใหม่จริงๆแล้วเรียบง่าย นั่นคือ ลูกค้าจะจ่ายเป็นรายเดือนทุกเดือน แต่จะเช่า DVD มาเก็บไว้นานเท่าไรก็ได้โดยไม่มีค่าปรับ แต่จำนวน DVD ที่ยืมได้ในแต่ละครั้งจะแปรผันตามระดับสมาชิก เช่นถ้าเป็นสมาชิกแบบ Premium อาจจะยืมได้ครั้งละ 6 แผ่น ส่วนสมาชิกแบบธรรมดายืมได้แค่ครั้งละ 3 แผ่นเป็นต้น

อย่างไรก็ตามลูกค้าจะยืม DVD กี่ครั้งก็ได้ในแต่ละเดือน โดยไม่มีการเรียกค่าใช้จ่ายใดๆเพิ่มอีกแล้ว

นอกจากนี้ Netflix จะเป็นผู้จ่ายค่าไปรษณีย์ไปกลับด้วยตนเอง ทำให้ลูกค้าไม่ต้องจ่ายเงินส่วนนี้ด้วย ไม่เพียงเท่านั้น Netflix ยังสร้างชื่อเสียงด้วยการส่ง DVD เร็วมาก (ส่วนมากภายใน 1 วัน) และยังสามารถยกเลิกค่าสมาชิกได้ทันที โดยไม่ต้องจ่ายค่าปรับใดๆ

นั่นเท่ากับว่าถ้าคุณเป็นคอหนัง คุณจ่าย $20 ให้กับ Netflix คุณสามารถดูได้นับสิบเรื่อง แต่ซื้อหรือยืมกับ Blockbuster อาจจะดูได้แค่ 1-2 เรื่องเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ Netflix จึงเริ่มเป็นที่นิยมอย่างก้าวกระโดด และเป็นผู้แข่งที่น่ากลัวสำหรับ Blockbuster

เกือบเจ๊ง

ความสัมพันธ์ระหว่าง Netflix และ Blockbuster อาจเรียกได้ว่าเป็นความสัมพันธ์แห่งโชคชะตา

ในปี ค.ศ.2000 เฮสติ้งส์ได้ไปบริษัท Blockbuster เพื่อขอเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกัน ปรากฏว่า CEO ของ Blockbuster ไม่พูดอะไรสักคำเดียว เขายิ้มและหัวเราะใส่หน้าของเฮสติ้งส์

จะว่าไปก็ไม่แปลกอะไร เพราะ Netflix มีสมาชิกเพียง 300,000 คนเท่านั้น แถมยังขาดทุนอย่างหนักด้วย เทียบกับ Blockbuster ที่เป็นมหาอำนาจในตลาดวิดีโอ VCD และ DVD

อย่างไรก็ดี ต่อมาปรากฏว่า Blockbuster ได้เสนอว่าจะขอซื้อ Netflix ในราคา 50 ล้านเหรียญ แต่ Netflix จะต้องเปลี่ยนชื่อเป็น blockbuster.com และทำหน้าที่ดูแลเรื่องธุรกิจออนไลน์ของ blockbuster เท่านั้น

ดีลนี้จะว่าไปเป็นดีลที่ไม่เลวเลย เงิน 50 ล้านดอลลาร์เป็นเงินก้อนใหญ่สำหรับธุรกิจที่ตั้งมาสองปีเศษ และกำลังขาดทุนอย่างหนัก แต่เฮสติ้งส์และแรนดอล์ฟปฏิเสธไป

ในปี ค.ศ.2001 เป็นจุดที่ Netflix เกือบจะเจ๊ง บริษัทขาดทุนอย่างหนักจากการแตกของฟองสบู่ดอทคอมและปัญหาเศรษฐกิจในปี ค.ศ.2001 ซึ่งเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากเหตุการณ์ 9/11

ปัญหาเศรษฐกิจนี้นอกจากจะทำให้สายการบินเจ๊งแล้ว มันกำลังจะดึง Netflix ให้เจ๊งด้วย เฮสติ้งส์แก้ปัญหาด้วยการลดพนักงานถึง 1 ใน 3 เพื่อพยุงบริษัท

กลายเป็นมหาอำนาจ

ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนั้นเอง ปรากฏว่าเครื่องเล่น DVD กลับเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น เพราะมันมีราคาถูกลงมาก

