ประวัติศาสตร์ราชินีคลีโอพัตรา (3): ความเพ้อฝันของคลีโอพัตรา

ราชินีคลีโอพัตรา (3): ความเพ้อฝันของคลีโอพัตรา

จากตอนที่แล้ว การที่คลีโอพัตราพลิกกลับมามีอำนาจในอียิปต์ได้เกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโรมันเป็นสำคัญ สงครามกลางเมืองของโรมทำให้ซีซาร์เดินทางมาอียิปต์ และซีซาร์ผู้นี้เองได้ช่วยเหลือให้เธอกลับมาอยู่ในสถานะราชินีที่มีอำนาจในอาณาจักรของตัวเธอเองอีกครั้งหนึ่ง

หากแต่ว่าหลังจากนั้นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโรมันอีกเช่นเดียวกันที่ทำให้ชีวิตของคลีโอพัตราเปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่เธอคาดหวังได้พังทลายไปสิ้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวคืออะไรกันแน่?

รูปปั้นที่เชื่อว่าเป็นรูปปั้นของคลีโอพัตรา

ซีซาเรียน – โอรสลับ

ซีซาร์เดินทางออกจากอียิปต์ในช่วงเดือนเมษายนในปี 47 BC (ก่อน ค.ศ.47 ปี) ก่อนที่เขาจะออกจากอียิปต์ เขาได้สถาปนาให้คลีโอพัตราและโตเลมีที่ 14 น้องชายคนสุดท้องของเธอครองอียิปต์ร่วมกัน ทั้งนี้โตเลมีที่ 14 มีอายุเพียง 13 ปีเท่านั้น

ว่ากันว่าที่ซีซาร์ให้ทั้งสองปกครองอียิปต์ร่วมกันก็เพราะไม่ต้องการให้อียิปต์มีผู้ปกครองคนเดียวอย่างในสมัยโตเลมีที่ 12 หรือ เบเรนีสที่ 4 บิดาและพี่สาวของคลีโอพัตรา เราไม่ทราบแน่ชัดว่าเพราะเหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น ซีซาร์อาจจะไม่ต้องการให้อียิปต์มีผู้ปกครองที่เข้มแข็งเกินไปก็เป็นได้

โตเลมีที่ 14

เขาอาจจะไม่ไว้ใจคลีโอพัตราด้วยซ้ำไป ว่าหลังจากพระนางได้สิ่งที่ต้องการแล้ว พระนางจะยังเป็นมิตรกับโรมต่อไป ซีซาร์นั้นเป็นคนฉลาด เขาย่อมหยั่งรู้ในความฉลาดและความทะเยอทะยานของคลีโอพัตรา ราชินีของอียิปต์ที่เขามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวด้วยเป็นอย่างดี ดังนั้นเขาจึงต้องการสร้างผู้คานอำนาจของพระนางเอาไว้ด้วยก่อนที่จากไป

ก่อนที่ซีซาร์จะออกจากอียิปต์ไปนั้น บุตรของเขาในครรภ์ของคลีโอพัตรายังไม่เกิด บุตรคนนี้จะได้ชื่อว่า ซีซาเรียน (Caesarion) เขาเกิดสองเดือนเศษหลังจากที่ซีซาร์ไปจากอียิปต์

ดังนั้นถ้าดูจากอายุครรภ์เมื่อซีซาร์ออกจากอียิปต์ไป (6-7 เดือน) ซีซาร์น่าจะรู้ว่าคลีโอพัตรามีครรภ์กับตน แต่ซีซาร์กลับไม่เคยพูดหรือยอมรับว่าเป็นบิดาของเด็กคนนี้เลยสักครั้งเดียว

สาเหตุที่เป็นไปได้คือ บุตรคนนี้เป็นบุตรนอกสมรส ซีซาร์เองมีภรรยาอยู่แล้วชื่อคัลเพอร์เนีย (Calpurnia) แต่ทั้งสองไม่มีลูกด้วยกัน ดังนั้นถ้าซีซาร์ไปมีลูกกับสตรีคนอื่นขึ้นมาจะทำให้ชื่อเสียงของเขาฉาวไปเสียเปล่าๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลานั้นซีซาร์กำลังทดสอบความเห็นของชาวโรมันว่าจะยอมรับให้เขาขึ้นเป็นกษัตริย์หรือไม่

ด้วยเหตุนี้ซีซาเรียนจึงเป็นโอรสที่บิดาของเขาไม่เคยยอมรับว่าเป็นลูกอย่างเป็นทางการ แต่ประชาชนทุกคนตั้งแต่ในอียิปต์ไปถึงโรมก็รู้ว่า เขาเป็นลูกของซีซาร์ เพราะว่าคลีโอพัตรา ราชินีแห่งอียิปต์ได้ประกาศอย่างเป็นทางการไปทั่วใต้หล้าว่า บุตรของเธอคนนี้เกิดกับซีซาร์นั่นเอง

ซีซาเรียน

ความหวัง

คลีโอพัตราจงใจให้ทุกคนทราบอยู่แล้ว ขนาดชื่อโอรสของเธอ เธอยังตั้งชื่อว่า “ซีซาเรียน” ซึ่งนำชื่อของซีซาร์มาอย่างชัดเจน การประกาศจึงเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยที่เธอต้องการประกาศให้โลกรู้เท่านั้น

