ประวัติศาสตร์ราชินีคลีโอพัตราผู้โด่งดังแห่งอียิปต์ ตอนแรก

ราชินีคลีโอพัตราผู้โด่งดังแห่งอียิปต์ ตอนแรก

คลีโอพัตราเป็นราชินีอียิปต์ที่มีชื่อเสียงที่สุดตลอดกาล เรื่องราวของพระนางและชู้รักถูกวิพากษ์วิจารณ์และนำมาเป็นส่วนหนึ่งของศิลปะตะวันตกมานับครั้งไม่ถ้วน ภาพยนตร์เกี่ยวกับประวัติของพระนางยังมีมากมายชนิดที่เรียกว่าดูไม่หมด

ทำไมคลีโอพัตราถึงเป็นที่สนใจมาทุกยุคทุกสมัย ถึงแม้พระนางจะล่วงลับไปแล้วกว่าสองพันปีก็ตาม? ถ้าให้ผมตอบ ผมคงตอบแค่ว่ามันดราม่าและมันสนุก ชีวิตของเธอเกี่ยวข้องกับชายมากหน้าหลายตา หลายคนเป็นถึงผู้มีอำนาจสูงสุดในอาณาจักร แต่กลับต้องยอมสยบเมื่อได้พบกับเธอ

อย่าเสียเวลาอีกเลยครับ เรามาเริ่มกันเลยดีกว่า

รูปปั้นคลีโอพัตราที่ 7

อียิปต์ของคลีโอพัตรา

ราชินีแห่งอียิปต์ที่ชื่อคลีโอพัตราจริงๆ แล้วมีหลายพระองค์ แต่องค์ที่กล่าวถึงนี้คือ คลีโอพัตราที่ 7 แห่งราชวงศ์โตเลมี (Ptolemaic Dynasty) ผู้มีชีวิตอยู่ระหว่าง 69 ปีก่อนคริสตกาล ถึง 30 ปีก่อนคริสตกาล

ราชวงศ์โตเลมีนี้ไม่ใช่ราชวงศ์อียิปต์แท้ๆ แต่เป็นราชวงศ์ที่มีเชื้อสายกรีก กษัตริย์หรือฟาโรห์องค์แรกของราชวงศ์นี้คือ โตเลมี (Ptolemy) ขุนศึกคู่พระทัยของอเล็กซานเดอร์มหาราช หลังจากที่อเล็กซานเดอร์สวรรคตที่บาบิโลน โตเลมีได้ชิงพระศพอเล็กซานเดอร์และนำมายังอียิปต์ หลังจากนั้นก็ราชาภิเษกตนเองขึ้นเป็นฟาโรห์ปกครองอียิปต์

โตเลมีที่ 1 ฟาโรห์องค์แรกแห่งราชวงศ์โตเลมี

หลังจากโตเลมีสิ้นชีวิต บุตรหลานของเขาก็ได้ครองราชย์สืบต่อกันมาสองร้อยกว่าปี จนกระทั่งถึงยุคของคลีโอพัตรา ดังนั้นอย่าได้แปลกใจที่รูปปั้นคลีโอพัตราละม้ายคล้ายชาวตะวันตก นั่นก็เพราะพระนางทรงมีเชื้อสายตะวันตกแท้ๆ เลยนั่นเอง

คลีโอพัตราเกิดมาในช่วงที่ราชวงศ์โตเลมีทีปกครองอียิปต์เสื่อมอำนาจ ในขณะที่โรมกำลังเรืองอำนาจเป็นจักรวรรดิครอบคลุมทั้งอิตาลี สเปน กรีซ กอล (ฝรั่งเศส) แอฟริกาตะวันตก และส่วนหนึ่งของเอเชียไมเนอร์ อิทธิพลของโรมจึงแผ่เข้ามาในอาณาจักรอียิปต์ด้วยเช่นกัน

ชีวิตในฐานะราชธิดา

คลีโอพัตราเป็นธิดาของฟาโรห์โตเลมีที่ 12 และพระราชินีคลีโอพัตราที่ 6 คลีโอพัตราเป็นบุตรสาวคนกลางของครอบครัว เธอมีพี่สาวหนึ่งคน น้องสาวอีกหนึ่งคน และน้องชายอีกสองคน แต่ไม่ปรากฏว่าเธอมีมารดาคนเดียวกับเหล่าน้องๆ หรือไม่