การที่เครื่องเล่น DVD ถูกลงมีผลเชิงบวกต่อ Netflix อย่างยิ่ง เพราะผู้ที่ต้องการแผ่น DVD มาดูย่อมมีมากขึ้นไปด้วย ในปี ค.ศ.2001-2002 จำนวนสมาชิกของ Netflix จึงก้าวกระโดดหลายเท่าจนเข้าใกล้หนึ่งล้านคนไปทุกที

การที่มีลูกค้ามากขึ้นช่วยให้ Netflix มีอำนาจต่อรองมากขึ้น ต้นทุนการใช้จ่ายต่างๆ เช่นค่าเช่าศูนย์กระจาย DVD จึงน้อยลงตามไปด้วย ส่วนขาดทุนในงบการเงินย่อมลดลงตามกันไป

เฮสติ้งส์และแรนดอล์ฟฉวยโอกาสตีเหล็กตอนที่มันร้อน ด้วยการขายหุ้นบริษัทให้กับนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ หุ้น Netflix จึงซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ในปี ค.ศ.2003 Netflix ประสบความสำเร็จเพราะปิดงบด้วย “กำไร” เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และเริ่มแย่งชิงตลาดจาก Blockbuster ได้มากขึ้นตามลำดับ ธุรกิจ DVD แบบออนไลน์ทำให้ลูกค้าสามารถเลือก DVD ได้จากอินเตอร์เน็ต โดยไม่ต้องขับรถไปที่ร้านอีกต่อไป

บริการ Streaming

แม้ Netflix จะประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่ปัญหาใหม่เกิดขึ้นมาไม่นานหลังจากที่แรนดอล์ฟได้ขอเกษียณตัวเองจากบริษัทในปี ค.ศ.2004

ลูกค้าจำนวนมากได้แจ้งให้ Netflix ทราบว่าแผ่น DVD บางแผ่นมีปัญหา เพราะมันถูกใช้งานบ่อยจนเสีย ทำให้ลูกค้าไม่สามารถดูภาพยนตร์ได้ลื่นไหลอย่างที่ต้องการได้

นอกจากนี้ Netflix ยังประสบปัญหาซ้ำซ้อนด้วย เพราะความเร็วอินเตอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นช่วยให้คนทั่วไปสามารถโหลดหนังผิดลิขสิทธิ์ได้อย่างง่ายดาย และไม่จำเป็นต้องเสียเงินกับ Netflix อีกต่อไป

ทั้งสองปัญหาส่งผลในทางลบ ลูกค้าเริ่มหดหายไปจาก Netflix ตามลำดับ

โลโก้ของ Netflix ที่ใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ.2000-2014 By Netflix – Netflix Media Center, Public Domain,

ช่วงปี ค.ศ.2005 วิธีการแรกที่ Netflix คิดจะแก้ปัญหาคือ การออกกล่อง “Netflix Box” เพื่อที่ลูกค้าจะดูภาพยนตร์ใน Netflix ผ่านกล่อง เฮสติ้งส์และผู้บริการคนอื่นๆได้ลงทุนกับโปรเจ็คนี้ไปด้วยจำนวนเงินไม่น้อย แต่กลับเลือกที่จะทิ้งมันไปทั้งหมด!

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะเฮสติ้งส์ได้เห็นความนิยมของ Youtube ที่เป็นที่นิยมสุดๆในเวลานั้น แม้ว่าจะ Youtube ไม่ได้มีภาพยนตร์คุณภาพที่มีความคมชัดใดๆ เลยก็ตาม

เฮสติ้งส์เห็นว่าถ้าคนส่วนใหญ่ดู Youtube แล้วใครจะเสียเงินสมัคร Netflix Box กันเล่า!

ดังนั้นเฮสติ้งส์จึงเปลี่ยนไปพัฒนาบริการ Streaming เหมือนกับ Youtube แต่ที่ต่างออกไปคือถ้าดูภาพยนตร์จาก Netflix จะมีความคมชัดและคุณภาพมากกว่า Youtube มากและไม่มีโฆษณาใดๆ มาคั่นกลางด้วย

Netflix ใช้เวลาพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวอยู่เกือบ 2 ปี โดยใช้เทคโนโลยีของ Microsoft, Dolby Digital, AAC และอื่นๆ ทำให้บริการ streaming เสร็จสิ้นในปี ค.ศ.2007

นับตั้งแต่บัดนั้น Netflix จะซื้อสิทธิในการเผยแพร่แต่เพียงผู้เดียวจากผู้ผลิต (Exclusive Rights) สำหรับบริการ streaming ทางบริษัทจึงไม่จำเป็นไม่ต้องทิ้ง DVD ที่หมดคุณภาพแล้วอีกต่อไป