บ้างว่าที่เธอทำไปเพราะเธอมีความทะเยอทะยานอันยิ่งใหญ่ นั่นก็คือ เธอปรารถนาจะนั่งเคียงคู่กับซีซาร์ในฐานะจักรพรรดินีแห่งจักรวรรดิโรมัน หรืออย่างน้อย เธอต้องการให้โอรสของเธอเป็นรัชทายาทหรือผู้สืบทอดของซีซาร์อย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ซีซาร์ไม่มีลูกคนอื่นใดอีกแล้วนอกจากซีซาเรียน ถ้าซีซาร์ได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิจริงๆตามแบบกรีกหรืออียิปต์ โอรสของเธอย่อมมีโอกาสได้เป็นรัชทายาท และสืบต่อบัลลังก์ของซีซาร์หลังจากเขาสิ้นชีวิตไป

ในปลายปี 46 BC คลีโอพัตราและโตเลมีที่ 14 ได้เดินทางมาถึงกรุงโรม ทั้งสองได้พักอยู่ที่บ้านพักของซีซาร์ และต่อมาซีซาร์ก็ได้ประกาศให้ทั้งสองรับสถานะ “Socius et amicus populi Romani” หรือ “เพื่อนและพันธมิตรของชาวโรมัน”

การมาของคลีโอพัตรากลับสร้างความไม่พอใจกับสมาชิกสภาเซเนตบางกลุ่ม โดยเฉพาะคนที่อิทธิพลมากๆ อย่างซิเซโร (Cicero) พวกเขาเหล่านี้มองว่าคลีโอพัตราหยิ่งผยองและแสดงออกอย่างชัดเจนว่ามีความทะเยอทะยานต้องการจะมาครองบัลลังก์ร่วมกับซีซาร์ที่กรุงโรม

ซิเซโร

คลีโอพัตราอยู่ที่กรุงโรมนานนับปี นานจนถึงงานประจำปี Lupercalia ในปี 44 BC งานดังกล่าวเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมเก่าแก่ที่ชาวโรมันใช้กำจัดความชั่วร้ายและภูติผีปีศาจเพื่อที่จะฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับเมือง ในวันนั้นมาร์ค แอนโทนี (คนเดียวกันกับที่เขาหลงรักคลีโอพัตรา) ได้พยายามนำมงกุฎมาสวมใส่ให้กับซีซาร์ แต่ซีซาร์ปฏิเสธ ซิเซโรเห็นเข้าจึงทำการแซะว่า มงกุฎนั้นมาจากราชินีแห่งราชวงศ์โตเลมีหรืออย่างไร

ความฝันพังทลาย

การแซะของซิเซโรแสดงให้เห็นว่าสภาเซเนตจำนวนมากยังมีผู้ไม่พอใจที่ซีซาร์จะครองบัลลังก์ ถึงแม้จะมีกระแสถาโถมให้ซีซาร์ขึ้นเป็นกษัตริย์มาโดยตลอด และความนิยมของซีซาร์ในหมู่ประชาชนก็ยิ่งสูงขึ้นตามลำดับในปีนั้น

ในหมู่สภาเซเนตหลายคนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับซีซาร์จึงตระหนักว่า พวกเขาต้องกำจัดซีซาร์ไปเสียเพื่อรักษาระบอบสาธารณรัฐแบบโรมันเอาไว้ จนสุดท้ายพวกเขาเห็นพร้อมกันว่าพวกเขาจะลงมือลอบสังหารซีซาร์ระหว่างที่เขาเข้ามาในสภา

ซีซาร์จึงถูกสังหารในวันที่ 15 มีนาคม หรือเพียง 1 เดือนหลังจากพิธี Lupercalia เท่านั้นเอง

ภาพจำลองการสังหารซีซาร์โดย Carl Theodor von Piloty

ขณะที่ซีซาร์ถูกลอบสังหาร คลีโอพัตราก็อยู่ที่กรุงโรมด้วย การตายของซีซาร์ทำให้ความหวังที่จะเป็นจักรพรรดินีพังทลายไปแล้ว แต่เธอก็ยังหวังว่าซีซาเรียนจะได้เป็นผู้สืบทอดของซีซาร์ที่ถูกต้องตามกฎหมายโรมันอยู่อีก เธอจึงรอต่อไปอยู่จนกระทั่งถึงกลางเดือนเมษายน เธอถึงได้ทราบว่าความฝันของเธอพังทลายจนหมดสิ้น เพราะว่า

ซีซาร์ได้เขียนไว้ในพินัยกรรมว่าให้ ออคเตเวียน (Octavian) หลานชายและบุตรเลี้ยงของเขาเป็นผู้สืบทอดอย่างถูกต้องตามกฎหมายแต่เพียงผู้เดียว

ด้วยเหตุนี้ความฝันของคลีโอพัตราจึงถูกทำลายไปโดยสิ้นเชิง เมื่อเธอทราบว่าออคเตเวียนกำลังกลับมายังกรุงโรม มันก็ไม่มีประโยชน์อย่างไรที่จะอยู่ที่นี่อีกต่อไป เธอเดินทางกลับไปอียิปต์ทันที

แต่ทว่านั่นไม่ได้แปลว่าความทะเยอทะยานของเธอจะสิ้นสุดลง ราชินีแห่งอียิปต์ผู้นี้ ยังคงไม่ยอมแพ้ เธอจะทำอย่างไรต่อไปกันแน่ ติดตามได้ในตอนหน้าครับ

ย้อนอ่านตอนเก่า

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!