ตั้งแต่เด็ก คลีโอพัตราได้ศึกษาศาสตร์ต่างๆ เช่น ปรัชญาต่างๆ จากอาจารย์ชั้นยอด เธอมักจะไปร่ำเรียนที่ห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรีย อันเป็นแหล่งรวมภูมิปัญญาของโลกในยุคนั้น ทำให้คลีโอพัตรามีความรู้ความสามารถไม่ด้อยกว่าชายทั่วไป

โตเลมีที่ 12 บิดาของคลีโอพัตรา Cr: Dennis Jarvis

60 ปีก่อนคริสตกาล โรมเริ่มแสดงออกว่าต้องการผนวกอียิปต์เข้าเป็นส่วนอื่นของอาณาจักร โรมได้ทำการผนวกดินแดนไซปรัสเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของตน ทำให้โตเลมีแห่งไซปรัส น้องชายของโตเลมีที่ 12 บิดาของเธอฆ่าตัวตาย แต่ทว่าโตเลมีที่ 12 กลับทรงไม่แสดงท่าทีอะไรกับการตายของน้องชายตนเอง เหล่าประชาชนจึงไม่พอใจอย่างยิ่ง

ต่อมาโตเลมีที่ 12 กลับมอบดินแดนส่วนหนึ่งให้กับโรมอีกเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสงคราม ท่าที่อ่อนน้อมต่อโรมทำให้พลเมืองอียิปต์โกรธแค้นจนทนไม่ไหว สุดท้ายพวกเขาจึงรวมตัวกันขับไล่โตเลมีที่ 12 ออกไป พระองค์จึงต้องเสด็จไปประทับที่ดินแดนหลายต่อหลายแห่ง จนสุดท้ายก็มาลงเอยที่โรม เมืองหลวงของอาณาจักรโรมัน

ระหว่างที่บิดาของเธออพยพมาอยู่ที่โรม คลีโอพัตราก็เดินทางมากับเขาด้วย ขณะนั้นคลีโอพัตรามีอายุได้เพียง 11 ขวบเท่านั้น

พบกับอนาคตคู่รัก

โตเลมีที่ 12 พยายามชักจูงให้สภาซีเนตแห่งโรมสนับสนุนให้พระองค์กลับคืนบัลลังก์อียิปต์ ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในกำมือของ เบเรนีสที่ 4 (Berenice IV) บุตรสาวแท้ๆ ของพระองค์เอง (พี่สาวของคลีโอพัตรา) แต่พระองค์ไม่ประสบความสำเร็จ

แต่ทว่าในโรมมีผู้สนับสนุนโตเลมีที่ 12 อยู่ไม่น้อย หนึ่งในผู้สนับสนุนคนสำคัญคือ พอมพีย์ผู้ยิ่งใหญ่ (Pompey the Great) ผู้ที่ต่อมาคือศัตรูของซีซาร์ พอมพีย์ได้ทำการเจรจาให้ผู้ว่าราชการซีเรียของโรมนำกองทัพไปตีอียิปต์เพื่อสถาปนาโตเลมีที่ 12 เป็นฟาโรห์ตามเดิม กองทัพโรมันจึงบุกอียิปต์ในปี 55 ก่อนคริสตกาล โตเลมีและคลีโอพัตราก็ได้ติดตามกองทัพโรมันมาด้วย ขณะนั้นคลีโอพัตราอายุได้ 14 ปี

ระหว่างที่กองทัพโรมันกำลังบุกอียิปต์นั้น ได้มีนายทหารม้าคนหนึ่งที่แสดงฝีมือและคุณธรรมออกมาอย่างโดดเด่น เขาผู้นั้นคือมาร์คัส อันโตเนียส หรือ มาร์ค แอนโทนี เขาได้ห้ามโตเลมีที่ 12 ไม่ให้สังหารหมู่ชาวเมืองแห่งหนึ่ง และยังห้ามไม่ให้เขาทำลายศพของ Archelaos สามีของเบเรนีสที่ 4 ที่สิ้นชีวิตลงกลางสมรภูมิ