บริการ streaming ช่วยให้บริษัทมีชีวิตชีวาอีกครั้ง ผลตอบรับของลูกค้าดีมาก พวกเขาไม่จำเป็นต้องรอ DVD มาถึงและนำมันไปส่งคืนอีกต่อไป ลูกค้าสามารถดูผ่านจอคอมพิวเตอร์ของตนเองได้อย่างสบายๆ

ไม่เพียงเท่านั้นในช่วงปี ค.ศ.2007-2010 Netflix รุกหนักด้วยการทำสัญญากับบริษัทชั้นนำอย่าง Microsoft และ Apple เพื่อที่ลูกค้าจะได้สามารถใช้บริการของ Netflix ได้ผ่าน Xbox 360, iPhone, iPad และอื่นๆ หลังจากนั้นก็ทำสัญญาทางธุรกิจกับบริษัทอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้ลูกค้าสามารถดูภาพยนตร์ของ Netflix ได้จาก Smartphone, Tablet, Smart TV

ความสะดวกสบายที่ได้มาจากการที่สามารถดูภาพยนตร์ในมือถือและแท็บเล็ตได้ทำให้สมาชิกของ Netflix เพิ่มมากขึ้นราวกับจรวด

Netflix จึงกลายเป็น disruptor ที่คุกคามอุตสาหกรรมต่างๆ หนึ่งในนั้นแน่นอนว่าคืออุตสาหกรรมเช่า VCD, DVD

เทคโนโลยีที่ดีกว่ามากของ Netflix ส่งผลให้ Blockbuster คู่แข่งที่เคยเป็นเจ้าตลาดมาก่อนไม่สามารถต่อกรได้เลย ในปี ค.ศ.2010 Blockbuster ประกาศล้มละลาย ส่วน Netflix ประกาศว่ามีสมาชิกมากถึง 24.4 ล้านคนในปีถัดมา

ถ้าย้อนกลับไปไม่ถึง 10 ปี คงไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นได้

ช่วงเวลาที่บริการ streaming เป็นที่นิยมนี้ ลูกค้าหันมาใช้บริการ streaming มากขึ้น ธุรกิจ DVD จึงซบเซาลง แต่นั่นไม่ได้ก่อปัญหาให้กับธุรกิจของ Netflix เลย เพราะระบบสมัครสมาชิกให้ลูกค้าใช้งานทั้งสองรูปแบบอยู่แล้ว การที่ลูกค้าใช้แต่ streaming ลูกค้าก็ยังต้องจ่ายค่าสมาชิกในราคาเดิมอยู่ดี Netflix กลับได้ประโยชน์เสียอีกเพราะว่าไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเก็บ DVD ดังเช่นเมื่อก่อน

การเรืองอำนาจของ Netflix ยังส่งผลกับช่องทีวีในสหรัฐอเมริกาเช่นเดียวกัน เพราะผู้ชมมีตัวเลือกมากขึ้น และไม่มีความจำเป็นต้องดูรายการซ้ำๆที่ไม่มีคุณภาพอีกต่อไปแล้ว

นโยบายที่ผิดพลาด

ช่วงปี ค.ศ.2011 เป็นปีที่ผมเริ่มรู้จัก Netflix ระหว่างที่เรียนอยู่ที่อเมริกา ปีนี้กลับเป็นปีสำคัญสำหรับ Netflix เพราะเป็นปีที่บริษัทดำเนินนโยบายผิดพลาดอย่างสิ้นเชิง

เดือนเมษายนของปีนั้น Netflix ได้ประกาศว่านับตั้งแต่บัดนี้ บริษัทจะขึ้นราคาและแยกบริการ streaming และ DVD ออกจากกันด้วย นอกจากนี้สำหรับคนที่ต้องการ DVD จะต้องจ่ายค่าไปรษณีย์เองอีกต่างหาก

ประกาศนี้สำคัญมาก เพราะทำให้คนที่ต้องการทั้งสองบริการต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มสองเท่า ดังนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่าเมื่อ Netflix ดำเนินนโยบายดังกล่าว ลูกค้าจะแห่ยกเลิกสมาชิกกันเป็นจำนวนมาก

ภายในเวลาเพียง 6 เดือน Netflix เสียลูกค้าไปมากถึง 800,000 คน กำไรทิ้งดิ่ง 88% และราคาหุ้นทิ้งดิ่งเหวมากกว่า 50% ด้วย ผมจำได้เลยว่าในช่วงนั้นมีนักวิเคราะห์หลายคนบอกว่า Netflix กำลังจะตาย

อย่างไรก็ตาม Netflix ได้ยกเลิกแนวทางดังกล่าวในเวลาต่อมา และเปลี่ยนกลับใช้ระบบเดิม ลูกค้าเก่าจึงหวนกลับมาและเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ทำให้ Netflix ไม่ตายอย่างที่นักวิเคราะห์คาดไว้

Original Content

สิ่งที่ Netflix พัฒนาต่อไปคือการขยายตลาดออกไปสู่ต่างประเทศ และ “Netflix Original”

สำหรับการขายตลาดไปสู่ต่างประเทศไม่ใช่เรื่องซับซ้อนอะไร เพราะ Netflix ให้บริการ streaming ที่เชื่อมกับ Internet เป็นหลักอยู่แล้ว แต่จะมีปัญหากับประเทศที่มีกฎระเบียบมากอย่างเช่นจีนเท่านั้น

ปัจจุบัน Netflix ได้ให้บริการมากกว่า 190 ประเทศทั่วโลก และมีสมาชิกมากกว่า 100 ล้านคน และกำลังเพิ่มขึ้นทุกปีด้วย

สำหรับประเทศไทยแล้ว Netflix มี 3 ราคาด้วยกันได้แก่

  • พื้นฐาน ดูหนังได้ความคมชัดแค่ SD และดูพร้อมกันได้ 1 จอเท่านั้น (280 บาท)
  • มาตรฐาน ดูหนังได้ความคมชัดระดับ HD และดูได้ 2 จอพร้อมกัน (350 บาท)
  • พรีเมียม ดูหนังได้ความคมชัดระดับ 4K HDR และดูได้ 4 จอพร้อมกัน (420 บาท)

ด้วยราคาที่ถูก และสามารถแชร์กันได้ (เพื่อน 4 คนหารสมาชิกแบบพรีเมียมกัน เหลือแค่เดือนละ 105 บาท) Netflix จึงเป็นที่นิยมมากขึ้นตามลำดับในหมู่ชาวไทย

ส่วน Netflix Original คือ ภาพยนตร์หรือซีรีส์ที่ Netflix สร้างเอง ซึ่งจะมีให้ดูเฉพาะใน Netflix เท่านั้น นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2012 Netflix ได้ลงทุนผลิตสื่อบันเทิงของตัวเองมากขึ้นตามลำดับ และได้รับความนิยมอย่างสูงด้วย

ในปัจจุบันเฮสติ้งส์และผู้บริหารได้ใช้เงินสดที่มีอยู่ในการผลิตสื่อบันเทิงเหล่านี้มากขึ้นทุกที และไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่เพิ่งจะให้บริการได้ไม่นานอย่างประเทศไทย

Netflix ได้นำเสนอซีรีส์เรื่อง “เคว้ง” ในปี ค.ศ.2019 และอีกไม่นานคงจะออกมาอีกหลายต่อหลายเรื่องอย่างแน่นอน

การทำหนังหรือซีรีส์ของตัวเองทำให้ Netflix ดึงดูดคนให้เข้ามาเป็นสมาชิกมากขึ้น และสร้างการเสพติดแบรนด์ในฐานะบริษัทภาพยนตร์ด้วย สุดท้าย Netflix จึงสามารถแข่งขันกับบริษัทอื่นๆ ได้ดียิ่งขึ้น

ความท้าทายใหม่

อย่างไรก็ตามในปี ค.ศ.2019 บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเช่น Disney ได้เข้ามาสู่ธุรกิจ streaming ดังนั้น Netflix จึงเผชิญหน้ากับการท้าทายที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องของอนาคตว่า Netflix จะต้านทานคู่แข่งใหม่อย่างไร

ถึงกระนั้นในไตรมาสที่ 3 ของปี ค.ศ.2019 Netflix ก็ได้รวบรวมสมาชิกไว้แล้วมากกว่า 150 ล้านคน และกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย เมื่อเกิดโรคระบาดในปี ค.ศ.2020 ทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องอยู่ในบ้าน Netflix เป็นบริษัทไม่กี่แห่งที่ได้ประโยชน์จากช่วงดังกล่าว

ถ้าย้อนกลับไปแล้ว Netflix ได้ก้าวมาไกลอย่างมากในช่วงเวลา 20 ปี จากเว็บขาย DVD เล็กๆ ในแคลิฟอร์เนียได้กลายเป็นบริษัทระดับโลกที่มีสมาชิกร้อยกว่าล้านคน ความสำเร็จนี้ทำให้ Netflix เป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดตลอดกาลอย่างไม่ต้องสงสัย

Sources:

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!