ในช่วงนี้ไม่ต้องสงสัยว่าในช่วงนี้แอนโทนีได้รู้จักกับคลีโอพัตรา ธิดาองค์รองของโตเลมีที่ 12 ด้วย แอนโทนีตกหลุมรักเธอทันที ถึงแม้เธอจะมีอายุอ่อนกว่าเขาถึง 14 ปีก็ตาม

ต่อสู้กับน้องชาย

กองทัพโรมันตีอียิปต์ได้อย่างง่ายดาย โตเลมีที่ 12 จึงกลับมานั่งบัลลังก์ฟาโรห์อีกครั้งหนึ่ง พระองค์สั่งให้กวาดล้างศัตรูทางการเมืองอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะเบเรนีสที่ 4 ลูกสาวคนโตที่โปรดให้ตัดหัว นอกจากนี้ยังปล่อยให้ทหารโรมันก่อกวนประชาชนเมืองอเล็กซานเดรียโดยไม่แยแสด้วย (อาจจะเป็นเพราะโกรธแค้นที่โดนไล่ออกไป)

คลีโอพัตราแต่งกายเป็นฟาโรห์ บวงสรวงต่อเทพีไอซิส

หลังจากนั้นเหมือนว่าโตเลมีที่ 12 จะทราบว่าพระองค์จะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ไม่นาน พระองค์จึงร่างพินัยกรรมให้คลีโอพัตราและโตเลมีที่ 13 เป็นรัชทายาทคู่ที่จะขึ้นปกครองอียิปต์ต่อไปหลังจากพระองค์สวรรคตไปแล้ว

โตเลมีที่ 12 สวรรคตใน 51 ปีก่อนคริสตกาล ทำให้คลีโอพัตราขึ้นครองบัลลังก์ร่วมกับน้องชาย (บ้างว่าทั้งสองแต่งงานกันด้วย)

หลังจากนั้น คลีโอพัตราต้องเผชิญสิ่งต่อไปนี้

  1. ภัยแล้งอย่างหนักเพราะว่าปริมาณน้ำที่น้อยกว่าปกติในแม่น้ำไนล์
  2. พวกทหารโรมันที่ก่อความวุ่นวายในอียิปต์
  3. หนี้ของโตเลมีที่ 12 ที่ติดค้างพวกสภาซีเนตแห่งโรมอยู่อีก 17.5 ล้านดรัคมา (น่าจะหนี้ที่ส่งกองทัพมาช่วยชิงบัลลังก์คืน)

แต่เท่านั้นไม่พอ ความสัมพันธ์ของเธอและโตเลมีที่ 13 น้องชายของเธอ (หรือสามี) เลวร้ายอย่างรวดเร็ว บ้างว่าคลีโอพัตราปฏิเสธไม่ให้โตเลมีที่ 13 มาปกครองอียิปต์ร่วมกับตน และแสดงออกว่าต้องการปกครองอียิปต์แต่เพียงผู้เดียว เช่น คลีโอพัตราได้สั่งให้ไม่ต้องเขียนชื่อของโตเลมีที่ 13 ในเอกสารทางราชการเป็นต้น

โตเลมีที่ 13 โดยศิลปินชาวฝรั่งเศส

ฝ่ายโตเลมีที่ 13 เห็นคลีโอพัตราเป็นเช่นนี้ พระองค์เองจึงต้องการปกครองอียิปต์แต่เพียงผู้เดียวเช่นกัน เหล่าขุนนาง เสนาบดี และแม่ทัพในอียิปต์จึงแตกแยกเป็นสองฝ่ายอย่างเปิดเผย และเตรียมที่จะเข้าต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงตำแหน่งฟาโรห์ให้กับเจ้านายของตน สถานการณ์ในอียิปต์ตึงเครียดมากขึ้นตามลำดับ

เรื่องจะเป็นอย่างไรต่อไปกันแน่ ติดตามได้ในตอนหน้าครับ

บทความการศึกษา

Victory Tale ไม่อนุญาตให้คัดลอกบทความไปโพสที่ใดทุกกรณี การฝ่าฝืนมีโทษทางกฎหมาย

error: Content is protected !!